stadium

วงการว่ายน้ำไทยตกต่ำและนักว่ายน้ำไทยโตแล้วไม่เก่งจริงไหม?

18 พฤษภาคม 2563

ทำไมตอนนี้ว่ายน้ำไทยห่วยจัง ทำไมตกต่ำจัง นักว่ายน้ำไทยเก่งแต่ตอนเด็ก โตแล้วไม่เห็นเก่งเลย นี่คือคำถาม และเสียงวิจารณ์ จากคนภายนอก หรือแม้แต่คนในวงการว่ายน้ำเองก็ตาม โชคดีอยู่อย่างที่ว่ายน้ำมันเป็นกีฬาที่วัดความสำเร็จกันด้วยสถิติตัวเลขและเวลา นั่นทำให้การหาคำตอบหรือการโต้แย้งในเรื่องเหล่านี้ ยังเป็นเรื่องที่สามารถทำได้จากหลักฐานที่เกิดขึ้นไปแล้วในอดีต คำตอบทั้งหมดจากคำถาม และคำวิจารณ์เรารวบรวมไว้อยู่ที่นี่แล้ว ว่าวงการว่ายน้ำไทยในปัจจุบันนั้นเป็นอย่างที่เขาว่ากัน หรือเป็นแบบไหนกันแน่

 

นักว่ายน้ำไทยเก่งแต่ตอนเด็กจริงไหม?

สำหรับนักว่ายน้ำไทยต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ค่อนข้างจะเก่งกันเร็ว แต่ถ้าเทียบเป็นสัดส่วนแล้วก็ค่อนข้างที่จะเก่งจริง และไปได้สุดทางฝันอยู่เหมือนกัน แต่ต้องยอมรับนะว่าไม่ใช่นักว่ายน้ำที่เก่งตอนเด็กทุกคนจะประสบความสำเร็จตอนโต จากสถิติปี 1987-2019 เราสร้างนักว่ายน้ำเหรียญทองซีเกมส์ได้ถึง 25 คน ในรอบกว่า 30 ปีที่ผ่านมา เพียงแต่บางช่วงเราขาดพวก Super Swimmer ยกตัวอย่าง เช่น เหงียน ธิ อันห์ เวียน ของเวียดนาม , รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ ของไทย หรือเต้า ลี่ ของสิงคโปร์ ที่สามารถคว้าเหรียญทองได้หลาย ๆ เหรียญในการแข่งขันครั้งเดียว 

 

ทำให้ภาพลักษณ์เราดูเหมือนว่าตกต่ำลงไปในบางช่วง ถ้าวัดมาตรฐานในระดับว่ายน้ำเด็กอย่าง ซีเอจ กรุ๊ป เรามีนักกีฬาที่ต่อยอดจากศึกซีเอจ กรุ๊ป ไปสู่ระดับเหรียญทองซีเกมส์ มากกว่าเวียดนามที่เป็นเจ้าสระซีเอจ กรุ๊ป ในช่วงหลังเสียอีก และเป็นรองแค่สิงคโปร์เจ้าสระอาเซียนเพียงแค่ชาติเดียว

 

สิงคโปร์สร้างนักว่ายน้ำเหรียญทองซีเกมส์ได้ถึง 27 คนในช่วงเวลาเดียวกัน เวียดนามที่เป็นเจ้าซีเอจ กรุ๊ป จัดหนักจัดเต็มทุกครั้งที่ลงแข่งขัน ต้องพิสูจน์ตัวเองในอนาคตข้างหน้า เพราะผลิตนักว่ายน้ำเหรียญทองซีเกมส์ได้เพียง 7 คนในรอบ 30 ปีหลัง และมีเพียง เหงียน ธิ อันห์ เวียน คนเดียวของประเทศที่เป็นนักว่ายน้ำหญิงที่ได้เหรียญทองซีเกมส์ในรอบ 30 ปีหลังสุด แต่หลังจากนี้พวกเขามีแนวโน้มที่จะมี นักว่ายน้ำเหรียญทองซีเกมส์มากจำนวนขึ้น เพราะการสร้างเด็กของเขามันมาถึงช่วงที่สามารถหยิบจับมาใช้งานได้แล้ว แต่ถ้านับเป็นจำนวนเหรียญรวมอาจลดลงก็เป็นได้ เพราะ Super Swimmer อย่าง เหงียน ธิ อันห์ เวียน อยู่ในช่วงขาลงแล้ว

 

 

นักว่ายน้ำไทยไปไม่สุดทางจริงไหม?

ต่อยอดจากประเด็น เรื่องสร้างนักว่ายน้ำเหรียญทองซีเกมส์ จำนวน 25 คน ชี้ชัดแล้วว่านักว่ายน้ำเราไปได้สุดทาง แต่อาจจะไม่ถูกใจตามมาตรฐานของคนทั่วไป และจาก 25 คน มีหลายคนเลยที่ได้เหรียญทองซีเกมส์หลายสมัยติดต่อกัน อาทิเช่น รัฐพงศ์ ศิริสานนท์, ต่อลาภ เสฏฐโสธร, ต่อวัย เสฏฐโสธร, ระวี อินทพรอุดม, ชลธร วรธำรง, ศรสวรรค์ ภู่วิจิตร หรือในปัจจุบันอย่าง ณัฐพงษ์ เกษอินทร์ ซึ่งเทียบเป็นสัดส่วนกับชาติอื่นก็ถือว่าไม่น้อย และมี 2 คนถึงขั้นขนาดไปคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ได้ด้วยซ้ำ จะบอกว่าไปไม่สุดทางก็ดูจะไม่ยุติธรรมกับวงการว่ายน้ำไทยเท่าไหร่ แต่ถ้าถามว่าพวกเขาเลิกว่ายน้ำเร็วเกินไปไหม อันนี้ถ้าจะบอกว่าเร็วเกินไปก็น่าจะพอได้ จาก 25 คนที่ได้เหรียญทองซีเกมส์ มีแค่ 6 คนเท่านั้นที่ได้เหรียญทองซีเกมส์หลังจาก อายุครบ 20 ปี ไปแล้ว นอกจากนั้นทุกคนได้เหรียญทองซีเกมส์ก่อนอายุครบ 20 ปีทั้งสิ้น และมีเพียงแค่ 2-3 คน ที่ว่ายต่อจนถึงอายุเกิน 30 ปี ไปแล้ว

 

พวกเขาเลิกกันทำไมล่ะ?

เหตุผลที่เลิกเกินครึ่งหนึ่ง แทบไม่น่าเชื่อว่ามาจากอาการบาดเจ็บที่เรื้อรังต่อเนื่อง เพราะใช้ร่างกายอย่างหนักต่อเนื่องมาตั้งแต่วัยเด็ก มีบางคนที่เลิกเพราะ Burn Out หรือหมดความกระหายอยู่บ้างเหมือนกัน อีกหนึ่งกลุ่ม คือ เลิกเพราะหน้าที่การงาน หรือเรื่องเรียน ต้องยอมรับว่าว่ายน้ำไม่ใช่กีฬาอาชีพที่ทำเงินเลี้ยงดูครอบครัวได้ ถึงจุดหนึ่งนักกีฬาก็ต้องเลือกที่จะเรียนต่อ หรือหางานประจำที่มั่นคงทำ ซึ่งแน่นอนว่ามันส่งผลกระทบต่อการฝึกซ้อม และคงสถานะนักว่ายน้ำทีมชาติ เพราะว่ายน้ำเป็นกีฬาที่ต้องซ้อมต่อเนื่อง และต้องให้เวลากับมันเยอะมาก ๆ 

 

ว่ายน้ำไทย(ไม่) ตกต่ำลง จริงไหม?

ว่ายน้ำไทยไม่ได้ตกต่ำลงในความคิดของผม เรายังคงอยู่ในมาตรฐานเดิมมาตลอด แต่เราโดนการ Over Standard ในช่วงยุคปี 1995-2003 ยุคที่เราผลิตเหรียญทองซีเกมส์ได้เป็นกอบเป็นกำเกิน 10 เหรียญทุกครั้งในยุคนั้นหลอกตา ทั้งที่ช่วงก่อนหน้าในช่วงปี 1987-1995 หรือก่อนหน้านั้น จำนวนเหรียญทองของเราก็ไม่ได้แตกต่างจากช่วงหลังปี 2003 จนถึงปัจจุบันเลย มันจึงค่อนข้างน่าแปลกที่คนมองวงการว่ายน้ำไทยว่าเริ่มต้นตกต่ำหลังปี 2003 

 

ทั้ง ๆ ที่ช่วงก่อนปี 1995 เราก็ได้เหรียญทองประมาณนั้นอยู่แล้ว เวียดนามก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญในปัจจุบัน พวกเขาไม่ได้เริ่มว่ายน้ำจริงจังด้วยซ้ำไปในช่วงก่อนปี 2000 ทำให้การแรงขึ้นมาของทัพว่ายน้ำดาวทองในช่วงหลังนั้นแบ่งเหรียญทองซีเกมส์ที่เราควรจะได้ไปเยอะทีเดียว ถ้าไม่มีเวียดนามจำนวนเหรียญทองเราในปัจจุบันจะยิ่งใกล้เคียง หรือมากกว่าในอดีตยุคก่อน ปี 1995 เสียอีก แล้วอะไรที่ทำให้ช่วง ปี 1995-2003 เกิดเป็นยุคทองของว่ายน้ำไทยกันล่ะ

 

 

ยุคทองว่ายน้ำไทยปี 1995-2003

แน่นอนมันอาจเป็นความบังเอิญก็ได้ที่ช่วงนั้นมีนักว่ายน้ำเก่ง ๆ หลายคนเกิดขึ้นมาพร้อมกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ การสนับสนุนในช่วงนั้น หรือก่อนหน้านั้นสักพักมันจัดหนัก จัดเต็มเสียจริง ๆ ทั้งทุนต่าง ๆ จากภาครัฐบาล, ภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งจากต่างประเทศ แถมรัฐพงศ์ ศิริสานนท์ ยังสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักว่ายน้ำชายไทยที่คว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ ได้เป็นคนแรกอีกในปี 1994 

 

ทำให้วงการว่ายน้ำยิ่งคึกคักไปกันใหญ่ บวกกับการได้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาใหญ่ติด ๆ กัน ในช่วงนั้น อย่างซีเกมส์ครั้งที่ 18 ที่เชียงใหม่ ปี 1995 และเอเชียน เกมส์ ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพมหานคร ปี 1998 ประกอบกับนักกีฬาว่ายน้ำเราก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีด้วยจากการแข่งขันในบ้าน ก็ทำให้กระแสมันยิ่งจุดติดแบบไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้มันเกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ที่ทำให้วงการว่ายน้ำเรายิ่งใหญ่ต่อเนื่อง และคึกคักแบบไม่เคยเป็นมาก่อน พอหลังปี 2003 ที่ผลงานเริ่มตกลง เพราะการเลิกราของนักว่ายน้ำระดับ Super Swimmer หลายคน ทำให้ผู้คนพากันบอกว่าเป็นจุดตกต่ำของว่ายน้ำไทย

 

จังหวะ เวลา โชควาสนา โอกาส

สถิติว่ายน้ำประเทศไทยมีทั้งหมด 40 รายการ มี 37 รายการที่ถูกทำขึ้นใหม่หลังปี 2003 ที่ถือว่าเป็นยุคทองปีสุดท้าย นี่คือเครื่องยืนยันว่าเราพัฒนาขึ้น มีหลายช่วงเลย ที่เรามีโอกาสที่จะพลิกวงการให้รุ่งเรืองเหมือนช่วงยุคทอง แต่หลาย ๆ ครั้งโอกาสก็ไม่เป็นใจ หรือมีเหตุให้นักกีฬาดาวรุ่งคนสำคัญของเราต้องเลิกราไปก่อนวัยอันควร รวมถึงความแข็งแกร่งของคู่ต่อสู้ที่มากขึ้น ทำให้นักกีฬาของเราที่ดีมาก ๆ บางคนไปไม่ถึงฝัน แถมวงรอบของการสร้างนักว่ายน้ำคนหนึ่งก็กินเวลาเป็น 10 ปี มันไม่เร็ว และไม่บ่อยแน่ ๆ ที่เราจะรักษา และคงความเป็นยุครุ่งเรืองไว้ได้ แม้ว่าเราจะทำทุกอย่างแล้วก็ตาม เราก็ยังคงที่จะต้องรอจังหวะ เวลา โอกาส โชควาสนา ที่เหมาะสมที่จะทำให้ยุคทองที่รุ่งเรืองของเรามันเกิดขึ้นอีกครั้ง

 


stadium

author

ฉลามหนุ่มไทยแลนด์

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose