stadium

10 ดราฟต์อันดับแรกสุดแย่ของ NBA

16 พฤศจิกายน 2563

พิธีดราฟต์ของบาสเกตบอล เอ็นบีเอ คือโอกาสสำคัญที่แต่ละทีมจะพลิกโชคชะตาของตัวเอง อย่างไรก็ตามนี่คือหนึ่งในการเสริมทีมที่เสี่ยงที่สุดเช่นกัน เพราะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ผู้เล่นที่เราเลือกเข้ามานั้น จะทำผลงานได้ตามที่คาดหวังเอาไว้ได้หรือไม่

 

หลายครั้ง ผู้เล่นที่ได้รับเลือกในอันดับท้าย ๆ กลับทำผลงานได้ดีเกินคาดหมาย บางคนก้าวขึ้นมาเป็นตัวหลักของทีม และบางคนทำให้ทีมประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันก็มีบางคนที่ได้รับเลือกเป็นอันดับแรก ๆ แต่ไม่สามารถแจ้งเกิดได้ และหมดอนาคตในเวลาไม่กี่ปี

 

ทีมที่ได้สิทธิ์ดราฟต์อันดับแรก คือทีมที่กุมความเสี่ยงนั้นเอาไว้มากที่สุด เพราะถึงแม้จะได้เลือกผู้เล่นก่อนใครอื่น แต่ก็ต้องมารอลุ้นว่า คนที่เราคิดว่าดีที่สุดของดราฟต์ปีนั้น จะปรับตัวเข้ากับ เอ็นบีเอ ได้หรือไม่ หรือต่อให้เล่นได้ จะทำผลงานได้น่าพึงพอใจมากน้อยแค่ไหน

 

และนี่คือ 10 ดราฟต์อันดับ 1 ยอดแย่ในประวัติศาสตร์ของ เอ็นบีเอ

 

 

10. โจ สมิธ (1995)

โจ สมิธ ได้รับรางวัลผูัเล่นแห่งปีในระดับมหาวิทยาลัย ตอนเล่นให้กับ แมรี่แลนด์ ในปี 1995 ก่อนจะได้รับเลือกจาก โกลเด้น สเตต วอร์ริเออร์ส ในฐานะดราฟต์อันดับ 1 ปีเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แม้จะลงเล่นนานถึง 16 ปี กับ 12 ทีม แต่สมิธไม่สามารถโชว์ฟอร์มเก่งเเหมือนกับสมัยมหาวิทยาลัยได้อีกเลย โดยมีค่าเฉลี่ยตลอดอาชีพอยู่ที่ 10.9 แต้ม และ 6.4 รีบาวด์ต่อเกมเท่านั้น และลงเล่นมากกว่า 70 เกมได้เพียง 6 ฤดูกาล

 

ผู้เล่นที่ถูกดราฟต์ในปีเดียวกัน : เควิน การ์เน็ตต์ (อันดับ 5), ราชีด วอลเลซ(อันดับ 4), เจอร์รี่ สแต็กเฮาส์ (อันดับ 3)

 

 

9. บิลล์ แม็คกิลล์ (1962)

หลังจากเป็นแชมป์ทำแต้มระดับมหาวิทยาลัย จากการลงเล่นให้ม.ยูทาห์ แม็คกิลล์ก็ได้รับเลือกให้เข้าสู่เอ็นบีเอ ในฐานะดราฟต์อันดับ 1 ของ ชิคาโก เซเฟอร์ส (วอชิงตัน วิซาร์ดส์ เดิม) แต่ตลอดการลงเล่น 3 ฤดูกาล 158 นัดในอาชีพ แม็คกิลล์มีค่าเฉลี่ยเพียง 10.2 คะแนน และได้ลงเล่นน้อยกว่า 16 นาทีต่อเกม ก่อนจะย้ายไปเล่นใน เอบีเอ

 

ผู้เล่นที่ถูกดราฟต์ในปีเดียวกัน : จอห์น ฮาฟลิเช็ค (อันดับ 7), เชต วอลเกอร์ (อันดับ 12)

 

 

8. เพอร์วิส เอลลิสัน (1989)

หลังจากพา ม.หลุยส์วิลล์ คว้าแชมป์ประเทศในปี 1986 พร้อมกับคว้ารางวัลผู้เล่นที่มีผลงานโดดเด่นที่สุด 3 ปีต่อมา ซาคราเมนโต้ คิงส์ ก็ตัดสินใจใช้สิทธิ์ดราฟต์อันดับ 1 ดึงเข้าไปร่วมทีม แต่ด้วยปัญหาบาดเจ็บ ทำให้ลงเล่นกับทีมได้เพียง 1 ฤดูกาล และทำเฉลี่ย 8 แต้มต่อเกม ก่อนจะย้ายไป วอชิงตัน บุลเล็ตต์ส (วอชิงตัน วิซาร์ดส์ เดิม) ตามด้วย บอสตัน เซลติกส์ และ ซีแอตเติล ซูเปอร์โซนิกส์ (โอกลาโฮมา ซิตี้ ธันเดอร์ เดิม) ซึ่งตลอดระยะเวลา 11 ฤดูกาลในอาชีพ เอลลิสัน ทำเฉลี่ยเกิน 10 แต้มต่อเกม ได้เพียง 3 ฤดูกาลเท่านั้น

 

ผู้เล่นที่ถูกดราฟต์ในปีเดียวกัน : เกล็น ไรซ์ (อันดับ 4), ทิม ฮาร์ดอะเวย์ (อันดับ 14), ชอว์น เคมป์ (อันดับ 17), วลาด ดิวัช (อันดับ 26)

 

 

7. อาร์ต เฮย์แมน (1963)

หลังกวาดรางวัลส่วนตัวมากมายตอนเล่นกับ ม.ดุ๊ก ทำให้ นิวยอร์ก นิกส์ เลือกเฮย์แมนเข้าสู่ทีมในปี 1963 และทำผลงานน่าประทับใจในฤดูกาลแรก จากการทำเฉลี่ย 15.4 คะแนนต่อเกม อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์และบันดาลโทสะอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ถูกลดเกมการเล่น และมีค่าเฉลี่ยตกต่ำลงใน 4 ฤดูกาลต่อมา โดยทำได้เพียง 5.7 แต้ม, 2.9 แต้ม, 3.6 แต้ม, และ 1.7 แต้มต่อเกมเท่านั้น ก่อนจะตัดสินใจย้ายไปเล่นใน เอบีเอ และประสบความสำเร็จ แต่ถ้าวัดเฉพาะในเอ็นบีเอแล้ว เขาคือการดราฟต์ที่ล้มเหลว

 

ผู้เล่นที่ถูกดราฟต์ในปีเดียวกัน : เนต เธอร์มอนด์ (อันดับ 3), กัส จอห์นสัน (อันดับ 10)

 

 

6. ไมเคิล โอโลโวคันดี้ (1998)

ในยุคก่อนหน้านี้ ลอส แองเจลิส คลิปเปอร์ส จัดเป็นทีมที่ไม่ประสบความสำเร็จในการดราฟต์เท่าใดนัก ซึ่งกรณีของโอโลโวคันดี้ถือว่าเด่นชัดมากที่สุด แม้จะเป็นกำลังสำคัญของม.แปซิฟิก แต่เขากลับไม่สามารถนำเอาความสามารถนั้นมาใช้ในเอ็นบีเอได้ และตลอดการลงเล่น 10 ฤดูกาล เจ้าตัวทำแต้มเฉลี่ยเป็นเลขสองหลักได้เพียง 2 ซีซันเท่านั้น ต่างจากผู้เล่นที่เข้าสู่การดราฟต์ในปีเดียวกันอย่าง ไมค์ บิ๊บบี้, วินซ์ คาร์เตอร์. เดิร์ก โนวิตซกี้ และ พอล เพียร์ซ ที่ต่างกลายเป็นผู้เล่นชั้นนำในลีก

 

ผู้เล่นที่ถูกดราฟต์ในปีเดียวกัน : วินซ์ คาร์เตอร์ (อันดับ 5). เดิร์ก โนวิตซกี้ (อันดับ 9), พอล เพียร์ซ (อันดับ 10)

 

 

5. ควาเม่ บราวน์ (2001)

วอชิงตัน วิซาร์ดส์ ที่มี ไมเคิล จอร์แดน เป็นประธานฝ่ายปฏิบัติการในขณะนั้น มั่นใจในศักยภาพของ ควาเม่ บราวน์ อย่างมาก ถึงกับยอมใช้สิทธิ์ดราฟต์รอบแรกดึงเข้าสู่ทีม ทั้งที่เจ้าตัวเพิ่งจบจากไฮสคูล อย่างไรก็ตาม เรื่องจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ตลอดการลงเล่นกับวิซาร์ดส์ บราวน์ทำเพียง 7.7 แต้ม และ  5.5 รีบาวด์ต่อเกม ก่อนจะถูกเทรดไป ลอส แองเจลิส เลเกอร์ส และย้ายไปเล่นกับอีกหลายทีม ซึ่งแม้จะมีผลงานไม่น่าประทับใจนัก แต่ก็ยังได้เล่นในลีกถึง 13 ฤดูกาล พร้อมกับค่าเฉลี่ยตลอดอาชีพอยู่ที่ 6.6 แต้ม และ 5.5 รีบาวด์

 

ผู้เล่นที่ถูกดราฟต์ในปีเดียวกัน : ไทสัน แชนด์เลอร์ (อันดับ 2), พาว กาซอล (อันดับ 3), โจ จอห์นสัน (อันดับ 10), โทนี่ พาร์เกอร์ (อันดับ 28)

 

 

4. ยีน เมลคิออร์เร่ (1951)

ความจริงแล้ว เมลคิออร์เร่ มีโอกาสขึ้นอันดับ 1 ในลิสต์นี้ แต่ปัญหาคือไม่มีใครได้เห็นว่าหากเจ้าตัวได้ลงเล่นแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะหลังจากที่ บัลติมอร์ บุลเล็ตต์ส ดราฟต์เข้าสู่ทีมได้ไม่นาน เจ้าตัวก็ถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีล็อกผลการแข่งขันสมัยเล่นให้กับ ม.แบรดลีย์ ส่งผลให้ เอ็นบีเอ ลงโทษแบนตลอดชีวิต จึงไม่มีโอกาสได้ลงเล่นแม้แต่เกมเดียว

 

 

3. ลารู มาร์ติน (1972)

พอร์ตแลนด์ เทรล เบลเซอร์ส คืออีกหนึ่งทีมที่มีประวัติการดราฟต์ย่ำแย่ ลารู มาร์ติน คือหนึ่งในนั้น หลังถูกดราฟต์จาก ม.โลโยลา เมื่อปี 1972 เขาได้ลงเล่นทั้งหมด 271 เกม แต่ทำเฉลี่ยเพียง 5.3 คะแนนต่อเกมเท่านั้น ไม่เหลือคราบของผู้ที่คู่ควรกับดราฟต์อันดับแรกแม้แต่น้อย และก่อนที่ฤดูกาล 1976 จะเริ่มต้นขึ้น มาร์ติน ก็ถูกเทรดไปให้ ซีแอตเติล ซูเปอร์โซนิคส์ แต่ก็ถูกตัดชื่อก่อนเปิดฉากเกมแรก และประกาศรีไทร์ในเวลาไม่นานหลังจากนั้น

 

ผู้เล่นที่ถูกดราฟต์ในปีเดียวกัน : บ๊อบ แม็คเอดู (อันดับ 2), จูเลียส เออร์วิง (อันดับ 12)

 

 

2. เกร็ก โอเดน (2007)

หลายคนอาจจะมองว่าการที่ เทรล เบลเซอร์ส ตัดสินใจเลือก โอเดน ก่อน เควิน ดูแรนท์ นับเป็นเรื่องผิดพลาด แต่ความจริงแล้วก็ไม่ใช่ซะทั้งหมด เพราะเจ้าตัวต้องเจอกับปัญหาบาดเจ็บเข่ารุนแรงและต้องเข้ารับการผ่าตัดทำให้พลาดการลงเล่นเอ็นบีเอฤดูกาลแรก แน่นอนว่าเรื่องนั้นส่งผลกับการเล่นของเขาโดยตรง เพราะสุดท้ายโอเดนได้ลงเล่นในลีกเพียง 105 เกม ตลอด 4 ปี และทำเฉลี่ยเพียง 8 แต้ม กับ 6.2 รีบาวด์ต่อเกม ถึงแม้จะเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่เราไม่ได้เห็นเขาเล่นในสภาพเต็มร้อย แต่เมื่อวัดจากคนที่ถูกดราฟต์ในอันดับต่ำกว่าแล้ว เจ้าตัวจึงได้รับการจดจำเป็นหนึ่งในดราฟต์ที่แย่ที่สุดของเอ็นบีเอ

 

ผู้เล่นที่ถูกดราฟต์ในปีเดียวกัน : เควิน ดูแรนท์ (อันดับ 2), อัล ฮอร์ฟอร์ด (อันดับ 3), มาร์ค กาซอล (อันดับ 48)

 

 

1. แอนโธนี่ เบนเน็ตต์ (2013)

ด้วยปัญหาเจ็บเข่าของ เนอร์เลนส์ โนล ตัวเต็งดราฟต์อันดับ 1 ทำให้สถานการณ์กลับตาลปัตร ก่อนที่ คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส จะตัดสินใจเลือก เบนเน็ตต์ ดาวเด่นของ ม.เนวาดา ทั้งที่ไม่ได้เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า วิคเตอร์ โอลาดิโป และ ออตโต้ พอร์เตอร์ จูเนียร์ เท่าไรนัก และตลอดการลงเล่น 4 ฤดูกาลกับ 4 ทีม เบนเน็ตต์ ได้เป็นตัวจริงเพียง 4 เกม มีค่าเฉลี่ย 4.4 แต้ม และ 3.1 รีบาวด์ต่อเกมเท่านั้น ขณะเดียวกัน เจ้าตัวยังเป็นผู้เล่นเพียงคนเดียวที่ได้รับเลือกเป็น 10 คนแรกของปี 2013 แต่ไม่ได้เล่นอยู่ในเอ็นบีเอ ณ ปัจจุบันอีกด้วย

 

ผู้เล่นที่ถูกดราฟต์ในปีเดียวกัน : วิคเตอร์ โอลาดิโป (อันดับ 2), จานนิส อันเตโตคูมโป (อันดับ 15), รูดี้ โกแบร์ (อันดับ 27)


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

ไทเกอร์ วืด

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose