12 พฤษภาคม 2563
ถึงกีฬาว่ายน้ำจะไม่ใช่กีฬาอาชีพ ที่สามารถทำเงินได้มากมาย แต่การจะเติบโตไปเป็นนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราต้องเข้าไปข้องเกี่ยว เชื่อมโยงกับหลายสิ่ง หลายอย่าง ซึ่งมันทำให้เกิดเป็นธุรกิจมากมาย หลายประเภท ซึ่งมีมูลค่ารวมกันหลายร้อยล้านบาท โดยนักกีฬาว่ายน้ำหนึ่งคนจะใช้จ่ายเท่าไหร่กว่าจะเดินทางไปถึง คำว่านักว่ายน้ำทีมชาติอันแสนภาคภูมิใจ วันนี้เรามาศึกษาธุรกิจในวงการว่ายน้ำไทย และราคาของคำว่านักว่ายน้ำทีมชาติไทยกัน
ธุรกิจขายชุด, อุปกรณ์ว่ายน้ำ และผลิตภัณฑ์ดูแลนักว่ายน้ำ
แน่นอนก่อนเราจะว่ายน้ำเราต้องมีอุปกรณ์ และชุดเพื่อสวมใส่ ซึ่งในวงการว่ายน้ำไทยมีสินค้าว่ายน้ำมากมายหลายยี่ห้อ ทั้งแบรนด์ของคนไทยที่ผลิตเอง หรือนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งจาก จีน, ญี่ปุ่น, ยุโรป และสหรัฐอเมริกา อุปกรณ์แต่งกายขั้นพื้นฐานก็จะมีหมวก แว่น กางเกง และชุดว่ายน้ำสำหรับผู้หญิง ราคาก็จะเริ่มต้นที่หลักร้อยบาท ไปจนถึง หลักหลายหมื่นบาท ถ้าเป็นชุดแข่งขันที่มีมาตรฐานสูง และต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งอุปกรณ์ว่ายน้ำไม่ได้มีแต่ชุดว่ายน้ำ แต่มันรวมถึง เป้ กระเป๋าสะพายหลังสำหรับใส่อุปกรณ์ หรือ อุปกรณ์ในการซ้อมอย่าง ยางดึงน้ำ, Paddle, Fin, โฟมแตะขา, Pull Boy และสน็อคเกิล เป็นต้น ราคาในกลุ่มนี้ก็จะอยู่ที่หลักร้อยบาท ไปจนถึง หลายพันบาทต่อชิ้น
นอกจากนี้ในธุรกิจหมวดหมู่แรกยังรวมถึง ผลิตภัณฑ์ในการดูแล และทำความสะอาดร่างกาย อาทิเช่น แชมพูล้างคลอรีนโดยเฉพาะ ครีม หรือเจลทาฟัน เพื่อใช้ป้องกันภาวะฟันกร่อน และเสียวฟันจากคลอรีน รวมถึงครีมกันแดดต่าง ๆ ซึ่งของในกลุ่มนี้จะอยู่หลักหลายร้อยบาท เฉพาะธุรกิจในกลุ่มแรกมูลค่าก็น่าจะไปถึงหลักร้อยล้านบาทได้ไม่ยาก เพราะสำหรับคนไทยถึงแม้ไม่ใช่นักกีฬาว่ายน้ำก็ต้องเคยมีชุดว่ายน้ำกันเกือบทุกคน ยิ่งเป็นนักกีฬาที่ต้องซ้อมทุกวัน ชุดซ้อมว่ายน้ำมีอายุเฉลี่ยใช้งานได้ไม่ถึงปีด้วยซ้ำ ไม่เสื่อมสภาพ ก็เล็กเกินไป เพราะนักกีฬาเด็กโตเร็ว ทำให้ต้องเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง
ไม่รวมชุดแข่งที่สมัยนี้เป็นเหมือนหน้าตาของนักกีฬา ในการแข่งขันรายการใหญ่ ๆ ทุกคนจะขนชุดที่ดีที่สุดออกมาสวมใส่เพื่อความมั่นใจกัน บางคนถึงขนาดเปลี่ยนชุดทุกครั้งที่เปลี่ยนท่าการแข่งขัน ทำให้บางคนมีชุดว่ายน้ำราคาหลัก 1,000 หรือหลัก 10,000 บาท ใส่ถึง 7-10 ชุดต่อคน โดยเจ้าของ Brand สินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้นำเข้า Brand ดังระดับโลกก็มีการช่วยเหลือสนับสนุนเป็น Sponsor ให้กับนักกีฬาทั้งเรื่องชุดแข่งขัน และเงินอัดฉีด ทำให้นักกีฬาที่มีผลงานดีสามารถประหยัดเงินตรงนี้ได้พอสมควร
ธุรกิจสระว่ายน้ำ และสโมสรว่ายน้ำ
แน่นอนมีชุดใส่แล้วก็ต้องมีสระไว้ซ้อม สระว่ายน้ำปัจจุบัน มีหลัก ๆ อยู่ 2 กลุ่มคือ สระตามโรงเรียนต่าง ๆ หรือของหน่วยงานราชการ กับสระของเอกชนที่ลงทุนสร้างเองซึ่งมูลค่าการลงทุนจะอยู่ที่หลักสิบล้าน ไปจนถึงร้อยล้านบาท โดยราคาค่าลงสระต่อครั้งก็จะเริ่มต้นที่ราคา 20 บาท ไปจนถึง 200 บาทต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับคุณภาพของสระ มีหลังคาไหม มีคนเล่นเยอะมากไหม อุปกรณ์สมบูรณ์แค่ไหน
บางสระถึงขนาดมีเครื่องปรับอุณหภูมิในน้ำให้ผู้ใช้บริการด้วย ทางสระยังสามารถทำร้านค้าขายอาหาร หรือของว่างทานเล่นจำหน่ายแก่ผู้ใช้บริการได้อีกด้วย รวมถึงการให้เช่าชุดอุปกรณ์ก็เป็นอีกหนึ่งรายได้ของเจ้าของสระว่ายน้ำเช่นกัน อีกแบบหนึ่งคือ การทำทีมสโมสรซึ่งแบบนี้เจ้าของที่มีสระอยู่แล้ว ก็จะจ้างโค้ชมาฝึกสอนนักกีฬา และเก็บค่าฝึกซ้อมเป็นรายเดือน ราคาจะอยู่ในช่วงหลัก 1,000 ต้น ๆ ไปจนถึงเกือบเฉียดหลักหมื่น ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของสโมสร และผู้ฝึกสอน
ส่วนผู้ฝึกสอนที่ไม่มีสระเป็นของตนเองก็สามารถสร้างทีม หรือสโมสรของตัวเองได้ด้วยการ เช่าสระว่ายน้ำทำทีม หรือเช่าบางส่วนของสระ กั้นลู่แบ่งสัดส่วนเพื่อฝึกซ้อมนักกีฬา และเก็บค่าซ้อมจากนักกีฬาเป็นรายได้
ธุรกิจสอนว่ายน้ำ หรือจับสโตรก
ว่ายน้ำ ก็เหมือนกีฬาชนิดอื่น ๆ ไม่ต่างกันกับ กอล์ฟ เทนนิส หรือแบดมินตัน ถ้าอยากเก่ง นอกจากการซ้อมในตารางฝึกเป็นประจำแล้ว ก็ต้องมีการจับสโตรก ปรับเทคนิคพื้นฐานเพิ่มเติมเหมือนการเรียนพิเศษ และแน่นอนว่า ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำ โดยราคาการจับสโตรกก็จะขึ้นอยู่กับ ดีกรี และความสามารถของผู้จับสโตรก ราคาก็จะเริ่มต้นที่ประมาณ 200 บาท ต่อชั่วโมง ถ้าคุณครูมีชื่อเสียง หรือเคยเป็นอดีตทีมชาติ ราคามักจะเริ่มต้นที่ 1,000 ไปจนถึง 3,000 บาท ต่อชั่วโมง หรือมากกว่านั้น ซึ่งช่วงปิดภาคเรียน หรือ วันหยุดเสาร์ อาทิตย์ ผู้ฝึกสอนบางท่านมีคิวสอนยาวนานถึง 10 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว
ธุรกิจการจัดแข่งว่ายน้ำ
ในการแข่งขันว่ายน้ำก็จะธุรกิจหลักๆ อยู่ 2 ประเภท ประเภทแรก คือคนจัดการแข่งขันว่ายน้ำ และประเภทที่ 2 คือ คนทำระบบจัดการแข่งขัน ในประเภทแรก คนจัดการแข่งขัน ก็จะจัดการแข่งขันขึ้นมา โดยได้รับเงินจากค่าสมัครการแข่งขันจากนักกีฬาซึ่งค่าสมัครการแข่งขันก็จะเริ่มต้นที่ประมาณ 300 บาท ไปจนถึง 1,000 บาท ต่อคน ต่อการแข่งขัน
รายได้อีกส่วนหนึ่งก็จะมาจาก Sponsors ที่มาสนับสนุนการแข่งขันส่วนใหญ่เป็น Brand สินค้าว่ายน้ำที่ยินดีจะจ่ายให้กับผู้จัดที่ ประมาณหลัก 5,000 ไปจนถึง หลัก 100,000 บาท บางรายการอาจมีการปล่อยเช่าพื้นที่รอบ ๆ สนามแข่งขันเพื่อให้พ่อค้า แม่ค้ามาขายของ หรืออาจมีการออกสูจิบัตรการแข่งขันมาเพื่อจำหน่ายแก่ผู้เข้าแข่งขันเพื่อเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง
หลังจากได้รับเงินแล้วผู้จัดการแข่งขันต้องไปจ่ายค่าเช่าสระที่ทำการแข่งขัน จ้างกรรมการผู้ตัดสิน และทีมงาน จ้างบริษัทผลิตถ้วย และเหรียญรางวัล รวมถึงเงินสนับสนุนสำหรับทีม และนักกีฬาที่ชนะเลิศ โดยอีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การจ้างผู้ทำระบบการแข่งขัน เก็บข้อมูล ซึ่งก็คือประเภทที่สอง ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการแข่งขันว่ายน้ำ
ผู้ทำระบบการแข่งขัน เก็บข้อมูล จะได้รับเงินว่าจ้างจากผู้จัดการแข่งขันเพื่อวางระบบ เพราะว่ายน้ำไม่เหมือนกีฬาประเภทอื่น ชนะกันที่เสี้ยววินาที จึงต้องมีระบบจับเวลา เป็น Touch Board หรือการจับเวลาที่เที่ยงตรง และมีระบบเก็บข้อมูลแบบเฉพาะเจาะจง เพราะมีการแข่งขันเป็นชุด ๆ แยกกลุ่มอายุ ท่าต่าง ๆ จึงต้องมีระบบประมวลผลที่เป็นเฉพาะด้าน ซึ่งในเมืองไทยมี ผู้ทำระบบที่เป็น ผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ เพียง 4-5 รายเท่านั้น โดยมีราคาต่างกันออกไปที่ราคาราว 30,000 - 80,000 บาท ต่อการหนึ่งแข่งขัน ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของระบบที่แต่ละรายใช้ ซึ่งในขณะนี้การแข่งขันว่ายน้ำได้รับความนิยมสูงมากขึ้นจากเมื่อ 5 ปี ที่แล้ว ที่มีการจัดการแข่งขันเฉลี่ยเพียงเดือนละ 2-3 รายการ ในปัจจุบันมีการแข่งขันเฉลี่ย 2 รายการต่ออาทิตย์ ในบางครั้งมีถึง 5 รายการในอาทิตย์เดียวกัน ทำให้มีเม็ดเงินจำนวนมากแพร่สะพัดในธุรกิจนี้
ราคาของนักว่ายน้ำทีมชาติไทย
ว่ายน้ำ คงเป็นกีฬาไม่กี่ประเภทที่คุณเล่นจนเป็นทีมชาติแล้วยังทำเงินได้ไม่เท่าไหร่ ส่วนเหตุผลที่คนยังหลั่งไหลมาเล่นกีฬาชนิดนี้อยู่ก็คือ คำว่าทีมชาติมันเป็นความภูมิใจที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ นักว่ายน้ำไทยโดยค่าเฉลี่ยจะเริ่มต้นว่ายน้ำที่อายุ 7 ปี และจะไปติดทีมชาติที่อายุประมาณ 18 ปี โดยเฉลี่ย ถ้าเราตีเป็นตัวเลขกลม ๆ ก็คือ 10 ปี
ทีนี้เรามาดูค่าใช้จ่ายรายปีของนักกีฬาแต่ละคนกัน (ทั้งหมดเป็นค่าเฉลี่ยบางคนมากกว่านี้ บางคนน้อยกว่านี้มาก) ค่าชุด อุปกรณ์ ฝึกซ้อม และการแข่งขันเอาแบบราคากลาง ๆ น่าจะอยู่ที่ 7,000 บาทต่อปี (รวมแชมพู ครีมทาฟัน ครีมกันแดดแล้ว) ค่าฝึกซ้อมรายเดือนอยู่ที่ 20,000 บาทต่อปี ค่าจับสโตรก 25,000 บาทต่อปี ค่าลงแข่งขัน 3,000 บาทต่อปี คิดคร่าว ๆ ตอนนี้นักกีฬาว่ายน้ำคนหนึ่งมีค่าใช้จ่ายแน่ ๆ ราว 55,000 บาท ต่อปี
บางคนยังมีค่าอาหารเสริม ค่าน้ำมันรถ ค่าเสียเวลา และค่าอื่น ๆ อีกมากมายด้วยซ้ำไป ซึ่งถ้านักกีฬาว่ายน้ำทั้งหมด 10 ปี ก็จะเป็นเงินทั้งหมด 550,000 บาท เงินอัดฉีดเหรียญทองซีเกมส์ปัจจุบันคือ 300,000 บาท และรับประกันได้เลยว่าจ่ายแค่ 550,000 บาท ถ้าคุณไม่มีพรสวรรค์ระดับฟ้าประทาน หรือฝึกหนักแบบยอมทุ่มทั้งชีวิต คุณจะไม่มีทางได้เข้าใกล้เหรียญทองซีเกมส์ในยุคสมัยปัจจุบันนี้แน่นอน ส่วนเหตุผลที่คนยังว่ายน้ำกันอยู่ทั้ง ๆ ที่มันไม่คุ้มเลย ก็คือ กีฬาให้อะไรกับชีวิตเด็กคนหนึ่งมากกว่าแค่เรื่องเงิน และอย่างที่บอกความภูมิใจในการในเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยประเมินค่าไม่ได้ และสุดท้าย คลอรีนถ้าติดแล้วเลิกยากจริง ๆ ครับ
TAG ที่เกี่ยวข้อง