stadium

ไขที่มา "กรีน แจ็คเก็ต" ของแชมป์เดอะ มาสเตอร์ส

12 พฤศจิกายน 2563

ในการแข่งขันกอล์ฟระดับเมเจอร์ทั้ง 4 รายการ เดอะ มาสเตอร์ส คือรายการที่มีเอกลักษณ์ต่างจากรายการอื่น ๆ มากที่สุด ทั้งสนามแข่งขันที่ใช้ ออกัสตา เนชันแนล กอล์ฟ คลับ เพียงแห่งเดียว หรือธรรมเนียมประเพณีอื่น ๆ ในการแข่งขัน

 

ประเพณีหนึ่งที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของแชมป์เดอะมาสเตอร์ส นั่นก็คือการได้รับ "กรีน แจ็คเก็ต" หรือเสื้อสูทสีเขียว ซึ่งแชมป์เก่าจะเป็นผู้ทำหน้าที่สวมให้แชมป์คนล่าสุด

 

แล้วสูทตัวนี้มีที่มาอย่างไร มีความสำคัญและทรงคุณค่ามากแค่ไหน ติดตามได้ที่นี่

 

 

ต้นกำเนิดจากความช่างสังเกต

ออกัสตาฯ เริ่มใช้กรีน แจ็คเก็ตครั้งแรกในปี 1937 โดยมีใส่กันเฉพาะสมาชิกของสนาม ก่อนที่จะเริ่มมอบให้แชมป์ เดอะ มาสเตอร์ส ครั้งแรก ในปี 1949 ดังนั้นก่อนจะไปพูดถึงเรื่องที่ว่า ทำไมต้องมอบ "กรีน แจ็คเก็ต" ให้กับแชมป์เดอะมาสเตอร์ส ต้องย้อนไปพูดถึงที่มาของเสื้อตัวนี้กันก่อน

 

เรื่องเล่าที่มาของ "กรีน แจ็คเก็ต" มีด้วยกัน 2 ด้าน เรื่องหนึ่งคือแนวคิดนี้ได้มาจากการที่ บ็อบบี้ โจนส์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสนามออกัสตา และตำนานนักกอล์ฟชาวอเมริกัน ได้ไปเยือนสนาม รอยัล ลิเวอร์พูล ในอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในสนามที่จัดแข่งรายการ ดิ โอเพ่น โดยระหว่างดินเนอร์ โจนส์ สังเกตว่า กัปตันแต่ละคนต่างใส่เสื้อแจ็กเก็ตสีแดงเหมือนกันหมดเพื่อระบุตำแหน่งของตัวเอง เขาจึงนำแนวคิดนั้นกลับไปใช้ที่ออกัสตา

 

ส่วนอีกเรื่องคือ คลิฟฟอร์ด โรเบิร์ตส์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ต้องการหาวิธีให้แขกผู้มาเยือนและบรรดาสปอนเซอร์สามารถหาตัวสมาชิกเพื่อสอบถามข้อมูลต่าง ๆ ได้โดยง่าย รวมทั้งเพื่อให้บริกรรู้ว่าควรจะเช็กบิลที่ใคร ก่อนจะได้ไอเดียให้สมาชิกใส่แจ็กเก็ตสีเขียวขึ้นมา

 

 

แล้วทำไมแชมป์ เดอะ มาสเตอร์ส ถึงได้ "กรีน แจ็คเก็ต"

ความคิดนี้เกิดมาจากการที่ ออกัสตาต้องการมอบสถานะสมาชิกกิตติมศักดิ์ให้กับแชมป์เดอะมาสเตอร์สในปี 1949 ซึ่งการเป็นสมาชิกก็หมายถึงการได้รับ "กรีน แจ็คเก็ต" เป็นสิ่งบ่งบอกสถานะนั่นเอง และ แซม สนีด แชมป์ในปีดังกล่าว คือคนแรกที่ได้รับเกียรติอย่างเป็นทางการ ก่อนที่ฝ่ายจัดการแข่งขันจะส่งมอบเสื้อให้กับแชมป์เก่าทุกคน และยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเรื่อยมา

 

การมอบ "กรีน แจ็คเก็ต" จะมีขึ้นในพิธีปิดการแข่งขัน โดยแชมป์เก่าจะเป็นผู้สวมให้กับแชมป์คนปัจจุบัน ส่วนกรณีที่ป้องกันแชมป์ได้ ประธานฝ่ายจัดการแข่งขัน จะเป็นผู้มอบเสื้อ"กรีน แจ็คเก็ต" ให้กับผู้ชนะแทน ซึ่งเสื้อตัวดังกล่าวจะยืมจากสมาชิกที่มีรูปร่างใกล้เคียง ก่อนที่จะมีการสั่งตัดในภายหลัง โดยแชมป์สามารถนำ "กรีน แจ็คเก็ต" เก็บไว้กับตัวเองได้เป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะนำมาคืนในการแข่งขันปีถัดไป เพื่อเก็บไว้ในห้องเฉพาะของออกัสตาซึ่งพวกเขาจะนำออกมาสวมใส่ได้ก็ต่อเมื่อไปที่สนามเท่านั้น

 

แต่ยังมีกรณีของ แกรี่ เพลเยอร์ ที่เคยลืมนำ"กรีน แจ็คเก็ต" มาจากบ้านเกิดที่แอฟริกาใต้ในการลงแข่งปี 1962 ซึ่งเขาเป็นแชมป์เก่า ทำให้ โรเบิร์ตส์ ต้องติดต่อให้รีบนำมาคืน ก่อนที่จะประนีประนอมให้เพลเยอร์เก็บเอาไว้ได้แต่ขอร้องไม่ให้นำมาใส่ต่อหน้าสาธารณะ

 

 

แชมป์หลายสมัยใช่ว่าจะได้เสื้อหลายตัว

แจ็ค นิคลอส ตำนานชาวอเมริกัน คือแชมป์ เดอะ มาสเตอร์ส สูงสุด 6 สมัย ขณะที่ ไทเกอร์ วู้ดส์ ทำได้ 5 สมัย แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาได้ "กรีน แจ็คเก็ต" หลายตัวตามจำนวนครั้งที่ได้แชมป์ เพราะแชมป์เก่าทุกคนจะได้เสื้อตัวเดิมจากการคว้าแชมป์หนแรก จะมีการตัดใหม่ให้ก็ต่อเมื่อขนาดรูปร่างเปลี่ยนไปมากเท่านั้น เรื่องนี้สังเกตได้จากพิธีรับเสื้อของไทเกอร์เมื่อปี 2019 ซึ่งมีขนาดพอดีกับตัวของพญาเสือ เนื่องจากเป็นเสื้อตัวเดิมของเขา แต่ถ้าเป็นคนที่ได้แชมป์หนแรก เสื้อมักจะมีขนาดไม่พอดีตัวเพราะยังไม่ได้สั่งตัดนั่นเอง    

 

 

แถมท้าย ใครคือผู้ผลิต "กรีน แจ็คเก็ต"

แรกเริ่มเดิมทีนั้น กรีน แจ็คเก็ตผลิตโดย Brooks Uniform Co. ในนิวยอร์ก แต่ถูกสมาชิกบ่นว่าตัวเนื้อผ้าหนาและหนักเกินไป รวมทั้งไม่สบายตัวเมื่อสวมใส่ในช่วงที่สภาพอากาศอบอุ่น ทำให้มีการเปลี่ยนผู้ผลิตเป็น Hamilton Tailoring Co. ในซินซินเนติ ตั้งแต่ปี 1967 โดยใช้เวลาในการผลิต 1 เดือน พร้อมกับมีกระดุมสั่งทำพิเศษเป็นสัญลักษณ์ของออกัสตา รวมทั้งมีชื่อเจ้าของเสื้ออยู่ด้านในด้วย

 

อย่างไรก็ตาม มีออปชั่นพิเศษสำหรับสมาชิกของออสกัสตาที่ต้องการจะอัพเกรดกรีน แจ็คเก็ตของพวกเขาเช่นกัน โดยนับตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา ออกัสตาได้ทำงานร่วมกับ Henry Poole เพื่อสร้างเสื้อสั่งทำพิเศษซึ่งผลิตในกรุงลอนดอนโดยใช้ผ้าขนสัตว์จาก God’s Own County


stadium

author

ไทเกอร์ วืด

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose