11 พฤษภาคม 2563
“ลองดูมั้ย” วลีสั้น ๆ เป็นคำถามถึงลูกสาววัย 11 ปี จากชายหนุ่มวัยกลางคนเจ้าของค่ายมวย สุดยอดการช่าง ในอำเภอ ไชยวาน จังหวัด อุดรธานี เด็กหญิงในวันนั้นตกปากรับคำเชิญชวน และตัดสินใจลองชกมวยดู เนื่องจากเติบโต คลุกคลีกับกลิ่นเหงื่อ และเสียงต่อยกระสอบทรายในค่ายมวยมาตลอดตั้งแต่เล็ก ผ่านมาเกือบ 20 ปี บนเส้นทางแห่งผืนผ้าใบ วันนี้ สุดาพร สีสอนดี ไม่ใช่เด็กหญิงนักมวยไทยตัวน้อยที่มีค่าตัว 500 บาทอีกแล้ว แต่ตอนนี้เธอ คือ นักมวยสากลสมัครเล่นหญิงทีมชาติไทย ผู้ถือตั๋วเข้าแข่ง โอลิมปิกเกมส์ 2020 เพื่อไล่ล่าฝันที่ใหญ่และไกลห่างจากจุดเริ่มต้นมากเหลือเกิน
เด็กหญิงในค่ายมวยไทย
สุดาพร สีสอนดี ถึงจะเป็นผู้หญิง แต่ชีวิตของเธอไม่ได้ห่างไกลกับกีฬาชกมวยเลย เพราะคุณพ่อของเธอเป็นเจ้าของค่ายมวยไทย “สุดยอดการช่าง” นั้นทำให้กีฬามวยกับเธอไม่ใช่ของแปลกหน้าต่อกันเลย ชีวิตในวัยเด็กของเธอมีเสียงกระโดดเชือก และเสียงต่อยกระสอบทรายเป็นนาฬิกาปลุกในยามเช้า มีเพื่อนเล่นเป็นเหล่านักมวยผู้ชาย แต่นั้นก็ไม่ได้ทำให้เธอเข้าใกล้คำว่านักมวยเลยแม้แต่น้อย
จนกระทั่งวันหนึ่งโชคชะตาก็พาเธอเข้าสู่สังเวียนผืนผ้าใบ นักมวยหญิงจากต่างถิ่นมาหาคู่ชก และนั้นเป็นที่มาของวลี “ลองดูมั้ย” ซึ่งเธอที่อยากช่วยเหลือแบ่งเบาภาระที่บ้านอยู่แล้วก็ไม่ปฏิเสธโอกาสนี้ แต่นั้นก็ไม่ได้ง่ายเลยถึงจะเป็นลูกสาวเจ้าของค่ายมวย ขึ้นเวทีไปแล้วกำปั้นไม่มีรู แถมหน้าแข้งของคู่ต่อสู้ก็แข็งดังท่อนไม้ ความเจ็บปวดจาก 3-4 ไฟต์แรกในกีฬามวยไทย ทำให้เธอถึงขนาดขั้นถอดใจอยากเลิกชก
มวยไทย สู่ มวยสากลสมัครเล่น
ถ้าเปรียบเป็นการแข่งขันชกมวย การได้ย้ายโรงเรียนไปเรียนที่โรงเรียนกีฬาจังหวัดขอนแก่น คงเป็นเหมือนระฆังหมดยกที่ช่วยเซฟชีวิตนักมวยของ สุดาพร สีสอนดี ที่มีความคิดอยากจะเลิกชกมวยแล้วในตอนนั้น และก็เป็นที่นี่แหละที่ทำให้เส้นทางการชกมวยของเธอหันเหไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง ถึงเธอจะสอบติดในกีฬามวยไทยในตอนนั้น แต่โค้ชที่โรงเรียนก็แนะนำให้เธอเบนเข็มมาต่อยมวยสากลสมัครเล่นแทน เพราะน่าจะต่อยอดไปได้ไกลกว่าการเป็นนักมวยไทยผู้หญิงแน่นอน และความคิดของโค้ชที่โรงเรียนกีฬาจังหวัดขอนแก่นในวันนั้นก็ไม่ได้ผิดเลยแม้แต่น้อย เพราะ สุดาพร สีสอนดี ในวันนี้คือหนึ่งในกำลังสำคัญของทัพมวยสากลสมัครเล่นหญิงไทย
ตัวสำรองที่ต้องอดทน
แต่หนทางของ สุดาพร สีสอนดี ก็ไม่ได้สวยหรูขนาดนั้น ถึงจะใช้เวลาไม่นานในการไปมีชื่อติดทีมชาติไทยมวยสากลสมัครเล่นในวัย 16 ปี แต่การมีรุ่นพี่มากฝีมืออย่าง ทัศมาลี ทองจันทร์ และเปี่ยมวิไล เล่าเปี่ยม เป็นกำแพงขวางหน้าอยู่ ทำให้สาวน้อยเด็กใหม่อย่างเธอทำได้เพียงแต่ซ้อมเท่านั้นในแคมป์ทีมชาติไทย และเป็นตัวสำรองอดทนตลอดเวลา 2 ปีหารายการแข่งขันลงแทบไม่ได้เลย ซึ่งเธอก็เกือบถอดใจเลิกชกสากลกลับไปชกมวยไทยแล้ว เพราะต้องหาเงินช่วยทางบ้านที่ฐานะก็ไม่ได้ดีมากนัก แต่จนแล้วจนรอดเธอก็มีชื่อติดไปแข่งซีเกมส์ครั้งที่ 26 ที่ประเทศ อินโดนีเซีย ในปี 2011 แล้วดาวรุ่งสาววัย 18 ปี ในเวลานั้นก็ไม่ทำให้ผู้ใหญ่ที่ให้โอกาสต้องผิดหวังคว้าเหรียญทองซีเกมส์มาครองได้ทันที จนถึงตอนนี้เธอแข่งซีเกมส์ไปแล้ว 3 สมัย ได้มา 2 เหรียญทอง กับ 1 เหรียญเงิน
2 รองแชมป์ในเวทีใหญ่
ปี 2018 เป็นทั้งปีทอง และเป็นปีที่ สุดาพร สีสอนดี ต้องผิดหวัง รายการแรกเอเชียนเกมส์ 2018 ที่ประเทศ อินโดนีเซีย เธอซึ่งเป็นหนึ่งในความหวังสูงสุดของสมาคมมวยสากลสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ไล่อัดคู่แข่งจนเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ ไปพบกับ โอ ยอน จี นักมวยสาวเกาหลีใต้ ซึ่งเธอก็พ่ายไปอย่างน่าเสียดายได้เพียงเหรียญเงิน ถึงมันจะเป็นผลงานที่ดีที่สุดของทัพเสื้อกล้ามไทยปีนั้น แต่เธอก็ยอมรับว่านี่เป็นรายการที่ผิดหวังที่สุดในชีวิตของเธอ
“ถ้าเราไม่สู้ ก็ไม่มีใครเลี้ยงเราแล้วนะ” คำพูดของคุณพ่อที่เธอใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทุกครั้งยามที่ท้อบวกกับคำปลุกใจของโค้ชที่บอกว่าเธอสู้ได้ในระดับโลก ทำให้ในเวทีศึกชิงแชมป์โลกมวยสากลสมัครเล่นปี 2018 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เป็นรายการที่ สุดาพร สีสอนดี ชกได้ดีสุดในชีวิต รอบ 8 คนสุดท้ายเธอล้มเต็ง 1 นักมวยสาวจากประเทศฟินแลนด์ เจ้าของเหรียญทองแดงที่ ริโอ เกมส์ 2016 อย่าง มิร่า พ็อตโคเน่น ก่อนที่ในรอบรองชนะเลิศจะล้างแค้นคู่ปรับเก่าที่เป็นเจ้าของเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2018 อย่าง โอ ยอน จี ได้ ถึงแม้ในรอบชิงชนะเลิศเธอจะพ่ายให้กับ เคลลี่ แฮริงตัน จากไอร์แลนด์ แต่เหรียญเงินในศึกชิงแชมป์โลกก็เป็นรายการที่เธอภูมิใจที่สุด แถมมันยังเป็นเหรียญเดียวที่ทัพเสื้อกล้ามสาวไทยทำได้ในปีนั้นอีกด้วย
รอจังหวะที่ใช่ เพื่อล่าฝันให้สำเร็จ
“หนูเป็นมวยจังหวะฝีมือ รอจังหวะสอง” คำตอบของสุดาพร สีสอนดี เมื่อถูกถามถึงสไตล์การชกของเธอ ไม่ต่างกับชีวิตจริงในเส้นทางบนผืนผ้าใบของเธอ เธอเป็นรองแชมป์รายการใหญ่มาแล้ว 2 รายการ แล้วเหมือนที่ฝรั่งชอบพูดว่า Third time lucky ครั้งที่ 3 ของเธอในรายการใหญ่ที่สุดในชีวิตที่เป็นเสมือนความฝันสูงสุดของเธอเสมอมา ในชีวิตการชกมวยโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่โตเกียว ประเทศ ญี่ปุ่น ที่เธอได้ตั๋วไปแข่งขันที่ต้องการมาครอบครองเรียบร้อยแล้ว
ตอนนี้เธอฝึกซ้อมอย่างหนักเป็นกิจวัตรประจำวันเช้า-บ่าย รวมเกือบ 5 ชั่วโมงต่อวัน ฝีมือ ความฟิต ความแข็งแกร่ง เธอน่าจะมีพร้อมแล้ว รอเติมความมั่นใจอีกนิด พร้อมกับรอจังหวะที่ใช่ สวนหมัดซ้ายที่ถนัดแม่น ๆ ใส่อุปสรรคที่ขวางหน้า เพื่อคว้าสักหนึ่งเหรียญรางวัลโอลิมปิกเกมส์ เพื่อเป็นรางวัลแห่งความพยายามทุ่มเทมาตลอดเกือบ 20 ปี “ลองดูมั้ย” คราวนี้ไม่ใช่คำถามจากคุณพ่ออีกแล้ว แต่ครั้งนี้มันเป็นเสียงเรียกร้องจากข้างในหัวใจของเธอเอง ที่อยากจะลองสู้อย่างเต็มที่สักครั้งเพื่อตามฝันให้สำเร็จ
TAG ที่เกี่ยวข้อง