10 พฤษภาคม 2563
ถ้าความฝันสูงสุดของนักกีฬาบาสเกตบอลชายทั่วโลก คือการได้ไปเล่น NBA ลีกบาสเกตบอลชายของสหรัฐที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ส่วนของนักบาสหญิงก็คงเป็น WNBA ลีกบาสเกตบอลหญิงของสหรัฐอเมริกา คงเป็นที่ที่เหล่านักบาสหญิงทั่วโลกต่างต้องการมาโชว์ฝีมือด้วยเช่นกัน แต่ทว่าความสามารถอย่างเดียวอาจไม่พอ ต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆควบคู่กันไป ทั้งเงินทุน จังหวะเวลา โอกาสและคอนเนคชั่น
ครั้งหนึ่ง “โบ” สุภาวดี กุญชวน นักกีฬาบาสเกตบอลสาวทีมชาติไทย ที่เคยได้ทุนไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเซนต์ โธมัส ไมอามี และเล่นบาสเกตบอลลีกระดับมหาลัยวิทยาลัยที่ สหรัฐฯ เธอยังทำผลงานได้ดีจนเกือบได้ไปสัมผัสการเป็นนักบาสอาชีพหญิงใน WNBA ที่สหรัฐอเมริกามาแล้ว เพียงแต่ในวันนั้นนอกเหนือจากความสามารถ เธอยังขาดสิ่งอื่นๆที่ควรมีควบคู่กัน
ทำให้เธอต้องกลับมาตั้งต้นใหม่ที่ประเทศไทยและมองหาโอกาสครั้งใหม่ๆ ก่อนจะลงเอยด้วยการเป็นผู้เล่น ผู้เล่นและโค้ช ให้กับทีมมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศมาเลเซียที่เธอกำลังศึกษาปริญญาเอกอยู่ ซึ่งเธอบอกกับเราว่าชีวิตเธอในตอนนี้ได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
จากเด็กที่ไม่สนใจกีฬาบาสเกตบอล
โบ สุภาวดี เริ่มต้นด้วยการเป็นนักกีฬาเทควันโดมาก่อน แม้ว่าเธอจะชอบเล่นกีฬาหลายชนิดและเป็นลูกสาวของ พีระ กุญชวน อดีตนักกีฬาบาสเกตบอลทีมชาติไทย แต่ก็ไม่ได้ทำให้เธอสนใจเล่นกีฬาชนิดเดียวกันกับผู้เป็นพ่อเลยสักนิด แต่เป็นเพราะความบังเอิญที่ทำให้ได้เข้ามาอยู่ในวงการบาสเกตบอลจนถึงทุกวันนี้
“ไม่ได้เริ่มจากความชอบค่ะ แต่เป็นความบังเอิญที่ต้องเล่น ตอนนั้นหนูอายุประมาณ 16 เอง ทีมที่พ่อเป็นโค้ชให้อยู่ขาดผู้เล่นอยู่หนึ่งตำแหน่ง แล้วเขาเห็นว่าเราสูงน่าจะช่วยรีบาวด์ เก็บบอลได้ก็เลยมาขอให้เราลงไปช่วยเล่นให้หน่อย หลังจากนั้นก็พ่อก็สอนหนูมาตลอด แต่ด้วยอายุตอนนั้นถือว่าเริ่มต้นช้ามากนะ แถมความยากก็คือที่ผ่านมาหนูเล่นแต่กีฬาประเภทเดี่ยวหมดเลย อย่างเทควันโดก็เล่นตั้งแต่ ป.5 พอมาเล่นกีฬาประเภททีมก็ต้องปรับตัวเยอะ”
หลังจากนั้นเธอเริ่มเล่นบาสจริงจังมากขึ้น และค่อยๆซึมซับจนรู้สึกรักและขาดกีฬาชนิดนี้ไม่ได้แล้ว ด้วยความที่เป็นคนมีพื้นฐานด้านกีฬาดีมาตั้งแต่เด็ก แม้ว่าจะต้องใช้เวลาปรับตัวแต่เธอก็พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว มีชื่อติดเยาวชนทีมชาติไทย ชุดยู 18 จากนั้นติดทีมชาติชุดใหญ่อยู่ในชุดที่คว้าแชมป์ซีเกมส์ 2013 อย่างไรก็ตามก่อนจะไปแข่งซีเกมส์ในปีนั้น เธอได้มีโอกาสลงเล่นในรายการต่างๆ และโชว์ฟอร์มได้ดีจนไปสะดุดตาโค้ชคนหนึ่งที่มาจากอเมริกา
ความยากของนักบาสเอเชียในสหรัฐอเมริกา
“เขาชื่อ เดวิด ค่ะ เป็นโค้ชมาจากอเมริกา มีอยู่ทัวร์นาเม้นหนึ่งก่อนซีเกมส์นี่แหละ หนูได้ลงเล่นเป็นตัวสำรอง หลังจบแมตช์เขาก็มาพูดคุยกันถามว่าสนใจจะไปเล่นที่สหรัฐอเมริกาไหม แต่ต้องไปซ้อมกับเขานะประมาณ 4-5 เดือน เพื่อดูความสามารถเรา” สุภาวดี เผยถึงจุดเริ่มต้นของการไปเล่นที่สหรัฐอเมริกา
“ซึ่งหนูก็สนใจและตอบตกลงไป หลังจบซีเกมส์ 2013 ก็ไปซ้อมกับเขาเลย ก็ซ้อมไปจนครบกำหนด เขาก็ประเมินและบอกว่าหนูดีพอไปเล่นที่อเมริกาได้นะ จากนั้น เดวิด ก็เริ่มส่งข้อมูลไปให้หลายๆมหาวิทยาลัยที่นั่น จนกระทั่ง Saint Thomas University ที่อยู่ไมอามี ตอบกลับมาว่าโอเค ให้เราไปเรียนได้เลย เซ็นสัญญาก่อนจะบินไป พอทุกอย่างเรียบร้อย เราดร็อปเรียนและซ้อม บินไปเลย”
ช่วงเวลานั้นถือเป็นข่าวใหญ่และความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่ของวงการยัดห่วงไทย เพราะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่เคยมีนักบาสไทยคนไหนเคยได้ไปเล่นที่สหรัฐอเมริกามาก่อน โบ สุภาวดี เป็นคนแรก ในเวลานั้นทุกอย่างดูสวยหรูมาก โบว์ เฝ้ารอเวลาที่จะได้เดินทางอย่างใจจดใจจ่อ อยากจะได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของนักบาสระดับโลก แต่ทว่าเรื่องราวมันไม่ได้สวยหรูอย่างจินตนาการไว้
“ตอนนั้นหนูตื่นเต้นมาก เป็นคนไทยคนแรกที่ได้เล่นที่สหรัฐอเมริกา” นั่นคือความรู้สึกของโบก่อนที่จะไปเจอช่วงเวลายากลำบากที่อีกฟากของโลก “แต่พอไปถึงที่นั่นทุกอย่างไม่เป็นอย่างที่คิดคือเรารู้อยู่แล้วละว่าต้องซ้อมหนักก็เตรียมใจมาแล้ว แต่คนอะมันต่างที่ ต่างวัฒนธรรม ความรู้สึกช่วงแรกเหมือนโดนดูถูกเหมือนเขาคิดว่าคนเอเชียอ่อนแอกว่าเขา”
“ตอนโค้ชให้เลือกทีมว่าใคนจะอยู่ทีมกับใคร เราก็ไม่โดนเลือกเลย เหลือเป็นคนสุดท้ายตลอด ตอนเล่นก็ไม่มีใครส่งลูกให้ เป็นแบบนี้ทุกวันๆ ตอนนั้นก็งงมากๆ ว่าทำไมไม่เลือกเรา เราก็มีดีกรีเป็นถึงตัวทีมชาติเลยนะ ช่วงแรกก็ปรับตัวไม่ได้ไม่มีเพื่อนเลย แต่พอปรับตัวได้ทุกอย่างมันก็ดีขึ้น เพราะเราก็พิสูจน์ให้เขาเห็นว่าเราก็มีความสามารถเหมือนกัน”
“พอเริ่มปรับตัวได้ ซ้อมได้ดีขึ้น แต่เราก็ยังโดนโค้ชด่าอยู่ตลอด ซึ่งโค้ชที่นั่นเป็นสไตล์แบบด่าแรงๆ ด่าต่อหน้า แต่หนูก็งงเพราะขนาดหนูซ้อมได้ดีแล้ว ก็ยังโดดด่าแรงๆอยู่ทุกวัน มันยิ่งทำให้หนูท้อ หนูกลับบ้านนอนร้องไห้ตลอดเลย มีวันนึงเริ่มทนไม่ได้ ก็มีความคิดที่จะลาออกจากทีมเลย”
นับเป็นช่วงเวลาที่สาหัสมากสำหรับเด็กผู้หญิงอายุ 22 ปีคนนึงที่ใช้ชีวิตต่างประเทศเพียงลำพัง ด้วยวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน นักกีฬาหลายๆคนอาจจะพอใจกับสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีปัจจุบัน แต่สำหรับที่สหรัฐอเมริกา ต่อให้นักกีฬาจะซ้อมได้ดีขนาดไหนไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งสำคัญคืออย่าหยุดพัฒนาและมีแต่ต้องทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม
“พอเรื่องไปถึง เดวิด เขาก็โทรมาคุยกับหนูและก็โค้ชของทีม เขาก็อธิบายว่าด้วยวัฒนธรรมมันต่างกัน แม้ว่าเราจะคิดว่าเราเก่งแล้ว แต่ในสำหรับฝรั่งไม่มีคำว่าดี มีแต่ต้องดีขึ้นไปอีก ซึ่งหนูก็มาเข้าใจทีหลัง เลยขอกลับเข้าทีม”
“ตอนหนูขอกลับเข้าทีมก็ต้องได้รับการเห็นชอบจากเพื่อนร่วมทีมก่อน เพราะตอนที่หนูลาออกมาเป็นช่วงซ้อมเตรียมแข่งขันพอดี แล้วช่วงนั้นเหมือนเพื่อทุกคนก็มองว่าความสามารถเราช่วยทีมได้ แต่ทำไมเรากลับทิ้งพวกเขาไว้กลางทาง ก็เลยมีบางคนเกลียดเรา พอจะกลับเข้าไป โค้ชก็เลยให้โหวตว่ามีใครอยากได้หนูกลับไปร่วมทีมบ้าง”
“ซึ่ง 5 ใน 12 คนที่เป็นตัวหลักไม่เอาหนูเลย แต่ยังโชคดีที่เสียงส่วนใหญ่ให้หนูกลับเข้าไปซ้อมได้ หลังจากนั้นหนูก็ซ้อมหนักกว่าเดิมอีก เวลาว่างก็ไปซ้อมส่วนตัวกับโค้ช พอเราดีขึ้นเรื่อยๆเขาก็ไม่ด่าแล้ว ในสังคมเราว่างก็พัก แต่ฝรั่งถ้าอยากเก่งว่างก็ต้องซ้อม ต้องมีความรับผิดชอบให้ทีม พอตอนแข่งหนูใส่เต็มที่ทุกแมตช์ มีอยู่แมตช์นึงหนูทุ่มเทจนแบบหลังจบเกม 1 ใน 5 คนที่โหวตโนไม่เรา ถึงกับเดินมาบอกเอาใจเขาไป และหลังจบซีซั่นนั้นเราได้รางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมกลุ่ม 1 ทุกคนมาบอกว่าเราเก่ง ยอมรับในตัวเรา ซึ่งเป็นสิ่งภูมิใจมาก”
สิ่งที่ได้เรียนรู้
หลังจบปริญญาตรี 2 ปีที่กำหนด โบว์ ก็ต้องกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ประเทศไทย ในช่วงนั้นเธอพยายามผลักดันด้วยตัวเองทุกวิถีทาง เพื่อให้ตัวเองถูกดราฟเข้าสู่ลีกอาชีพ WNBA แต่เมื่อทำไม่ได้ก็ต้องมองหาโอกาสอย่างอื่นต่อไป
“กลับมาเป้าหมายชีวิตเปลี่ยน ทัศนคติเปลี่ยน ตอนอยู่อเมริกา หนูมุ่งมั่นอยากอยากจะดราฟต์ให้ได้ กลับมาก็พยายามติดต่อเอเจนซี่ เคยไปดราฟต์มาครั้งหนึ่ง มีเอกชนที่สามารถเอาคอนแทคเราให้ WBNA ซึ่งหนูก็ดราฟต์ติดที่โปรตุเกสนะ แต่ว่าไม่ไป เพราะสำหรับหนูมองว่าเป็นประเทศที่อันตราย”
“ในช่วงปลายปี 2016-2017 ก็พยายามเดินเรื่องตลอดแต่ก็ยังไม่ได้ ปี 2018 ก็ยังพยายามอยู่ แต่เราเริ่มเรียนรู้แล้วว่าเราถ้าไม่มีเอเจนซี่ จะทำอะไรก็ลำบาก เพราะส่วนใหญ่แล้วจะเล่นอาชีพโค้ชบอกว่าต้องมีคอนแทคติดต่อ แต่หนูไม่มี อายุ 26 แล้ว ก็เริ่มต้องวางแผนชีวิตใหม่”
ชีวิตใหม่ที่มาเลเซีย
หลังจากการพยายามผลักดันไปเล่นลีกอาชีพที่สหรัฐอเมริกาไม่ประสบความสำเร็จ เธอจึงเปลี่ยนเป้าหมายในชีวิตใหม่ กลับมาเอาจริงจังกับการเรียน ปริญญาโท ที่ม.กรุงเทพ ควบคู่ไปกับการสอนบาสที่โรงเรียนนานาชาติ หลังจากนั้นไม่นาน เธอมีโอกาสได้ไปเล่นบาสลีกที่มาเลเซีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ถูกหยิบยื่นเข้ามาอย่างถูกจังหวะ ขณะที่ผลงานในทีมชาติ เธอก็ยังช่วยทีมไทยคว้าเหรียญทองแดงซีเกมส์ 2015 และเหรียญเงินในปี 2017 , 2019 ชีวิตดูเหมือนจะมีโฟกัสที่ชัดเจนขึ้น เพราะจบปริญญาโท เธอก็ได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในมาเลเซีย พร้อมกับรับบทบาทเป็นทั้งโค้ชและผู้เล่นอีกด้วย
“ผู้จัดการทีมซูเปอร์สปอร์ตที่หนูเล่นให้ตอนเล่นลีกมาเลเซีย เขาอยากให้หนูไปเล่นที่นั่นต่อ หนูก็เลยพูดเล่นๆกับเขาว่าอยากได้ทุนเรียนต่อปริญญาเอก เหมือนเจ้าของทีมมหาวิทยาลัย กับ เจ้าของทีมที่หนูเล่นลีกอาชีพเขาสนิทกัน แล้วเขาประทับใจก็เลยให้ทุนหนู ช่วงนั้นก็คิดอยู่ว่าจะเลิกเล่นทีมชาติแล้วมาเล่นที่มาเลเซียเต็มตัวและสอนไปด้วย เพราะหนูได้ทุนไม่เสียเงินสักบาท ก็เลยคิดว่าเรียนต่อดีไหม มีเงินเดือนให้ ได้เล่นบาสด้วย เพราะใจอยากเล่นบาสด้วย เขาให้หนูเป็นหัวหน้าโค้ชของทีมชาย มีเงินเดือน ก็เลยโอเค แล้วช่วงนั้นมีปัญหารุมเร้าอยู่ด้วย พอจบซีเกมส์ 2019 ก็มาเรียนต่อ”
“ชีวิตที่มาเลเซียวันๆอ่านแต่หนังสือค่ะ สัปดาห์นึงทำงานออฟฟิศ 2 วัน เป็นผู้ช่วยในออฟฟิศมหาวิทยาลัย ในแผนกวิจัย จันทร์ถึงศุกร์ คุมซ้อมทีมชาย อังคาร พฤหัส ซ้อมกับทีมหญิง พุธว่างอ่านหนังสือ เรียนที่มหาวิทยาลัย ucsi university อยู่ในเมืองกัวลาลัมเปอร์ เป็น มหาวิทยาลัยเอกชนอันดับ 1 ในเมืองหลวง”
“ตอนแรกอยากเล่นในยุโรป สหรัฐอเมริกามาก แต่พอไม่ได้เราก็คว้าโอกาสที่อยู่ตรงหน้า หนูเล่นในซูเปอร์สปอร์ตที่มาเลเซีย โอกาสมันมาเรื่อยๆทำให้เราหยุดไม่ได้ พอหนูตั้งเป้าหมายชีวิตไว้แบบนี้หนูก็คว้ามันไว้ตลอด ตอนไปอเมริกาก็จะเลิกเล่นบาสเหมือนกัน แต่มันเลิกไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่เราชอบ หนูอยากถ่ายทอดในสิ่งที่เรียนมา”
“ชีวิตตอนนี้มีความสุขมากค่ะ มาถึงจุดนี้ได้เพราะกีฬาบาส ได้เรียนรู้ทุกอย่างเพราะบาส เหมือนเป็นโอกาสที่คนแปลกหน้ายื่นให้เราและคว้าไว้ แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ความตั้งใจของเรา กีฬามันสอนหนูหลายอย่าง ให้เราได้โอกาสดีดี ที่แบบคนอื่นไม่ได้”
5 Q&A สุด Exclusive ที่บอกว่า ชีวิตคนหนึ่งคน เต็มที่และทำได้ดีพร้อมกันหลายเรื่อง
นอกเหนือจากนั้นทีมงานยังได้มีโอกาสพูดกับ โบว์ ในเรื่องทั่วไปสุดๆ แต่ก็เป็นมุมน่ารักของน้องที่เราอยากเอามาแบ่งปันกันต่อ เพราะภายใต้ความเป็น Idol ของวงการกีฬา (แถมเรียนเก่งนั้น) โบว์ ก็มีมุมอื่นๆที่ไม่ได้แตกต่างจากคนทั่วไป
1. รู้มาว่าน้องมีความมุ่งมั่นที่จะได้ทำงานในสายการบิน และ ได้เป็นแอร์โฮสเตส เพราะมีความตั้งใจว่าทุกจุดหนึ่งก็อยากได้ใช้ทักษะ และความรู้ต่างๆ ที่มี หางานประจำทำบ้าง ขณะเดียวกันก็สนใจที่จะเป็นหมออีกด้วย (หนุ่มๆคงขอป่วยกันให้เร็วเลย)
2. งานอดิเรกขั้นเทพอีกย่างคือการเล่น Pubg (ซึ่งไม่รู้ตอนนี้น้องพัฒนาการไปเซียนเกมส์อื่นๆแล้วด้วยหรือไม่นะ) ว่ากันว่า เคยมีโอกาสเล่นร่วมกับโปรระดับต่างชาติด้วยนะ ไม่รู้ยิงแม่นเหมือนเล่นบาสหรือเปล่า ฮ่าๆ
3. อีก 1 สิ่งที่โบ ทำเป็นประจำคือการฝึกสอนบาสให้เด็กๆ มีอยู่ที่ ซึ่งน้องได้มีโอกาสไปเป็นผู้ฝึกสอน และคุยไปคุยมาก็พบว่า ตัวน้องเองก็อยากจะถ่ายทอดวิชาบาสที่ได้ฝึกโหดฝึกหนักมาทั้งชีวิต บันทึกเก็บไว้ในโซเชียลมีเดีย อีกด้วย ซึ่งน้องก็ได้ทำ Youtube Channel เป็นของตัวเอง
อ่านบทความเรื่อง 10 นักกีฬาไทย ที่ส่งต่อวิชาผ่าน Youtube Channel คลิกที่นี่
4. ความมากสามารถ และ ไฮเปอร์นิดๆ ทำให้ โบ ลองทำหลายสิ่งหลายอย่าง และอีก 1 มุมที่น่าสนใจคือการเป็นกราฟฟิกดีไซน์ ซึ่งน้องหัดและเรียนรู้เอง พร้อมกับลงมือทำผลงานออกมาให้เห็น โดยสามารถติดตามฝีมืองานของน้องได้ที่ Facebook ของน้องเลยฮะ
คลิกที่นี่เลย สำหรับเฟซบุค สุภาวดี กุญชวน
5. ท้ายที่สุด ได้ชวนน้องพูดคุยว่า อยากลองไปเล่นกีฬาอื่นๆบ้างมั้ย เช่น อยากเห็นน้องไปเล่นเทควันโด น้องโบ บอกมาว่า "กีฬารุนแรง หนูก็เก่งนะ" ถือว่าครบเครื่องจริงๆ สำหรับนักบาสสาวทีมชาติคนนี้
ถ้าคุณสนใจเรื่องบาสเกตบอล อ๋อม ขอแนะนำบทความต่อไปนี้
Glory Road l ภาพยนตร์กีฬาที่สอนให้รู้จักคำว่า ผู้นำที่ดี
10 ตอน 500 นาที เราได้อะไรจากการดู "The Last Dance"
ชีวิตวัยรุ่นที่ขรุขระของ Rookie NBA 2020 รุย ฮาชิมุระ
ความเข้าใจจากแม่ l โอกาส 7 วัน ที่เปลี่ยนชีวิต ริกกี้ รูบิโอ ไปตลอดกาล
TAG ที่เกี่ยวข้อง