stadium

ระบบค่าจ้างที่ แฟร์ ที่สุด !!

28 ตุลาคม 2563

 

หากพูดถึงช่วงเวลาของความมันส์ใน NBA หลายคนน่าจะนึกถึงรอบเพลย์ออฟ เพราะไม่ว่าจะเป็นการลุ้นคัมแบ็ก จากทีมของตัวเอง หรือ เกมที่เจ็ดระหว่างสองทีมที่คู่คี่สูสีกัน รอบเพลย์ออฟ มักมีประเด็นดราม่าให้ทุกคนได้พูดถึงอยู่เสมอครับ แต่เชื่อหรือไม่ว่ามีอีกช่วงเวลาหนึ่งที่แฟนบาสต้องลุ้นกันหนักเหมือนกัน ทั้งที่ทีมตัวเองไม่ได้ลงเล่นด้วยซ้ำ จะเป็นช่วงเวลาไหนกัน ? วันนี้เรามีคำตอบ

 

คำว่า OFF SEASON แปลเป็นไทยก็คือช่วงที่ไม่มีการแข่งขัน หรือ ช่วงปิดฤดูกาลนั่นเอง ถึงแม้อาจไม่ได้มีการแข่งขันในสนาม แต่ช่วง OFF SEASON เป็นระยะเวลา 2-3 เดือนที่จะเปิดโอกาสให้แต่ละทีมในลีกสามารถเสริมและสลับสับเปลี่ยนผู้เล่นในทีมได้ตามกฎของลีก

 

ถ้าใครจำกันได้ ปีที่แล้วมีการย้ายตัวเกิดขึ้นมากมาย เราได้เห็น KEVIN DURANT ย้ายไป BROOKLYN NETS พร้อมกับเพื่อนสนิทอย่าง KYRIE IRVING รวมถึง ANTHONY DAVIS ที่ไปผนึกกำลังกับ LeBRON JAMES ที่ L.A. LAKERS 

 

การได้เห็นนักบาสค่าตัวสูงๆ ย้ายไปย้ายมาในลีก มักจะไม่เกิดขึ้นบ่อยนักเพราะมีกฎพิเศษที่หาไม่ได้จากที่อื่น

 

กีฬาระดับเมเจอร์อย่าง NBA ในสหรัฐอเมริกาแตกต่างจากลีกทั่วโลกเพราะเรื่องของการที่มีกติกา SALARY CAP หรือ เพดานค่าจ้าง เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจัยนี้คืออะไรและส่งผลต่อการแข่งขันในแต่ละปีอย่างไร อ่านต่อได้เลยครับ 

SALARY CAP คืออะไร ?

 

เราไปเริ่มกันที่คำว่า SALARY CAP ในวงการกีฬาอเมริกากันก่อนดีกว่า โดยถ้าแปลเป็นไทย SALARY CAP ก็คือ วงเงินค่าเหนื่อยรวมของผู้เล่นทั้งทีมที่ลีกกำหนดให้ในแต่ละฤดูกาล ซึ่งทุกทีมห้ามจ่ายเกินกว่าจำนวนดังกล่าว 

 

โดยจุดประสงค์ของการมี SALARY CAP ก็คือการที่ลีกต้องการจะสร้างความเท่าเทียมให้กับทุกทีมมากขึ้น เพราะการกำหนดเพดานค่าจ้าง เป็นการตัดโอกาสทีมที่มีทุนสนับสนุนก้อนโต ไปซื้อผู้เล่นราคาแพงๆ ที่เล่นเก่งๆ เข้ามาอยู่ในทีมเดียวกันหมด เพราะไม่อย่างนั้นทีมที่มีขนาดเล็กและไม่มีเงินก็จะไม่สามารถสร้างทีมมาสู้กับพวกเจ้าบุญทุ่มได้ 

 

เพราะฉะนั้น การที่ทุกทีมในลีกมี CAP SPACE หรือจำนวนวงเงินที่ต้องใช้ในปริมาณที่ไม่ห่างกันมาก ก็จะทำให้ทุกทีมต้องวัดกันด้วยฝีมือในสนามแทนเงินที่มีนอกสนาม 

 

อ่านมาถึงตอนนี้ คุณคงมีคำถามในใจหลายข้ออย่างเช่น กฎนี้เริ่มมาเมื่อไหร่?  ถ้าใช้เงินมากเกินกำหนดล่ะ? มีทีมที่ใช้น้อยไปมั้ย? และอีกหลายข้อคิด ไม่ต้องห่วงครับ เราได้จัดคำตอบสำหรับคำถามสำคัญๆ ให้คุณไว้แล้ว

จุดกำเนิดของ SALARY CAP ?

 

จริงๆ แล้วเรื่อง SALARY CAP เคยถูกทดลองใช้ตั้งแต่ช่วงปี 1940 แต่เพราะการที่ลีกตอนนั้นยังไม่ค่อยมีความเป็นมืออาชีพสักเท่าไหร่เลยทำให้ไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี และถูกยกเลิก

 

กาลเวลาผ่านไปประมาณ 40 กว่าปี NBA ก็ได้รับความสนใจมากขึ้นจากแฟนๆทั่วโลก รวมถึงกลายเป็นลีกอาชีพอย่างเต็มตัว การทดลองใช้กฎ SALARY CAP อีกครั้งในฤดูกาล 1984-1985 จึงได้รับเสียงชื่นชมและมีคนยกย่องว่าทำให้ลีกมีความแฟร์มากขึ้น และทำให้มีการใช้มาถึงทุกวันนี้ 

ตัวเลขของ SALARY CAP แต่ละปีมาจากไหน ?

 

ทุกๆปีตัวเลข SALARY CAP จะถูกคำนวณออกมาจากหลากหลายองค์ประกอบที่ลีกได้จัดตั้งใว้ สำหรับใครที่ติดตามตัวเลขของปีก่อนๆ จะเห็นว่าช่วงฤดูกาล 2015-2016 ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่พอข้ามมาแค่สามปีในช่วง 2018-2019 จำนวณ CAP พุ่งขึ้นเกิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว

 

โดยทุกๆปี NBA จะคอยดูจำนวณเงินที่แต่ละทีมได้รับจาก ตั๋วเข้าชมการแข่งขัน ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด รายได้จากการขายของที่ระลึก สปอนเซอร์ที่สนับสนุนทีม และ องค์ประกอบอื่นๆ ที่เป็นตัวทำเงินให้กับทีมใน NBA 

 

หลังจากที่เอาตัวเลขนี้ของแต่ละทีมมาคิด ลีกก็จะหาเฉลี่ย และนำตัวเลขนั้นมาเป็น SALARY CAP นั่นเอง

 

ยิ่งปีไหนทีมในลีกได้เงินจากการขายบัตรเข้าชมหรือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมากขึ้น ลีกก็จะอนุมัติการเพิ่มจำนวณเงินของ SALARY CAP ในปีนั้นทันที โดยถ้าคิดดูแล้วโมเดลนี้ถือว่าส่งผลดีในการสร้างแรงจูงใจให้ทีมในลีกทำผลงานดีเพื่อหารายได้เยอะๆ ซึ่งจะทำให้สามารถใช้ทุนที่ได้มานี้ไปกับการดึงตัวนักกีฬาเก่งๆ ที่ราคาแพงๆ เข้ามาในทีมได้มากขึ้น  

ถ้าใช้ SALARY CAP มากไป ? 

 

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าทีมจ่ายค่าจ้างเกินกว่า SALARY CAP ที่ลีกจัดใว้ให้ ? ทีมจะโดนแบน หรือ จะมีบทลงโทษจากลีกอย่างไรบ้าง ? 

 

เมื่อทีมในลีกไม่สามารถควบคุมค่าจ้างให้อยู่ใน SALARY CAP ได้ ก็จะถูกลีกลงโทษ โดยทีมที่ใช้จ่ายเกินก็จะถูกบังคับทางกฎหมายให้ต้องนำ % ของเงินค่าจ้างที่ใช้เกินนำไปจ่ายเป็น LUXURY TAX หรือ ภาษีฟุ่มเฟือย 

ถ้ามองจำนวณที่ทีมที่ใช้เงินเกิน SALARY CAP ต้องจ่ายให้กับรัฐบาลก็จะเป็นไปตามอัตราที่เห็นได้จากรูปข้างบน เริ่มที่ 1.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากทุกๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ใช้เกินเพดาน จนถึง 4,999,999 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนอัตราสูงสุดคือ 3.75 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากทุก ๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ใช้เกินเพดานนับตั้งแต่ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนกรณีที่มากกว่านั้นก็จะเพิ่มทีละ 0.50 ดอลลาร์ จากทุก ๆ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่จ่ายเกินเพดานนั่นเอง 

 

อย่างไรก็ตาม ภาษีฟุ่มเฟือยเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี แต่ก็ไม่แปลกหากมีทีมใน NBA ใช้ค่าจ้างเกินเพดาน เพราะไม่ว่าจะเป็นทีมเงินหนาอย่าง L.A. LAKERS หรือ GOLDEN STATE WARRIORS ก็เคยจ้างนักบาสในทีมเกินปริมาณที่ลีกได้จำกัดใว้แล้ว ส่งผลให้ต้องยอมเสียภาษีฟุ่มเฟือยเป็นจำนวณมาก

ใช้ SALARY CAP น้อยไป ? 

 

ถ้ามีมากไป ก็ต้องมีน้อยไป แต่ละปีลีกจะตั้ง MINIMUM หรือ จำนวณเงินขั้นต่ำที่ทุกทีมต้องนำไปใช้จ้างนักกีฬา โดยตัวเลขนี้จะอยู่ที่ 90% ของตัวเลข SALARY CAP ในปีนั้น 

 

สาเหตุที่ลีกต้องมีตัวเลขขั้นต่ำก็เพื่อปกป้องนักบาสที่เล่นอยู่ในทีมเล็กๆ ไม่ให้ได้รับค่าจ้างที่น้อยเกินไปกว่าทีมอื่นๆ ทั้งหมดก็เพื่อการทำให้คุณภาพลีกมีความเท่าเทียมกันและยังเป็นการทำให้ทีมขนาดเล็ก จ่ายในราคาที่ไม่ต่ำกว่าทีมขนาดใหญ่มากเกินไป 

สรุปแล้ว SALARY CAP ส่งผลดี?

 

การมี SALARY CAP ตั้งแต่ช่วงประมาณ 30 กว่าปีที่แล้วทำให้ NBA กลายเป็นลีกที่มีความเท่าเทียมและยุติธรรมอันดับต้นๆของโลก เพราะในช่วงเวลาประมาณสามทศวรรษได้มีแชมป์ถึง 11 ทีม ทั้งทีมที่มาจากเมืองใหญ่ๆ อย่าง L.A. ไปจนถึงทีมที่อยู่นอกสหรัฐอย่าง TORONTO RAPTORS

 

นอกจากเรื่องของความแฟร์ในการแข่งขันระหว่างทีมแล้ว การมีกฎ SALARY CAP ยังเพิ่มโอกาสให้ผู้เล่นในลีกได้รับค่าตัวที่ไม่ได้ห่างกันจนเกินไป เห็นได้ชัดว่าลีกฟุตบอลในยุโรปเราจะเห็นทีมอย่าง MANCHESTER CITY หรือ PARIS SAINT-GERMAIN จ้างนักเตะที่แพงกว่าทีมเล็กๆเป็นจำนวณมาก แต่ใน NBA ไม่ว่าจะเล่นทีมเล็กหรือทีมรวยพันล้าน นักกีฬาก็จะได้รับค่าจ้างที่ไม่ห่างกัน 

 

ท้ายที่สุดแล้วก็หวังว่าแฟนๆ จะได้รับความรู้เพิ่มขึ้นกับระบบ SALARY CAP ของกีฬาในอเมริกานะครับ อย่าลืมที่จะติดตามการซื้อขายผู้เล่นในช่วงปิดฤดูกาลด้วยนะครับ ไม่แน่ คุณอาจจะได้เห็นทีมที่คุณเชียร์มีการใช้กลยุทธ์ในการเซ็นสัญญานักบาสให้อยู่ในปริมาณที่ถูกต้องก็ได้ 


stadium

author

Ta Lao

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose