stadium

ทำไมนักชกไทยที่ประสบความสำเร็จในโอลิมปิกถึงไม่ไปมวยสากล

1 พฤษภาคม 2563

เป็นเรื่องแปลกใจเหมือนกัน ทำไม ประเทศไทย ที่มีนักมวยสากลสมัครเล่นเก่งๆเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ แต่ทำไมมีน้อยคนนักที่ต่อยอดไปชกในระดับอาชีพ ซึ่งแตกต่างจากนักมวยต่างประเทศที่เราเห็นๆกันในเวทีโอลิมปิกแล้วไปแจ้งเกิดในวงการกำปั้นโลก อย่าง มูฮัมหมัด อาลี, ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์, วาซิลี่ โลมาเชนโก้, ออสการ์ เดอ ลา โฮยา, เกนนาดี้ โกลอฟกิ้น ยอดมวยแชมป์โลกหลายสถาบันเหล่านี้ ล้วนเคยเดินเส้นทางมวยสากลสมัครเล่นมาก่อน 

 

หากไม่นับ มนัส บุญจำนงค์ ที่หันไปต่อยสากลอาชีพในช่วงเวลาสั้นๆ ดูเหมือน อำนาจ รื่นเริง จะเป็นนักกีฬามวยสากลสมัครเล่นไทยคนสุดท้ายที่ไปต่อยอาชีพ ก่อนจะก้าวไปถึงตำแหน่งแชมป์โลกของสหพันธ์มวยนานาชาติ  (IBF)  ส่วนก่อนหน้านั้นที่พอจะนึกออกมีเพียง ประมวลศักดิ์ โพธิ์สุวรรณ, พงษ์สิทธิ์ เวียงวิเศษ 2 นักชกอดีตแชมป์เอเชียนเกมส์ ซึ่งถือเป็นภาพจำที่น้อยมาก และความน่าสงสัยนี้เองจึงเป็นที่มาที่ทำให้เราจะไปหาคำตอบกัน

 

 

ความแตกต่าง สมัครเล่น-อาชีพ

แม้จะเป็นกีฬาที่ต้องออกหมัดใส่คู่แข่ง ตัดสินผลแพ้ชนะด้วยการน็อคหรือนับคะแนนเหมือนกัน แต่อันที่จริงแล้วมวยสากลสมัครเล่นกับมวยสากลอาชีพมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร ทั้งรูปแบบและวิธีการ อย่างเช่น จำนวนที่ยกที่แข่งขันกัน ตามกติการมวยสากลสมัครเล่นจะชกกัน 3 ยก ๆ ละ 3 นาที ส่วนมวยสากลอาชีพจะต่อยกันทั้งหมด 12 ยก แต่ยกละ 3 นาทีเท่ากัน 

 

ดังนั้นนอกจากความฟิตแล้ว แทคติคและสไตล์ในการชกของแต่ละคนจึงแตกต่างกันออกไป อย่างมวยสากลอาชีพที่ต่อยกัน 12 ยก เราจะเห็นได้การชกในยกที่ 1-3 อาจจะเป็นการดูเชิงเสียเป็นส่วนใหญ่ ต่อยเก็บคะแนนไปทีละยก หาจังหวะน็อกได้ก็ค่อยน็อก ทำให้เราได้เห็นนักมวยหลายๆสไตล์ มีทั้งไฟต์เตอร์ที่ชอบคลุกวงในแลกหมัดต่อยกันอย่างดุเดือดหรือพวกสไตล์บ็อกเซอร์ที่ชอบอยู่วงนอกเน้นการดักต่อยโชว์จังหวะฝีมือ

 

ซึ่งแตกต่างจากมวยสวยสากลสมัครเล่นที่ชกกันแค่ 3 ยก นักมวยส่วนใหญ่จะเป็นพวกมวยฝีมือ ไม่ยืนแลกกันกลางเวที พวกแชมป์โอลิมปิกบ้านเราอย่าง สมรักษ์ คำสิงห์ , สมจิตร จงจอหอ, วิจารณ์ พลฤทธิ์, มนัส บุญจํานงค์ พวกนี้ก็มวยฝีมือทั้งสิ้น อาศัยต่อยเก็บคะแนนมากกว่ายืนแลก เป็นเพราะในเชิงแทคติคแล้ว การจะเอาชนะน็อคคู่แข่งให้ได้ภายใน 2 ยกนั้นเป็นเรื่องยาก

 

ส่วนความแตกต่างอื่นๆที่เห็นได้ชัด ก็คือการสวมใส่เฮดการ์ด น้ำหนักนวมที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นยังรวมไปถึงเรื่องของเงินรางวัล ซึ่งมวยสากลอาชีพชัดเจนว่าค่าตัวนักมวยแต่ละคนขึ้นอยู่กับชื่อเสียงความเป็นซูเปอร์สตาร์ ขณะที่มวยสากลสมัครเล่นพวกเขาต้องกินเงินเดือนเบี้ยเลี้ยงซ้อม และเงินโบนัสจากความพยายามที่รัฐบาลมอบให้ในยามที่คุณประสบความสำเร็จจากมหกรรมกีฬา อย่าง ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ ชิงแชมป์โลกและโอลิมปิกเกมส์

 

 

ความฝันที่แตกต่างกัน

ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งในสังคมไทย หลายๆครอบครัวในต่างจังหวัด ยากจน ไม่มีเงินทอง จึงคาดหวังว่าจะได้เห็นลูกๆโตขึ้นมาบรรจุเป็นข้าราชการ ซึ่งเป็นอาชีพที่มั่นคง ครอบครัวไหนมีลูกรับราชการยังเป็นหน้าเป็นตาให้กับครอบครัวในหมู่บ้านได้อีก และที่ยังสำคัญสามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ทุนการศึกษาบุตร สวัสดิการในส่วนนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นข้อเสนอที่เย้ายวนใจที่แบ่งเบาภาระในครอบครัวได้

 

ในทางกลับกันครอบครัวกลับก็ไม่สามารถส่งเสียให้ลูกๆเรียนหนังสือสูงๆจนจบปริญญาตรี เพื่อเอาวุฒิการศึกษาไปสมัครสอบบรรจุเป็นข้าราชการได้ ทำให้การเป็นนักกีฬาเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพราะไม่ต้องมีเงินมีทองก็เป็นนักกีฬาได้ และหากผ่านการฝึกฝนอย่างดี มีความสามารถมากพอ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติได้ ก็เป็นอีกหนทางที่นำไปสู่การบรรจุเป็นข้าราชการ

 

ปัจจุบันนักชกไทยส่วนใหญ่เมื่อติดทีมชาติก็ได้สังกัดราชการกันหมดแล้ว ไม่ว่าจะทหารหรือตำรวจ ส่วนยศจะชั้นประทวนหรือสัญญาบัตรก็ขึ้นอยู่กับผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ตัวอย่างเช่น เปี่ยมวิไล เล่าเปี่ยม นักชกหญิงคนแรกที่สร้างประวัติศาสตร์ได้ทั้งเหรียญเงินชิงแชมป์โลกและไปโอลิมปิกเกมส์ โดยหลังจบโอลิมปิก 2016 เธอได้บรรจุราชการกองทัพเรือทันที ซึ่งถือเป็นการทำความความฝันให้เป็นจริง เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ดีใจที่สุดที่ความฝันเป็นจริง ได้ติดดาวเป็นนายร้อย พร้อมกับอยากให้น้องๆผู้หญิงที่รักกีฬาหมัดมวย ทุ่มเทขยันฝึกซ้อม เพราะว่าชกมวยก็สามารถทำให้มีหน้าที่การงานที่ดีได้ พร้อมกับจะชกรับใช้ชาติต่อไป”

 

ขณะเดียวกันนักมวยต่างประเทศส่วนใหญ่กลับมองว่าการได้ต่อยในระดับอาชีพสามารถให้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่าและมั่นคง การเป็นได้ขึ้นชกชิงเข็มขัดแชมป์โลกเพียงครั้งเดียวก็อาจเปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้นได้ แต่ถ้าหากชนะก็จะนำมาซึ่งชื่อเสียงเงินทองมากมายหลายอย่าง ดังนั้นส่วนใหญ่แล้วจึงเลือกใช้มวยสากลสมัครเล่นเป็นทางผ่าน ความพยายามที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ แมนนี่ ปาเกียว แชมป์โลก 8 รุ่น , ฟลอยด์ เมย์เวทเทอร์ จูเนียร์ แชมป์โลกไร้พ่ายชาวอเมริกัน ทั้งคู่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้ตอนนี้ต่างคนก็นอนนับเงินเล่นกันอย่างมีความสุขสบายไปทั้งชาติแล้ว

 

อิ่มตัว

อย่างไรก็ตามกว่านักมวยคนหนึ่งจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้ ก็ต้องอาศัยความอดทนและความพยายามอย่างหนัก ชนิดที่คนทั่วไปอาจนึกภาพตามไม่ออกว่าพวกเขาต้องเสียสละอะไรในชีวิตบ้างเพื่อให้ได้มา ขณะเดียวกันชีวิตนักกีฬาไม่ได้มีระยะเวลามากพอให้ลองหาความท้าทายใหม่ๆ แถมระบบการสร้างนักมวยอาชีพบ้านไม่ทัดเทียมนานาชาติ มีเพียงไม่กี่ค่ายที่มีความเป็นมืออาชีพเหมือนต่างประเทศ ทั้งวิธีการซ้อม การสร้างแรงจูงใจ ว่ากันตามตรงคือยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นจากนักกีฬาได้มากพอ ทำให้นักชกไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่กับความสำเร็จที่ได้มามากกว่า

 

นอกจากนั้นหากคุณประสบความสำเร็จในมหกรรมกีฬาเงินรางวัลที่ได้รับจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติของรัฐบาล เป็นจำนวนที่มากพอที่จะอยู่ได้ทั้งชีวิตหรือสามารถเอาไปต่อยอดทำธุรกิจได้ อย่างเช่น โอลิมปิก เหรียญทองได้เงิน 12 ล้านบาท เหรียญเงิน 7.2 ล้านบาท เหรียญทองแดง 4.8 ล้านบาท และหากนับรวมกับเงินที่ภาคเอกชนมอบให้แล้ว ตีเป็นตัวเลขกลมๆ ขั้นต่ำเหรียญทองแดงประมาณ 10 ล้านบาท เหรียญทองไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท นับเป็นจำนวนเงินที่มหาศาลพนักงานออฟฟิศทั่วไปทำงานทั้งชีวิตก็หาไม่ได้

 

นี่ยังไม่นับรวมถึงรายการต่างๆอย่างซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ ชิงแชมป์โลก ชิงแชมป์ทวีป ฯลฯ ที่รัฐบาลอัดฉีดให้ทุกครั้ง (จำนวนเงินก็ขึ้นอยู่กับความยากของมหกรรม) ไหนจะค่าเบี้ยเลี้ยงซ้อม เงินเดือนนักกีฬา เงินเดือนราชการ หลังแขวนนวมแล้วยังผันตัวไปเป็นโค้ช มีชื่อเสียงก็เปิดค่ายมวย ไหนจะงานโฆษณา งานในวงการบันเทิง ทุกสิ่งทุกอย่างที่หลั่งไหลเข้ามาเหล่านี้บวกกับอนาคตที่มั่นคงจากการรับราชการ

 

แล้วชีวิตยังจะต้องการอะไรอีก?


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose