stadium

หมดยุครัว 3 แต้ม??? : รอบชิงและการคว้าแชมป์ที่สะท้อนมิติใหม่

12 ตุลาคม 2563

 

สิ้นสุดสัญญาณจบเกมที่ 6 ของศึกบาสเกตบอลเอ็นบีเอ รอบชิงชนะเลิศ … น้ำตาจากความปลื้มปิติ รอยยิ้มจากความสุข เสียงเฮสั่นให้กับ 1 ฤดูกาลที่แปลกกว่าปกติ รวมทั้งนาทีของการรำลึกถึงการจากไปและมอบเป็นของขวัญแก่ โคบี้ ไบรอันท์ ก็ได้เกิดขึ้น หลังจากการรอคอยความสำเร็จที่ยาวนาน 10 ปี และ เป็นแชมป์สมัยที่ 17 ของทีม แอล.เอ. เลเกอร์ส

 

สิ่งที่พูดถึงกันมีมากมายหลายเรื่องทั้งความยิ่งใหญ่ของ เลบรอน เจมส์ กับการคว้าแชมป์สมัยที่ 4 เช่นเดียวกับรางวัล MVP หรือ ผู้เล่นทรงคุณค่าในรอบชิงชนะเลิศ รวมถึงเป็นผู้เล่นคนเดียวในลีกที่คว้าแชมป์ได้กับ 3 ทีม … การคว้าแชมป์สมัยแรกของ แอนโธนี่ เดวิส เช่นเดียวกับการได้แหวนวงแรกในชีวิตช่วงบั้นปลายของ ดไวท์ ฮาเวิร์ด ที่ดันมาสวมในเมืองที่ดราฟต์เขาเข้าสู่ลีกเมื่อ 16 ปีที่แล้ว หรือแม้แต่การ์ดอินดี้ อย่าง ราจอน รอนโด้ ที่คว้าแชมป์กับเลเกอร์ส และ บอสตัน เซลติกส์ ได้เป็นคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์

 

อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ การคว้าแชมป์ครั้งนี้มีนัยยะของการส่งสัญญาณบางอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นในอนาคต แต่อย่างน้อยจะทั้ง เลกอร์ส หรือ ไมอามี่ ฮีต ในฐานะทีมรองแชมป์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด กำลังจับมือร่วมกันพิสูจน์กระแสบางอย่างที่ปกคลุมลีกบาสเกตบอลมาอย่างยาวนานกว่า 5 ปี หรือ นับตั้งแต่ปี 2015 นั่นเอง

 

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและคุณอาจสนใจ

 

โกลเด้น สเตท วอริเออร์ส คุณภาพเฉพาะตัวที่กลายเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกบาสเกตบอล

นับตั้งแต่ปี 2015 … การกระโดดขึ้นมาคว้าแชมป์ด้วยสูตรปืนยาว ของ โกลเด้น สเตท วอริเออร์ส ได้ปฏิวัติบาสเกตบอลให้ก้าวสู่ยุคแห่งทีม 3 คะแนน และ การพยายามเล่นเกมเร็ว หรือ สกรีนให้ตัวชู้ตจากระยะเหนือเส้นโค้งมาโดยตลอด โดยอิทธิพลเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่ใน NBA เท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับสนามบาสเกตบอลทุกหนทุกแห่ง ที่ผู้เล่นตัวใหญ่ต้องหันมาชู้ตทำคะแนนจากวงนอกมากขึ้น รวมทั้งเด็กๆยุคใหม่ ที่หัดเริ่มเล่นบาสเกตบอลด้วยการพยายามชู้ต 3 คะแนน หรือ พยายามที่จะเลี้ยงหรือวิ่งออกมาบริเวณด้านนอก เพื่อหวังที่จะเป็นสตีเฟ่น เคอร์รี่ ของสนามแห่งนั้น 

 

“แต่กลับลืมการเล่นพื้นฐาน หรือ การพยายามเล่นโดยเข้าหาห่วง ซึ่งพวกเขามองว่านั่นคือบาสเกตบอลยุคโบราณ”

 

แม้เราจะปฏิเสธไม่ได้ถึงความยอดเยี่ยมของ วอริเออร์ส ที่คว้าแชมป์ในปี 2015 และสิ่งที่พวกเขาทำต่อมาจนถึงฤดูกาล 2019 คือการพิสูจน์ให้เห็นว่า “บาสกระโดดชู้ต” ก็สามารถคว้าแชมป์หรือผลทำงานที่ดีได้ และที่เหนือกว่านั้นคือการสร้างอัตลักษณ์ที่น่าจดจำจนกลายเป็นทีมขวัญใจของคนดู (เพราะถ้าเริ่มดูบาสช่วง 2015 ละก็ ส่วนมากแฟนทีมนี้กันทั้งนั้น) แบบไม่ยากหรืออีกนัยยะหนึ่งคือ นอกจากสร้างมิติใหม่แล้ว ยังสร้างมูลค่าเพิ่มในฐานะแบรนด์ทีมกีฬาอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตามอาจมีเพียง วอริเออร์ส ทีมเดียวที่เหมาะกับการเล่นสไตล์ดังกล่าว พวกเขามี สตีเฟ่น เคอร์รี่, เคลย์ ทอมสัน ทรัพยากรผู้เล่นอื่นๆ และ ระบบการเล่นที่ซ้อมกันมาอย่างยาวนาน จนสามารถใช้ศักยภาพบาสวงนอก 5 ตัวได้ดีที่สุด … เหมือนกับที่ ด็อค ริเวอร์ส โค้ชใหม่ของ ฟิลาแดลเฟีย เซเวนตี้ ซิกเซอร์ส ให้สัมภาษณ์ในวันเปิดตัวว่า “ผมคิดว่าคุณควรจะเป็นสิ่งที่เป็นคุณ สิ่งที่ผิดพลาดก็คือทุกทีมอยากเป็นวอริเออร์ส โดยที่พวกเขาไม่สามารถชู้ตได้เหมือนที่ วอริเออร์ส ทำได้”

 

แอล.เอ. เลเกอร์ส - ไมอามี่ ฮีต คู่ชิงที่เกิดจากการไม่เอนเอียงไปตามบาสกระแส

นับตั้งแต่ปี 1997 ซึ่งมีการพยายามชู้ต 3 คะแนน เฉลี่ยต่อทีมแค่ 12.7 ครั้งต่อเกมส์ เติบมาเป็น 22.4 ครั้งในปี 2015 ซึ่งตลอดระยะเวลา 18 ปีนั้น จำนวนการเพิ่มขึ้นเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีระหว่างปีไหนที่สถิติดังกล่าวจะเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกิน 1.6 ครั้ง จนกระทั่งการคว้าแชมป์ของ วอริเออร์ส จุดชนวนทุกอย่าง และ ปีล่าสุด 2020 ตัวเลขดังกล่าวกระโดดขึ้นไปสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ NBA มีค่าเฉลี่ยในการพยายามชู้ต 3 คะแนนเฉลี่ยต่อทีมต่อเกมส์ อยู่ที่ 34.2 ครั้ง หรือเพิ่มขึ้นมาถึง 11.8 ครั้งในระยะเวลา 5 ปี … เราได้เห็น ฮุสตัน ร็อคเก็ตส์ (45.5 ครั้งต่อเกมส์),  ดัลลัส แมฟเวอร์ริกส์ (41 ครั้งต่อเกมส์), มินนิโซต้า ทิมเบอร์วูล์ฟ (39.7 ครั้งต่อเกมส์) หรือ มิลวอร์กกี้ บัคส์ (38.7 ครั้งต่อเกมส์) ชู้ตกระจายในซีซั่นปกติ

 

โดยทั้งลีกมีเพียง 3 ทีม เท่านั้น ที่พยายามชู้ต 3 คะแนนต่อเกมส์ไม่ถึง 30 ครั้งคือ ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส, นิวยอร์ก นิกส์และ อินเดียน่า เพเซอร์ส แต่พวกเขาก็ไม่ใช่ทีมที่ประสบความสำเร็จ … นั่นแปลว่าต่อให้มีแนวทางต่อต้านกระแสก็ยังไม่เพียงพอสำหรับบาสเกตบอลยุคนี้

 

ในขณะที่ เลเกอร์ส มีบิ๊กทู เจมส์-เดวิส พวกเขาพยายามเสริมขุมกำลังให้แกร่งที่สุด และ เหมาะกับแกนหลัก 2 คน ... ฝ่าย ฮีต ก็อาศัยการเล่นที่เกิดประโยชน์จากผู้เล่นทุกคนได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะการมี จิมมี่ บัตเลอร์ เป็นผู้นำทีม และมีเด็กรุ่นใหม่ทั้ง แบม อเดบาโย่ ไทเลอร์ เอียโร่ และ ดันแคน โรบินสัน ที่ก้าวขึ้นมาเป็นส่วนสำคัญในบทบาทที่ต่างกัน แต่สิ่งที่คู่ชิงทั้งสองมีเหมือนกันคือ การผสมผสานระหว่างยุคเก่าและยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้เล่น วิธีเล่น แผนการเล่น และสำคัญที่สุดคือการอาศัยความได้เปรียบที่มีโจมตีใส่คู่แข่งแต่ละซีรี่ส์ ไม่เหมือนกัน

 

การทะลุเข้าถึงรอบชิงฯในศึกเพลย์ออฟได้ไม่ใช่เรื่องฟลุค โดยเฉพาะกับฮีต ที่เปรียบเสมือนม้ามืด และจากสถิติได้ระบุเอาไว้ว่า ฮีต อยู่อันดับ 10 และ เลเกอร์ส อยู่อันดับ 11 ของความพยายามชู้ต 3 คะแนนเฉลี่ยต่อเกมส์ จากทั้งหมด 16 ทีม ซึ่งนั่นสะท้อนว่าพวกเขาไม่ได้พึ่งการชู้ต 3 คะแนนเป็นหลัก แต่ตลอดทั้ง 6 เกมเราจะเห็นรูปแบบการเล่นรวมทั้งวิธีการมากมายในการรับมือฝ่ายตรงข้าม ส่วนการชู้ตเหนือเส้นโค้งจะเกิดหลังจากการถ่ายบอล หรือ มูฟเม้นต์ ที่นำมาสู่พื้นที่ว่างมากกว่าการเซ็ทเพลย์เพื่อชู้ต 3 คะแนนจริงๆ

 

ทั้ง เลเกอร์ส และ ฮีต ต่างมีแนวทางการทำทีมที่ยอดเยี่ยม โดยไม่ได้เอนเอียงไปกับบาสกระแสใหม่ แต่ผนวกใช้ทุกสิ่งที่มี

 

ผู้ท้าชิงที่มักจะมีโจทย์ยากให้แก้เสมอ

เราได้เห็นฮีตกวาดซีรี่ย์ใส่ อินเดียน่า เพเซอร์ส ในรอบแรก จากนั้นกางเกมป้องกันจนหยุดทีมที่มีเกมบุกร้อนแรงสุดของลีกอย่าง บัคส์ ในรอบที่ 2 และ สู้กับบอสตัน เซลติกส์ อีก 1 ทีมที่มีระบบการเล่นแกร่ง และ อาศัยทีมเวิร์คคล้ายๆกัน อย่างไรก็ตามลูกทีมของ เอริค สโปเอลสตร้า ผ่านมาได้ และหลายครั้งที่พวกเขาแสดงให้เห็นว่าการตามหลังไม่เคยทำให้พวกเขากดดัน พวกเขาเป็นทีมวัยหนุ่มที่นิ่งเกินอายุ และส่วนหนึ่งคือการมีการ์ดอย่าง โกรัน ดรากิช คอยคุมจังหวะของเกม

 

แบรด สตีเว่น โค้ชของเซลติกส์ ก็ยกย่องว่า “ผมยอมรับเลยพวกเขาคือทีมที่ดีทีสุดของตะวันออก พวกเขาสมควรได้เข้าชิง นี่คือทีมที่ยอดเยี่ยมและเต็มไปด้วยผู้เล่นที่มีทั้งร่างกายและหัวใจอันแข็งแกร่งกว่าใคร”

 

แต่ความน่าชื่นชมที่เหนือกว่านั้นของฮีต คือ การลงเล่นรอบชิงชนะเลิศหลังจากที่ตัวหลักของพวกเขาบาดเจ็บพร้อมทั้ง อเดบาโย่ หรือ ดรากิช แต่พวกเขายื้อทุกเกมในซีรี่ส์นี้ (ยกเว้นเกมส์ 6) ได้แบบยอดเยี่ยม และ คุณจะเห็นว่าพวกเขามีวิธีเล่นที่หลากหลายเอามากๆ ไม่ว่าจะรูปแบบการบุก หรือ แม้แต่เกมส์ป้องกัน

 

จริงอยู่ว่า จิมมี่ บัตเลอร์ ระเบิดผลงานที่น่าชื่นชมเอามากๆ แต่ก็ยกเครดิตให้กับ สโปเอลสตร้า ที่ใช้งานหนุ่มคนนี้ถูกจุด นอกจากนั้นยังมีการหยิบแผนโซนแบบ 2-3 มาใช้เพราะเสียเปรียบวงใน ฯลฯ … พวกเขาลองอะไรใหม่ๆ ในรอบชิงชนะเลิศ ส่วนหนึ่งเพราะเจอกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ตัวหลักบาดเจ็บ แต่ก็ต้องยกความดีความชอบให้กับการมองเห็นวิธีการใช้งานและแก้ปัญหาต่างๆ อย่างรวดเร็วของทั้งโค้ชและผู้เล่นในทีมนี้ … เพราะลองนึกภาพถ้าเป็น ไทรอน ลู, ลุค วอลตัน หรือ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา (เกี่ยวได้มั้ยนะ ?) โค้ชทีมที่มีสภาพแบบนี้ ก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะเล่นยังไง

 

แม้ว่าพวกเขาจะแพ้ แต่น่ายกย่องในฐานะคู่ชิงที่ยอดเยี่ยมที่สุดทีมนึงที่ไม่ก้มหน้ารับชะตากรรมแบบง่ายๆ และ ฮีต คงเป็นทีมที่ดีไปอีกหลายฤดูกาล อย่างไรก็ตาม เลเกอร์ส คือทีมแชมป์ 

 

เลเกอร์ส 2020 : การปฏิวัติเงียบที่สื่อให้เห็นว่า ไม่ต้อง 3 คะแนนดีก็คว้าแชมป์ยุคนี้ได้

“ถ้า เลเกอร์ส แม่น 3 คะแนนกว่านี้ อาจจะไม่ต้องเหนื่อยหรือลุ้นกันเยอะ โดยเฉพาะ แดนนี่ กรีน” หรือ “การมีทั้ง เจมส์ กับ เดวิส ไม่ได้แชมป์ก็แปลกแล้ว” เชื่อว่าหลายคนอาจจะรู้สึกเช่นนั้น แต่ในฤดูกาลนี้ของ เลบรอน วัย 35 ปี และ การร่วมงานกันเป็นครั้งแรกตั้งแต่บิ๊กทูของทีม รวมถึงโค้ชอย่าง แฟร้งค์ โวเกิ้ล ถือว่ามีหลายมิติที่ เลเกอร์ส สะท้อนออกมาได้น่าชื่นชม

 

โดยเฉพาะการไม่เบนตัวเองเข้าหากระแสบาสเกตบอลแบบ วอริเออร์ส (ถึงแม้ว่าจะพยายามตั้งใจพัฒนาระยะ 3 แต้มในทีมก็ตาม) เพียงแต่พวกเขาหยิบมาใช้รวมกับกลยุทธ์อื่นๆ ในการกรุยทางสู่แชมป์แรกในรอบ 10 ปี

 

หากนับเฉพาะหลังจบรอบแรกที่เลเกอร์ส ชนะ พอร์ตแลนด์ เทรลเบลเซอร์ส 4-1 เกมส์ พวกเขาอยู่อันดับ 12 จาก 16 ทีม ในรอบเพลย์ออฟ (เฉลี่ยชู้ตสามคะแนนลงห่วง 12 ครั้งต่อเกมส์) หรือ อีกนัยนึงพวกเขาไม่ได้พึ่งพาแต้มจากวงนอกมากนัก แน่นอนว่ามันอาจจะเป็นเพราะความไม่แม่นของพวกเขาด้วย แต่พวกเขาก็สามารถผ่านเข้ารอบมาได้นั่นแปลว่ามีปัจจัยอื่นที่เลเกอร์ส ทำได้ดี

 

หากให้สรุปโดยรวมในแต่ละรอบพวกเขามักมีกลยุทธ์ในการรับมือกับทีมแต่ละทีมที่แตกต่างกันออกไป พวกเขาไม่เล่นเร็วแลกกับ เทรลเบลเซอร์ส ที่มีสไตล์ รัน แอน กัน, พวกเขาไม่แลกวงนอกหรือพยายามเล่นสมอลบอลล์ ตามฮุสตัน ร็อคเก็ตส์ พวกเขาสลับใช้ ดไวท์ ฮาเวิร์ด เซ็นเตอร์สไตล์โบราณในการรับมือกับ นิโกล่า โยคิช, ใช้ มาเคียฟ มอร์ริส ในสถานการณ์ที่ต้องการกระจายโซน และเร่งความเร็วของเกมส์ รวมทั้งให้อิสระ รอนโด้ รันเพลย์สำคัญ แม้จะมีความอินดี้แค่ไหนก็ตาม รวมถึงเกมส์สุดท้ายที่เลือกส่ง “เดอะ ก็อด” อเล็กซ์ คารูโซ่ ลงมาเล่นเกมป้องกันและคอยป่วนใส่การ์ดทุกคนของฮีต

 

เลเกอร์สได้เต็มวงในมากมายในเกมที่เจอกับผู้เล่นวงในอ่อนกว่า (เช่น ฮีต เกมส์ 1-2) … เราได้เห็น ดไวท์ กลับมามีพลังเหมือน 24 อีกครั้งในรอบกับนักเก็ตส์ แต่ขณะเดียวกันพวกเขาคือทีมที่ได้เฉลี่ย 22 คะแนนต่อเกมส์ จากการบุกโต้กลับเร็ว(มากที่สุดอันดับ 1 ในรอบเพลย์ออฟ) … และ มีเกมส์ดีๆของ “อาจารย์ไก่” คอนเทเวียส คาลด์เวลล์ โป๊ป และที่ชัดเจนคือ การมีมือ 3 แบบไม่ตายตัวในแต่ละเกมส์โผล่ขึ้นมาทำหน้าที่ ซึ่งเกิดจากการได้รับบทบาทที่อิงจากกลยุทธ์ในการเจอคู่แข่ง เลเกอร์ส พิสูจน์ว่าพวกเขาไม่ใช่ทีมที่ทำผิดพลาด ตามที่ ริเวอร์ส กล่าวไว้ว่า “หลายทีมพลาดเพราะอยากเป็นวอริเออร์ส” โดยพวกเขาได้ค้นพบแนวทางการเล่นของตัวเองที่อาจจะไม่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว แต่พวกเขาได้สอนให้รู้ว่าทีมชนะได้ด้วยการยืดหยุ่นทางกลยุทธ์ที่เกิดจากความรู้ความใจว่าในทีมใครทำอะไรได้บ้างและจะใช้งานอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งแต่ละทางเลือกก็ต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป ภายใต้เป้าหมายเดียวคือชัยชนะ

 

หรือ จะอธิบายสั้นๆว่า ระบบการทำงานยืดหยุ่นที่เวิร์ค มักเกิดจากการมีผู้นำที่ดี และ เลเกอร์ส มีทั้ง แฟร้งค์ โวเกิ้ล กับ เลบรอน เจมส์ เพราะถ้ายืดหยุ่นอย่างเดียวเฉยๆ ทุกอย่างคงจะเละเทะ เหมือนที่ ลุค วอลตัน เคยพิสูจน์ให้เห็นกับเลเกอร์สมาแล้ว 

 

ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปฤดูกาลหรื อหน้าว่า ปรากฏการณ์เน้นระบบที่สร้างความสำเร็จในปีนี้ทั้ง เลเกอร์ส และ ฮีต จะเป็นการเปิดเส้นทางบาสเกตบอลแนวใหม่รับปี 2021 หรือไม่ ... แต่ถ้า วอริเออร์ส กลับมาได้ในปีหน้ายุค 3 แต้ม ก็คงเฟื่องฟูกันต่อไปแหละนะ

 


stadium

author

นวพล เกียรติไพศาล

เบนซ์ชอบกินข้าวมันไก่แต่กลัวอ้วน รักแมวแต่ชอบโดนข่วน ติดตามกีฬาแต่ไม่ดูผล

La Vie en Rose