26 เมษายน 2563
ในรอบหลายปีมานี้ไม่มีนักแบดมินตันชายไทยคนไหน ประสบความสำเร็จมากกว่า “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ อีกแล้ว เขาจับคู่กับพี่สาวสุดซี้อย่าง “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย คว้า 9 แชมป์จาก 17 รายการที่เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ
ในสมัยเป็นดาวรุ่ง เขาคว้าแชมป์ประเภทเดี่ยวเกือบทุกรุ่นอายุ และมีแววจะไปได้ดีในระดับอาชีพ แต่แล้ววันหนึ่งเขากลับต้องเจอเรื่องท้าทายที่สุดในชีวิต เมื่อโค้ชบอกว่าถ้าอยากจะประสบความสำเร็จในระดับอาชีพให้หันไปเล่นประเภทคู่จะดีกว่า ซึ่งเขาก็ยอมทำตาม หลังจากนั้นเป็นต้นมาเขาประสบความสำเร็จตามที่โค้ชบอก ทำให้ไม่เคยคิดที่จะกลับไปเล่นประเภทเดี่ยวอีกเลย
รักการเล่นกีฬา
เด็กหนุ่มจากอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ที่มีใจรักในการเล่นกีฬาเหมือนเด็กผู้ชายทั่วไป เริ่มต้นจากการเล่นฟุตบอล กรีฑา เทนนิส ก่อนจะมาค้นพบว่าตัวเองนั้นชอบแบดมินตัน จึงได้เริ่มเอาจริงเอาจังกับกีฬาชนิดนี้มากขึ้น
“ผมเป็นคนที่ชอบเล่นกีฬาตั้งแต่เด็กๆครับ จริงก็เล่นได้ทุกกีฬาทั้ง ฟุตบอล เทนนิส แต่ตอนนั้นสะดวกที่จะเล่นแบดมินตันมากที่สุด เพราะว่ามันใกล้บ้าน พ่อแม่สะดวกที่จะไปรับไปส่งครับ ก็เลยตีมาเรื่อยๆ แล้วก็ไปแข่งได้รางวัลตั้งแต่เด็กๆ เหมือนเรารู้สึกว่าทางนี้มันไปได้ด้วย”
“จริงๆก็เริ่มจากการเล่นฟุตบอลก่อน แต่ว่ามันเป็นกีฬาที่ต้องปะทะกันค่อนข้างหนัก คุณแม่เองก็กลัวผมบาดเจ็บเลยอยากให้เปลี่ยนกีฬาด้วย เลยลองมาเล่นกรีฑา แต่ก็คิดว่ามันเป็นกีฬาไม่แน่นอน เลยลองมาเล่นเทนนิสซึ่งเป็นกีฬาที่เล่นกลางแจ้งทำให้หันมาเล่นแบดมินตันที่มีวิธีการเล่นคล้ายๆกันแต่อยู่ในร่ม และผมเองก็ชอบที่แบบ มันไม่ต้องเจ็บตัวด้วยครับ”
บาส เริ่มต้นสังกัดสโมสรแบดมินตันศรีราชา โดยมี “แมน” บุญศักดิ์ พลสนะ นักแบดมินตันชายเดี่ยว เป็นไอดอล เขาพัฒนาขึ้นในทุกวันและมีโอกาสได้แข่งขันรายการต่างๆ และประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ทุกรุ่นอายุ ทั้งรุ่นยุวชน 11 ปี 13 ปี 15 ปี ทำให้ได้รับการจับตามองจากบรรดาสโมสรใหญ่ จนกระทั่งในปี 2010 บาส มีโอกาสได้เซ็นสัญญาเข้าไปอยู่ในโครงการ เอสซีจี แบดมินตัน อคาเดมี่ ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นการเป็นนักกีฬาแบดมินตันอาชีพของเขา
เกิดมาเพื่อเล่นคู่
จุดเด่นอย่างหนึ่งของบาสที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กๆ ก็คือความฟิต เขาโดดเด่นมากในเรื่องของพละกำลัง สามารถร่อนไปได้ทั่วคอร์ดแบบไม่มีหมด หลังจากเข้าไปอยู่ที่เอสซีจีได้ไม่นานเขาก็ต้องเจอจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต
เมื่อ“โค้ชโอม” เทศนา พันธ์วิศวาส หัวหน้าผู้ฝึกสอนของโครงการฯ มองเห็นแววแล้วว่าเด็กคนนี้เหมาะจะเล่นคู่มากกว่า พอฟังแล้วบาสเองก็ไม่ได้เชื่อในคำพูดของโค้ชเท่าไหร่นัก แต่ก็ยอมทำตามแต่โดยดี จึงได้ลองจับคู่กับ “สกาย” กิตตินุพงษ์ เกตุเรน ในปี 2012 ใช้เวลาจับคู่กันเพียงแค่ 2 ปี ก็พากันคว้าแชมป์เยาวชนโลกได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นประเภทที่ 3 ของนักแบดมินตันไทยต่อจาก รัชนก อินทนนท์ หญิงเดี่ยว , มณีพงศ์ จงจิตร กับ รจนา จุฑาบัณฑิตกุล คู่ผสม
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บาส ก็เปลี่ยนความคิดไม่ลงแข่งประเภทเดี่ยวอีกเลย มุ่งมั่นกับการเล่นในประเภทคู่อย่างเดียว “โค้ชบอกว่าความสามารถของผม เหมาะกับการเล่นคู่มากกว่า มีโอกาสไปได้ไกลกว่าเล่นประเภทเดี่ยวครับ ซึ่งตอนแรกผมก็ไม่เชื่อ แต่พอลองเล่นดูแล้วก็เริ่มรู้สึกว่าเห็นด้วย”
“ประเภทคู่มันเล่นง่ายกว่าประเภทเดี่ยวครับ เล่นด้วยกัน 2 คน ไม่ได้ใช้พละกำลังเยอะมากเหมือนเล่นคนเดียว แถมบางครั้งเราแก้ไขปัญหาคนเดียว มันก็อาจจะไม่ดีเท่าสองคนช่วยกัน และอีกอย่างคือรูปร่างผมไม่ได้สูงด้วยครับ เลยเหมาะกับการเล่นคู่มากกว่า”
คู่หูที่ลงตัว
นับจากนั้นมา บาส มีโอกาสได้เล่นจับคู่ทั้งหมด 8 คน แต่ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จเหมือนอย่างที่คาดการณ์เอาไว้ จนกระทั่งปลายปี 2015 อยู่ๆบาสได้เดินไปขอโค้ชโอมว่าอยากลองจับคู่กับปอป้อดูบ้าง
“ตอนแรกผมกับพี่ป้อ ต่างคนต่างตีประเภทคู่กันอยู่แล้ว ผมเล่นชายคู่ พี่ป้อกับเล่นหญิงคู่ของตัวเองครับ แต่มีอยู่วันนึงเหมือนผมไปขอโค้ชว่าอยากตีคู่ผสมกับพี่ป้อ แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดจริงจังนะครับ ขอแค่ตีเล่นๆ แต่ว่าพอตีไปตีมา โค้ชก็มองว่าพอไปด้วยกันได้ ก็เลยได้จับคู่กันยาวๆ”
“ช่วงนั้นสภาพร่างกายผมฟิตครับ สามารถตีได้ 2 ประเภท ก่อนหน้านี้ผมก็เคยตีคู่ผสมาแล้วด้วย ก็เลยอยากกลับมาตีใหม่ ผมกับพี่ป้อก็สนิทกันพอสมควร ตอนนั้นก็น่าจะเป็นคนที่จับคู่แล้วสบายใจที่สุด เพราะซ้อมอยู่ด้วยกันตลอดก็เลยลองดู”
หลังจับคู่กันไม่นานดูเหมือนทั้งคู่จะเป็นส่วนผสมที่ลงตัว เพราะใช้เวลาเพียงแค่ครึ่งปีก็ไต่ขึ้นอยู่อันดับ 20 ของโลก จากการได้รองแชมป์รายการอาชีพ 2 รายการ ซึ่งน่าเสียดายที่การจับคู่ของทั้งสองคนมาช้าไปเล็กน้อย ทำให้เก็บคะแนนไม่ทันสำหรับโอลิมปิก 2016 ที่บราซิล
หลังจากนั้นอีกแค่ 6 เดือน ทั้งคู่ก็ขยับขึ้นติด 1 ใน 10 ของโลก เป็นผลงานที่ก้าวกระโดดมากๆ จุดเด่นของบาสคือความแข็งแรงตามเก็บทุกลูกไปทั่วคอร์ด ส่วน ปอป้อ ก็รับลูกตบผู้ชายได้ดี แต่คอยซัพพอร์ทส่วนที่บาสขาดไปได้อย่างลงตัว
“ผมจะเป็นคนที่ชอบกระโดดตบซ้ายตบขวา สมมติบางครั้งลูกมันไกลจริง ๆ ผมก็ออกไปกระโดดตบ ตัวก็จะหลุดออกนอกสนาม ซึ่งถ้าคู่แข่งเปลี่ยนทางได้เราก็จะเสียแต้ม แต่พี่ป้อก็ยังมาช่วยผมได้ทันครับ เพราะเขาเป็นคนที่รับแรงตบจากคู่แข่งได้ดี”
“เวลาโดนนักแบดผู้ชายตบใส่ พี่ป้อก็รับได้ดี หรือเวลาที่ผู้หญิงต้องออกข้างหลัง พี่ป้อเขาก็จะออกมาตีได้โดยที่ไม่เสียเปรียบ อีกอย่างคือเราคุยกันตลอด ทั้งแผนการ รวมถึงจุดที่เราต้องแก้ไข ลูกไหนที่โดยแล้วเราเสียแต้มตลอด ก็จะกลับไปแก้ไข”
ถึงตอนนี้ บาสและป้อ ถือเป็นคู่ผสมที่ดีที่สุดในรอบ 10 ปีของแบดมินตันไทย คว้าแชมป์ร่วมกัน 15 รายการ รวมถึงแชมป์โลก 1 สมัย กับ แชมป์เวิลด์ทัวร์ไฟนอลส์ 2 สมัย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นความสำเร็จที่เกินความตั้งใจ “กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ยอมรับว่าเหนื่อยมากครับ เพราะต้องเต็มที่ตลอดทั้งตอนแข่งและตอนซ้อม แต่ผลที่ออกมาก็ประสบความสำเร็จมากกว่าที่ฝันเอาไว้”
คลิกเพื่ออ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
TAG ที่เกี่ยวข้อง