stadium

ความยิ่งใหญ่ของนักบาสหญิง ที่ เลบรอน เจมส์ ยังคารวะ

6 ตุลาคม 2563

แม้ว่าศึกบาสเกตบอล NBA จะเป็นวงการยัดห่วงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยเฉพาะในรอบ FINALS ที่หลายคนจับตาดูว่า เลบรอน เจมส์ จะสร้างอีกกี่สถิติให้กับตัวเอง รวมถึงการที่ แอล.เอ. เลเกอร์สจะกลับมายิ่งใหญ่ได้หรือไม่ หรือแม้แต่ ไมอามี่ ฮีต จะสร้างเรื่องเซอร์ไพรส์ ด้วยขุมกำลังดาวรุ่งแต่เปี่ยมไปด้วยแนวทางการเล่นที่ยอดเยี่ยมได้หรือเปล่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกัน ศึกบาสเกตบอล WNBA ก็ดำเนินมาถึงรอบชิงชนะเลิศเช่นเดียวกัน และหนึ่งในนักบาสเกตบอลหญิงที่กำลังสร้างสถิติใหม่ๆขึ้นมามากมาย และเอาเข้าจริงเธอพกเรื่องที่ยิ่งใหญ่กว่า เจมส์ พาทีมลุ้นแชมป์ในวัยย่างเข้า 40 ปี

 

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและคุณอาจสนใจ

การไล่ล่าแชมป์สมัยที่ 4 และชีวิต 17 ปี กับทีมเพียงทีมเดียวเท่านั้น

หลากหลายความน่าอัศจรรย์ที่ เลบรอน เจมส์ กำลังนำพาเลเกอร์ส กลับมายิ่งใหญ่ด้วยวัย 36 ปี กระทั่งแฟนในโซเชียลต่างเรียกเขาว่า “ลุงเจมส์” กันแล้วนั้น … อีกฝั่งหนึ่งของซีรี่ส์นัดชิง WNBA ระหว่าง ซีแอทเทิล สตอร์ม กับ ลาส เวกัส เอซ (หรือชื่อเดิมคือ ซานอันโตนิโอ สตาร์ส) ก็ได้มีความสุดยอดจากฝ่ายป้า ซึ่งเธอคือก็ ซู เบิร์ด ยอดการ์ดจ่ายวัย 39 ปี ที่กำลังจะอายุครบ 40 ปี ในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ … และการเข้าชิงปี 2020 กำลังสร้างโอกาสให้เธอมีลุ้นคว้าแชมป์สมัยที่ 4 ในชีวิตเทียบเท่ากับสิ่งที่ เลบรอน เจมส์ กำลังลุ้นอยู่เช่นกัน

 

และล่าสุด เช้าวันพุธที่ 7 ตุลาคม ซู เบิร์ด พาซีแอทเทิล สตอร์ม คว้าแชมป์สมัยที่ 4 ไปครองได้สำเร็จ

 

ความยิ่งใหญ่ของ 2 ผู้เล่นจาก NBA และ WNBA มีความเหมือนกันในหลายๆเรื่อง เพราะ เลบรอน คือ ดราฟต์อันดับ 1 ในปี 2003 อย่างไรก็ตาม เบิร์ด คือ ดราฟต์อันดับ 1 ในปี 2002 ทั้งคู่ต่างเป็นยอดผู้เล่น ที่มีศักยภาพในการเป็นเพลย์เมกเกอร์ รวมถึงการเป็นผู้นำทีม แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ ซู เบิร์ด ลงเล่นให้กับทีมเดิมมาแล้ว 17 ฤดูกาล ในขณะที่เส้นทางของ เจมส์ ซึ่งอยู่ในปีที่ 17 ของลีก ได้เคยผ่านประสบการณ์มาแล้วถึง 3 ทีมด้วยกัน 

 

แม้จะไม่สามรถเปรียบเทียบได้โดยตรง แต่หากจะบอกว่า เบิร์ด คือความยิ่งใหญ่และเป็นตำนานของ สตอร์ม อย่างแน่นอน เพราะคงมีนักบาสเกตบอลเพียงไม่กี่คนที่จะอยู่กับทีมเดิมยาวนานถึง 17 ปี และยังนำพาความสำเร็จมาสู่ทีมได้ถึง 4 ครั้งด้วยสถิติการคว้าแชมป์ 100% เมื่อได้เข้าชิง (ซีแอทเทิล สตอร์ม เคยเข้าชิง 4 ครั้งคือ 2004, 2010, 2018 และ 2020) 

 

ส่วนที่กล้าพูดว่าความยิ่งใหญ่ของ ซู นั้นมีมากกว่า เลบรอน ก็เพราะว่า นอกจากเธอจะประสบความสำเร็จในการลงเล่นให้กับสตอร์มแล้ว เธอยังใช้เวลาช่วงปิดซีซั่นลุยลีกยุโรปอีกด้วย และคว้าแชมป์ลีกรัสเซียไปถึง 5 สมัย กับ 2 ทีม คือ สปาตัก มอสโคว และ ยูเอ็มเอ็มซี เอคาเทรินเบิร์ก ไหนจะการคว้าแชมป์ยูโรลีก (ศึกชิงแชมป์บาสเกตบอลของทวีปยุโรป) ได้อีก 5 สมัย และ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ เลบรอน เจมส์ ไม่เคยทำได้

 

ท้ายที่สุดคงหนีไม่พ้นผลงานกับทีมชาติ เพราะ เบิร์ด เคยพาทีมสหรัฐฯคว้าแชมป์โอลิมปิก 4 สมัยซ้อน 2004 – 2016 และถ้าหากเธอร่วมแข่งขันที่โตเกียวอีกก็น่าลุ้นไม่น้อย เช่นเดียวกับการได้เหรียญทองชิงแชมป์โลกอีก 4 สมัย ส่วน เจมส์ นั้นเคได้เพียงแค่ 2 เหรียญทอง กับ 1 เหรียญทองแดงในโอลิมปิก กับอันดับ 3 ในการแข่งชิงแชมป์โลก เท่านั้น !!!!

 

Assist QUEEN: จอมปั้นเกมส์ ที่นำมาสู่หลากหลายสถิติใน WNBA

 “ใครว่าสถิติจะไม่มีทางทำลายในช่วงเวลา 17 ซีซั่นของคุณหรอ ? … ลุยต่อเลย ซู เบิร์ด ด้วยทั้งหมดที่เรามี” นี่คือสิ่งที่สุดยอดผู้เล่นออลอราวน์แห่งยุค อย่าง เลบรอน เจมส์ กล่าวชื่นชม หลังได้เห็น ซู เบิร์ด สร้างสถิติทำ 10 แอสซิสต์ ในครั้งแรกและจบเกมส์ด้วย 16 แอสซิสต์ ซึ่งเป็นสถิติใหม่สูงสุดตลอดกาลของรอบ FINALS ในการแข่งขัน WNBA รอบชิงเกมแรก

 

ขณะเดียวกันเธอยังสร้างสถิติเป็นผู้เล่นคนที่สองในประวัติศาสตร์บาสหญิงแดนมะกัน ที่จ่ายบอลให้เพื่อนชู้ตทำคะแนนได้ถึง 300 ครั้งในรอบเพลย์ออฟ และหากรับเฉพาะรอบชิงชนะเลิศ เธอรั้งอันดับที่ 2 โดยทำแอสซิสต์รวมไปแล้วทั้งสิ้น 78 ครั้ง ตามหลังสถิติสูงสุดของ ลินเซย์ วาเลน ที่ทำไว้ 120 หน อยู่พอสมควร แต่ก็มีสิทธิ์ที่จะทำลายลงได้อยู่เช่นกัน

 

ซึ่งทั้งทีมของเธอทำแอสซิสต์รวมกัน 33 ครั้ง เป็นสถิติของรอบชิงชนะเลิศอีกด้วย และ การมี เบิร์ด คอยรันเกมส์ให้กับทีมคือส่วนหนึ่งที่ทำให้ เบรอันน่า สจ๊วร์ต ดาวเด่นของทีมสร้างอีกหนึ่งในสถิติในเพลย์ออฟ ด้วยการเป็นผู้เล่นหญิงคนแรกที่สามารถทำระดับ 35-15 ได้สำเร็จ โดย สจ๊วร์ต จบเกมส์ด้วยการทำ 37 แต้ม กับอีก 15 รีบาวน์ ขาดอีกแค่ 2 แต้มก็จะเป็นการสร้างสถิติทำแต้มสูงสุดในเกมเพลย์ออฟของ WNBA

 

ซู คือจอมแอสซิสต์ของแท้ ไม่ใช่แค่ในเพลย์ออฟในปีนี้ที่เขาสร้างเพลย์สวยๆได้อย่างโดดเด่น เพราะตลอดเส้นทาง 7 ปี เจ้าตัวรั้งตำแหน่งนักบาสหญิงที่มียอดแอสซิสต์รวมสูงสุดตลอดกาลอยู่ที่ 2,888 ครั้ง ทิ้งห่าง ไดอาน่า ทูราซี่ เพื่อนร่วมชาติที่มีสถิติจ่ายบอล 1,953 ครั้ง ซึ่งเป็นคนเดียวที่ยังลงเล่นอยู่ไกลถึงเกือบ 1,000 ครั้ง ส่วนอันดับ 2 กับ 3 อย่าง ติช่า เพนิเชโร่ (2,599 ครั้ง) และ ลินเซย์ วาเลน (2,345 ครั้ง) คือผู้เล่นที่รีไทร์ไปแล้ว

 

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและคุณอาจสนใจ

 

แกร่งทั้งในและนอกสนาม ชีวิตรักอันหอมหวานกับ เมแกน ราปิโอเน่ 

ความแข็งแกร่งและเก่งกาจในฐานะนักกีฬายามลงสนามของ เบิร์ด นั้นไร้ข้อกังขาใดๆทั้งสิ้น ที่สำคัญเจ้าตัวเคยต้องผ่าตัดใหญ่และพักฟื้นเป็นเวลานาน (ปิดซีซั่นเลยทีเดียว) มาแล้ว 2 หน คือในปี 2013 และ ปี 2019 ซึ่งอาการบาดเจ็บทั้งสองครั้งเกิดขึ้นที่บริเวณเข่าที่ปกติแล้วนับเป็นส่วนสำคัญกับนักบาสอย่างมาก แต่เธอผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้อย่างยอดเยี่ยม ทุกครั้งที่กลับมาลงสนาม เบิร์ด มีความเป็นผู้นำ มีความมั่นใจ และ แสดงศักยภาพที่ดีที่สุดได้อย่างแข็งแกร่ง

 

แต่อีกมุมใครจะคาดคิดว่าในปี 2017 เบิร์ดได้สร้างเรื่องปะหลาดใจให้กับสื่อวงการกีฬาพอสมควรหลังจากที่เธอประกาศเปิดตัวว่ากำลังปลูกต้นรักกับ เมแกน ราปิโอเน่ ยอดนักฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐฯ ถ้าจะขอใช้คำตรงๆและเข้าใจง่ายคือออกสื่อชัดเจนชัดแจ้งเลยว่า เธอเองนั้นเป็นเพศทางเลือกหรือที่คนไทยคุ้นเคยกับคำว่า เลสเบี้ยน นั่นเอง

 

แม้การออกมาเปิดเผยตัวตนและแสดงจุดยืนจะเป็นความกล้าหาญที่น่าชื่นชม แต่ส่วนที่ผมรู้สึกว่าเส้นทางความรักระหว่าง ราปิโอเน่ กับ เบิร์ด นั้นมีอีกหลายแง่มุมที่น่ายกย่องยิ่งกว่า โดยเฉพาะ “การจับมือเคียงข้างกันเสมอ” ไม่ว่าสถานการณ์หรือชีวิตช่วงนั้นจะแย่แค่ไหน รวมถึงการจับมือกันพร้อมใจเป็นนักกีฬาตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมโดยมีเป้าหมายอยากจะสร้างทั้งความเท่าเทียมและคุณภาพให้เกิดกับวงการกีฬาที่ตัวเองเติบโตมา

 

เหตุการณ์หนึ่งที่ชัดเจนคือการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานธิบดีของสหรัฐฯ พยายามจะออกโรงจวกพฤติกรรมของ ราปิโอเน่ จนถึงขั้นเรียกว่าจ้องจะเล่นงานผ่านการทวีตตามสไตล์ หลังจากที่ผู้เล่นยอดเยี่ยม 2 สมัยรายนี้ไม่ยอมเข้าไปเยี่ยมพบที่ทำเนียบขาวหลังความสำเร็จของฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐฯ ซึ่งช่วงเวลานั้นเป็นเสมือนจังหวะวิกฤติของ ราปิโอเน่ เลยทีเดียว เพราะคู่ต่อกรที่เธอกับเผชิญเป็นถึงผู้นำประเทศที่มีนโยบายค่อนข้างจะเหยียดเพศ ส่วนเธอแค่ต้องการสร้างจุดยืนและเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศเท่านั้น

 

แต่เรื่องดังกล่าวไม่ส่งผลต่อชีวิตรัก … การจับมือของ ราปิโอเน่ และ เบิร์ด นั้น แน่นยิ่งกว่าด้วยศรัทธาที่มีให้กันและกัน 

 

ในขณะที่ ราปิโอเน่ อาศัยวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วยการสร้างตัวตนที่สูงกว่าการเป็นนักกีฬา หรือ คือการก้าวเข้ามาเป็นนักรณรงค์ทางสังคมอย่างเต็มตัว … ซู เบิร์ด ก็ไม่ได้แสดงท่าทีคัดค้าน เกรงกลัว หรือไม่เห็นด้วย … มิหนำซ้ำเธอยังเป็นอีกหนึ่งแรงที่แอบๆแสดงออกถึงทิศทางเดียวกัน ด้วยการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำและเริ่มสร้างคุณภาพ รวมถึงสิทธิที่เท่าเทียมให้เกิดขึ้นกับวงการบาสเกตบอลหญิงของสหรัฐฯ และ WNBA ก็ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นนับจากนั้น

 

ความรักของทั้งสองที่นอกจากจะมีความกล้าหาญแล้ว พวกเธอยังกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในประเทศสหรัฐฯ ไม่ใช่แค่ในฐานะนักกีฬา แต่พ่วงด้วยรูปแบบนักพัฒนาสังคม

 

ซู เบิร์ด มีความยิ่งใหญ่ที่มากกว่าในนักฐานะซูเปอร์สตาร์ หรือ นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ แต่เธอยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งพร้อมทั้งเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนหลายล้านคนในประเทศสหรัฐฯ

 

อาจจะมากกว่า ผู้นำประเทศของพวกเธออีกมั้ง


stadium

author

นวพล เกียรติไพศาล

เบนซ์ชอบกินข้าวมันไก่แต่กลัวอ้วน รักแมวแต่ชอบโดนข่วน ติดตามกีฬาแต่ไม่ดูผล