stadium

โก อินเตอร์ : รวมนักตบลูกยางสาวไทยที่เคยเล่นในต่างประเทศ

23 เมษายน 2563

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีนักกีฬาวอลเลย์บอลสาวไทยหลายต่อหลายคนที่มีความสามารถมากพอจะไปเล่นในลีกอาชีพที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุคแรก ๆ นักกีฬาเราจะต้องเก่งจริงๆเท่านั้นถึงจะมีโอกาสได้เล่นในลีกยุโรปหรือแม้กระทั่งทีมชั้นนำในทวีปเอเชีย ซึ่งข้อดีของการโกอินเตอร์นอกจากจะมีรายได้ที่สูงขึ้นแล้วยังมีโอกาสได้พัฒนาฝีมือและมีได้เล่นร่วมเคียงข้างกับนักกีฬาระดับโลกอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นโอกาสที่หาได้ยาก

 

อย่างไรก็ตามทุกวันนี้มีนักวอลเลย์บอลไทยถูกส่งออกต่างประเทศหลายคนไม่ใช่แค่ลีกใหญ่รวมไปถึงลีกเล็กอย่างเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งหากคิดเป็นเงินไทยแล้วรายได้ก็ถือว่าดีกว่า และในวันนี้เราได้คัดมาแบบเน้น ๆ ที่น่าสนใจ มีใครกันบ้างที่เคยไปเล่นลีกอาชีพที่ต่างประเทศไปติดตามกัน

 

พัชรี แสงเมือง

นักกีฬาวอลเลย์บอลสาวไทยคนแรกที่ได้ออกไปเล่นวอลเลย์บอลลีกอาชีพในต่างประเทศ โดยเธอมีโอกาสได้เล่นในลีกสูงสุดที่ประเทศญี่ปุ่น กับทีมโตชิบ้า ในปี 1998 เล่นได้ประมาณ 6 ฤดูกาล พัชรี มีโอกาสได้ย้ายเล่นในลีกยุโรปที่ประเทศรัสเซีย แต่หนนี้เธอไม่ได้ไปคนเดียวแล้ว มี ปลื้มจิตร์ ถินขาว เดินทางไปด้วย โดย พัชรี เล่นอยู่ในรัสเซียประมาณ 3-4 ปี จากนั้นเธอย้ายก็มาหาประสบการณ์ในอาเซียน ทั้งเวียดนามและฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญร่วมกับ อัมพร หญ้าผา ช่วยกันพาทีมมากายัน วอลเลย์ เลดี้ ไรซิง คว้าแชมป์ลีกฟิลิปปินส์ ในปี 2014

 

วรรณา บัวแก้ว 

แม้ไม่ใช่คนแรกที่ได้ไปเล่นในต่างประเทศ แต่ วรรณา เป็นนักกีฬาไทยคนแรก ที่ได้ไปเล่นในลีกยุโรป โดยเธอลงเล่นให้กับทีมจอห์นสัน สเปซาโน ในประเทศอิตาลี จากนั้นมีโอกาสได้เล่นให้กับ อิกติซัดชี่ บากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน แต่ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือการเล่นในลีกเยอรมัน พาทีมเอ็มทีวี สตุ๊ตการ์ท สโมสรในบุนเดสลีกา เยอรมัน คว้า 2 แชมป์ เยอรมันคัพ และเยอรมันซูเปอร์คัพ และได้รองแชมป์เยอรมันลีก ในปีเดียวกัน ฤดูกาล 2016-2017

 

 

นุศรา ต้อมคำ

หนึ่งในมือเซตที่ถูกยกย่องว่ามีฝีมือระดับโลก ประสบความสำเร็จมากมายทั้งรางวัลส่วนตัวและในระดับทีมชาติ นุศรา เป็นอีกหนึ่งคนที่มีโอกาสได้ไปลีกยุโรปหลายสโมสร และประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ทั้งสวิสเซอร์แลนด์ ตุรกี อาเซอร์ไบจาน แต่ที่โดดเด่นที่สุดคือการเล่นให้ ราบิต้า บากู ในอาเซอร์ไบจาน ซูเปอร์ลีก 2 สมัย พร้อมรางวัลมือเซตยอดเยี่ยมกับตัวเสิร์ฟยอดเยี่ยม

 

ส่วนในฤดูกาล 2015-2016 นุศรา ย้ายไปเล่นให้กับทีม อาเซอร์เรล บากู ในลีกอาเซอร์ไบจาน ร่วมกับ วรรณา บัวแก้ว รุ่นพี่ในทีมชาติ และช่วยกันพาทีมคว้าแชมป์ลีกมาครอง เท่ากับนุศรา คว้าแชมป์ลีกที่ประเทศนี้ 3 ปีซ้อน

 

จากนั้นในฤดูกาล 2016-2017 นุศรา ได้ย้ายไปเล่นในลีกตุรกี กับเฟเนร์บาห์เช อิสตันบูล และช่วยทีมคว้า 2 แชมป์ เตอร์กิช วอลเลย์บอลลีก และคูป้า วอลเลย์ เรียกได้ว่าไปเล่นทีมไหนก็มีแชมป์

 

 

อรอุมา สิทธิรักษ์

หัวเสาที่มีจุดเด่นในเรื่องพลังตบ เริ่มติดทีมชาติชุดเอเชียนเกมส์ 2006 หลังจากนั้นฟอร์มดีขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นนักกีฬาไทยยุคบุกเบิกที่ไปโลดแล่นลีกอาชีพในต่างประเทศ มีประสบการณ์ต่างประเทศกับหลายสโมสร อาทิ สโมสรฟิลลี่ ประเทศตุรกี , ซีเลอร์ โคนิซ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์, กวานนิล ประเทศเวียดนาม และไดนาโมคาซาน รัสเซีย

 

แต่ที่โดดเด่นสุดๆคือการเล่นให้กับเจที มาร์เวลลัส ในลีกดิวิชั่น 2 ของญี่ปุ่น ที่ประเคนค่าเหนื่อยให้เธอเป็นตัวเลขถึง 8 หลัก ซึ่งทำให้เธอเป็นวอลเลย์บอลไทยที่ค่าเหนื่อยสูงสุด แต่ อรอุมา ก็ตอบแทนได้อย่างคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ ด้วยการพาทีมเลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดได้ในระยะเวลา 2 ปี

 

ปลื้มจิตร์ ถินขาว

1 ในชาวแก๊ง 6 เซียน อยู่กับทีมชาติมาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 20 สมัยยังล้มลุกคลุกคลานมาด้วย  ในตำแหน่งบอลเร็วเธอยืนหนึ่งมาตลอด มีประสบการณ์ต่างประเทศมากมาย  อาทิ สโมสรในจีนอย่างหวงเหอ และ ฟูเจี้ยน เซียะเหมิน , คอนยา เอเรกลี ที่ตุรกี , ทันเห่า จากเวียดนาม , อาอูรูมที่รัสเซีย และ อิกติซัดชี่ บากู ในประเทศอาเซอร์ไบจาน เป็นต้น

 

มลิกา กันทอง

เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นมากประสบการณ์และรับใช้ทีมชาติไทยมาอย่างยาวนาน ผ่านประสบการณ์ในต่างประเทศมาอย่างโชกโชน อาทิ สโมสรคอนยา เอเรกลี ประเทศตุรกี สโมสรอิกติซัดชี่ บากู ลีกอาชีพที่อาเซอร์ไบจาน ซึ่งเป็นสโมสรที่เธอรับหน้าที่เป็นกัปตันทีมอีกด้วย นอกจากนั้นยังมีโอกาสได้เล่นในลีกอาชีพที่จีนกับสโมสรฟูเจี้ยน และสโมสรแทงฮัวห์ ประเทศเวียดนาม

 

 

วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์

อีกหนึ่งเสาหลักของทีมตบสาวไทย เธอมีประสบการณ์ในเล่นลีกอาชีพต่างแดนมากมาย อาทิ ทั้งลีกอาชีพในเวียดนาม, ลาสพัลมัส จากสเปน, คอนยา เอเรกลี ในตุรกี, สโมสร เฮิงต้า เอเวอร์แกรน ประเทศจีน, สโมสรในอินโดนีเซีย, สโมสรฟูเจี้ยน ประเทศจีน แม้ว่าจะไม่ได้แชมป์ แต่ประสบการณ์ที่เธอได้รับและนำกลับมาใช้ในทีมชาติจนประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้

 

อำพร หญ้าผา

เจ้าแม่ไหลหลัง เป็นหนึ่งใน 7 นักกีฬาไทยที่ได้เซ็นสัญญาร่วมทีมอาชีพสังกัดอิกติซัดชี่ บากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ซึ่งเป็นข่าวฮือฮากันอยู่พักใหญ่ นอกจากนั้นยังมีประสบการณ์อีกหลายประเทศ สังกัดสโมสรคาซิ ยูนิเวอร์ซิตี้ อันการ่า ที่ประเทศตุรกี และยังมีโอกาสได้ไปลีกอื่นในอาเซียนทั้ง อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งที่ ฟิลิปปินส์ เธอเล่นให้กับทีม คากายาน ผนึกกำลังกับ พัชรีย์ แสงเมือง ช่วยกันพาต้นสังกัดคว้าแชมป์มาครองได้

 

 

โสรยา พรมหล้า

มือเซตทีมชาติไทยอีกคนที่น่าจับตามอง ผลงานโดดเด่นในต่างประเทศ คือการไปเล่นกับ คากายัน สโมสรในฟิลิปปินส์ ในปี 2013 แถมยังเป็นกำลังหลักพาทีมคว้าแชมป์ลีก พ่วงด้วยรางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าและมือเซตยอดเยี่ยมประจำปีอีกด้วย

 

 

แก้วกัลยา กมุลทะลา

เป็นข่าวที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการวอลเลย์บอลไทยเลยทีเดียว หลังจากที่ได้มีโอกาสร่วมทีมเจที มาร์เวลลัส สโมสรลีกอาชีพในญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในขุมกำลังของทีมที่สร้างประวัติศาสตร์พาทีมคว้าแชมป์ลีกอาชีพได้เป็นครั้งแรก แม้จะไม่ใช่กำลังหลัก แต่กีฬาประเภททีมก็เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ เมื่อขาดชิ้นใดชิ้นหนึ่งไปก็คงประสบความสำเร็จไม่ได้

 

 

อัจฉราพร คงยศ

กำลังมองหาความท้าทายในชีวิตอีกครั้งหลังจากอกหักอดไปเล่นในลีกเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของเธอกับการเล่นในต่างประเทศ เพราะก่อนหน้านี้เธอเคยมีโอกาสมาแล้วหนึ่งหนกับ จาการ์ตา บีเอ็นไอ 46 ในลีกวอลเลย์บอลอินโดนีเซีย ฤดูกาล 2018-2019 ซึ่งถือเป็นคนไทยคนที่ 4 ในปีนั้น ต่อจาก พรพรรณ เกิดปราชญ์, พิมพิชยา ก๊กรัมย์, จุฑารัตน์ มูลตรีพิลา ที่ย้ายไปเล่นในลีกอินโดนีเซีย

 

 

ปิยะนุช แป้นน้อย

ความฝันของลิเบอโร่สาวสวย คือการไปเล่นวอลเลย์บอลในลีกต่างประเทศ เมื่อโอกาสมาถึงเธอตอบตกลงทันที โดยโอกาสสำคัญคือการได้เซ็นสัญญาร่วมสังกัดสโมสรอัลทาย วีซี ประเทศคาซัคสถาน เป็นเวลา 1 ฤดูกาล 2017-2018 ซึ่งทีมอัลทายนั้นก็เป็นทีมที่ไม่ธรรมดา มีดีกรีเป็นแชมป์ลีกสูงสุดถึง 6 สมัย แม้จะต้องใช้เวลาปรับตัวพอสมควา แต่เธอก็ยังเป็นกำลังสำคัญในการพาทีมคว้า 2 แชมป์ ทั้งวอลเลย์บอลซูเปอร์คัพ  และแชมป์ลีกได้สำเร็จ

 

วณิชยา หล่วงทองหลาง

พีเอสแอล กรังด์ปรีซ์ ลีกอาชีพของฟิลิปปินส์ ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2013 ซึ่งในปีนั้นมีนักกีฬาไทยหลายคนที่โดนดึงตัวไปเล่นในลีก อาทิ วนิดา โคตรเรือง, พัชรี แสงเมือง เล่นให้ทีม คากายัน วอลเลย์ เลดี้ ไรซิง ซันส์, สนธยา แก้วบัณฑิต ร่วมทีม อาร์ซี โคล่า เรเดอร์ส

 

แต่ที่โดดเด่นกว่าใครเพื่อนในปีนั้นคือ วณิชยา หล่วงทองหลาง ที่เล่นให้ทีม ทีเอ็มเอส-ฟิลิปปินส์ อาร์มี่ เลดี้ ทรูปเปอร์ส โดยเธอเป็นกำลังหลักของทีมตลอดซีซั่น สามารถพาทีมผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ และเป็นแชมป์พีเอสแอล กรังด์ปรีซ์ 2013 ขณะเดียวกัน วณิชยา ยังได้รางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าของปี เป็นรางวัลส่วนตัวติดมือกลับบ้านอีกด้วย

 

 

ชัชชุอร โมกศรี

บุ๋มบิ๋ม ลงเอยกับสโมสร พีเอฟยู บูลแคท ที่ญี่ปุ่น เป็นเวลา 1 ฤดูกาล แต่ด้วยวัยเพียงแค่ 18 ปี กับลีกสูงสุดของญี่ปุ่น ไม่ใช่งานง่ายๆเลย ไหนจะต้องใช้เวลาปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมทีม สปีดบอลของลีก และการใช้ชีวิต 

 

แม้ผลงานของทีมจะไม่ดีนัก แต่เธอก็มีส่วนสำคัญในการพาทีมรอดตกชั้นและทีมยังอยู่ในลีกสูงสุดต่อไป อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมว่าเธอคือนักกีฬาดาวรุ่ง ที่ได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิต เพื่อนำมาต่อยอดกับทีมชาติไทยในอนาคต

 

กรรณิการ์ ธิปะโชติ

ได้ย้ายไปเล่นในลีกฟิลิปปินส์ ร่วมทีมเดียวกับ โสรยา พรมหล้า คากายัน วอลเลย์ เลดี้ ไรซิง ซันส์ เมื่อปี 2013 จับคู่กันทำผลงานได้ดี และคว้าแชมป์ได้สำเร็จ ซึ่งในส่วนของ กรรณการ์ ได้รางวัลผู้ทำคะแนนสูงสุด

 

 

2020-2021 : ลุ้น 3 สาวแจ้งเกิด วี ลีก ที่ญี่ปุ่น

 

ส่วนฤดูกาลนี้เราจะได้เห็น ทัดดาว นึกแจ้ง , พรพรรณ เกิดปราชญ์ และ หทัยรัตน์ จารัต ไปลุยในวีลีก โดย ทัดดาว จะได้เล่นให้ทีมแชมป์เก่าอย่าง เจที มาร์เวลัส ต้องติดตามดูว่าเธอจะสานต่อความสำเร็จที่  อรอุมา และ แก้วกัลยา เคยทำได้หรือไม่ ทางด้าน พรพรรณ เคยมีประสบการณ์ในต่างประเทศมาแล้ว จะไปเซตให้กับ โตโยตา ออโตบอดี้ ขณะที่ ่หทัยรัตน์ จะไปบล็อกให้กับ บลูแคท ทีมเก่าของ ชัชชุอร โมกศรี ส่งใจเชียร์สามสาวลูกยางไทยให้สร้างชื่อเสียงให้กับวงการวอลเลย์บอลกันอีกครั้ง

 


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator

โฆษณา