6 ตุลาคม 2563
การแข่งขัน NBA PLAYOFFS รอบชิงชนะเลิศ มักจะมีหลากหลายเหตุการณ์ที่น่าจดจำ ทั้งจากการแข่งขันที่ดุเดือด ความดราม่า ความยิ่งใหญ่ หรือ จังหวะตัดสินเกมสวยๆเกิดขึ้นมากมาย รวมถึงปรากฏการณ์พลิกล็อคที่ช็อคคนดู โดยดัชนีชี้วัดความยอดนิยมในแต่ละปี จะสามารถคาดการณ์ได้จากเรตติ้งการถ่ายทอดสด และ ยอดผู้ชมการแข่งขันผ่านทีวี ซึ่งปี 1998 ที่เป็นการพบกันของ ชิคาโก บูลส์ ของ ไมเคิล จอร์แดน กับ ยูท่าห์ แจ๊ซ ที่มี คาร์ล มาโลน และ จอห์น สต๊อกสัน คือเกมที่ครองทั้งสองสถิติได้แก่ ยอดเรตติ้งสูงสุดอยู่ที่ 22.3 และ ยอดคนดู 35.89 ล้านคน โดยทั้งหมดเกิดขึ้นในเกมที่ 6รวมทั้งยังเป็นปีที่มีค่าเฉลี่ยตลอดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศสูงสุด เรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 18.7 และ คนดูเฉลี่ย 29.04 ล้านคน ซึ่งผลสุดท้ายคือ บูลส์ คว้าแชมป์ไปครองโดยการชนะซีรี่ส์ไป 4-2 เกมส์
อย่างไรก็ตามในเชิงคุณภาพ ยังมีเหตุการณ์อีกหลายปีที่การเข้าชิงสร้างปรากฏการณ์อันน่าจดจำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการคว้าแชมป์ด้วยเกมส์ป้องกันของ ดีทรอยต์ พิสตันส์ ที่ทำเฉลี่ยไม่ถึง 90 แต้มในรอบเพลย์ออฟ, การต่อสู้กันยาวนานและสูสีจนถึงวินาทีสุดท้ายของ เลเกอร์ส – เซลติกส์ ในปี 2010, การชูถ้วยของ เดิร์ก โนวิตสกี้ ที่เป็นแชมป์แรกและแชมป์เดียวในอาชีพของเขากับ ดัลลัส แมฟเวอร์ริกส์ ในปี 2011 รวมถึงการคับเคี่ยวแห่งยุคระหว่าง คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส และ โกลเด้น สเตท วอริเออร์ส ปี 2016 … แต่มีอยู่หนึ่งปีที่แฟนคอบาสทั่วโลก รวมถึงสื่อหลายสำนักยกให้เป็นเกมส์รอบชิงที่ดีที่สุดของประวัติศาสตร์ NBA นั่นคือ ปี 2013 และเป็นการพบกันระหว่าง ไมอามี่ ฮีต กับ ซานอันโตนิโอ สปอร์ส … โดยถ้าให้มองจากสถานะทั้งสองทีมในช่วงเวลานั้น คือการปะทะกันของ 2 ความยิ่งใหญ่ คือ ซูเปอร์ทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด กับระบบการเล่นที่แข็งแกร่งและสวยงามที่สุด และอีกนัยยะคือทีมที่เน้นซูเปอร์สตาร์เป็นแกน กับ ทีมที่เน้นวัฒนธรรมเป็นแกน
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและคุณอาจสนใจ
ย้อนรอย: คลื่นลูกใหม่เฉพาะกิจ เลบรอน, บอช, เหว็ด การรวมตัวเพื่อความยิ่งใหญ่
การเป็นแฟนทีมกีฬาในรัฐฟลอริด้าอาจจะเป็นเรื่องน่าอึดอัด โดยเฉพาะกับการเชียร์บาสเกตบอล เพราะมีเพียงแค่ ออแลนโด้ แมจิก และ ไมอามี่ ฮีต เท่านั้นที่เป็นทีมของชาวเมืองนี้ อย่างไรก็ตามหลังจากปี 2011 สถานการณ์ของฮีตก็เปลี่ยนไป ทันทีที่ชื่อของ เลบรอน เจมส์ และ คริส บอช ก้าวเข้ามาสู่อเมริกัน แอร์ไลน์ อารีน่า เพื่อมาช่วยเกลอซี้อย่าง ดีเวย์น เหว็ด ไล่ล่าความสำเร็จอีกครั้ง หลังจากหมดยุค แช็ค (ชาคีล โอนีล) – เหว็ด ไปเมื่อปี 2006
การสร้างทีมเฉพาะกิจนี้ขึ้นมามีเพียงเป้าหมายเดียวคือการคว้าแชมป์เท่านั้น เพราะพวกเขาทุ่มค่าจ้างทะลุเพดานสำหรับ เซ็น 3 ผู้เล่นที่บังเอิญถูกดราฟต์เข้ามาในปี 2013 ด้วยกัน และถึงแม้ว่าปีแรก (2011) พวกเขาจะทำได้แค่รองแชมป์หลังเจอแมฟเวอร์ริกส์ ชุดปาฏิหาริย์ แต่ปีต่อมาพวกเขาสามารถปิดจ๊อบได้สำเร็จ หลังจากเอาชนะ โอคลาโฮมา ซิตี้ ธันเดอร์ส แต่ความกระหายในความสำเร็จทำให้พวกเขาวางเป้าป้องกันแชมป์ให้ได้ ซึ่งจะเป็นทั้งแชมป์หนที่ 3 ของทีม และยังเป็นครั้งแรกที่ ฮีต จะได้ชื่อว่า แชมป์แบบ แบ็ค-ทู-แบ็ค (2 ปีติดต่อกัน) นั่นเอง
พวกเขาขยายขอบเขตคำว่า ซูเปอร์ทีม ด้วยการคว้า เรย์ อัลเล่น มือปืนจอมเก๋าที่เลือกทิ้ง บอสตัน เซลติกส์ ที่ทีมโรยรา และเมื่อรวมกับองค์ประกอบอื่นๆ พวกเขามีซูเปอร์สตาร์ และ ตัวเก๋ามากฝีมือในรายชื่อผู้เล่นเต็มไปหมด ทั้ง เชน แบติเยร์, ราชาร์ด ลูวิส, อูโดนิส ฮาสเล็ม, ไมค์ มิลเลอร์, มาริโอ้ ชาลเมอร์ส หรือแม้แต่ “เจ้าหัวไก่” คริส แอนเดอร์สัน
ย้อนรอย: ปรัชญาที่มั่นคงของ โพโพวิช ที่ขอทวงคืนความยิ่งใหญ่
ถ้าหากฮีตคือการรวมตัวเฉพาะกิจเพื่อความสำเร็จแบบเฉียบพลัน … ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส คือ รากฐานความแข็งแกร่ง ที่ต้องการทวงความยิ่งใหญ่ ภายใต้ปรัชญาของ เกร็ก โพโพวิช ที่เน้นแนวทางการทำทีมแบบเน้นทีมเวิร์ค และสร้างระบบการเล่นที่ไม่ตายตัว แต่มีประสิทธิภาพเสมอ เพราะนับตั้งแต่ สเปอร์ส ได้ตัว ทิม ดันแค่น เข้ามาสู่ทีม ผสมกับกึ๋นสุดเทพของ โพโพวิช ทำให้พวกเขาคว้าไป 4 แชมป์ในรอบ 9 ปี (1999-2007) แต่อยู่ดีๆพวกเขาก็ไม่ได้สัมผัสแชมป์เลยตลอดช่วงเวลา 5 ปีต่อจากนั้น (2008-2012) … ทั้งๆที่พวกเขามีผลงานที่คงเส้นคงวา และ ติดอยู่ 1 ใน 4 ของสายตะวันตกแทบจะทุกฤดูกาล
อย่างไรก็ตามวิถีของสเปอร์สต่างจากฮีต พวกเขาไม่คิดรื้อทีมหรือสร้างทีมใหม่ในด้านตัวผู้เล่น (มีเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย) แต่สิ่งที่ยอดเยี่ยมและเป็นเสน่ห์อันน่าชื่นชมของทีมนี้ คือ ไม่ว่าจะส่งชุดตัวจริง ชุดผสม หรือ ชุดสำรอง ลงสนาม พวกเขาจะแสดงรูปแบบการเล่นที่ยอดเยี่ยมออกมาให้เห็น และถึงแม้ตัวหลักจะบาดเจ็บลงเล่นไม่ได้ ทรงการเล่นของทีมจะดูไม่เสียศูนย์ จากการที่ทุกอย่างถูกคิดและวางแผนมาแล้ว โดยชายที่ชื่อโพโพวิช
แม้ว่าปี 2012 พวกเขาจะพ่ายแพ้ให้กับ โอเคซี ในรอบชิงแชมป์สายตะวันตก แต่ปีต่อมาพวกเขาไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนแกนหลักของทีมเลยแม้แต่น้อย ชื่อของ ทิม ดันแค่น, โทนี่ พาร์เกอร์, มานู จิโนบิลี่ ยังคงเป็นตัวหลัก แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเล็กๆคือการให้โอกาสลงสนามเพิ่มขึ้นของ คาไว เลียวนาร์ด, แดนนี่ กรีน และ ติอาโก้ สปลิตเตอร์ ซึ่งตอนนั้นคือดาวรุ่งของทีม
“ในขณะที่ฮีตเลือกเติมฟันเฟืองหลักใหม่ใส่ลงไปในการขับเคลื่อน สเปอร์สอาศัยการให้โอกาสฟันเฟืองเดิมได้ลองทำงานเพิ่มขึ้นร่วมกับฟันเฟืองหลักที่มีอยู่”
Super Team vs Super System นัยยะซ่อนเร้น ที่ระเบิดความมันส์ในรอบชิง 2013
โดยส่วนตัวแล้วผมชื่นชอบกับแนวทางการทำทีมของ เกร็ก โพโพวิช แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าหากต้องการความสำเร็จในเร็ววัน อาจจะต้องพึ่งอำนาจของเงิน และ การตัดสินใจลงมือทำที่เด็ดขาดและกล้าได้กล้าเสียแบบที่ แพท ไรลี่ย์ เลือกทำให้ฮีต ดังนั้นในการต่อสู้ของรอบชิงปี 2013 จึงไม่ต่างจากการปะทะกันของ 2 อุดมการณ์ที่แตกต่างกัน ระหว่าง Super Team ที่พร้อมเทหมดหน้าตักเพื่อเร่งความเร็จ และ Super System ที่บ่มเพราะความแข็งแกร่งจากภายในโดยต้องรอเวลาฟักตัวแต่ทั้งสองอุดมการณ์ต่างมีเป้าหมายเดียวคือการคว้าแชมป์ NBA
แม้ว่าตลอด 7 เกมส์ของปี 2013 จะไม่มียอดคนดูหรือเรตติ้งรวมสู้ปี 1998 ได้ แต่คุณค่าไม่อาจตัดสินได้ด้วยตัวเลขเท่านั้น เพราะเราเชื่อว่าจังหวะการชู้ต 3 คะแนนสำคัญของ เรย์ อัลเล่น ในเกมส์ 6 ยังเป็นสิ่งที่ตราตรึงใจแฟนบาสทั่วโลกอยู่ อีกทั้งบรรยากาศการต่อสู้ตลอดทุกนาทีในทุกเกมส์ การที่ทั้งสองทีมไม่ได้มีความแค้นต่อกันเป็นการส่วนตัวแต่กลับใส่กันเต็มสูบ รวมถึงการห้ำหั่นกันระหว่าง 2 สุดยอดโค้ช นั่นคือ โพโพวิช และ เอริค สโปเอลสตร้า ที่แม้ตอนนั้นจะถูกค่อนขอดว่าทำทีมง่ายเพราะมีตัวเก่งล้นทีม แต่ถ้าให้คุณพูดใหม่กับสิ่งที่เขาทำให้ฮีตมาจนถึงปี 2020 … โค้ชรายนี้มีรูปแบบการสร้างทีมและมันสมองในการใช้งานผู้เล่น และ วางแผน ยอดเยี่ยมไม่แพ้โค้ชคนใดในวงการเลย
แต่ส่วนสำคัญที่สุดคือ ทั้ง 2 ทีมเปี่ยมไปด้วยโค้ช ทีมงาน และ ผู้เล่นที่ยอดเยี่ยม เพราะในขณะที่ฮีตมี เจมส์, เหว็ด, บอช และ อัลเล่น ฝ่ายสเปอร์ส ก็มีทั้ง ดันแคน, พาร์เกอร์, จิโนบิลี่ และ คาไว เลียวนาร์ด เพียงแต่วิธีการได้มาซึ่งโคตรทีมอาจจะแตกต่างกัน เพราะฮีตสร้างกรุงโรมเสร็จภายในเวลาไม่กี่ปี ในขณะที่สเปอร์ส ค่อยๆเก็บเกี่ยวผู้เล่นชุดที่ถือว่าดีที่สุดของทีม แบบค่อยเป็นค่อยไป
ท้ายที่สุด ฮีต คือผู้ชนะ และ คว้าแชมป์ NBA 2013 ไปครอง แต่ถ้าหากให้หาว่าอุดมการณ์ไหนคือผู้ชนะอย่างแท้จริง คงจะตัดสินได้ยาก เพราะทั้งสองทีมแสดงความยอดเยี่ยมในแบบของตัวเองออกมาต่อหน้าแฟนๆทั่วโลก และไม่แปลกเลยที่รอบชิงครั้งนั้นจะกลายเป็นซีรี่ส์หาแชมป์ ที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ NBA … อย่างไรก็ตามยังมีกิมมิกหรือองค์ประกอบหลายจุดที่ช่วยให้สีสันของรอบชิงปีนั้น มีความน่าจดจำมากขึ้นไปอีก
โมเม้นต์ต่างๆที่เกิดขึ้น และ การเป็นภาพติดตาของผู้ชมบาสเกตบอล NBA
เริ่มที่คลัทช์ช็อตของ โทนี่ พาร์เกอร์ ในเกม 1: เกมส์แรกในบ้านคือเรื่องสำคัญ และในขณะที่เหลือเวลา 20 วินาที … สเปอร์ส นำ 90 – 88 การ์ดชาวฝรั่งเศสลุยเดี่ยวและเกิดเสียหลัก ถูกทั้งเจมส์และเหว็ดป้องกัน แต่พาร์เกอร์ ปล่อยลูกทันขณะเหลือช็อตคล็อค เหลือเพียง 0.1 วินาที ซึ่งทำให้สเปอร์ส เอาชนะในเกมส์แรก 92-88 คะแนน
แดนนี่ กรีน ที่แฟนเลเกอร์สร้องยี้ เคยสร้างสถิติรอบชิงฯ: เชื่อหรือไม่ว่า แดนนี่ กรวย (เอ้ยกรีน) ที่ฟอร์มเกมส์บุกกับเลเกอร์สปีนี้ไม่เอาอ่าว เคยทำสถิติรอบไฟนัลหลังจากชู้ต 3 คะแนนลง 25 ลูกจาก 5 เกมส์ในรอบชิง ทำลายสถิติ 22 ลูกของ เรย์ อัลเล่น ในปี 2008 ลงได้ อย่างไรก็ตามสถิตินี้ถูกทำลายในปี 2016 โดย สตีเฟ่น เคอร์รี่ ที่ชู้ตลงไป 28 ลูก
การไม่ยอมตายคาบ้านของ ฮีต ในเกมส์ที่ 6: สเปอร์ส ขึ้นแท่นนำ ซีรี่ส์ 3-2 เกมส์ และ จบควอเตอร์ที่ 4 ในเกมที่ 6 ด้วยการนำเจ้าถิ่นอยู่ 10 คะแนน … แต่ ฮีต ไม่ยอมตายในบ้านพวกเขาไล่บี้เกมป้องกันสุดชีวิตใน 12 นาทีสุดท้าย พร้อมกับใส่เกินร้อยในทุกเพลย์ของเกมส์บุก … โดยส่วนที่พีคที่สุดอยู่ในข้อถัดไป
ลูกชู้ตที่ดีที่สุดในชีวิตของ เรย อัลเล่น: “เลบรอน พลาด 3 คะแนน … บอช รีบาวน์ … ดีดออกนอกให้ อัลเล่น และ พระเจ้า พวกเขาทำสำเร็จ ฮีตตีเสมอได้อย่างปาฏิหาริย์” เชื่อว่าหลายคนจำช่วง 12 วินาทีสุดท้ายของเกมส์ที่ 6 ได้อย่างขึ้นใจ
เฮดแบนที่หายไปของ เลบรอน: ขณะที่เหลือ 9 นาทีในเกมส์ 6 … ดันแคน รวบเอาเฮดแบนของ เจมส์ หลุดออกในจังหวะที่ คิงส์ ขึ้นดั๊งค์ และหลังจากที่ซิกเนเจอร์ของเจมส์หายไป เขาชู้ตลง 4 จาก 5 ลูกต่อมา อย่างไรก็ตามนั่นไม่น่าตื่นเต้นเท่ากับ MEME ที่เกิดขึ้นใน Social Media (ลอง Search คำว่า The LeBron James Headband Game)
คาไว เด็กหนุ่มที่ทำให้ เจมส์ ต้องผวา: คาไว ตอนนั้นยังไม่สุดยอดเท่าตอนนี้ แต่เหมือน เลบรอน สัมผัสความเทพของหนุ่มคนนี้ได้ก่อนใคร เพราะถ้าใครจำได้ ขณะที่เจมส์กำลังจะชู้ตลูกโทษ เขาทำหน้าเหยเกทันทีเมื่อรู้ว่า คาไว กลับลงสนาม
ไมค์ มิลเลอร์ กับ ลูกชู้ต 3 คะแนนที่ปราศจากรองเท้า: อีก 1 เหตุการณ์สำคัญ ที่เท่ยิ่งกว่า ซินเดเรลล่า เพราะ ไมค์ มิลเลอร์ ต้องวิ่งขึ้นมาบุกโดยหนีบรองเท้าที่หลุดออกมาด้วย … เขาตัดสินใจโยนมันออกนอกสนาม ก่อนรับบอล และ ชู้ต ซึ่งลูกนั้นลงห่วงไปแบบสวยงาม
เชน แบตติเยร์ ปล่อยแก่เกมตัดสินชะตา: เกมส์ตัดสินชะตาต่อหน้าแฟนเต็มสนาม ทั้งบอชและอัลเล่น หาห่วงไม่เจอ แต่แล้วบิ๊กทรีคนที่ 3 ที่ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่แทนก็คือ เชน แบตติเยร์ เขาซัด 3 คะแนนลงไป 6 ลูก จบเกมส์ทำ 18 คะแนน
จากเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลคือความคิดเห็นส่วนตัว ประกอบกับการหาข้อมูลต่างสื่อต่างประเทศที่ก็ได้กล่าวถึงเช่นกันว่า NBA FINALS 2013 คือ รอบชิงชนะเลิศที่ดีที่สุดของประวัติศาสตร์ … และอย่างที่บอกไปว่า ตัวเลขหรือสถิติเป็นส่วนหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือคุณค่าที่เกิดจากปรากฏการณ์เหล่านั้น ว่าให้อะไรกับเราในฐานะคนดูบ้าง
TAG ที่เกี่ยวข้อง