stadium

โจทย์ยากของ ตัน เชง โฮ

23 เมษายน 2563

โจทย์ยากของ ตัน เชง โฮ

#คุยเฟื่องเรื่องบอลไทย

 

ตามข้อมูลที่ประกาศโดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือที่เรารู้กันในชื่อย่อ “ศบค.” เป็นไปได้ว่าประเทศไทยกำลังจะเริ่มเข้าสู่โหมดคลี่คลาย และกำลังเขยิบเข้าไปใกล้กับการกลับสู่สภาวะปกติเข้าไปทุกขณะ ผิดกับหลายประเทศในย่านนี้ที่กำลังอยู่ในโหมดที่ต่างออกไป (ทั้งสิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่มาเลเซียเอง พวกเขาต่างมียอดผู้ติดเชื้อสะสมมากถึงหลายพันคน แถมยังมีอัตราของผู้ติดเชื้อเพิ่มแต่ละวันที่ยังน่าเป็นห่วง)

 

ภาวะการสูญเสียการควบคุมในการรับมือกับเจ้าโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน กับการขาดแคลนจำนวนบุคคลากรทางการแพทย์และสถานที่รองรับผู้ติดเชื้อกำลังนำมาซึ่งความวิตกกังวลเป็นวงกว้าง แน่นอนว่าหลายที่ยังอยู่ในอาการ “โคม่า” และแม้รัฐบาลของพวกเขาจะออกมาตราการต่างๆออกมาต่อเนื่องเป็นระยะๆแต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าสงครามโควิด-19 หนนี้สำหรับพวกเขาจะเริ่มเข้าใกล้จุดสิ้นสุดลงได้ซักที  

 

ยิ่งถ้าพูดถึงวงการฟุตบอลในกลุ่มประเทศเหล่านี้ มาเลเซียเองดูจะได้รับผลกระทบหนักกว่าใครเพื่อน เพราะจากข่าวที่ออกมาหลายสโมสรในลีกสูงสุดกำลังเผชิญหน้ากับภาวะ “ถังแตก” (มีรายงานข่าวจากสื่อท้องถิ่นของพวกเขาว่านักเตะหลายรายไม่ได้รับการจ่ายเงินเดือนๆล่าสุด และมีมากถึง 4 จากทั้งหมด 12 ทีมในลีกสูงสุดที่ได้เริ่มดำเนินการหั่นค่าจ้างนักเตะไปแล้ว)  

 

สถานการ์ณยิ่งเลวร้ายมากขึ้นเมื่อลีกมาเลย์ยังไม่สามารถหาข้อสรุปวันกลับมาแข่งใหม่ได้ ท่ามกลางสภาวะที่สัญญานักเตะในหลายสโมสรกำลังจะหมดลงในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ เหตุการ์ณที่ว่ากำลังเป็นที่มาของคำถามจากแฟนบอลว่าบางทีสมาคมฯและเอ็มลีกอาจกำลังถกกันถึงความเป็นไปได้ในการ “แคนเซิลฤดูกาล 2020” และนั่นจะถือเป็นหายนะสำหรับทีมชาติ

 

“บ้าไปแล้ว..ถ้าลีกเราถูกยกเลิก นักเตะเราจะเอาอะไรไปสู้กับไทย, ยูเออี และเวียดนามในสามนัดที่เหลือ” นั่นคือประโยคคำถามที่แฟนบอลมาเลย์กำลังตั้งข้อสงสัยกัน  

 

แม้จะยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการในบทสรุปของเอ็มลีกว่าจะกลับมาเตะกันแบบไหน? อย่างไรและเมื่อไหร่? แต่จากคำเปิดเผยของนายกสมาคมฟุตบอลของพวกเขาก็มีความเป็นไปได้ว่าแนวทางแก้ไขเรื่องดังกล่าวอาจมีแนวทางให้เลือกเพียงแค่สองอ็อปชั่น(ซึ่งยังต้องรอการประชุมของสโมสรสมาชิกเพื่อลงความมติกัน)

 

ออฟชั่นแรก คือเตะแบบปิดในสนามกลางเพียงที่เดียวโดยต้องให้จบภายในหนึ่งเดือนแบบไม่ให้เกินเดือน ก.ค. เพราะมันมีเรื่องของสัญญาที่บรรดาสโมสรต่างๆทำไว้กับนักเตะในสังกัด และเพื่อไม่ให้กระทบกับแผนงานในการเตรียมทีมสำหรับทีมชาติในชุดต่างๆ โดยช้อยส์นี้ก็จะทำให้โค้ชทีมชาติมีเวลาดูแข้งที่หมายตาไว้ และสโมสรก็ยังพอมีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดอยู่บ้าง

 

ออฟชั่นที่สอง คือ “เอาอย่างไทย” โดยเลื่อนการแข่งขันไปว่ากันใหม่เดือนตุลาคมนู่นและให้ไปจบที่ต้นปีหน้า แล้วให้แต่ละสโมสรจัดแจงปรับแก้สัญญานักเตะกันใหม่เพื่อให้สอดรับกับนโยบายนี้ ซึ่งวิธีนี้จะให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจในด้านของรายได้เมื่อลีกสามารถกลับมาแข่งใหม่ แต่ทุกทีมรวมถึงตัวนักเตะเองในตอนนี้ก็ต้องยอม “กลืนเลือด” เพื่อให้รอดจากช่วงเวลาแบบนี้ไปให้ได้ก่อน

 

“อืม..” ผมว่านายใหญ่ทัพเสือเหลืองอย่างตัน เชง โฮเองอาจไม่ปรารถนาทั้งสองอ็อปชั่นนี้ก็เป็นไปได้ เพราะทั้งสองทางเลือกที่ว่าต่างมีแต่ “เสียกับเสีย”(หากมองในมุมของคนทำทีมชาติที่ทีมตัวเองกำลังอยู่ในเส้นทางการลุ้นเข้ารอบ 12 ทีมสุดท้ายคัดบอลโลก)  

 

รีบๆแข่งให้จบแบบตะบี้ตะบันเตะกัน 2 แมตช์ต่อสัปดาห์ต่อเนื่องเต็มเดือน แน่นอนว่าอาจนำมาซึ่งอาการบาดเจ็บ-ล้าของนักเตะ ในขณะที่เลือกเอาอย่างไทย(เลื่อนลีกออกไปถึงครึ่งปี)ก็อาจเข้าข่ายปัญหาด้านสภาพร่างกายเรื่องความฟิตของนักเตะที่มี (ยิ่งถ้าเอเอฟซีกำหนดให้รายการอย่างคัดบอลโลกกลับมาเตะกันใหม่ในเดือน ต.ค. นั่นก็จะเท่ากับว่าบรรดาตัวทีมชาติพึ่งจะผ่านแมตช์ฟิตมาแค่ไม่กี่นัด แบบนี้มันจะดีตรงไหน?)

 

กับเป้าหมายการพามาเลเซียเข้ารอบ 12 ทีมสุดท้ายภายใต้สภาวะที่ไม่ปกติแบบนี้ และกับปัญหา “จับฉ่าย” มากมาย ไหนจะเรื่องลีกตัวเองที่ไม่เอื้อให้ทีมชาติ ไหนจะเรื่องโปรแกรมต่างๆที่ดูจะผิดแผนไปหมดและไหนจะเรื่องของบรรดาตัวโอนสัญชาติที่อยู่ระหว่างรอลุ้นให้การขึ้นทะเบียนฟีฟ่าได้รับการอนุมัติให้ทันใช้งาน คงต้องมาดูกันว่าโจทย์ใหญ่หนนี้ของตัน เชง โฮ เขาจะปรับแผนอย่างไร? นี่อาจไม่ใช่แค่เรื่องในสนามที่เขาต้องคิดเท่านั้น แต่อาจต้องว่ากันด้วยแผนงานรอบด้านแบบ 360 องศาเลยก็ว่าได้..


stadium

author

“akinson149” พงศ์รัตน์ วินัยวัฒนวงศ์

Moderator เพจ thailandsusu (Section: บทความ-แปลข่าวบอลไทย) และคอลัมนิสต์ฟุตบอลไทย

La Vie en Rose