stadium

ดไวท์ ฮาเวิร์ด: เมื่ออัตตาลดลงชีวิตก็บินสูงและมั่นคงกว่าเดิม

29 กันยายน 2563

แม้ในวัย 34 ปี เขาจะไม่ใช่เซ็นเตอร์อันดับต้นของลีก ไม่ใช่แม้แต่การเป็นตัวจริงของทีม แอลเอ เลเกอร์ส  แต่สำหรับตลอดเส้นทางที่ผ่านมาของ ดไวท์ ฮาเวิร์ด ที่ยังไม่เคยมีโอกาสสำหรับถ้วยหรือแหวนแชมป์ของบาสเกตบอล เอ็นบีเอ นั้นถือว่าแปลกเอามากๆ เพราะ “ดี-โฮ” เคยมีโอกาสร่วมแข่งขันในรอบเพลย์ออฟถึง 10 ครั้ง ทั้งกับทีม ออแลนโด้ แมจิก ทีมที่ดราฟต์เขาเข้ามาสู่ลีก และ มีโอกาสทะลุเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศในปี 2009 ด้วย แต่พ่ายให้ เลเกอร์สไป 4-1 เกมส์, ฮุสตัน ร็อคเก็ตส์ ในช่วงเวลา 3 ซีซั่นติด รวมถึง แอตแลนต้า ฮอวก์ส ในปี 2017 และ สำคัญที่สุดคือการย้ายไปร่วม ซูเปอร์ทีม กับ เลเกอร์ส ปี 2013 แต่การเข้าชิงครั้งแรกกับยอดทีมจากแอลเอ กลายเป็นฝันร้ายและตราบาปของเขาโดยสิ้นเชิง

 

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและคุณอาจสนใจ

 

ย้อนรอยเส้นทางของ ดี-โฮ: แสงสว่างที่เจิดจ้า แต่กลับซ่อนด้วยตัวตนด้านมืด

เส้นทางในอาชีพนักบาสของ ดไวท์ อาจไม่ประสบความสำเร็จในรูปแบบทีมมากนัก แต่ถ้าพูดถึงฝีมือส่วนตัวแล้วละก็ เขาโด่งดังและมีชื่อเสียงอย่างมากนับตั้งแต่เข้าสู่ลีกในปี 2004 … ไม่มีใครปฏิเสธว่า อดีตดราฟต์อันดับ 1 คนนี้มีของที่สมราคาท็อปดราฟต์ ทั้งเกมบุกที่ดุดันบริเวณใต้แป้น เกมป้องกันที่ยอดเยี่ยม จนคว้าตำแหน่งผู้เล่นป้องกันยอดเยี่ยม 3 สมัยซ้อน รวมถึงการมีผลงานในสนามโดยรวมที่โดดเด่นกับทุกทีมจนติดออลสตาร์ถึง 8 ครั้ง … และสำคัญที่สุดคือการคว้าแชมป์สแลมดั๊งค์ในปี 2008 ที่เขาลงแข่งขันและเรียกเสียงฮือฮาด้วยชุดซูเปอร์แมน นั่นเอง

 

ตลอด 8 ปี กับ แมจิก ดไวท์ ฮาเวิร์ด รักษามาตรฐานการเล่นได้อย่างยอดเยี่ยม เขาเติบโตจากการทำเฉลี่ย 12.0 แต้ม กับ 10.0 รีบาวน์ ต่อเกมส์ ในปี 2004-2005 มาเป็น 20.6 แต้ม กับ 14.5 รีบาวน์ ต่อเกมส์ ในปี 2011-2012 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของเขาในถิ่นออแลนโด้ แม้ผลงานในสนามจะดูสุดยอดแต่ความวุ่นวายนอกสนามระหว่างเขากับทีม โดยเฉพาะปมปัญหากับ สแตน แวน กันดี้ รวมถึงการแสดงท่าทีขอเทรดแบบออกนอกหน้า ได้กลายเป็นเหมือนระเบิดเวลาสำหรับองค์กร

 

ช่วงเวลานั้นมีดราม่ามากมายเกี่ยวกับ ฮาเวิร์ด ทั้งความอีโก้ และ ความเห็นแก่ตัว รวมถึงการพูดจากลับไปกลับมา … เขาแสดงท่าทีเหมือนจะอยากอยู่กับแมจิกต่อ แต่ก็ให้สัมภาษณ์เรื่องการขอเทรด แถมยังมีการระบุด้วยว่า เจ้าตัวอยากให้ฝ่ายบริหารไล่ แวน กันดี้ ออกจากตำแหน่งโค้ช และนั่นเริ่มทำให้แฟนบาสเริ่มสงสัยถึงตัวตน เพราะภายใต้ความมีสีสันและสนุกสนาน เขากลับเหมือนซ่อนนิสัยแย่ๆเอาไว้อยู่เช่นกัน

 

ปี 2012 และ หมายเลข 12 ใน แอลเอ … ความปรารถนาที่กลายเป็นตราบาป

หลังจากที่ชีวิตของเขาอยู่ในแสงไฟที่เจิดจ้า แต่เต็มไปด้วยดราม่าหม่นๆ มาสักระยะ ในที่สุดโอกาสของการสัมผัสแชมป์ NBA ก็มาถึงอีกครั้ง ภายใต้การเทรดแสนวุ่นวาย มีชื่อทีม 4 ทีม ผู้เล่น 11 คน และสิทธิ์ดราฟต์ 5 สิทธิ์เข้ามาต่อเติมให้รอยยิ้มฟันขาวของเขาได้มาอยู่ในสเตเปิ้ล เซ็นเตอร์ พร้อมกับยาหอมตามแบบฉบับนักกีฬาที่กำลังได้รับความสนใจและโอกาสในพื้นที่แห่งใหม่

 

“ผมไม่อยากเอาตัวเองไม่เทียบชั้นกับตำนานอย่าง จอร์จ มิคาน, วิลท์ แชมเบอร์เลน, คารีม อับดุล จับบาร์ หรือ ชาคีล โอนีล เลย พวกเขาเป็นผู้เล่นที่ยิ่งใหญ่เอามากๆ … ผมแค่อยากก้าวเข้ามาและทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด แต่แน่นอนว่าผมอยากสร้างความยิ่งใหญ่กับที่นี่ อยากสร้างเกียรติประวัติและความสำเร็จภายใต้ชื่อและแนวทางของผมเอง” คำให้สัมภาษณ์ในวันเปิดตัวของเขา กับ เลเกอร์ส ในปี 2012

 

เลเกอร์ส ยอมเสียลหายสิ่งเพื่อการได้ ดไวท์ มายืนวงในไม่พอ พวกเขาต่อยอดเป้าหมายแชมป์เท่านั้นในปีดังกล่าว ด้วยการเทรดเอา สตีฟ แนช การ์ด MVP 2 สมัย เข้ามาร่วมงาน นั่นทำให้ทีมมีซูเปอร์ทีมที่น่ากลัวทั้ง โคบี้ ไบรอันท์, เพา กาซอล, ฮาเวิร์ด และ แนช … สาเหตุสำคัญที่ต้องเสริมกระจุยก็เพราะ 2 ซีซั่นก่อนหน้า พวกเขาตกรอบรองชนะเลิศชิงแชมป์สายแบบไม่ได้ลุ้น จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ขณะเดียวกัน โคบี้ ไบรอันท์ สตาร์ของทีม ก็เริ่มออกอาการหงุดหงิดฝ่ายบริหารที่ไม่จริงจังกับการเสริมทัพเพื่อให้ทีมมีโอกาสกลับไปลุ้นแชมป์ แถมช่วงนั้นก็มีกระแสทางลบภายในมากมายทั้งเรื่องการพลาดตัว คริส พอล การจะเทรดหรือไม่เทรด เพา กาซอล อีกด้วย

 

อย่างไรก็ตามหลังจากการปูพรหมแดงอันงดงาม ทุกอย่างกับพังพินาศ เพราะผลงานของ เลเกอร์ส ชุดนั้นไม่ได้เป็นไปตามอย่างที่หลายคนคาดการณ์ และคนที่ไม่พอใจพร้อมออกอาการชัดเจน คือ ดไวท์ ฮาเวิร์ด

 

อีโก้ ที่แข็งแกร่งพอๆกับฝีมือผู้เล่นภายในทีม

นอกเหนือจากการที่ทีมยังหาโค้ชที่จะเหมาะสมกับความสำเร็จไม่ได้ (ปี 2012-2013 เป็น ไมค์ ดิ แอนโธนี่) อีกเรื่องที่เห็นได้ชัดเจนกับความล้มเหลวไม่เป็นท่า คือ เคมีของทีมที่ไม่มีใครยอมใคร และต่างพร้อมสาดอารมรณ์เชิงลบใส่กันเองอยู่ตลอดเวลา ส่วนปัญหาตัวหลักสลับกันบาดเจ็บก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ

 

พวกเขาได้สตาร์ท 5 ผู้เล่นในฝันร่วมกันคือ กาซอล ฮาเวิร์ด เวิลด์พีช โคบี้ และ แนช รวมกันเพียง 7 เกมส์ ที่สำคัญคือ ทั้งทีมไม่สามารถปรับรูปแบบการเล่นให้เข้ากับสไตล์เกมบุกของ ดิ แอนโธนี่ ได้ เช่นเดียวกับเกมรับที่แย่เหลือเชื่อ กระทั่งหลังออลสตาร์เบรกผลงานของพวกดีขึ้น ผู้เล่นเริ่มสมบูรณ์และทีมเริ่มลงตัว อย่างไรก็ตามเทียบกับศักยภาพของทีมลุ้นแชมป์ พวกเขาหมดโอกาสไปตั้งแต่ช่วงครึ่งซีซั่นด้วยซ้ำไป 

 

เลเกอร์ส จบซีซั่นด้วยด้วยสถิติชนะ 45 แพ้ 37 ผ่านเข้าสู่รอบเพลย์ออฟแบบกระท่อนกระแท่นอย่างมาก และภาพทุกอย่างชัดเจนว่า สปิริตกับทีมเวิร์คพวกกเขาย่ำแย่หลังจากถูกสเปอร์ส กวาดซีรี่ส์ใส่ในรอบแรกแบบที่ไม่มีใครคิดฝันมาก่อน เพราะถึงแม้พวกเขาจะไม่มี โคบี้ ที่บาดเจ็บ แต่ตัวผู้เล่นที่เหลือกับการแพ้ 0-4 ดูจะโหดร้ายเกินไปกับแฟนเลเกอร์ส

 

ถ้าผมจำไม่ผิดบ่อยครั้งที่ ดไวท์ บ่นเรื่องการหวงบอลของ โคบี้ ไบรอันท์ และ การที่เขาได้รับบอลสำหรับการเล่นวงในน้อยเกินไปจากการที่ทีมไม่เน้นการเล่นแบบฮาล์ฟคอร์ตเซ็ต เพราะระบบการเล่นรันแอนด์กันของ ดิ แอนโธนี่ นั่นสะท้อนให้เห็นว่า เขาเชื่อมั่นใจตัวเองแต่กลับไม่เชื่อมั่นในแนวทางของทีม … เขามีอัตตาที่สูงจนเกินไป และ คิดว่าการที่ทุกอย่างไม่เป็นใจเกิดจากบุคคลอื่นทั้งหมด นอกเหนือจากตัวเขา

 

อีโก้ พลังทลายทุกอย่าง และแฟนๆได้เห็นมันอย่างชัดเจนทันที่ฤดูกาลดังกล่าวจบลง ดไวท์ ฮาเวิร์ด เป็นฟรีเอเจ่นต์ และเขาเลือกทิ้งทีมแน่นอน โดยย้ายไปร่วมทัพ ฮุสตัน ร็อตเก็ตส์, เมตตา เวิลด์พีซ ถูกลอยแพ และได้ไปร่วมทีม นิวยอร์ก นิกส์ อยู่พักหนึ่ง … ซีซั่นต่อมา โคบี้ เจ็บทั้งซีซั่น ส่วน แนช ลงเล่นแค่ 15 เกมส์ ทั้งหมดเปรียบเสมือนว่าทีมแตกเป็นเสี่ยงๆ จากคำเดียวคือ อีโก้

 

2019: วันที่ส้มหล่นใส่ ขอใช้เป็นโอกาสแก้มลทิน

แฟนเลเกอร์ส ทราบดีว่าโอกาสที่ 2 ของ ดไวท์ มาแบบส้มหล่นทันทีที่ เดอมาร์คัส คัสซินส์ ที่พวกเขาเซ็นสัญญามีอาการบาดเจ็บชนิดที่หมดโอกาสลงสนามตลอดทั้งฤดูกาล ดังนั้น การดึงอดีตซูเปอร์สตาร์จอมงอแงกลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง จึงเป็นทางเลือกที่ดีและตอบโจทย์มากที่สุด แม้ว่าระยะแรกๆจะมีความกังวลใจ จากเหล่าบรรดาแฟนคลับของทีมอยู่บ้างก็ตาม

 

แต่มีบางสิ่งที่ไม่เหมือนเดิม จาก ดไวท์ ฮาเวิร์ด … ไม่ใช่ผลงาน แต่กลับเป็นทัศนคติบางอย่าง

 

ฮาเวิร์ด เคยรู้สึกไม่พอใจกับการที่ โคบี้ ไบรอันท์ พูดโดยมีท่าทีเหมือนจะสอนให้เข้าใจการเล่นบาสเพื่อประสบความสำเร็จ เขายอมรับว่าเกิดความขัดแย้งมากมายภายในทีม แต่สำหรับ โคบี้ … นี่คือชื่อของผู้ชายที่เขาให้ความเคารพเสมอมา “เราอาจเคยโกรธกัน แต่เราไม่เคยเกลียดกันเลย”

 

ในปี 2015 โคบี้ เคยเปิดเผยกับสื่อว่า “ผมพยายามจะหาเวลาเพื่อพูดคุยและถ่ายทอดมุมมองต่างๆ รวมถึงสิ่งที่นักกีฬาจะต้องมีหากเป้าหมายคือการคว้าแชมป์ แต่ ฮาเวิร์ด ปฏิเสธ ที่จะทำในสิ่งเหล่านั้น”

 

“ในฤดูกาลนั้นมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่น่าพึงพอใจเกิดขึ้น ผมโฟกัสที่จะสร้างตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด ผมอาจจะยังเด็กเกินไปในที่แห่งนั้น และ ณ เวลานั้น ตัวของผมเต็มไปด้วยอีโก้ ซึ่งทำให้การสื่อสารระหว่างผมกับโคบี้ เต็มไปด้วยความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ผมเสียใจที่การกลับมาครั้งนี้ไม่ได้มีโอกาสเคลียร์ใจกับเขา แต่สิ่งหนึ่งที่ผมทำได้คือการให้อภัยตัวเอง และ วางอัตตาลง นั่นคือสิ่งที่ผมจะทำให้ โคบี้ รับรู้ได้ดีที่สุด”

 

“ผมอาจจะไม่ได้มีร่างกายหรือการเล่นที่ดีเหมือนก่อน แต่ผมค้นพบความสุขบางอย่างในฐานะเชียร์ลีดเดอร์ ต่อให้เกมนั้นผมจะมีโอกาสลงเล่นมากหรือน้อยมันคือความสุข สำหรับการกลับมาที่แอลเอครั้งนี้ เหมือนเป็นพรที่แสนวิเศษในชีวิตผมเลย” ดไวท์ ซึ่งใส่รองเท้า โคบี้ ลงแข่งขันสแลมดั๊งค์ ปี 2020 กล่าว

 

ความเป็นเสาหลักของ ดไวท์ เปลี่ยนบทบาทไป เขาอาจไม่ใช่ผู้เล่นที่ทำเฉลี่ย 20 แต้ม 10 รีบาวน์ ต่อเกมส์ แต่สิ่งที่เขาต้นพบคือความสุขในทุกวินาทีที่ลงเล่น … ล็อคเกอร์รูมของเขาต่างออกไปจากเมื่อ 7 ปีที่แล้ว และเขาต้องการคว้าแชมป์ครั้งนี้ให้ได้ เพื่อรักษาสัจจะ สัจจะที่สำคัญอย่างมากสำคัญตัวเขา

 

 

3 คำสัญญา จากซูเปอร์แมน ที่เป็นบทพิสูจน์ว่าเขาเติบโตจากวันวานแล้ว

ความท้าทายหนึ่งของ ฮาเวิร์ด คือ การรักษาคำพูด เพราะเขาเป็นนักบาสเกตบอลคนหนึ่งที่ช่างฝอยพอตัว และถึงแม้เราจะได้สัมผัสกับมุมลบๆ ของเขาในวัยเด็ก แต่ก็มีอีกมุมหนึ่งที่แสดงถึงความมุ่งมั่นและถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการพิสูจน์ตัวเอง เพื่อชำระล้างตราบาปที่เคยเกิดขึ้น

 

“ผมจะไม่หยุดสู้ ผมจะเดินหน้าพัฒนาศักยภาพของตัวเองต่อไป แม้ฤดูกาลนี้จะจบไปแล้ว แต่ผมยังคงเป็นแชมป์” คำกล่าวปี 2015 หลังจาก ร็อคเก็ตส์ ตกรอบ … โดยโอกาสในการเป็นแชมป์ของเขามาถึงแล้ว และที่สำคัญจะเป็นการบินกลับมาคว้าแชมป์ที่ ออแลนโด้ เมืองที่เขาแจ้งเกิดในวงการที่แรกอีกด้วย

 

“การคว้าแชมป์สายตะวันตกมีความหมายกับลูกชายของผมมาก เขาจะไม่ลืมช่วงเวลาที่แสนวิเศษนี้และตัวผมเองก็จะไม่ลืมเช่นกัน หลังจากที่เขาเคยถามผมว่าทำไมเราถึงมีปีที่เลวร้ายและทำไมชีวิตถึงยากขนาดนี้”

ฮาเวิร์ดกล่าวถึง เดวิด ลูกชายของเขาที่สูญเสียคุณแม่ไปเมื่อเดือนมีนาคม และ การที่เขาเข้าชิงได้สร้างความสุข ดังนั้นแล้วในฐานะพ่อเขาจะต้องอยากคว้าแชมป์เพื่อมอบเป็นของขวัญแก่ลูกชายอย่างแน่นอน

 

“ไม่กี่คนหรอกที่จะได้รับโอกาสครั้งที่ 2 … มันยอดเยี่ยมมากสำหรับผมและครั้งนี้ผมจะทำในสิ่งที่ต่างออกไปจากเมื่อ 6 ปีที่แล้ว มีหลายสิ่งเกิดขึ้นและเปลี่ยนไป” นี่เป็นเหมือนสัญญาที่มอบให้กับแฟนๆว่าเขาได้เปลี่ยนไปแล้วและไม่มีมุมมองหรือทัศนคติเดิมๆ

 

รอดูครับว่า พ่อยิ้มฟันขาวจะรักษาสัญญาได้ไหม … แต่ทุกคนคงเห็นตรงกันแล้วว่า หมอนี่วางอัตตาลงแล้วจริงๆ เขาเติบโตในฐานะผู้นำที่ไม่จำเป็นต้องโดดเด่นที่สุดของทีม


stadium

author

นวพล เกียรติไพศาล

เบนซ์ชอบกินข้าวมันไก่แต่กลัวอ้วน รักแมวแต่ชอบโดนข่วน ติดตามกีฬาแต่ไม่ดูผล