21 เมษายน 2563
ถ้าคัดบอลโลกรอบ 12ทีมสุดท้ายจะเล่นในสนามกลาง?
#คุยเฟื่องเรื่องบอลไทย
เร็วๆมานี้เองมีข่าวจากสื่อหลายสำนักต่างพูดถึงแนวความคิดของประธานฟีฟ่าซึ่งเคยกล่าวไว้ว่าการฟอร์แมตรูปแบบการแข่งขันในรายการสำคัญๆของฟีฟ่าเป็นสิ่งที่ควรทำที่สุดหลังผ่านวิกฤติโควิด-19ไปแล้ว เพราะอย่างที่ทราบสภาพหลังสงครามทัวร์นาเมนต์ต่างๆก็คงจะยังกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมได้ไม่ค่อยจะสมบูรณ์เท่าไหร่นัก (บางทีอาจต้องใช้เวลาในการเรียกคืนความปกติสุข และบางทีก็อาจยังไม่พร้อมจัดการแข่งขัน)
โอลิมปิกที่โตเกียว, โคปา อเมริกาที่อาร์เจนตินาและโคลัมเบียร่วมกันเป็นเจ้าภาพ และคอนคาเคฟ โกลด์ คัพ คือสามรายการใหญ่ที่มีคิวรอจ่อจะเตะกันในช่วงกลางปีหน้าและในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน (ยังไม่นับรายการชิงแชมป์สโมสรโลกอย่างฟีฟ่า คลับ เวิร์ลคัพซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการถกหาวัน-เวลาที่เหมาะสม) เห็นได้ชัดว่าโปรแกรมการแข่งขันระดับนานาชาติในปีหน้าดูจะแน่นเป็นปลากระป๋อง และเผลอๆอาจกำลังกลายเป็น “ทุกขลาภ” สำหรับชาติที่ได้สิทธิ์ผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้าย
ที่ผมบอกว่ามันอาจเป็นทุกขลาภเพราะบางทีนี่อาจเป็นตารางการแข่งขันที่แย่มากและบางชาติอาจกำลังตกที่นั่งลำบากที่ต้องเลือกว่ารายการไหนควรที่จะต้องคาดหวังและรายการไหนควรทำใจและเป็นเพียงเวทีเพื่อหาประสบการ์ณ
ตัวอย่างมีให้เห็นชัดเจนในเคสของออสเตรเลียที่เป็นหนึ่งในทีมที่ได้รับเชิญให้ไปเล่นโคปา อเมริกาและพวกเขาเองก็ได้ตั๋วไปโอลิมปิกด้วยเช่นกัน ในขณะที่อาร์เจนตินาเองก็ได้เล่นทั้งโคปา อเมริกาในฐานะเจ้าภาพแถมยังได้ตั๋วไปโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวอีกด้วยต่างหาก และเหตุการ์ณในทำนองคล้ายกันนี้ก็อาจเกิดขึ้นอีกกับทีมจากโซนคอนคาเคฟหากมีทีมที่ผ่านเข้าไปเล่นได้ทั้งสองรายการ
ถึงแม้จะมีคนพูดแย้งว่ารายการโคปา อเมริกากับโอลิมปิกที่โตเกียวไม่ได้จัดในเวลาที่ทับกันแต่มันก็อยู่ในช่วงที่ทิ้งระยะห่างเพียงแค่สัปดาห์เศษเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นปัญหาด้านความพร้อมของตัวนักเตะ, อาการล้าจากการแข่งขัน และไหนจะอาการบาดเจ็บตกค้าง
ยิ่งพอพูดถึงอีกหนึ่งรายการที่สำคัญอย่างคัดบอลโลกโซนเอเซียของพวกเราโดยเฉพาะรอบ 12 ทีมสุดท้ายที่จะต้องเตะกันตลอดปี 2021 ค่อนข้างแน่ แถมด้วยระบบเหย้า-เยือนที่แต่ละทีมต้องลงเล่นในจำนวนนัดที่มากถึง 10 นัดนั่นหมายความว่าทีมจากโซนเอเชียแต่ละทีมอาจจำเป็นต้อง “ลุ้นอย่างหนัก” ซึ่งไม่ใช่การลุ้นผลการแข่งขันแต่ขอให้บรรดาตัวเก่งที่ต้องใช้งานอย่าพึ่งเจ็บหรือขอถอนตัวไปเสียก่อนต่างหาก
มีการเปิดเผยจากแหล่งข่าวหลายสำนักว่าฟีฟ่าเองกำลังมองหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับรายการคัดบอลโลกที่มีอันต้องถูกเลื่อนออกไป และในโซนเอเชียนั้นบางทีหวยก็อาจตกไปที่การเล่นรอบ 12 ทีมสุดท้ายในสนามกลาง(และเพื่อความยุติธรรมอาจมีการจัดการแข่งขันในประเทศที่ไม่ผ่านเข้ารอบ 12 ทีมสุดท้ายหรืออาจเป็นกาตาร์เองก็ได้เพราะพวกเขาได้สิทธิ์ไปบอลโลกอยู่แล้วในฐานะเจ้าภาพ)
ข้อดีของการเล่นในสนามเป็นกลางคือการย่นระยะเวลาการแข่งขันลงมาแถมด้านการเตรียมความพร้อมก็สามารถทำกันได้ล่วงหน้า(ทั้งเจ้าของสถานที่และ 12 ชาติที่ผ่านเข้ารอบ) เพราะรูปแบบการแข่งขันแบบนี้จะไม่ลากยาวตามปฎิทินฟีฟ่า แถมยังตอบโจทย์สำหรับชาติที่ได้รับผลกระทบจากการต้องเล่นหลายรายการในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน
“โห...นี่มันเรื่องใหญ่เลยนะ!” ส่วนตัวเข้าใจในสิ่งที่ทั้งเอเอฟซีและฟีฟ่ากำลังกังวลกันอยู่ เพราะแน่นอนว่ารายการชิงแชมป์ระดับทวีปและโอลิมปิกต่างก็เป็นรายการที่ยิ่งใหญ่และคงไม่ดีแน่หากผู้ชมจะได้เห็นทีมเฉพาะกิจลงแข่งในแบบที่รู้ๆกันว่ามันไม่ใช่ทีมที่ดีที่สุด และก็คงแย่แบบคูณสองถ้ามองเรื่อง “ผลกำไร-ขาดทุน” ที่แน่นอนว่าบรรดาสปอนเซอร์, เจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด, บริษัทโฆษณาและชาติเจ้าภาพจะไม่ได้กันตามเป้า(คนดูคงน้อยลงไปเยอะถ้าพวกเขารู้ว่าจะไม่ได้อรรถรสการรับชมแบบขีดสุดเพราะนี่ไม่ใช่ทีมชาติในแบบที่พวกเขาคิด)
ผมคิดว่ามันยังเป็นเรื่องที่ยากในทางปฎิบัติ(ที่จะให้โปรแกรมในรอบ12ทีมสุดท้ายเล่นในสนามกลาง) เพราะอย่าลืมว่ามันยังมีเรื่องของสัญญาผูกมัดต่างๆที่ทางเอเอฟซีได้ทำไว้กับบรรดาสปอนเซอร์และผู้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ซึ่งมีหรือที่พวกเขาจะยอมจ่ายในจำนวนที่เคยตกลงกันไว้ในเมื่อได้ของแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น
อีกอย่างหากจะเล่นกันที่สนามกลาง..ที่ไหนล่ะถึงจะเหมาะ? กาตาร์นะหรอ? บางทีชาติจากเอเชียตะวันออก, อาเซียนและอาหรับ(บางทีม)ก็อาจไม่ยินดีกับการเดินทางไปเล่นที่นั่น เพราะมันยังมีเรื่องการเมือง, ความได้เปรียบ-เสียเปรียบด้านสภาพภูมิอากาศ และการปรับตัวกับไทม์โซนที่ต่างกันเป็นอุปสรรค์
“ก็ว่ากันไป..” แต่ก่อนที่ไทยจะเอาเรื่องนี้มาคิดให้ปวดหัว เราคงต้องมองแค่เรื่องใกล้ตัวของเราเสียก่อนว่าควรจะเตรียมทีมอย่างไรเมื่อฟุตบอลเริ่มกลับมาเตะกันใหม่? และมีอะไรบ้างที่เราพอจะทำกันได้เพื่อให้ไทยมีศักยภาพพอที่จะเข้ารอบ 12 ทีมสุดท้าย?
จริงมั้ยครับ..ท่านผู้อ่าน?
TAG ที่เกี่ยวข้อง