stadium

พิสตันส์ 2004: Moneyball ของ NBA ที่ไม่พึ่งสตาร์ดัง

28 กันยายน 2563

ชิคาร์โก้ บูลส์, แอลเอ เลเกอร์ส หรือ บอสตัน เซลติกส์ คงเป็น 3 ทีมแห่งวงการบาสเกตบอลเอ็นบีเอที่ประสบความสำเร็จ และ เป็นชื่อที่คุ้นหูสำหรับคนไทยในเรื่องของความยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกับทีมยุคใหม่อย่าง โกลเด้น สเตท วอริเออร์ส, คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส, ไมอามี่ ฮีต หรือ ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส ที่แฟนบาสเกตบอล NBA เจเนอเรชั่นหลังๆ จะคุ้นเคยกับทีมเหล่านี้ เพราะนอกจากจะสลับหน้ากันขึ้นมาประสบความสำเร็จแล้ว พวกเขายังมีผู้เล่นระดับซูเปอร์สตาร์แวะเวียนไปสร้างกระแส และ ความหวือหวาให้เสมอ

 

โดยเฉพาะความสำเร็จระยะหลังมักจะมาจากความพยายามสร้าง Superteam ที่จะต้องมีผู้เล่นระดับท็อปมารวมพลังในการคว้าแชมป์ ซึ่งเราจะเห็นทั้งบิ๊กทรี และ บิ๊กโฟร์ เกิดขึ้นมากมาย อีกทั้งทีมที่จะคว้าแชมป์จะต้องมีองค์ประกอบของมิติเกมบุกที่ร้อนแรง มีตัว Go to Guy เจ๋งๆ ไว้เล่นลูกตัดสินเกมส์ในจังหวำสำคัญรวมถึง มีผู้เล่นอย่างน้อย 2-3 คนในทีมที่ผู้เล่นทำแต้มเฉลี่ย อยู่ใน 30 อันดับแรกของลีก ไม่เช่นนั้น ก็คงไม่สามารถปราบคู่แข่งได้อย่างราบคาบ ซึ่งนั่นมักจะส่งผลต่อเพดานค่าจ้างที่กลายเป็นเทรนด์ใหม่ไปแล้วว่าหากอยากให้ทีมประสบความสำเร็จ องค์กรต้องกล้าที่จะจ่ายเกินเพดานค่าจ้างเพื่อสร้างทีมระดับแชมป์

 

อย่างไรก็ตาม มีทีมหนึ่งในลีกที่สร้างปรากฏการณ์ระดับสะท้านวงการ NBA ด้วยการตอกกลับทุกกระแส … พวกเขาปฏิเสธการสร้างซูเปอร์ทีม ไม่เอาด้วยกับแนวทางการต้องยอมจ่ายแพงเพื่อแลกความสำเร็จ และ ไม่เห็นด้วยกับการที่ต้องหวังพึ่งเพียงแต่เกมบุกอันดุเดือดเพื่อคว้าแชมป์ เพราะพวกเขาทำไม่ถึง 90 แต้มต่อเกมส์ ด้วยซ้ำไป ซึ่งทีมนั้นคือ ดีทรอยต์ พิสตันส์ ปี 2003-2004 … 

 

อ่านเรื่อง: ดไวท์ ฮาเวิร์ด: ความสุขที่มาพร้อมโอกาสจากการลดอัตตา 

 

อ่านเรื่อง: Sabermetrics l หลักคิดทางสถิติที่สร้างความสำเร็จให้ทีม จากภาพยนตร์ Moneyball

 

จากไม้ประดับ สู่การสร้างทีมระดับหัวแถวของลีก 

พิสตันส์ ที่แฟนรุ่นใหม่อาจมองว่าเป็นแค่ทีมไม้ประดับและห่างไกลจากกลุ่มลุ้นแชมป์มาตลอด 5 ปีหลัง ซึ่งพวกเขาเข้าเพลย์ออฟเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น แถมยังตกรอบแรกแบบถูกกวาดซีรี่ย์ใส่ (แพ้ คาวาเลียร์ส 0-4 เกมส์ ปี 2016 และ แพ้ บัคส์ 0-4 เกมส์ ในปี 2019) อีกด้วย อย่างไรก็ตามเราอยากให้คุณลืมเรื่องพวกนี้และกลับไปมองสิ่งที่พวกเขาเคยทำได้ในปี 2004 ทั้งความสำเร็จ แนวทางการทำทีม รวมถึงปรัชญา และ สปิริตที่แน่นแฟ้นภายในองค์กร แบบที่ทีมบาสเกตบอลยุคนี้หาได้ยากเหลือเกิน 

 

ถ้าหากย้อนกลับไปอีกสักนิด … แท้จริงแล้ว พิสตันส์ คือยอดทีมของสายตะวันออกระหว่างปี 2000 – 2008 เพราะหลังจากที่พวกเขาสร้างทีมใหม่ด้วยการเทรด แกรนท์ ฮิลล์ สตาร์คนดังที่เจ็บบ่อย และเริ่มเติมเต็มทีม ด้วยการได้ตัว เบน วอลเลซ, ชัคกี้ แอคกิ้นส์, ริป แฮลมินตัน, ชอนซี่ย์ บิลอัพส์ และ ดราฟต์ เทย์ชอน พรินซ์ เข้ามาสู่ทีม บวกกับการปรับโค้ชจาก จอร์จ เออร์วิน มาใช้บริการของ ริก คาร์ไลส์ล ก่อนจะมาลงตัวสุดๆกับ แลรี่ บราวน์ และต่อท้ายด้วย ฟลิปป์ ซอนเดอร์ส ซึ่งมารับช่วงต่อระหว่างปี 2006 - 2008

 

พิสตันส์ เข้าเพลย์ออฟ  7 ปี ติดต่อกัน นับตั้งแต่การเริ่มสร้างทีมใหม่ ซึ่งพวกเขาเก็บชัยชนะได้เกิน 50 เกมในช่วงฤดูกาลปกติ แถมยังสามารถทะลุเข้าถึงรอบชิงแชมป์สายตะวันออก 6 ปีติดต่อกัน (ปี 2003-2008) ทั้งหมดคือผลงานที่สะท้อนความแข็งแกร่ง ที่ทำให้แฟนทีมอาจนึกย้อนกลับไปถึงยุคไพรม์ไทม์ที่เราจดจำกันในฐานะ “ยุคแบดบอย” ที่เคยคว้าแชมป์ 2 สมัยติดต่อกันช่วงปี 1989 และ 1990 

 

โดยหนึ่งในส่วนสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น คงหนีไม่พ้นตำแหน่งที่มีอำนาจตัดสินใจในการสร้างทีมผ่านการเลือกโค้ชและผู้เล่น

 

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและคุณอาจสนใจ

 

โจ ดูมาร์ส ตำนานที่ก้าวมาสร้างตำนานอีกรอบ

อย่างที่กล่าวไปว่าทีมบริหารของพิสตันส์ทำการบ้านกันอย่างหนัก พวกเขาเฟ้นหาทีมที่ลงตัวตั้งแต่ผู้เล่นและโค้ชที่ใช่ ภายใต้งบประมาณจำกัดจำเขี่ย ไหนจะชื่อเสียงของทีมที่ไม่อาจดึงดูดสตาร์ดังสู้กับทีมอื่นๆ ได้ในช่วงเวลานั้น แต่ภารกิจต่อเติมจิ๊กซอว์สู่การคว้าแชมป์ยังคงเป็นเป้าหมายหลักที่พวกเขาไม่อาจละทิ้ง ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นจากความกล้าหาญ และ ชื่อหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อความสำเร็จคือ โจ ดูมาร์ส

 

อดีตผู้ชู้ตติ้งการ์ดกึ่งพอยต์การ์ด ซึ่งสวมหมายเลข 4 ประกาศรีไทร์จากบทบาทผู้เล่นในปี 1999 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานฝ่ายปฏิบัติการ (President of Basketball Operation) ในปี 2000 ภารกิจลำดับต้นๆของเขาบ้ามาก เมื่อเขาตัดสินใจเทรด แกรนท์ ฮิลล์ สตาร์เสาหลักขวัญใจแฟนบาสออกจากทีม เพื่อแลกกับ 2 ผู้เล่นอย่าง เบน วอลเลซ (ตัวอันดราฟต์) และ ชัคกี้ แอคกิ้นส์ มาจาก ออแลนโด้ แมจิก และนั่นคือความคุ้มค่าเพราะในเวลา 3 ฤดูกาลต่อจากนั้น ฮิลส์ ลงสนามได้แค่ 47 เกมส์ เพราะโดนอาการบาดเจ็บเล่นงาน ส่วนพิสตันส์ กลายเป็นทีมหัวแถวซึ่งส่วนสำคัญคือ “บิ๊กเบน” … เบน วอลเลซ นั่นเอง

 

นอกจากการปรับเปลี่ยนผู้เล่นแล้ว ดูมาร์ส ยังรื้อทีมโค้ชของพิสตันส์ด้วย เขาตัดสินใจเอา จอร์จ เออร์วิน และบรรดาสตาฟฟ์ออกจากทีม และ ดึง ริก คาร์ไลส์ ซึ่งขณะนั้นทำหน้าที่ผู้ช่วยโค้ชของอินเดียน่า เพเซอร์สรวมถึงการนำเอา แลรี่ บราวน์ มาแทนที่ คาร์ไลส์ ซึ่งทำทีมได้ดีแต่ยังไม่พอสู่การคว้าแชมป์ เข้ามาสานต่อซึ่งเมื่อมองในภาพรวม ทั้ง คาร์ไลส์ และ บราวน์ คือโค้ชฝีมือดี ที่ทำทีมได้อย่างมีทิศทางและประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าการทำงานของ ดูมาร์ส อาจเกิดความกระท่อนกระแท่นและกระแสวิจารณ์อยู่บ้าง แต่ผลลัพธ์ได้ตอบทุกอย่างกับความตั้งใจและเจตนารมณ์ที่ยอดเยี่ยม โดยสิ่งที่น่าชื่นชมมากที่สุดคือการที่เขาคิดว่าสิ่งใดดีต่อเป้าหมายเขาจะลงมือทำทันที เพียงแต่คำว่าทันทีนั้นไม่ใช่ไร้แบบแผน แต่มันคือการทำตาม Roadmap ที่วางไว้ ภายใต้ความสามารถในการยืดหยุ่นตามสถานการณ์เฉพาะหน้า และไม่แปลกเลยที่เขาจะได้รับตำแหน่ง GM ยอดเยี่ยมในปี 2003 หลังจากเสกให้หมูน้อยพิสตันส์กลายเป็นทีมชนะระดับ 50 เกมส์ ได้ 2 ปีติดต่อกัน คือปี 2002 และ 2003 (ซึ่งต่อมาพวกเขายืดสถิติชนะอย่างน้อย 50 เกมส์  ได้ยาวนานถึง 7 ฤดูกาลเลยทีเดียว) อย่างไรก็ตามทีมชุดดังกล่าวยังไม่ดีต่อสำหรับการคว้าแชมป์ และ ทีมต้องลงมือทำงานหนักกันอีกครั้ง

 

แต่อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือ โค้ช และ ผู้เล่น ที่ถูกหลอมรวมด้วยระยะเวลา ความผูกพัน สปิริต และแน่นอนระบบการเล่นอันแข็งแกร่งที่ทีมเริ่มสร้างกันมาตั้งแต่ปี 2000

 

 

2003 – 2004 เริ่มต้นด้วยดราฟต์ที่ผิดพลาด 

อย่างที่กล่าวไปว่าการทำงานของทีมฝ่ายบริหารไม่ได้เพอร์เฟคซะโดยสิ้นเชิง ในปี 2003 พวกเขาใช้สิทธิ์ดราฟต์อันดับ 2 เลือกผู้เล่นที่ทีแรกทุกคนต่างคาดหวังว่าจะกลายเป็นกุญแจสำคัญในการพาทีมคว้าแชมป์ เพราะปีดังกล่าวมีเด็กหนุ่มที่ เลบรอน เจมส์, คาร์เมโล่ แอนโธนี่, คริส บอช, ดีเวย์น เหว็ด และ คริส เคแมน ซึ่งยังไม่รวมถึงผู้เล่นเกรดรองลงมาอย่าง เคิร์ก ไฮน์ริช, ทีเจ ฟอร์ด, นิค คอลลิสัน, เดวิด เวสต์, โม วิลเลี่ยมส์ หรือแม้กระทั่ง คายล์ คอร์เวอร์

 

โดยปัญหาที่ทีมประสบมาตลอด 2 ฤดูกาลที่ชนะ 50 เกมส์ แต่ยังไปไม่ถึงแชมป์ คือ ผู้เล่นวงในที่สูงใหญ่ เพราะ เบน วอลเลซ นั้นมีรูปร่างที่เล็กเกินไป ทำให้ต้านทานทีมที่มีผู้เล่นวงในร่างใหญ่หลายคนได้ยาก นั่นทำให้พวกเขาตัดสินใจดราฟต์ ดาร์โก มิลิซิช เซ็นเตอร์ชาวเซอร์เบียในลำดับที่ 2 ต่อจาก เลบรอน เจมส์

 

ส่วนนักเก็ตส์ ได้ แอนโธนี่ ในอันดับ 3, แร็ปเตอร์ส และ ฮีต ได้ตัว บอช และ เหว็ด ในอันดับที่ 4 และ 5 

 

แต่ปรากฏว่า มิลิซิช กลับไม่สามารถโชว์ผลงานได้ตามที่ทีมคาดหวัง ปีแรกในฐานะรุกกี้ เขาลงเล่นเฉลี่ย 4.7 นาทีต่อเกมส์ ทำเฉลี่ยแค่ 1.4 แต้ม กับอีก 1.3 รีบาวน์

 

อย่างไรก็ตามแกนหลักของ พิสตันส์ ยังคงประคองทีมให้อยู่ในระดับมาตรฐาน พวกเขายังคงแข็งแกร่งในสายตะวันออก ด้วยผู้เล่นอย่าง ชอนซี่ย์ บิลอัพส์, ริชาร์ด แฮมิลตัน, เทย์ชอน พรินซ์ และ เบน วอลเลซ แต่นั่นคือสิ่งเดิมๆที่พวกเขามีและเคยแพ้ให้กับ นิวเจอร์ซี่ย์ เน็ตส์ ในรอบชิงแชมป์สายปี 2003 แบบหมดรูป   0-4 เกมส์ … แปลว่า สถานะที่พวกเขามียังไม่ดีพอต่อการทะลุเข้าชิงแชมป์ NBA ด้วยซ้ำไป

 

เทรด 3 ทีม … กลยุทธ์สุดท้ายที่ทรงพลังที่สุด

การเดินหมากสู่แชมป์ครั้งสำคัญเริ่มต้นช่วงโค้งสุดท้ายของการเทรดผู้เล่น และ เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์หลังจากผ่านพ้นช่วงออลสตาร์เกมส์ได้ไม่นานนัก … พิสตันส์ ทิ้งไพ่ตายสำคัญเพื่อปรับทีมสำหรับการลุ้นแชมป์ พวกเขาร่วมวงในการเทรด 3 ทีม โดยดึงเอาแอตแลนต้า ฮอว์กส และ บอสตัน เซลติกส์ เข้ามาเอี่ยว

 

บทสรุปครั้งนั้นทำให้ พิสตันส์ ได้ผู้เล่นวงในที่ชื่อ ราชีด วอลเลซ เข้ามาสู่ทีม (จริงๆได้ ไมค์ เจมส์ มาอีกคน) และ เสียผู้เล่นไปทั้งหมด 4 คน คือ เซลิโก้ รีบราก้า, บ็อบ ชูร่า, ลินซี่ย์ ฮันเตอร์ และ ชัคกี้ แอคกิ้นส์ กับดราฟต์รอบแรกอีก 1 สิทธิ์ … ถ้าย้อนเวลากลับไป ณ ตอนนั้น แฟนบาสหลายคน โดยเฉพาะแฟนพิสตันส์ คงงงกับการเทรดครั้งนี้ซึ่งไปเอาผู้เล่นที่ฝีมือดี แต่กลับทำตัวมีปัญหามากที่สุดของลีกคนหนึ่งเข้ามา อีกทั้งวอลเลซก็กำลังอยู่ในช่วงขาลงแล้วด้วย

 

อย่างไรก็ตามการเข้ามาของ ราชีด กลับนำสิ่งดีๆที่คาดไม่ถึงเข้ามาสู่ทีม … ถึงแม้เกมส์บุกของเขาจะไม่ยอดเยี่ยมเช่นสมัยหนุ่มๆ แต่เขาได้นำความบ้าและสีสันเข้ามาสู่ทีม ที่ดูจะมีแต่ผู้เล่นขาวสะอาดอยู่ร่วมกันเต็มไปหมด รวมถึงในฐานะรุ่นใหญ่ของทีม วอลเลซ เปรียบเสมือนผู้นำในล็อคเกอร์รูม และ หลายครั้งเขาทำหน้าที่กระตุ้นทีมได้ดีกว่า ชอนซี่ย์ บิลอัพส์ ซึ่งมักจะเป็นคนที่ค่อนข้างพูดน้อยไปสักหน่อย

 

ชวนวิเคราะห์ : อะไรคือจุดเด่นของพิสตันส์ ปี 2004 ?

หลังจากเล่าย้อนไปถึงองค์ประกอบต่างๆ และ การสร้างทีมของ ดีดรอยต์ พิสตันส์ มาอย่างยืดยาว ถึงเวลาในการชำแหละว่า อะไรที่ทำให้ พิสตันส์ 2004 ไปได้ถึงตำแหน่งแชมป์ และ ทำไมถึงเป็นการคว้าแชมป์ที่ดูน่าสะพรึงมากที่สุดครั้งหนึ่งของวงการบาสเกตบอลเอ็นบีเอสหรัฐฯ

 

เหตุผลคือพวกเขาไม่มีสตาร์ดัง … เพราะหลังจากเทรด ฮิลส์ ทิ้ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการได้ตัว เบน วอลเลซ พวกเขาก็ยังเทรด เจอร์รี่ สแต๊คเฮ้าส์ ให้ วอร์ชิงตัน วิซาร์ด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการได้ตัว ริชาร์ด แฮมิลตัน เข้าสู่ทีมในปี 2002, ชอนซี่ย์ บิลอัพส์ ซึ่งมี 6 ฤดูกาลที่เฉยๆในลีก และ เทย์ชอน พรินซ์ ที่ยังเด็กและยังไม่ได้แสดงฝีมือเด่นด้านใดเลยด้วยซ้ำ แต่ต้องยอมรับว่า ระบบที่ยอดเยี่ยมทำให้พวกเขาเติบโตและกลายเป็นทีมที่แข็งแกร่ง หลังจากถูกเอาจุดเด่นมาเชื่อมและลงเล่นแบบส่งเสริมซึ่งกันและกัน

 

อย่างไรก็ตามนั่นทำให้พวกเขาค้นพบเคมีที่ตรงกัน ผ่านการสร้างทีมมาตั้งแต่ยุค ริค คาร์ไลส์ ด้วยสไตล์การเล่นแบบดึงเกมช้า เน้นเกมส์ป้องกันเป็นหลัก บีบให้คู่แข่งเสียเทิร์นโอเวอร์ส และ โจมตีด้วยรูปแบบเดิมๆ แต่กลับมีประสิทธิภาพ ด้วยการรันเกมส์ของ บิลอัพส์ และ การวิ่งแบบไม่มีทางหมดแรงของ แฮมิลตัน สถิติฟ้องให้เห็นเด่นชัดว่า พวกเขาเป็นทีมที่ทำแต้มเฉลี่ยอยู่ระดับล่างของลีกตลอดช่วงเวลานั้น แต่เพราะเกมป้องกันที่เสียแต้มน้อยที่สุดไม่เคยหลุดเกินอันดับ 3 ส่งผลให้พวกเขามีผลงานที่สม่ำเสมอ แพ้ยาก และ มักสร้างความหงุดหงิดใจให้กับคู่แข่งที่ต้องลงสนามเจอกับพวกเขา

 

และหลังจากการได้ตัว ราชีด เข้ามาทำให้เขามีผู้เล่นประเภทเล่นแบบ 1 ต่อ 1 เพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งทางเลือก อีกทั้ง ราชีด ยังเป็นผู้เล่นที่แทรชทอล์กเก่ง และช่วยเล่นเกมรับได้อย่างโดดเด่น นั่นทำให้เกมป้องกันของพวกเขายิ่งน่ารำคาญ เพราะความหนาแน่นที่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเลยก็ว่าได้

 

สถิติพวกนี้อาจทำให้คุณงง เพราะ แฮมิลตัน คือผู้เล่นท็อปสกอร์ของทีมในปี 2004 ทำ 17.6 แต้มต่อเกมส์  ทั้งทีมทำเฉลี่ยเกมส์ละ 90.1 แต้ม แต่นั่นดีพอที่จะทำให้พวกเขามีสถิติ ชนะ 54 แพ้ 28 เกมส์ ในปี 2004 เพราะ พวกเขาเสียเฉลี่ยแค่ 84.3 แต้มต่อเกมส์ (น้อยสุดของลีก) ปล่อยคู่แข่งยิง 3 คะแนนลง 30.3% (น้อยที่สุดของลีก) ปล่อยคู่แข่งชู้ตลงเพียง 41.3% (ต่ำสุดอันดับ 3 ของลีก) และ ปล่อยคู่แข่งรีบาวน์ได้ 40.6 ครั้ง 

(น้อยที่สุดอันดับ 5 ของลีก)

 

และถ้าหากไม่นับ ราชีด วอลเลซ ที่รับค่าจ้างจากที่เก่ามา 17 ล้านเหรียญต่อปี ผู้เล่นที่รับสัญญาแพงที่สุด จากพิสตันส์ คือ แฮมิลตัน ที่มีค่าจ้างในปีดังกล่าวอยู่ที่ 6.5 ล้านเหรียญต่อปีเท่านั้น 

 

… นี่มันทีม มันนี่บอล แห่งวงการบาสเกตบอล ชัดๆ

 

ซูเปอร์ทีม “เลเกอร์ส” เหยื่อที่ทำให้ พิสตันส์ ชุด 2004 เหมือนทีมปาฏิหาริย์

หลังจากทำผลงานในฤดูกาลปกติได้อย่างยอดเยี่ยมตั้งแต่ปี 2002 และ 2003 แต่กลับไปไม่ถึงฝั่งฝันในรอบเพลย์ออฟ ในที่สุดเวลาของพิสตันส์ ก็มาถึง พวกเขาปราบ มิลวอร์กกี้ บัคส์ ในรอบแรก ต่อด้วยล้างแค้น นิวเจอร์ซี่ย์ เน็ตส์ และ คว้าแชมป์สายหลังจากโค่น อินเดียน่า เพเซอร์ส ทีมที่มีสถิติดีสุดของฝั่งตะวันออกลง อย่างไรก็ตามคู่แข่งที่พวกเขาพบในรอบชิงคือ แอลเอ เลเกอร์ส ที่ปีนั้นเหมือนโกงมาแข่ง เพราะมีซูเปอร์ทีม ที่ประกอบด้วยผู้เล่นอย่าง โคบี้ ไบรอันท์, ชาคีล โอนีล, แกรี่ เพย์ตัน และ คาร์ล มาโลน รวมถึงอะไหล่ดีๆทั้ง เดเร็ค ฟิชเชอร์, ดีเวน จอร์จ, ริก ฟ็อกซ์ และ สตานิสลาฟ เมดเวเดนโก้ รวมถึงโค้ชอย่าง ฟิล แจ็คสัน

 

แต่สิ่งที่ออกมาคือ พิสตันส์ ปราบ เลเกอร์ส ลงอย่างง่ายดาย 4-1 เกมส์ ทำเอากูรูทั้งหลายต้องขายขี้หน้า พวกเขาทำแต้มเฉลี่ยแค่ 87.1 แต้ม ในเพลย์ออฟ และในรอบชิงชนะเลิศ พวกเขาทำให้ เลเกอร์ส ทำแต้มได้ไม่เกิน 80 คะแนน ถึง 3 เกมส์ ด้วยกัน … หนึ่งในนั้นคือเกมส์ที่ 3 ซึ่งพวกเขาเอาชนะไป 88 – 68 คะแนน !!! อ่านไม่ผิดครับ เลเกอร์ส ได้ทั้งเกมส์แค่ 68 คะแนน แบบที่ไม่มีควอเตอร์ไหนทำถึง 20 คะแนนด้วยซ้ำ และบทสรุป ณ เวลานั้นคือ ชอนซี่ย์ บิลอัพส์ เป็น MVP รวมทั้งได้รับการยอมรับจากทั้งลีกว่า วิธีการเล่นแบบการ์ดจ่ายโพสต์เพลย์ของเขานั้นเปี่ยมประสิทธิภาพเอามากๆ 

 

ขณะที่ ริชาร์ด แฮมิลตัน กลายเป็นชู้ตติ้งการ์ดที่ดีที่สุดของลีก โดยไม่จำเป็นต้องเล่นแบบบาสชายเดี่ยว แค่วิ่งหลบสกรีนและหาสวีทสปอตของตัวเองในการจั๊มพ์ชู้ต

 

เทชอน พรินซ์ กลายเป็นผู้เล่นอายุน้อยที่พัฒนาตัวเองขึ้นมาได้รวดเร็ว ซึ่งถ้าให้เปรียบเทียบให้เห็นภาพ เขาคือ คาไว เลียวนาร์ด ตอนสมัย 2-3 ปีแรกกับสเปอร์ส ที่สามารถป้องกันผู้เล่นทุกคนได้อย่างยอดเยี่ยม

 

เบน วอลเลซ กลายเป็น เซ็นเตอร์ ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดทั่วโลก ณ เวลานั้น ทั้งด้วยจากทรงผมที่เคยฟูมาก่อน และ สไตล์การเล่นที่สามารถหยุดเซ็นเตอร์ที่สูงกว่าเขาทุกคนในลีกได้ (ไม่เชื่อไปถาม ชาคีล โอนีล ดูได้เลย)

 

ราชีด วอลเลซ กลายเป็นผู้ใหญ่ที่พาน้องๆสร้างความยิ่งใหญ่ได้สำเร็จ และ เติบโตขึ้นในฐานะผู้นำทีมที่ดี เสมือนว่าเจอบ้านหลังใหม่ที่เหมาะกับเขาจริงๆ

 

และ ดาร์โก มิลิซิช ที่กลายเป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ได้แหวนแชมป์ NBA

 

แต่เอ๊ะ !!! ใครกันนะ ดาร์โก มิลิซิช … ฮ่าๆๆๆๆๆ

 

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและคุณอาจสนใจ


stadium

author

นวพล เกียรติไพศาล

ชอบกินข้าวมันไก่แต่กลัวอ้วน รักแมวแต่โดนข่วน ดูกีฬาแต่ไม่ตามผล

La Vie en Rose