stadium

4 คอร์ทแกรนด์สแลมกับความต่างที่สร้างความท้าทาย

26 กันยายน 2563

สำหรับวงการเทนนิสอาชีพแล้ว ออสเตรเลียน โอเพ่น, เฟรนช์ โอเพ่น, วิมเบิลดัน และยูเอส โอเพ่น คือ 4 รายการใหญ่ในรอบปีที่ทุกคนต่างใฝ่ฝันจะคว้ามาให้ได้สักครั้งในชีวิต หรือที่เรียกกันว่าแกรนด์สแลม แน่นอนเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นรายการใหญ่ที่สุดแล้ว การคว้าแชมป์ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย  

 

กว่าที่นักหวดคนหนึ่งจะไปถึงฝั่งฝันได้นั้น พวกเขาต้องเคลียร์อุปสรรคมากมายไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่ง, การเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมเผชิญกับแมตช์ที่ยาวนาน (ชายเดี่ยวใช้ระบบ 3 ใน 5 เซต) หรือการต้องเจอกับรูปแบบคอร์ทที่แตกต่างกัน

 

ออสเตรเลียน โอเพ่น กับ ยูเอส โอเพ่น คือรายการที่ใช้ฮาร์ดคอร์ทเหมือนกันแต่ยังต่างกันที่รายละเอียดวัสดุ ส่วน เฟรนช์ โอเพ่น มีคอร์ทดินเป็นเอกลักษณ์ เช่นเดียวกับ วิมเบิลดัน ที่แค่พูดชื่อทุกคนก็จะนึกถึงคอร์ทหญ้าอันสวยงาม ซึ่งนี่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของแกรนด์สแลม

 

แต่ละชนิดของคอร์ทต่างก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป ซึ่งมีผลต่อสไตล์ของผู้เล่นโดยตรง เคยสงสัยมั้ยครับว่าทำไม ราฟาเอล นาดาล ถึงเป็นราชาคอร์ทดิน ทำไม โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ถึงเป็นเซียนคอร์ทหญ้า และทำไม โนวัค ยอโควิช ถึงมีเปอร์เซ็นต์เก็บชัยชนะบนฮาร์ดคอร์ทมากที่สุดในปัจจุบัน

 

เมื่อมีคำถาม เราจึงไปตามหาคำตอบว่าจุดเด่นของแต่ละคอร์ทแตกต่างกันอย่างไร และคอร์ทแบบไหนเหมาะกับสไตล์ใดมากที่สุด ติดตามได้ที่นี่

 

 

ออสเตรเลียน โอเพ่น

 

พื้นผิว : ฮาร์ด คอร์ท แบรนด์ GreenSet ซึ่งทำจากอะคริลิค เรซิน และซิลิกาปูบนฐานรากยางมะตอยหรือคอนกรีต  

 

คุณสมบัติ : รองรับแรงกระแทกได้ดี, ความเร็วในการกระดอนของลูกปานกลางถึงช้า

 

ในอดีต ออสเตรเลียน โอเพ่น เคยใช้คอร์ทหญ้าสมัยที่แข่งอยู่ มิลตัน คอร์ท จนถึงปี 1988 ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นฮาร์ดคอร์ทตอนย้ายไปแข่งที่ เมลเบิร์น พาร์ค โดยเริ่มแรกใช้แบรนด์ Rebound Ace ซึ่งรองรับแรงกระแทกได้ดีจากองค์ประกอบคือ โพลียูรีเทน, ไฟเบอร์กลาส และวัสดุอื่น ๆ บนฐานคอนกรีต กลายเป็นฮาร์ดคอร์ทที่มีความเร็วลูกมากที่สุด อย่างไรก็ตามกลับไม่ทนทานต่อสภาพอากาศร้อนจัดของออสเตรเลียน ทำให้ถูกนักเทนนิสร้องเรียนเรื่องพื้นผิวมีอาการหนืดหลังเจอกับอุณหภูมิสูงของเมลเบิร์น ส่งผลให้ฝ่ายจัดการแข่งขันเปลี่ยนมาใช้ Plexicushion ซึ่งเป็นการผสมผสานกันระหว่างน้ำยาง ยาง และอนุภาคพลาสติก โดยมีส่วนผสมหลักเป็นอะคริลิคตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา  

 

อย่างไรก็ตาม ใน ออสเตรเลียน โอเพ่น 2020 ฝ่ายจัดฯ ตัดสินใจเซ็นสัญญากับแบรนด์ GreenSet ซึ่งมีองค์ประกอบใกล้เคียง Plexicushion คือมีอะคริลิคเป็นหลักบวกด้วยซิลิกา โดยยังคงเอกลักษณ์คือคอร์ทสีฟ้าเอาไว้ ขณะที่ความเร็วของลูกจะช้ากว่าเล็กน้อย แต่ก็ยังเร็วกว่าคอร์ทดิน และมีการกระดอนของลูกที่สูงกว่า นักเทนนิสที่มีลูกเสิร์ฟบวกการตีกราวน์สโตรกที่ดี รวมทั้งมีความรวดเร็ว, ความยืดหยุ่น และมีความฟิตจะทำได้ดีในคอร์ทแบบนี้ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม โนวัค ยอโควิช ถึงคว้าแชมป์รายการนี้ได้มากที่สุดถึง 9 สมัย

 

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

 

เฟรนช์ โอเพ่น

 

พื้นผิว : เร้ด เคลย์ คอร์ท หรือคอร์ทดินแดง สร้างโดยใช้วิธีซ้อนหินและกรวดหลายชนิดหลายชั้นเพื่อให้ระบายน้ำได้ดีก่อนจะปูด้วยดินที่ได้จากการบดอิฐแดง

 

คุณสมบัติ : ความเร็วของลูกช้าเนื่องจากกระดอนสูง และเสียความเร็วอย่างมากเมื่อลูกตกกระทบพื้น

 

เฟรนช์ โอเพ่น คือแกรนด์สแลมรายการเดียวที่ใช้คอร์ทดิน ซึ่งทำให้ลูกเดินทางช้ากว่าคอร์ทแบบอื่น ๆ  และมีการกระดอนที่สูงขึ้นเมื่อตกกระทบพื้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะหวดลูกวินเนอร์เพราะผู้เล่นมีเวลาในการตั้งรับมากกว่าเดิม คอร์ทดินจึงเหมาะกับผู้เล่นที่เน้นเกมรับ พึ่งพาลูกท็อปสปิน และมีความแข็งแกร่งทางร่างกายเพราะต้องตีโต้กันอย่างยาวนานในแต่ละคะแนน ขณะเดียวกันผู้เล่นยังต้องมีทักษะในการสไลด์เท้าเข้าไปตีลูก เนื่องด้วยสภาพพื้นผิวทำให้ไม่สามารถวิ่งแล้วหยุดเหมือนอย่างฮาร์ดคอร์ทหรือคอร์ทหญ้าได้ แต่ในมุมกลับกันผู้เล่่นที่เก่งบนคอร์ทดินก็มักจะมีปัญหาในการเค้นฟอร์มของตัวเองเมื่อต้องลงแข่งในคอร์ทชนิดอื่นที่มีความเร็วมากกว่า

 

ดังนั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ในยุคนี้ไม่มีใครประสบความสำเร็จบนคอร์ทดินไปมากกว่า ราฟาเอล นาดาล เจ้าของแชมป์ เฟรนช์ โอเพ่น 13 สมัย และแชมป์บนคอร์ทดิน 60 รายการมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งนักหวดชาวสเปนมีจุดเด่นทั้งร่างกายที่แข็งแกร่ง, ลูกท็อปสปินที่หนักหน่วงรุนแรง จึงทำให้บดขยี้คู่แข่งบนคอร์ทดินอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

 

 

วิมเบิลดัน

 

พื้นผิว : กราสส์ คอร์ท หรือคอร์ทหญ้า

 

คุณสมบัติ : บอลกระดอนต่ำเนื่องจากพื้นนุ่มกว่าชนิดอื่น แต่ก็มีความเร็วมากที่สุดเนื่องจากความลื่นของพื้นผิวเช่นกัน

 

วิมเบิลดันคือรายการที่เรียกว่าคลาสสิคและดูทรงคุณค่าที่สุดในหมู่แกรนด์สแลมด้วยกัน เพราะใช้คอร์ทหญ้าแบบดั้งเดิมซึ่งมีเหลือไม่กี่รายการเท่านั้น ซึ่งคอร์ทหญ้ามีความแตกต่างกับคอร์ทอื่นคือเมื่อลูกกระทบกับพื้นจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากแรงเสียดทานและจะเคลื่อนที่เร็วกว่าเดิม ลูกจะลื่นไปกับพื้นผิวส่งผลให้ผู้เล่นต้องก้มต่ำกว่าเดิมเพื่อตีลูก การตีโต้บนคอร์ทหญ้าจะจบลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นกุญแจสำคัญคือความแม่นยำ และก่อความผิดพลาดให้น้อยที่สุด ซึ่งด้วยธรรมชาติของคอร์ททำให้เหมาะกับผู้เล่นสไตล์ เสิร์ฟ&วอลเลย์ ที่ได้ประโยชน์จากความเร็วของลูกเสิร์ฟและการขึ้นเล่นลูกหน้าเนต

 

อย่างไรก็ตามแม้ก่อนหน้านี้ นักหวดสายเสิร์ฟหนักจะทำผลงานได้ดีในวิมเบิลดัน แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาสไตล์กราวน์สโตรกก็ก้าวขึ้นมาเป็นที่นิยมเช่นกัน นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ถึงประสบความสำเร็จอย่างมากบนคอร์ทหญ้า เพราะนอกจากนักหวดชาวสวิสจะมีลูกเสิร์ฟที่ดีแล้ว ยังมีการตีหลากหลายรูปแบบอีกด้วย อย่างเช่นลูกแบ็กแฮนด์สไลด์ซึ่งเป็นไม้ตายของเฟดเอ็กซ์เลยทีเดียว และนับเป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้เจ้าตัวครองแชมป์วิมเบิลดันมากที่สุดถึง 8 สมัย

 

 

ยูเอส โอเพ่น

 

พื้นผิว : ฮาร์ด คอร์ท แบรนด์ Laykold ทำจากวัสดุหลายอย่างรวมทั้ง ยาง, ซิลิกา และอะคริลิค บนฐานยางมะตอยหรือคอนกรีต

 

คุณสมบัติ : เป็นฮาร์ดคอร์ทแบรนด์เดียวที่มีเทคโนโลยีป้องกันไอระเหย, ความเร็วลูกปานกลาง, ลดอาการบาดเจ็บของผู้เล่น, เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

แกรนด์สแลมสุดท้ายของปีที่เคยใช้คอร์ทมาทุกชนิด นับตั้งแต่เริ่มแข่งเมื่อปี 1881 โดยเริ่มจากการใช้คอร์ทหญ้าจนถึงปี 1914 ก่อนเปลี่ยนเป็นคอร์ทดินใน 3 ปีต่อมา และเป็นฮาร์ดคอร์ทจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก่อนหน้านี้ฝ่ายจัดฯ ใช้แบรนด์ Deco Turf ที่มีการกระดอนต่ำกว่าเมื่อเทียบกับฮาร์ดคอร์ทเจ้าอื่น ๆ มาอย่างยาวนานถึง 41 ปี แต่เพิ่งเปลี่ยนแบรนด์เป็น Laykold ในปี 2020 ที่มีจุดเด่นคือเทคโนโลยีป้องกันไอระเหยทำให้ความเร็วลูกและฟอร์มของผู้เล่นคงที่

 

แน่นอนว่าเมื่อเป็นฮาร์ดคอร์ท ลักษณะเด่นจึงไม่ต่างกับ ออสเตรเลียน โอเพ่น มากนัก แต่กลับเป็นรายการที่มีแชมป์มากหน้าหลายตาที่สุดในช่วงหลายปีหลัง ไม่เหมือนกับรายการอื่นที่ส่วนใหญ่มีแต่ชื่อของ เฟเดอเรอร์, นาดาล, ยอโควิช โดย ยูเอส โอเพ่น มีแชมป์ถึง 6 รายไม่ซ้ำกันใน 10 ปีหลัง ทำให้รายการนี้น่าจะเป็นแกรนด์สแลมที่สูสีมากที่สุดในรอบปี


stadium

author

ไทเกอร์ วืด

StadiumTH Content Creator