stadium

พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ : จอมเตะที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

24 กรกฎาคม 2564

2 แชมป์โลก 1 เหรียญทองแดงโอลิมปิก ยอดรวมแชมป์ 27 รายการ ทั้งหมดนี้เป็นจำนวนโทรฟี่ที่  ”เทนนิส” พาณิภัค วศ์พัฒนกิจ ทำได้ภายในระยะเวลา 5 ปี เป็นความสำเร็จที่ไม่เคยมีนักกีฬาเทควันโดไทยคนไหนเคยทำได้มากเท่านี้มาก่อน

 

โดยเฉพาะผลงานในปี 2019 เธอคว้าไปทั้งหมด 6 แชมป์ ไม่แพ้ต่อใครเลยสักแมตช์ ครองบัลลังก์มือ 1 ของโลกตลอดทั้งปี แต่บอกไปใครจะเชื่อว่ากว่าที่เธอคนนี้จะยืนอยู่ในจุดนี้ได้ เธอเคยถูกเรียกว่าเด็กขี้แพ้มาก่อน

 

จากเด็กขี้แพ้สู่แชมป์ไร้พ่าย

เด็กผู้หญิงผอมบาง แข้งขายาว มองจากภายนอกยอมรับเลยว่า สัมผัสไม่ได้ถึงความแข็งแกร่งดุดันแบบที่เราเห็นบนเวที มีแต่ความเป็นกันเองที่เราสัมผัสได้จากรอยยิ้มที่จริงใจ แต่เมื่อไหร่ก็ตามเมื่อเธอขึ้นเวที เธอเหมือนมีอีกคนอยู่ในร่าง ทั้งความนิ่ง สุขุม และสมาธิจดจ่ออยู่กับเกมการแข่งขัน ทำให้เธอดูน่าเกรงขามเอามากๆ เทนนิส บอกว่า ตอนเด็กๆเธออ่อนแอมากๆ อย่าว่าแต่คนด้วยกันเลย แม้กระทั่งของกินยังแพ้

 

 

“หนูเริ่มเล่นเทควันโด เพราะพี่ชายของหนูเริ่มเล่นก่อน แล้วก็ไปฝึก ไปแข่งต่างจังหวัดค่ะ ตอนแรกหนูไม่ชอบเลย เห็นพี่เล่นแล้วผู้ชายเตะกันปากแตก หนูก็กลัว ไม่กล้าเล่น แต่คือตอนนั้นก็มีซ้อมเล่นๆ แล้วก็ไปแข่งที่จังหวัดภูเก็ตค่ะ ก็อยากไปเที่ยวทะเลกับเพื่อน เพราะเพื่อนไปแข่งกัน พ่อก็เลยบอกว่าถ้าอยากไปเที่ยวทะเล ก็ต้องลงแข่งในครั้งนี้ด้วย ก็เลยลงแต่ไปถึงก็แพ้รอบแรก”

 

“ตอนเด็ก ๆก็แพ้ตั้งแต่ลงแข่งครั้งแรก คะแนนตามหลังห่าง 0-7 หนูทำแต้มไม่ได้เลย กรรมการก็จับแพ้ เพราะว่าสกอร์มันห่างเกิน ความรู้สึกตอนนั้นก็ไม่เจ็บเลย แต่เหมือนโกรธที่ตัวเองแพ้ ตอนที่ซ้อมก็เหมือนไปเล่นๆไม่ได้จริงจัง แต่หลังจากที่กลับมาจากแข่ง ก็ขอพ่อว่าขอไปซ้อมกีฬารอบนักกีฬาเลย เพราะว่าอยากกลับไปชนะ อยากเตะได้บ้าง” จอมเตะแชมป์โลกเล่าถึงความพ่ายแพ้ครั้งแรกในวัยเด็ก

 

“ช่วงนั้นหนูนี่เป็นอ่อนแอมากๆเลย คือเป็นผู้หญิงรูปร่างบอบบาง ไม่แข็งแรง กินอะไรก็แพ้ไปหมด อย่างกินขนมซอง กินอาหารทะเล อย่างหนูอยู่ภาคใต้ก็แพ้อาหารทะเลที่อร่อยๆ ลมพิษขึ้นเต็มตัว พ่อเลยอยากให้ออกกำลังกาย” 

 

สาวร่างบางหัวใจแกร่ง

หลังจากนั้น “เทนนิส” ก็เริ่มซึบซับความเป็นนักกีฬามากยิ่งขึ้น แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จชนิดอื่นๆ แต่เมื่อเธอได้รู้จักกับกีฬาเทควันโด ความรู้สึกเหมือนกับว่าได้เจออะไรที่ใช่กับตัวเองสักที ราวกับว่า “เทนนิส” กับเทควันโดนั้นเกิดมาคู่กัน

 

 

“ตอนแรกพ่อก็พาไปเล่นหลายกีฬาค่ะ ก็มีว่ายน้ำ วิ่ง วอลเลย์บอล ก็ทำได้ไม่ดีเท่าไหร่ ไม่เคยติดถึงเป็นนักกีฬาจังหวัดเลยด้วยซ้ำ แต่พอมาลองเล่นเทควันโด แข่งแล้วหนูกับได้เหรียญ เลยมีโอกาสได้เข้ามาคัดตัวทีมชาติที่กรงุเทพ ตอนเข้ามาในทีมชาติเราคิดว่าตัวเองเก่งที่สุดในภาคใต้ แต่พอมาเจอในแคมป์ทุกคนเก่งหมด ก็เป็นความยากที่หนูต้องผ่านให้ได้ เพราะว่าการคัดตัวทีมชาติ มันเรียกจากทั่วประเทศค่ะ เราก็ต้องแข่งกับตัวเองแข่งกับคู่ต่อสู้ แล้วก็จากบ้านมาไกล จากสุราษฎร์ธานี มาอยู่กรุงเทพคนเดียวเป็นเรื่องที่ท้อมาก เวลาซ้อมหนักๆหนูก็คิดถึงพ่อคิดถึงที่บ้าน ต้องการกำลังใจ ต้องสู้กับตัวเองค่ะ”

 

“ช่วงนั้นก็ถอดใจค่ะ ตอนที่ขึ้นมาอาทิตย์แรก เค้าเรียกมาคัดตัวทีมชาติ ก็ต้องมาเช่าหอพักนักกีฬาอยู่ ซ้อมก็หนักมาก เพราะว่าเข้าไปเป็นเด็กที่อ่อนมาก โดนรุ่นพี่เตะปากแตกกลับบ้าน พอกลับมาจากซ้อมก็ขอพ่อว่าไม่อยากอยู่แล้ว มันเหนื่อย สู้ใครไม่ได้เลย บอกพ่อว่าหนูอ่อนที่สุดเลย หนูทำไม่ได้แน่ ๆ แล้วพ่อก็บอกว่าโอกาสมาแล้ว คนที่อยากเข้ามาคัดตัวเขายังไม่มีโอกาสเลย พอมีโอกาสแล้ว พ่อก็เลยอยากให้ทำให้เต็มที่ ถึงเวลาประกาศผลถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เราจะได้ไม่เสียใจทีหลัง”

 

น้ำตาแห่งความผิดหวัง

แม้ว่าหนทางจะเหน็ดเหนื่อยและยากลำบากขนาดไหน “เทนนิส” ในวันนี้เธอไม่ใช่เด็กขี้แพ้อีกต่อไปแล้ว เธอคัดตัวติดเยาวชนทีมชาติตอนอายุ 13 หลังจากนั้น 2 ปี เธอติดทีมชาติชุดใหญ่ไปแข่งซีเกมส์ 2013 ในรอบชิงฯ “พาณิภัค” แพ้ให้กับเจ้าภาพไปแบบค้านสายตา ทั้งๆที่เป็นฝ่ายออกอาวุธอยู่ฝ่ายเดียว วันนั้นเธอนั่งร้องไห้สะอึกสะอื้นระหว่างรอรับเหรียญจนตาบวม เธอพูดทั้งน้ำตากับคนที่เข้าไปปลอบใจเธอว่า 

 

“หนูเล่นไม่ดีเอง หนูจะไม่พลาดอีกแล้ว หนูจะไม่ยอมให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก”

 

ประสบการณ์ในวันนั้นทำให้เธอโตขึ้น และชนะคู่แข่งแบบขาดลอยมาตลอด และนับตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบัน เธอคว้าแชมป์รวมแล้ว 27 รายการ เป็นแชมป์โลก 2 สมัย 1 เหรียญทองแดงโอลิมปิก 2016 มาถึงตรงนี้เราอาจต้องย้อนกลับขอบคุณเหตุการณ์ในรอบชิงฯซีเกมส์ครั้งนั้น ที่ทำให้เรามีนักกีฬาเทควันโดที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์

 

บทเรียนราคาแพง

อันที่จริง โอลิมปิก 2016 ที่บราซิล เทนนิส ถูกวางเป็นมือ 2 ของรายการ รับการคได้เข้าชิงฯกับ หวู จิง หยู แชมป์โอลิมปิกและแชมป์โลกอย่างละ 2 สมัย แต่ทว่าในรอบ 8 คนฯ เธอพลิกล็อค

แพ้ให้กับ คิม โซ ฮุย เต็ง 8 ของรายการ แชมป์โอลิมปิกในปีนั้น แมตช์ดังกล่าวในช่วงท้ายเกม  “เทนนิส” นำอยู่ 2 แต้ม แต่กลับไปออกอาวุธแลกกับคู่แข่งจนพลาดโดนเตะเข้าที่ศรีษะในช่วง 4 วินาทีสุดท้าย ภายหลังเธอยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจผิดพลาดที่สุดในชีวิต

 

“ตอนนั้นรอบตัดเหรียญค่ะ หนูก็ได้เจอกับเกาหลีใต้ค่ะ แล้วคะแนนของหนูนำอยู่ประมาณ 2 คะแนน แล้วเราเตะหัว แต่ว่าไม่ได้คะแนน แต่เค้าเตะหัวเรากลับมา เหลือเวลาแค่ 4 วิ จริง ๆหนูสมควรที่จะถอย ไม่ควรที่จะไปแลกกับเขา มันทำให้หนูโดนเตะหัว การแพ้ในนัดนั้นทำให้หนูเสียใจแล้วก็เสียดายมากที่สุดในชีวิต ครั้งนั้นก็เป็นประสบการณ์ให้หนูได้เรียนรู้ว่า เราต้องเร่งทำคะแนนให้ห่างๆ เวลาใกล้หมดก็ไม่สมควรที่จะไปแลก”

 

 

แชมป์โอลิมปิก เหรียญเดียวที่เหลืออยู่

หลังจบริโอเกมส์ โดยได้เหรียญทองแดงเป็นรางวัลปลอบใจ เธอเรียนรู้จากเหตุการณ์ในวันนั้น พัฒนาตัวเองจนขึ้นมาเป็นมือ 1 ของโลกอย่างสมบูรณ์ หากนับผลงานตั้งแต่ปี 2017-2019 เธอคว้าไปทั้งหมด 18 แชมป์จาก 21 รายการที่ลงแข่ง แพ้แค่  3 แมตช์เท่านั้น โดยเฉพาะปี 2019 ที่ไม่แพ้ให้กับใครเลย เป็นผลมาจากการฝึกซ้อมที่หนักหน่วงเกินกว่าใครจะนึกภาพออก ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป้าหมายเดียว คือแชมป์โอลิมปิก 2020

 

“หลังจากนั้นหนูก็พยายามฝึกฝน แล้วก็ซ้อมให้เต็มที่มากขึ้น อย่างตอนที่ไปวิ่งขึ้นดอยที่เชียงใหม่ หลังจากแพ้เกาหลีมา หนูก็ท่องไว้ในใจเลยว่าต้องกลับไปชนะ ต้องกลับไปชนะ ขาก็จะหยุด แต่ใจบอกไปๆ แล้วโค้ชก็ตะโกนมาว่าพ่อเชียร์อยู่ พ่อรออยู่ หนูก็แบบหยุดไม่ได้ ก็ต้องไปต่อ ก็พยายามฝึกให้หนักแล้วก็ไม่ยอมแพ้” “เทนนิส” กล่าวทิ้งท้ายด้วยแววตาที่มุ่งมั่น

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

La Vie en Rose