18 เมษายน 2563
ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2503 ประวัติศาสตร์วงการกีฬาไทยต้องได้รับการจารึกเมื่อ มานะ สีดอกบวบ หรือ โผน กิ่งเพชร ที่แฟนมวยรู้จักกันเป็นอย่างดี กลายเป็นนักมวยสากลอาชีพไทยคนแรก ที่ครองเข็มขัดแชมป์โลกสถาบันหลัก ด้วยการเอาชนะคะแนน ปาสกาล เปเรซ ตำนานกำปั้นชาวอาร์เจนตินา ที่เวทีมวยลุมพินีแห่งเดิม พร้อมกับทำให้วันที่ 16 เมษายนของทุกปี กลายเป็นวันนักกีฬานักกีฬายอดเยี่ยมของประเทศไทย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
นับจากนั้น ขุนพลกำปั้นอาชีพไทย ที่ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการชกมวยไทยมาก่อน ได้ก้าวขึ้นมาครองเข็มขัดแชมป์มวยโลกกันอย่างไม่ขาดสาย จนทำให้ดินแดนขวานทอง กลายเป็นหนึ่งในชาติที่ผลิตแชมป์มวยโลกได้มากที่สุดเป็นอันดับต้นๆของทวีปเอเชีย พร้อมกับเกิดแชมป์โลกที่มากความสามารถ จนเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกหลายต่อหลายคน อาทิ เขาทราย แกแล็คซี่ อดีตแชมป์โลกรุ่นซูเปอร์ฟลายเวต 115 ปอนด์ของสมาคมมวยโลก(WBA) ผู้ถือครองสถิติป้องกันแชมป์ได้ติดต่อกันนานที่สุดในบรรดานักชกเอเชีย ด้วยจำนวน 19 ครั้ง และเป็นอันดับที่ 6 ของโลก
พงษ์ศักดิ์เล็ก ศิษย์คนองศักดิ์ อดีตแชมป์รุ่นฟลายเวต 112 ของสภามวยโลก(WBC) ที่สามารถป้องกันแชมป์ติดต่อกันนานที่สุดถึง 17 ไฟต์ จนถูกบรรจุชื่อเข้าสู่หอเกียรติยศของสภามวยโลก วีระพล สหพรหม อดีตแชมป์โลกรุ่นแบนตั้มเวต 118 ปอนด์ของสมาคมมวยโลก(WBA)และสภามวยโลก(WBC) ที่ป้องกันแชมป์สภามวยโลกได้ถึง 14 ไฟต์ และอีกหลายๆคน จึงทำให้ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2503 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันนี้ มีนักชกไทยผงาดก้าวขึ้นไปครองตำแหน่งแชมป์มวยโลกในสถาบันหลักถึง 48 คน
สำหรับในปัจจุบัน สถาบันมวยโลกที่เป็นที่ยอมรับจากทุกประเทศทั่วโลกมี 4 สถาบันด้วยกัน ได้แก่ สมาคมมวยโลก(WBA), สภามวยโลก(WBC), สหพันธ์มวยนานาชาติ(IBF) และองค์กรมวยโลก(WBO) อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ “เจ้านูน” น็อคเอาท์ ซีพีเอฟ ถูกจารึกให้เป็นแชมป์โลกชาวไทยคนที่ 48 จากการเอาชนะคะแนน ไบรอน โรฮาส คู่ชกชาวนิการากัว ที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2559 จากนั้นเป็นต้นมา แฟนกำปั้นชาวไทย ต้องรอแล้วรออีก จนเวลาล่วงเลยผ่านไปเกือบจะ 5 ปีแล้ว แชมป์โลกชาวไทยคนที่ 49 ก็ยังไม่ปรากฏ มีหลายคนที่ได้รับโอกาสขึ้นชิงเข็มขัดแชมป์ แต่ก็อกหักพบกับความปราชัยกลับมาทุกครั้ง
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะเถียงว่า หลังจาก น็อคเอาท์ ซีพีเอฟ ครองเข็มขัดแชมป์โลกเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2559 ถัดจากนั้นอีก 9 เดือน “เจ้าแหลม” ศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น ไปแย่งเข็มขัดแชมป์รุ่นซูเปอร์ฟลายเวตของสภามวยโลก(WBC) มาจาก โรมัน กอนซาเลซ ด้วยการชนะคะแนนนักชกซูเปอร์สตาร์ชาวนิการากัวรายนี้ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2560
ทว่าก่อนหน้านั้น ศรีสะเกษ เคยครองเข็มขัดแชมป์โลกเส้นนี้มาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2556 ด้วยการเอาชนะน็อค โยตะ ซาโตะ จากญี่ปุ่นในยกที่ 8 ที่จังหวัดศรีสะเกษ จนกลายเป็นแชมป์มวยโลกคนที่ 45 ของประเทศไทย ดังนั้น “เจ้าแหลม” จึงไม่ใช่แชมป์โลกชาวไทยคนที่ 49 เพราะเคยครองเข็มขัดแชมป์โลกมาแล้วนั่นเอง
แฟนมวยจำนวนมาก และกูรูวงการมวยโลกชาวไทยจำนวนไม่น้อย ได้วิเคราะห์และวิพากย์วิจารณ์ไปในหลายๆทาง ว่าเพราะเหตุใด แชมป์โลกชาวไทยหน้าใหม่ ถึงยังไม่เกิด ในช่วงเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา จนทำให้ในขณะนี้ มีกำปั้นแห่งดินแดนสยาม ครองเข็มขัดแชมป์โลกสถาบันหลักเพียง 2 คนเท่านั้น ประกอบด้วย วันเฮง ซีพีเอฟ แชมป์โลกรุ่นมินิฟลายเวต 105 ปอนด์ของสภามวยโลก และ น็อคเอาท์ ซีพีเอฟ แชมป์รุ่นเดียวกันของสมาคมมวยโลก ซึ่งทั้งสองเป็นนักชกจากค่ายเพชรยินดีเหมือนกัน
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักชกไทยยุคใหม่ ไม่ฉายแววเจิดจรัสบนเวทีกำปั้นโลก ด้วยการก้าวขึ้นไปครองแชมป์โลกได้นั้น เป็นเพราะในยุคปัจจุบัน มีนักชกที่เก่ง มากความสามารถ เพียงไม่กี่คน ตรงกันข้ามกับยุคก่อน ที่นักชกไทยแต่ละคน มีเชิงชกดี ไอคิวสูง ออกหมัดเร็วและแม่นยำ แถมความหนักของหมัด ก็แทบจะไม่เป็นสองรองใครอีกด้วย จึงทำให้แฟนมวยในยุคก่อน ส่งเสียงโห่ร้องดีใจมากกว่าในปัจจุบัน เพราะนักชกไทยยุคนั้น ประสบความสำเร็จมากกว่ายุคนี้นั่นเอง
สาเหตุสำคัญที่ทำให้นักชกไทยในเวลาปัจจุบัน ไม่ค่อยเก่งและประสบความสำเร็จเหมือนยุคก่อนก็คือ นักมวยฝีมือดีๆ ไม่ค่อยหันมาชกมวยสากลมากเหมือนในอดีต กล่าวคือในอดีต พอแต่ละคนชกมวยไทยจนอิ่มตัว หรือเริ่มเก่งกาจจนหาคู่ชกไม่ได้ ก็จะมีทางเลือกเพียง 2 ทางเท่านั้นก็คือ การเบนเข็มไปชกมวยสากลอาชีพ หรือ ผันตัวเองไปสวมเฮดการ์ด ด้วยการเป็นชกมวยสากลสมัครเล่น
ดังนั้นในยุคก่อนๆ นักมวยไทยฝีมือดีไอคิวสูง ที่เป็นระดับยอดมวยไทย ถูกป้อนเข้าสู่สังเวียนมวยสากลอาชีพและมวยสากลสมัครเล่นแบบไม่ขาดสาย ประเทศไทยจึงมีนักมวยสากลอาชีพและนักมวยสากลสมัครเล่น ที่ประสบความสำเร็จหลายต่อหลายคน ตรงกันข้ามกับยุคนี้ ที่มีทางเลือกมากขึ้น นักมวยไทยระดับแม่เหล็กจำนวนมาก ผันตัวเองไปชกมวย 3 ยก และมีอีกจำนวนไม่น้อย ที่หันไปชกมวยกรง โดยไปเสริมทักษะการปล้ำและล็อค จากการเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้แขนงอื่นเพิ่มเติม ซึ่งทั้ง 2 ทางเลือกนี้ ส่วนใหญ่จัดโดยโปรโมเตอร์ต่างชาติ ที่มีเงินค่าตัวให้เป็นจำนวนมหาศาล
อีกทั้งการไปชกมวย 3 ยกหรือมวยกรง นักมวยไทยไม่ต้องปรับตัวมากนัก เพราะยังเตะได้ ต่อยได้ ตีเข่าได้ ถีบได้ เหมือนมวยไทย แม้บางรายการจะไม่อนุญาตให้ใช้ศอกก็ตาม ผิดกับมวยสากล ที่ชกได้แค่อย่างเดียว ซึ่งทำให้นักมวยไทย ปรับตัวได้ยากกว่า
ด้วยเหตุนี้ ทำให้นักมวยไทยสายเลือดใหม่ ต่อยอดในการสร้างเนื้อสร้างตัวบนสังเวียนผืนผ้าใบ ด้วยการผันตัวเองไปชกมวย 3 ยก กับมวยกรง มากกว่าที่จะไปชกมวยสากลอาชีพหรือมวยสากลสมัครเล่น เหมือนดั่งวันวาน นี่จึงเป็นปัญหาสำคัญของทุกโปรโมเตอร์ และทุกค่ายมวย ที่กำลังสร้างนักมวยสากลอาชีพอยู่ในขณะนี้ หากยังปั้นนักชกฝีมือดีขึ้นมาประดับวงการไม่ได้ อีกไม่นาน คงจะไม่เหลือแชมป์โลกชาวไทยให้ได้เห็นกัน
TAG ที่เกี่ยวข้อง