stadium

ความเสมอภาคที่แม้เป็นเงินไม่กี่ร้อยบาทก็มองข้ามไม่ได้

23 กันยายน 2563

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (21 ก.ย. 63) โนวัค ยอโควิช นักเทนนิสชายมือ 1 ของโลกชาวเซอร์เบีย เพิ่งคว้าแชมป์มาสเตอร์ซีรี่ส์ รายการ อิตาเลียน โอเพ่น ที่กรุงโรม ขณะที่ ซิโมน่า ฮาเล็ป มือ 2 ของโลกชาวโรมาเนีย คว้าแชมป์ประเภทหญิงเดี่ยวในรายการเดียวกัน

 

แน่นอนว่าเรื่องของสถิติความสำเร็จ และเกียรติยศต่าง ๆ นานา ย่อมตามมาให้เห็นบนหน้าสื่อ แต่สิ่งที่ได้รับความสนใจอย่างจริงจังจากโลกโซเชียล กลับเป็นเรื่องจำนวนเงินที่มีตัวเลขแค่ 10 ยูโร หรือราว 370 บาทเท่านั้น

 

ตัวเลขที่ว่ามาคือส่วนต่างของเงินรางวัลที่ ยอโควิช กับ ฮาเล็ป ได้รับนั่นเอง

 

ยอโควิชคว้าแชมป์มาสเตอร์ซีรี่ส์ รายการที่ 36 ในอาชีพ พร้อมกับรับเงินรางวัลไปทั้งสิ้น 205,200 ยูโร ขณะที่ฮาเล็ปได้เงินรางวัลน้อยกว่ายอโควิช 10 ยูโร จากการคว้าแชมป์รายการระดับ พรีเมียร์ 5 ของดับเบิ้ลยูทีเอ ทัวร์  

 

 

แล้วทำไมถึงเป็นปัญหา?

ความต่างแค่ 10 ยูโรนี่แหละที่เป็นปัญหา เพราะแสดงให้เห็นถึงความไม่เสมอภาคทางเพศ เนื่องจากแม้แต่รายการใหญ่ที่สุดของเทนนิสอย่าง แกรนด์สแลม ยังถูกผลักดันให้มอบเงินรางวัลผู้ชนะทั้ง 2 เพศอย่างเท่าเทียม นั่นแสดงให้เห็นว่าฝ่ายจัดฯ อิตาเลียน โอเพ่น ไม่ได้มองไปในทิศทางเดียวกัน

 

แน่นอนว่าในช่วงเวลาที่การเรียกร้องความเสมอภาคกำลังอยู่ในความสนใจของคนทั้งโลก ทัวร์จึงลงฝ่ายจัดการแข่งขันแบบไม่ยั้ง

 

ขณะที่นักข่าวของ New York Times และบรรณาธิการอาวุโสของนิตยสารเทนนิส Racquet อย่าง เบน โรเทนเบิร์ก ยังชี้ภาพของปัญหาให้เห็นชัดยิ่งขึ้น ด้วยการเทียบเงินรางวัลของนักเทนนิสทั้ง 2 ประเภทในแต่ละรอบ พร้อมกับแสดงความเห็นว่า ปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การที่ผู้หญิงได้เงินน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ชายในรอบแรก ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเล่นแร่แปรธาตุของฝ่ายจัดฯ ที่ต้องการยึดแนวคิด "ผู้ชายต้องได้มากกว่า" ในรอบลึก ๆ ด้วยเช่นกัน  

 

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

 

เหยียบเรือสองแคม เลยพังทั้งสองลำ

โอเคล่ะว่าในแง่หนึ่งต้องชมฝ่ายจัด อิตาเลียน โอเพ่น หนึ่งในรายการหัวอนุรักษ์นิยม ที่พยายามลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ ด้วยการจัดสรรให้แชมป์และรองแชมป์ของทั้ง 2 ประเภทได้เงินรางวัลใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะรองแชมป์ที่ได้รับเงิน 150,000 ยูโรเท่ากัน แม้เงินรางวัลรวมทั้ง 2 ประเภทจะห่างกันมากก็ตาม (ชาย 3.47 ล้านยูโร, หญิง 1.69 ล้านยูโร)

 

ขณะเดียวกันหากจะเอาเหตุผลว่า ทั้ง 2 ประเภทอยู่ในระดับทัวร์นาเมนต์ที่ต่างกัน (ชาย : มาสเตอร์ส ซีรี่ส์ เป็นรองแค่แกรนด์สแลม กับ เอทีพี ไฟนัลส์ / หญิง : พรีเมียร์ 5 เป็นรองจาก แกรนด์สแลม, ดับเบิ้ลยูทีเอ ไฟนัลส์ และ พรีเมียร์ มันดาทอรี่) จึงไม่สามารถให้เงินรางวัลเท่ากัน ก็ยังเป็นสิ่งที่ยอมรับได้  

 

แต่นี่เล่นเหยียบเรือสองแคม อยากหันมาลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ แต่ก็ยังตัดใจจากการให้ผู้ชายได้เงินมากกว่าไม่ได้ ผลลัพธ์มันเลยออกมาที่ส่วนต่าง 10 ยูโร อันน่ารักน่าชังนี่แหละครับ

 

แหม่ถ้าพี่จะทำออกมาแบบนี้ สู้รักษาธรรมเนียมเดิมยังจะเจ็บตัวน้อยกว่า ว่ามั้ยครับ

 

 

ย้อนอดีตการต่อสู้เพื่อรายได้ที่เท่าเทียม และอนาคตที่ยังห่างไกล

เทนนิสหญิงถูกมองว่าด้อยค่ากว่าเทนนิสชายมาตั้งแต่อดีต ดังนั้นเรื่องเงินรางวัลจึงน้อยกว่าหลายเท่าตัว กว่าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังก็ในช่วงปี 1960-70 นำโดย บิลลี่ จีน คิง ตำนานชาวอเมริกันที่ขู่จะถอนตัวจาก ยูเอส โอเพ่น ในปี 1973 ทำให้ฝ่ายจัดเสนอเงินรางวัลทั้ง 2 เพศเท่าเทียมกัน เนื่องจากหวั่นว่าจะเสียรายได้จากตั๋วเข้าชม และยอดผู้ชมการถ่ายทอดสด เพราะเธอคือนักหวดระดับแม่เหล็กในเวลานั้น

 

ส่วนรายการ วิมเบิลดัน ที่ได้ชื่อว่า "อนุรักษ์นิยม" มากที่สุดในหมู่แกรนด์สแลม ก็เพิ่งหันมาทำตามแนวคิดนี้ในปี 2007 หลังจาก วีนัส วิลเลี่ยมส์ เรียกร้องให้ฝ่ายจัดทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยปัจจุบันแกรนด์สแลมทุกรายการมอบเงินรางวัลทั้ง 2 เพศเท่าเทียมกันแล้ว แต่ก็ยังมีรายการอื่น ๆ ที่ทำตามแนวทางเดิมด้วยเช่นกัน

 

กรณีที่จะนำมาชี้ให้ถึงความแตกต่างเรื่องรายได้ของทั้ง 2 เพศอย่างชัดเจนที่สุดคือ เซเรน่า วิลเลี่ยมส์ แชมป์แกรนด์สแลม 23 สมัยทำเงินรางวัลรวมตลอดอาชีพอยู่ที่ 93,542,122 ดอลลาร์สหรัฐฯ  จากการคว้าแชมป์ 72 รายการ ขณะที่ โนวัค ยอโควิช ซึ่งเห็นด้วยกับแนวคิดให้ผู้ชายได้มากกว่ามาตลอด ทำเงินรางวัลตลอดอาชีพไปทั้งสิ้น 144,159,599 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากการคว้าแชมป์ 81 รายการ

 

จำนวนแชมป์ที่ห่างกัน 9 รายการ แต่มียอดเงินสะสมต่างกันมากกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คือข้อบ่งชี้ว่าความหวังของนักเทนนิสหญิงที่ต้องการให้มีความเสมอภาคอย่างแท้จริงนั้น ยังดูห่างไกลเหลือเกิน  

 

แต่จากปฏิกิริยาของสังคมต่อกรณีที่เกิดขึ้นใน อิตาเลียน โอเพ่น นั้น ก็ยังพอทำให้พวกเธอได้เห็นแสงสว่างที่ปลายของอุโมงค์เช่นกัน


stadium

author

ไทเกอร์ วืด

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose