23 กันยายน 2563
เมื่อวันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม ปี 2019 พายุไต้ฝุ่นหมายเลข 19 ในชื่อ “ฮากิบิส” ได้ขึ้นฝั่งประเทศญี่ปุ่นที่ภูมิภาคคันโต ไต้ฝุ่นลูกนี้ถูกบันทึกให้เป็นพายุไต้ฝุ่นที่รุนแรงที่สุดลูกหนึ่งที่เคยขึ้นฝั่งญี่ปุ่น และมีขนาดใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ยุคโชวะปี ค.ศ.1958 พายุลูกนี้ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งเตรียมพร้อมในระดับสูงสุด ระบบการเดินทางและขนส่งทั้งรถไฟและสายการบินในพื้นที่ทางผ่านของไต้ฝุ่นถูกยกเลิกทันที แน่นอนว่าชาติที่มีวงการกีฬาเป็นตัวขับเคลื่อนวัฒนธรรมของประเทศย่อมได้รับผลกระทบไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คำถามใหญ่คือหากในช่วงปี 2021 ที่กรุงโตเกียวเกิดเหตุการณ์แบบเมื่อปีที่ผ่านมาจะเกิดอะไรขึ้นและญี่ปุ่นจะรับมืออย่างไร
มหกรรมกีฬานานาชาติเตรียมรับมือภัยพิบัติ
ในเดือนตุลาคมปี 2019 ประเทศญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพในการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลก และเป็นชาติแรกของเอเชียที่ได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่นี้ กระแสลูกหนำเลี้ยบในแดนอาทิตย์อุทัยกำลังพุ่งทะยานถึงขีดสุด ทุกแมตช์ทุกสนามมียอดผู้ชมเต็มความจุตั้งแต่เมืองฟุกุโอกะไปยังเหนือสุดที่เกาะซัปโปโร แถมผลงานของทัพ “ดอกซากุระ” ยังสร้างผลงานระดับโลกด้วยการคว่ำทีมชาติไอร์แลนด์ ทีมอันดับ 2 ของโลกได้ที่ชิซุโอกะอีกด้วย อย่างไรก็ตามด้วยเส้นทางพายุ “ฮากิบิส” ที่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมีขนาดใหญ่กว่า 2,000 กิโลเมตร จะฟาดไล่ตั้งแต่เมืองชิซุโอกะเคลื่อนไปทางตะวันออกผ่านจังหวัดคานางาวะ,เมืองหลวงโตเกียว, เมืองไซตามะ และเมืองอิบารากิ ทำให้ฝ่ายจัดการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกได้ตัดสินใจยกเลิกแมตช์ในวันเสาร์ที่ 12 ตุลาคมจำนวน 3 แมตช์ที่เมืองนาโงย่า, เมืองโยโกฮาม่า และเมืองคามาอิชิ เพื่อความปลอดภัย โดยตัดสินเป็นการเสมอ 0-0 ทั้ง 3 แมตช์ นี่คือผลกระทบจากพายุ “ฮากิบิส” ที่ถึงแม้จะเป็นการแข่งขันระดับโลกก็จำเป็นต้องยกเลิกการแข่งขันในบางส่วน ซึ่งมหกรรมโอลิมปิกก็ไม่สามารถหนีความจริงได้หากภัยธรรมชาติเกิดขึ้น
มหกรรมกีฬาที่ไม่เคยถูกยกเลิกกลางคัน
นับตั้งแต่กีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ถูกจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1896 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เป็นเวลาร่วม 117 ปี มหกรรมแห่งมวลมนุษยชาติเคยถูกยกเลิกการแข่งขันเพียงแค่ 3 หนเท่านั้นในปี 1916 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน, ปี 1940 ที่เมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ (กรุงโตเกียวโดนแบนจากฐานะภัยสงคราม) และ ปี 1944 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งทั้ง 3 หนที่กล่าวไปถูกยกเลิกด้วยเหตุผลภัยสงครามโลก ยังไม่มีโอลิมปิกครั้งไหนต้องถูกยกเลิกเพราะภัยธรรมชาติมาก่อน อาจเป็นเพราะโอลิมปิกทุกครั้งเป็นการแข่งขันในช่วงฤดูร้อนก็เป็นได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เผชิญภัยพิบัติมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เนื่องด้วยภูมิประเทศที่หันหน้ารับมหาสมุทรแปซิฟิก มีเกาะที่อยู่บนเส้นวงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง พายุ “ฮากิบิส” เลยถูกจับจ้องจากนานาประเทศว่าญี่ปุ่นจะรับมือกับพายุไต้ฝุ่นระดับ 5 (ที่หลายฝ่ายมองว่าอาจใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์) อย่างไรบ้าง
เมื่อลองมองไปที่สถานที่จัดการแข่งขันกีฬาของ โตเกียว 2020 หลาย ๆ แห่งค่อนข้างได้รับผลกระทบจากไต้ฝุ่นหลายเลข 19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสนามเอาท์ดอร์ โดยเฉพาะถนนทางหลวงหมายเลข 413 เส้นทางหมู่บ้าน โดชิ ที่จังหวัดยามานิชิ ถูกสั่งปิดการสัญจรไปตั้งแต่วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม เนื่องจากน้ำท่วมหนักและมีดินถล่ม ซึ่งเส้นทางนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันจักรยานถนนประเภทชายเริ่มต้นที่เมืองโชฟุในเมืองโตเกียวผ่านจังหวัดคานางาวะไปจบที่จังหวัดชิซุโอกะความยาวรวม 234 กิโลเมตรซึ่งจังหวัดชิซุโอกะเองก็โดนผลกระทบจากหางพายุ “ฮากิบิส” จนเกิดน้ำท่วมใหญ่ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม โดยคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศญี่ปุ่นหรือ JOC (Japan Olympic Committee) ก็ได้รับปากว่าจะมีการพิจารณาถึงแผนสำรองหากเกิดเหตุภัยธรรมชาติเช่นกัน แม้ว่าเส้นทางเส้นนี้จะเป็นเส้นทางที่สวยงามเนื่องจากจะผ่านมรดกโลกและภูเขาศักดิ์สิทธิ์นั่นก็คือภูเขาไฟฟูจินั่นเอง
กีฬากอล์ฟก็จะเป็นอีกชนิดกีฬาที่จะได้รับผลกระทบแน่นอนหากมีภัยธรรมชาติเกิดขึ้น เนื่องจากกอล์ฟนั้นเป็นการแข่งขันยาวทั้งวันติดต่อกัน 3 วัน ซึ่งจะแบ่งเป็นประเภทชายและประเภทหญิง สนามแข่งกอล์ฟของโตเกียว 2020 นั้นจะมีขึ้นที่สนาม คาซุมิกาเซกิ คันทรี่ คลับ ที่เมืองไซตามะ ซึ่งปัญหาของกีฬากอล์ฟจะแตกต่างไปจากการแข่งขันจักรยาน เนื่องจากกอล์ฟนั้นมีรายละเอียดในเรื่องกฎการแข่งขันมากกว่า โดยเฉพาะช่วงเวลาและกลุ่มการออกรอบ ที่สำคัญการแข่งกอล์ฟนั้นจะถูกยกเลิกทันทีหากมีค่าสภาวะแม่เหล็กในอากาศสูงเกินกำหนด รวมถึงไม่สามารถแข่งต่อได้เลยหากมีลมกรรโชกแรงและมีฝนตก ซึ่งด้วยการแข่งขันที่ต้องแข่งติดต่อกัน อาจต้องแก้ไขด้วยการลดจำนวนหลุมที่ต้องแข่งขันและขยับเวลาให้จบเร็วขึ้น เช่นกันกับกีฬาวอลเลย์บอลชายหาดที่จะจัดขึ้นที่อุทยานชิโอคาเซะ พาร์ค ที่เมืองชินางาวะ ติดกับอ่าวโตเกียว ซึ่งสมาพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติได้เรียกร้องให้ JOC เตรียมจัดหาสนามสำรองหากเกิดกรณีเช่นเดียวกับพายุ “ฮากิบิส”
พายุที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ VS ชาติที่รับมือภัยพิบัติได้ดีที่สุดในโลก
แม้ว่าพายุ “ฮากิบิส” นั้นจะรุนแรงจนทำให้การคมนาคมของญี่ปุ่นต้องหยุดชะงักไปในหลายเส้นทางทั้งรถไฟแบบปกติและรถไฟความเร็วสูง เช่นเดียวกับสายการบินที่ต้องมีสถานีต้นทางและปลายทางที่สนามบินฮาเนดะและสนามบินนาริตะจะถูกยกเลิกเกือบทั้งหมด แต่ต้องยอมรับว่าประเทศญี่ปุ่นสามารถรับมือกับภัยพิบัติระดับสูงได้อย่างยอดเยี่ยม ส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ชนชาติแห่งทะเลนั้นต้องประสบกับภัยธรรมชาติเป็นประจำ บวกกับความมีระเบียบวินัยของคนในประเทศและระบบในการแก้ปัญหาที่ออกแบบมาอย่างดี ทำให้เมืองโตเกียวที่พลุกพล่านกลายเป็นเมืองร้างเพียงแค่วันเดียวเท่านั้น
เช้าตรู่ของวันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม 2019 เวลา 07:00น. ทางการของประเทศญี่ปุ่นยืนยันว่าพายุไต้ฝุ่นหมายเลข 19 ได้พัดออกนอกเกาะญี่ปุ่นไปทางจังหวัดอิวาเตะด้วยความเร็วระดับ 162 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ท้องฟ้าสีสดใสที่คนคุ้นเคยกลับปรากฎขึ้นอีกครั้งในหลายพื้นที่ของภูมิภาคคันโต แต่หากมองลงมายังพื้นดินยังคงเห็นผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น หลายหมื่นครัวเรือนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ หลายหมื่นครอบครัวยังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน ในขณะที่บางคนไม่มีบ้านให้กลับ น่าชื่นชมที่ชาวญี่ปุ่นพยายามกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ เส้นทางรถไฟส่วนใหญ่กลับมาให้บริการอีกครั้ง ยกเว้นรถไฟใต้ดินที่ยังต้องตรวจสอบความปลอดภัยอีกสักหน่อย มหกรรมกีฬาอย่างรักบี้ชิงแชมป์โลกกลับมาแข่งขันตามปกติ กรุงโตเกียวกลับมาคึกคักอย่างเคย เหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น สนามแข่งขันสำคัญหลายที่ทั้งสนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่ โคคุริทซุ แทบไม่มีรอยขีดข่วน, สนาม โยโกฮาม่า สเตเดี้ยม สนามฟุตบอลความจุเกือบ 8 หมื่นที่นั่งกลับมาใช้ในการแข่งขันรักบี้ตามปกติ พายุไต้ฝุ่นระดับ 5 อาจทำให้หลายฝ่ายต้องกังวล แต่ในขณะเดียวกันยังทำให้ทั่วโลกได้รู้ว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่อาจทำให้ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ และในวันนี้ประเทศญี่ปุ่นก็แสดงให้เห็นแล้วว่าในปี 2021 จะไม่มีอะไรมาหยุดมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติที่กรุงโตเกียวได้อีกต่อไป
TAG ที่เกี่ยวข้อง