stadium

แสตมป์ แฟร์เท็กซ์ นักชกหญิงที่ต่างชาติยกว่าน่าดูที่สุด

16 เมษายน 2563

การแข่งขันกีฬาศิลปะการต่อสู้ในยุคนี้ มีการขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับ การแข่งขัน One Championship ซึ่งก่อนช่วงวิกฤติโควิด-19 นั้น ถือว่าได้รับความนิยามมากพอสมควร เพราะเป็นการนำเอานักต่อสู้จากทั่วทุกมุมโลกที่มีทักษะเด่นหลากหลายด้านมาร่วมชิงชัย หรือ ที่เราเรียกกันว่า ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) โดยแต่ละไฟต์ที่เกิดขึ้นบนสังเวียนก็ดุเดือด และ มีสีสันไม่แพ้เวทีการต่อสู้ระดับโลก ซึ่งก่อนหน้านี้เราอาจคุ้นหูกับชื่อของ ริกะ อิชิเกะ อย่างไรก็ตามยังมีนักสู้เลือดไทยอีกหนึ่งคนที่น่าจับตา และ เป็นที่กล่าวขานของสื่อต่างประเทศว่าเป็น The Greatest Show-Woman แห่งวงการ MMA เลยทีเดียว และเธอคนนั้นคือ แสตมป์ แฟร์เท็กซ์ เจ้าของเข็มขัดแชมป์ ONE มวยไทย รุ่นอะตอมเวท เจ้าของฉายา “ปากไม่แดง ไม่มีแรงชก” นั่นเอง

 

 

การต่อสู้ของสาวหน้าหวาน ที่ชีวิตผ่านความขมในชีวิตวัยเด็ก 

 

ก่อนการขึ้นต่อสู้ทุกครั้ง … เธอมักจะมาพร้อมการเปิดตัวที่มีสีสัน สร้างความบันเทิงด้วยลีลาการเต้นและ แฟชั่นการแต่วตัวที่ดูแปลกตาอยู่บ่อยครั้ง เช่นเดียวกับไลฟ์สไตล์ส่วนตัวที่เธอมักโพสต์ลงในสื่อออนไลน์ อันเต็มไปด้วยรอยยิ้ม และ เรียกความสุขจากแฟนๆที่ติดตามเธอได้เสมอ

 

แต่นั่นคือหน้าฉากในวันที่ทุกอย่างเป็นใจ … ในวันที่ความสำเร็จได้เกิดขึ้นแล้ว

 

หากจะมองแค่ในแง่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นตอนนี้ อะไรๆมันก็คงดูง่ายไปเสียหมด แต่แท้จริงแล้วเส้นทางของแสตมป์ แฟร์แท็กซ์ หรือ ที่มีชื่อจริงว่า ณัฐวรรณ พานทอง ไม่ได้ง่ายเลย เพราะกว่าจะแข็งแกร่งได้ขนาดนี้ เธออาบน้ำตาและผ่านรอยฟกช้ำมาแล้วไม่รู้กี่หน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกกลั่นแกล้งและรังแกที่โรงเรียน พร้อมกับการกลับมาถึงบ้านทุกครั้งด้วยความรู้สึกของผู้พ่ายแพ้ … แต่เธอกลับไม่ขอจมกับสิ่งนั้นนาน

 

เลือดของนักสู้เกิดตั้งแต่อายุเพียง 5 ขวบ เพราะหนูน้อยผู้ถูกรังแก เลือกที่จะลุกขึ้นสู้เพื่อหวังเป็นผู้ชนะ โดยในวัย 5 ขวบเธอตัดสินใจเรียนรู้การต่อยมวยไทย เพื่อเสริมสร้างทักษะการต่อสู้และอีกด้านหนึ่งกีฬาสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจแลเปลี่ยนให้เด็กสาวที่ดูอ่อนแอ เป็นผู้ที่มีความแข็งแกร่งทั้งกายและใจ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้คนที่เคยกลั่นแกล้งไม่กล้ามารังควานเธอแล้ว เธอยังได้ค้นพบความสามารถของตัวเองในฐานะนักสู้ที่ยอดเยี่ยมอีก และที่สำคัญการฝึกซ้อมเปลี่ยนเธอจากเด็กที่มีรูปร่างอ้วนน่าแกล้งให้กลายเป็นยอดนักกีฬาที่รอวันเฉิดฉาย

 

 

ก้าวเดินเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่เกินตัว และสาเหตุที่แสตมป์ ไม่เคยเข้าแถวเคารพธงชาติทัน

 

ก้าวเดินของ แสตมป์ คือตัวอย่างของคำว่ายิ่งใหญ่เกินตัวทั้งกายและใจ เพราะในวัย 6 ขวบ เธอขึ้นสังเขียนมวยไทยหนแรกและสามารถเอาชนะคู่แข่งด้วยการน็อคได้ภายในเวลาไม่ถึง 30 วินาที !!! … ให้ตายสิคุณอ่านไม่ผิดหรอก เด็ก 6 ขวบกับการน็อคคู่แข่งในช่วงเวลาที่ต้มมาม่าแล้วเส้นยังแข็งอยู่เลย ที่สำคัญการขึ้นสังเวียนของสแตมป์ เธอมีเป้าหมายคือการหารายได้เพื่อช่วยเหลือครอบครัว นั่นคือความยิ่งใหญ่เกินตัว 

 

ช่วงอายุ 8 ขวบ แสตมป์ ถูกเลือกให้เป็น 1 ใน 2 นักมวยที่ได้เป็นตัวเอกในการถ่ายทำสารคดี Buffalo Girl ที่ถูกฉายในเทศกาล SlamDance ซึ่งเป็นสารคดีเกี่ยวกับมวยเด็กในประเทศไทย ที่เด็กอยากจะต่อยมวยเพื่อหาเงินเพื่อช่วยเหลือครอบครัว นอกจากนั้น สแตมป์ ไม่ได้เก่งแค่วิชามวยไทยเพียงอย่างเดียว เธอยังมีทักษะศิลปะการต่อสู่อย่างผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็น มวยปล้ำ BJJ รวมไปถึง มวยสากล อีกด้วย

 

ยามเช้าเวลาตี 5 เด็กสาวออกวิ่งเป็นเวลา 2 ชั่วโมงทุกวัน และนั่นคือการฝึกซ้อมพื้นฐานที่เธอไม่เคยละเลยไม่เคยแม้แต่วันเดียว ส่งผลให้เมื่อวิ่งเสร็จกว่าจะกลับบ้านมาอาบน้ำแต่งตัวและเดินทางไปโรงเรียนนั้น แสตมป์แทบจะไม่ค่อยได้ร่วมเคารพธงชาติกับเพื่อนๆเท่าไหร่นัก ตกเย็นกลับบ้านเด็กสาวสวมนวมซ้อมมวย ผ่านการขัดเกลาจากคุณพ่อที่เคี่ยวเข็ญอย่างหนัก แต่แน่นอนว่าทุกสิ่งไม่เคยเกินความพยายามของเธอ

 

ก้าวเดินในวัยเด็กของแสตมป์ ว่ายอดเยี่ยมแล้ว แต่เพราะความทะเยอทะยาน และ การไม่หยุดฝัน ทำให้เป้าหมายของเธอไม่ได้หยุดอยู่แค่การเป็นเด็กน้อยมหัศจรรย์ ที่โผล่มาแล้วก็ผ่านไป 

 

ความท้าทายของวงการมวยไทยหญิง บนคำสบประหม่าที่ว่า “อาชีพนี้กินไม่ได้”

 

ด้วยพรสวรรค์และพรแสวงที่มีส่วนผสมลงตัว ทำให้แสตมป์ในวัยเด็กนั้น ผ่านการขึ้นชกเป็นสิบไฟต์ เอาชนะคู่แข่งจนก้าวขึ้นครองแชมป์ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างไรก็ตามเธอกลับตกหยุดชกไปนาน 8 ปี เพราะมวยไทยกับผู้หญิง ยังเป็นสิ่งที่ดูแล้วไปได้ไม่ไกลนัก เพราะหากมองย้อนกลับไปเมื่อช่วง 10 ปีก่อน ต้องยอมรับว่า เทรนด์ของโลกกีฬาแทบไม่มีที่ยืนให้มวยหญิง ความนิยมน้อย ขาดองค์กรสนับสนุน

 

นั่นกลายเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของชีวิต ที่ต้องเลือกระหว่างหาอาชีพที่สอดคล้องกับโลกความเป็นจริง ซึ่งเธอตั้งเป้าหมายเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ เพียงแต่เวลาว่างเธอยังคงฝึกซ้อมและชกมวยเป็นอาชีพเสริม เพราะไม่ต้องการทิ้งสิ่งที่ตนเองทำได้ดี และ รัก ให้หายไปจากชีวิต จนกระทั่งจุดเปลี่ยนสำคัญได้เดินทางมาถึงในเวลาต่อมา … จุดเปลี่ยนคำว่ามวยไทยหญิง มันกินไม่ได้ ถูกลบทิ้งออกไปจากมือของแสตมป์ นั่นคือ เวที วัน แชมเปียนชิพ ได้เปิดเวทีให้นักสู้หญิงทั่วโลกลงสนามแข่งขันทั้งในกติกาการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA), คิกบ็อกซิ่ง และมวยไทย จึงทำให้เพศหญิงซึ่งถูกมองว่าเป็นเพศที่อ่อนแอ ลุกขึ้นมาโชว์ศักยภาพด้านการต่อสู้ที่เคยถูกกดอยู่ภายใน และฉายแววอันโดดเด่นบนเวทีระดับโลก ซึ่งหลายคนพบกับความสำเร็จไม่แพ้นักสู้ชาย และ เวทีนี้ ช่างเหมาะกับสาวสู้ชีวิตคนนี้เสียจริงๆ

 

 

บทพิสูจน์ของความแข็งแกร่งที่ แสตมป์ พิสูจน์ให้โลกได้เห็น

 

ค่ายดังอย่างแฟร์เท็กซ์ กำลังมองหานักมวยหญิงมาปลุกปั้นเพื่อเข้าสู่วงการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) ที่กำลังเป็นนิยมอย่างสูงในต่างประเทศ โดยมี “น้าแรม” เทรนเนอร์ของค่ายแฟร์เท็กซ์ซึ่งเคยรู้จัก แสตมป์ จึงชักชวนเธอไปอยู่ที่นั่น ร่วมฝึกซ้อม พัฒนาฝีมือและทักษะ จนกระทั่งในที่สุด แสตมป์ ได้ขึ้นบนสังเวียนที่ได้โชว์ผลงานตัวเองในฐานะผู้เข้าร่วมการแข่งขันรายการ Rich Franklin’s ONE Warrior Series ซึ่งเป็นสังเวียนค้นหานักกีฬาดาวรุ่งที่มีความสามารถโดดเด่นเพื่อเข้าร่วมสังกัดของ วัน แชมเปียนชิพ

 

ครั้งนั้น แสตมป์ คว้าชัยชนะด้วยการก้านคอคู่ต่อสู้ด้วยเวลาเพียง 12 วินาทีของยกแรก ก่อนถูกดึงตัวให้เป็นนักกีฬาภายใต้สังกัดของ วัน แชมเปียนชิพ อย่างเต็มตัว โดยประเดิมไฟต์แรกในนัดท้าชิงแชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นอะตอมเวต กับ “ไค่ ถิง ฉวง” แชมป์คนปัจจุบันในตอนนั้น เมื่อเดือนตุลาคม 2561 และกระชากเข็มขัดแชมป์โลก ONE เส้นนี้มาครองได้เป็นเส้นแรก และ ในเวลาต่อมาเธอยังกลายเป็นนักสู้คนแรกของ ONE ที่ครองเข็มขัด 2 เส้น หลังเอาชนะ “เจเน็ต ท็อดด์” นักสู้มากประสบการณ์ในกติกามวยไทย

 

แม้ล่าสุด วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เธอจะเสียเข็มขัด ให้แก่คู่ปรับเก่าที่เคี้ยวยากที่สุดอย่าง “JT” เจเน็ต ท็อดด์ จนทำให้เข็มขัด ONE คิกบ็อกซิ่ง รุ่นอะตอมเวต แต่เชื่อเหลือเกินเป้าหมายการครอง 3 เข็มขัดจะยังคงเป็นสิ่งที่แฟนๆ หรือ แม้แต่ตัวเธอเองวางเอาไว้ว่าจะต้องทำให้ได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

 

ความดุดันและแข็งแกร่ง บวกกับการเป็นนักต่อสู้อายุน้อยที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วคือองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เธอโด่งดัง อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายแง่มุมที่ทำให้เธอถูกให้เป็น The Greatest Show-Women ของวงการ MMA และฉายานี้ไม่ได้มาจากการตั้งกันเอง แต่เป็นต่างชาติที่เรียกเธอแบบนั้น

 

The Greatest Show-Woman ความยอดนิยมที่เกิดจากบุคลิกส่วนตัวอันน่าหลงใหล

 

ถ้าได้ติดตาม แสตมป์ (ผมเองก็เริ่มดูได้ไม่นานนัก) สิ่งที่เป็นเสน่ห์ของเธออย่างเด่นชัด คือ บุคลิกส่วนตัวที่มีความเป็นคนสนุกสนาน ร่าเริง และ เป็นนักกีฬาจอมเอนเตอร์เทนเนอร์ ที่ดีที่สุดคนหนึ่งเลยทีเดียว เพราะภายใต้การถือเข็มขัดแชมป์ เธอกลับเลือกการเปิดตัวที่ไม่เน้นความดุดัน หรือ ความเท่แบบขรึมๆ เหมือนที่นักต่อสู้ทั่วๆไปจะทำ แต่แสตมป์มักมาพร้อมกับเพลงแดนซ์สุดฮิต ทั้งไทย และ ต่างประเทศ พร้อมกับเครื่องแต่งกายที่ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป (เรียกว่าแอบเป็นเจ้าแม่แฟชั่น MMA เลยก็ว่าได้) เช่นเดียวกับการอัพเดทชีวิตประจำวันของเธอในสื่อโซเชียลมีเดีย ที่ไม่ได้ดูโอ้อวดในฝีมือ หรือ ดีกรี แต่กลับเป็นแก๊ก หรือ มุมสร้างสีสันให้กับผู้ติดตามและแฟนๆ อยู่เสมอ จนกระทั่งชาวต่างชาติมีการรวบรวมคลิปการเปิดตัว และ การเต้นของเธอ มาจัดทำเป็นรวมวิดีโอการเต้นสุดเจ๋งของ แสตมป์ แฟร์เท็กซ์ อีกด้วย

 

ขณะเดียวกันยามขึ้นเวที เธอก็ยังโชว์ลีลาการต่อสู้ได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งทักษะแม้ไม้มวยไทย รวมถึงศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน หรือ เรียกง่ายๆว่า การออกอาวุธของแสตมป์นั้นหลากหลาย สวยงาม เฉียบคม และมักสร้างช็อตอ้าปากค้างมาฝากแฟนๆได้เสมอ

 

ซึ่งเมื่อผนวกรวมระหว่าง เรื่องราวของชีวิต การมีแพชชั่นกับกีฬาที่เธอเลือกทางเดิน ไลฟ์สไตล์ส่วนบุคคลและผลงานที่ถ่ายทอดผ่านทักษะ ส่งผลให้เธอคือหนึ่งในนักกีฬาหญิงที่น่าจับตามองในทุกองศาจริงๆ และการได้รับคำขนานว่า The Greatest Show-Woman จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด


stadium

author

นวพล เกียรติไพศาล

StadiumTH Content Creator

โฆษณา