stadium

เคลซีย์-ลี บาร์เบอร์ ความหวังเหรียญทองกรีฑาของออสเตรเลีย

21 กันยายน 2563

เชื่อหรือไม่ว่า ลูอิส เคอร์รี่ หรือนามสกุลเดิมคือ แม็คพอล เป็นนักกีฬาคนเดียวของประเทศออสเตรเลีย ที่คว้าเหรียญรางวัลจากกีฬาพุ่งแหลนในการแข่งขัน โอลิมปิก เกมส์ ได้สำเร็จ นับตั้งแต่มีการบรรจุเข้าไปในโปรแกรมการแข่งขันเป็นครั้งแรกที่นคร ลอส แองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1932 หลังจากที่เธอคว้าเหรียญเงินในการแข่งขันที่แอตแลนต้า ปี 1996 ส่วนในรายการชิงแชมป์โลก ออสเตรเลีย ก็ทำได้ดีที่สุดเพียง 2 เหรียญเงิน นับตั้งแต่ปี 1983 เป็นต้นมา

 

อย่างไรก็ตาม ใน โตเกียว เกมส์ 2020 หน้าประวัติศาสตร์ของวงการกีฬาแดนจิงโจ้ อาจถึงคราวเขียนตำนานบทใหม่ หลังจากที่ เคลซีย์-ลี บาร์เบอร์ คว้าแชมป์โลกในการแข่งขันที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ช่วงปลายปีที่แล้วได้สำเร็จ ซึ่งแน่นอนว่าเหรียญทองจากมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติคือสิ่งที่เธอมุ่งมาดปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง

 

 

ความฝัน และ ความผิดหวัง ใน ริโอ 2016

เคลซีย์-ลี บาร์เบอร์ หรือนามสกุลเดิมคือ โรเบิร์ตส์ เกิดใน อีสต์ ลอนดอน ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 20 กันยายน ปี 1991 ซึ่งที่โรงเรียนของเธอจัดกิจกรรมกีฬาให้นักเรียนทุกวันในช่วงบ่าย ทำให้ บาร์เบอร์ ได้ลองเล่นกีฬาว่ายน้ำ, ฮ็อกกี้, เทนนิส และ ยิมนาสติก จากนั้นเมื่อเธออายุได้ 9 ขวบ ครอบครัวก็ย้ายไปอยู่ที่กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ในปี 2000 ตรงกับ โอลิมปิก เกมส์ ที่นครซิดนีย์ พอดิบพอดี

 

"ฉันได้รู้จักกับ โอลิมปิก เกมส์ เป็นครั้งแรกในตอนนั้น และเป็นช่วงเวลาที่ฉันบอกกับตัวเองว่าสักวันหนึ่งจะพาตัวเองไปลงแข่งโอลิมปิกให้ได้" บาร์เบอร์ ย้อนความหลัง

 

ด้วยการที่มีร่างกายช่วงบนอันแข็งแกร่งและทรงพลัง บาร์เบอร์จึงลองเล่นกีฬาที่ใช้ประโยชน์จากส่วนนั้นมากที่สุด เธอเริ่มต้นจากการเล่นขว้างจักรกับทุ่มน้ำหนัก ก่อนหันมาพุ่งแหลน และในตอนที่เธอคว้าแชมป์ศึกกีฬานักเรียนภูมิภาคแปซิฟิคปี 2008 จากการพุ่งแหลนทำระยะ 44 เมตร ได้สำเร็จ ทางเลือกในอนาคตของเธอก็ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

"ฉันเชื่อว่าตัวเองมีความสามารถที่จะเป็นนักกีฬาได้ ใน แปซิฟิค เกมส์ ฉันลงแข่งไป 3 ประเภท แต่หลังจากคว้าแชมป์พุ่งแหลนแล้ว ฉันก็คิดว่า 'นี่แหละคือสิ่งที่เหมาะกับฉันมากที่สุด' "

 

6 ปีต่อมา บาร์เบอร์ ก็สร้างชื่อตัวเองให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับนานาชาติ จากการเข้าร่วมศึก คอมมอนเวลธ์ เกมส์ ปี 2014 ที่กลาสโกว์ ซึ่งเธอคว้าอันดับ 3 ด้วยสถิติ 62.95 ม. และถึงแม้จะไม่ประสบความสำเร็จในศึกกรีฑาชิงแชมป์โลกที่กรุงปักกิ่ง ในปี 2015 หลังจากไม่ได้ผ่านเข้าไปแข่งในรอบชิง แต่เธอก็ได้เติมเต็มความฝันของตัวเองจากการคว้าสิทธิ์ลงแข่ง โอลิมปิก เกมส์ ปี 2016 ที่นครริโอ เดอ จาเนโร

 

อย่างไรก็ตาม บาร์เบอร์ ต้องเผชิญกับอาการกระดูกร้าวที่หลังซึ่งทำให้เธอไม่สามารถเตรียมความพร้อมของตัวเองได้อย่างเต็มที่ และความทรงจำกับโอลิมปิกหนแรกในฐานะนักกีฬาของตัวเองก็จบลงด้วยความชอกช้ำ เธอไม่ผ่านรอบคัดเลือกและได้เพียงอันดับ 28 เท่านั้น

 

"ฉันห่างไกลกับคำว่าเตรียมตัวอย่างเต็มที่เพื่อริโอ 2016 เป็นอย่างมาก ฉันเดินหน้าตามความฝันในวัยเด็กด้วยการคว้าสิทธิ์ไปลงแข่งโอลิมปิกได้ แต่กว่าจะรู้ตัวว่าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผู้ได้เหรียญรางวัลเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในการแข่งขันเท่านั้น ฉันก็ปล่อยตัวเองให้เสียสมาธิไปกับนักกีฬาที่ไม่ได้เหรียญรางวัลมากมายรอบตัว"

 

"หลังจากนั้น ฉันก็กลับบ้านและบอกกับตัวเองว่า โอลิมปิกคือที่ที่ฉันต้องการจะไปลงแข่งในอนาคต และเป็นสิ่งที่ฉันอยากจะประสบความสำเร็จ ชัดเจนว่ามีสิ่งที่ฉันต้องทำเพื่อให้ตัวเองเก่งขึ้น ดังนั้นมาเริ่มมันตั้งแต่ตอนนี้เถอะ" บาร์เบอร์ เปิดเผยแรงกระตุ้นที่มาจากตัวเธอเอง

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

 

 

คู่คิดสู่คู่ชีวิต ก่อนจะเป็นแชมป์โลกปี 2019

การเรียกสติตัวเองในวันนั้นทำให้บาร์เบอร์ กลับมามุ่งมั่นกับการทำตามความฝันของตัวเองอย่างมั่นคง และมันก็ส่งผลให้เธอพุ่งแหลนทำระยะได้ไกลกว่า 64 เมตร ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ก่อนที่จะคว้าเหรียญเงินในคอมมอนเวลธ์ เกมส์ ปี 2018 ที่โกลด์ โคสต์ เป็นเจ้าภาพ หลังจากนั้นเธอก็เข้าพิธีวิวาห์กับ ไมค์ บาร์เบอร์ คนที่ทำหน้าที่โค้ชให้เธอมาตั้งแต่ปี 2014 และช่วยให้เธอกลายเป็นนักกีฬาชั้นนำอย่างทุกวันนี้

 

ขณะที่ปี 2019 อาจนับได้ว่าเป็นช่วงที่เธอฟอร์มดีที่สุดในอาชีพ โดยในการแข่งขันที่เมืองลูเซิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เดือนกรกฎาคม บาร์เบอร์ ทำระยะได้ถึง 67.70 เมตร เป็นสถิติดีที่สุดในชีวิต และเป็นระยะไกลที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกในปีนั้น รวมทั้งอยู่ในอันดับที่ 12 ของสถิติตลอดกาล ก่อนที่จะจารึกชื่อของตัวเองบนหน้าประวัติศาสตร์วงการกีฬาออสเตรเลียในอีก 3 เดือนต่อมา จากการคว้าแชมป์โลกที่กรุงโดฮา แต่ก็เกือบเจอประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนริโอ 2016 เช่นกัน

 

 

แชมป์โลกคนแรกของออสเตรเลีย ที่เกือบจะร่วงตั้งแต่เริ่ม

ฟอร์มที่ดีที่สุด มาในเวลาที่มีค่ามากที่สุด นั่นคือสิ่งที่บาร์เบอร์ทำให้เห็นในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลก ณ คาลิฟา อินเตอร์เนชั่นแนล สเตเดี้ยม เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมปีที่แล้ว ถึงแม้เธอเกือบจะไม่ได้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ หลังทำระยะได้เป็นอันดับที่ 10 จากที่ต้องการทั้งหมด 12 คน ขณะที่ในรอบชิงฯ แม้ บาร์เบอร์ จะทำสถิติจากการขว้าง 3 ครั้งแรก ดีพอจะผ่านตัดตัวเข้าไปเป็น 8 คนสุดท้ายเพื่อชี้ชะตาแชมป์กันอีก 3 ครั้ง แต่เธอกลับทำสถิติได้เพียง 60.90 เมตรในครั้งแรก ส่งผลให้อยู่ลำดับที่ 5 อย่างไรก็ตาม บาร์เบอร์ แก้ตัวได้สำเร็จในครั้งถัดมา จากการทำระยะได้ 63.65 ม. ซึ่งส่งผลให้เธออยู่ในตำแหน่งที่มีลุ้นจบบนโพเดี้ยม

 

หากดูจากฟอร์มในรายการนี้ หลายคนคงคิดว่าแค่บาร์เบอร์ได้เหรียญก็นับว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่จิตใจของเธอเองไม่ได้หมดหวัง และแสดงมันออกมาให้เห็นในการขว้างครั้งสุดท้าย ทั้งการออกวิ่งที่สมบูรณ์แบบและท่วงท่าการขว้างที่เต็มเปี่ยมไปด้วยกำลังก็ทำให้แหลนของบาร์เบอร์พุ่งออกไปปักที่ระยะ 66.56 ม. พลิกสถานการณ์ขึ้นเป็นผู้นำ ส่วนคู่แข่งที่เหลือก็ไม่สามารถทำระยะได้ไกลกว่านั้น ทำให้บาร์เบอร์กลายเป็นแชมป์โลกพุ่งแหลนคนแรกของออสเตรเลียในที่สุด

 

"การเป็นแชมป์โลกคือเป้าหมายของฉันมาตลอดชีวิต ดังนั้นการทำมันได้สำเร็จในขณะที่ยังลงแข่งไปได้อีกนานหลายปีทำให้ฉันตื่นเต้นอย่างมาก แน่นอนว่าในสถานการณ์แบบนั้น เราทุกคนต่างหวังที่จะยกระดับผลงานของตัวเอง และแสดงสิ่งที่ตัวเองสามารถทำได้ในฐานะนักกีฬาอย่างดีที่สุด" บาร์เบอร์ เปิดเผยความรู้สึก หลังคว้าแชมป์รายการใหญ่ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในชีวิต

 

 

บทเรียนจาก ริโอ 2016 มุ่งสู่โตเกียว 2020

การคว้าแชมป์โลกในปีก่อนที่โอลิมปิก เกมส์ จะมาถึง ย่อมทำให้ บาร์เบอร์ กลายเป็นความหวังของแฟนกีฬาชาวออสเตรเลีย รวมทั้งได้รับการติดต่อให้ไปออกงานอย่างไม่ว่างเว้น ซึ่งตัวเธอเองก็เข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี แต่ไม่อยากจะก่อความผิดพลาดเหมือนเมื่อ 4 ปีก่อน

 

"พวกเราพูดคุยเรื่องนี้กันมาบ้าง และรู้ดีถึงความหมายของมัน ในระดับหนึ่งฉันต้องพยายามและรักษาตารางการฝึกซ้อมของตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะหากไม่ได้ฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอจนเป็นกิจวัตรประจำวันแล้ว มันคงไม่มีผลอะไร ฉันเข้าใจสถานะของตัวเองในขณะนี้ดีและรู้สึกปลาบปลื้มกับสิ่งนั้น แต่ฉันยังคงต้องการรักษาสภาพแวดล้อมในการฝึกซ้อมของตัวเองให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเตรียมตัวเพื่อโอลิมปิก ฉันรู้สึกแย่ที่ริโอ ดังนั้นจึงต้องการเปลี่ยนแปลงมันและทำให้ดีที่สุดที่โตเกียว ซึ่งฉันพูดได้เลยว่าเป้าหมายในครั้งนี้คือการได้ขึ้นโพเดี้ยม"

 

สิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งสำหรับนักกีฬาชั้นนำคือ การเอาความผิดหวังมาเป็นแรงขับดันให้ตัวเองก้าวไปข้างหน้า ซึ่ง เคลซีย์-ลี บาร์เบอร์ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน จากคนที่โดนอุปสรรคเข้ามาขัดขวางความฝัน กลับกลายมาเป็นคนที่เข้าใกล้ความฝันของตัวเองยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ซึ่งคงต้องมาติดตามดูกันว่า ยอดนักพุ่งแหลนวัย 28 ปี จะทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเองได้หรือไม่ในโตเกียว 2020


stadium

author

ไทเกอร์ วืด

StadiumTH Content Creator