14 เมษายน 2563
ถอดกรณีศึกษา: “เตะแบบปิด” กับ “ฟินิชแค่เลกแรก” ทำไมถึงมีคนพูดว่าเหมาะ ?
#คุยเฟื่องเรื่องบอลไทย
แม้ว่าจะมีการประกาศผลการประชุมเบื้องต้นเกี่ยวกับฟุตบอลภายในประเทศทั้ง 3 รายการออกมาว่าบอลลีกจะกลับมาโม่แข้งกันใหม่ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 63 เป็นต้นไป ในขณะที่ฟุตบอลถ้วยทั้ง 2 รายการอย่างช้าง เอฟเอคัพ และ โตโยต้า ลีกคัพ ก็จะยังอยู่ครบตามเดิมเช่นกัน แต่ก่อนหน้านั้นมีประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาว่าหากสถานการ์ณของเจ้าไวรัสโควิด-19 เกิดบานปลายลุกลามและลากยาวไปเรื่อยๆล่ะ บางทีลีกไทยอาจต้องกลั้นใจเลือกระหว่างเตะแบบปิดกับเตะแค่เลกเดียวก็อาจจะเป็นไปได้
เหตุที่มันเป็นอย่างนั้นเพราะเราต่างไม่รู้ว่าสถานการณ์ในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แถมโปรแกรมในระดับนานาชาติทั้งในนามสโมสรและทีมชาติที่เคยถูกเบรคเอาไว้ทั้งเอซีแอล, คิงส์คัพ, อาเซียนคัพและคัดบอลโลก แน่นอนว่าหากสถานการณ์ในทวีปของเราเริ่มเข้าสู่โหมดปลอดภัยได้เมื่อไหร่ สามสี่รายการที่ว่าก็จะต้องกลับมาเตะกันต่ออย่างแน่นอน แล้วแบบนี้จะเอาเวลาที่ไหนมาจัดแข่งบอลภายในล่ะ
แถมยังมีเรื่องของสัญญานักเตะที่สโมสรส่วนใหญ่กำหนดให้จบลงแค่จบฤดูกาลนี้เท่านั้น (เดือนต.ค.) บ้างก็มอบสัญญาระยะสั้นให้นักเตะในสังกัดบางคนแบบเล่นแค่เลกเดียวก็มีให้เห็นอยู่บ้าง ไอเดียเลือกเตะแค่เลกเดียวหรือรีบเร่งขออนุญาติรัฐบาลขอเตะแบบปิดก็เลยเกิดขึ้นมาเป็นแนวทางแบบเฉพาะกาล
คำถามจึงมีอยู่ว่าถ้าจะต้องเลือกระหว่าง “รีบเตะแบบปิดทันทีที่มีโอกาส” หรือจะ “ฟินิชแค่เลกเดียวตัดสิน” แบบไหนล่ะถึงจะเข้าท่า?
แต่ละทางเลือกให้ผลได้-ผลเสียต่างกัน ลองคิดกันง่ายๆหากเลือกช้อยส์แรกขึ้นมาสโมสรก็จะได้ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด, เงินบำรุงทีม และไม่ต้อง “เพย์ ฟอร์ นอตติง” เหมือนอย่างที่บางสโมสรเชื่อว่าพวกเขากำลังตกอยู่ในสถานการณ์นั้น แต่นั่นก็ต้องแลกมากับการสูญเสียรายได้จากการขายตั๋วเข้าสนามและบรรดาค่าเช่ารอบๆสนามจากกิจกรรมนันทนาการ
ในขณะที่ช้อยส์หลังอย่างเตะกันแค่เลกเดียวเท่านั้นก็ให้ประโยชน์ในด้านการจัดการ เพราะการวางโปรแกรมจะมีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นเพราะมีเวลาเหลือมากพอ แต่ก็ต้องไม่ลืมอีกเช่นกันว่าเมื่อเล่นแค่เลกเดียวเจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดและบรรดาบริษัทห้างร้านที่ซื้อสปอนเซอร์โฆษณาไม่ว่าจะเป็นป้ายข้างสนาม, ธงติดเสาหรือสปอตโฆษณา มีหรือที่พวกเขาจะยอมจ่ายเงินเต็มจำนวนตามสัญญาที่เคยทำกันไว้ และเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบจากการเล่นแค่ 15 นัด? (ทีมที่ออกสตาร์ทได้ไม่ดีเท่าไหร่ใน 4 นัดแรก การเหลือเกมให้เล่นอีกแค่ 11 นัดก็ไม่ต่างจากฝันร้ายของพวกเขา ในขณะที่ทีมที่ทำผลงานดีในช่วงออกสตาร์ท นี่ก็ไม่ต่างจากของขวัญแบบ “ฟ้าประทาน” จากไทยลีก)
นั่นคือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากวันนี้ผลการประชุมเกิดออกมาในแบบช้อยส์ใดช้อยส์หนึ่ง แต่กระนั้นการเลือกยกเอาโปรแกรมฟุตบอลภายในไปเตะกันใหม่ปลายปีนี้ แม้จะดูแฮปปี้สำหรับทุกฝ่ายแต่ก็ยังมีอีก 1-2 เรื่องที่เรายังต้องคิดกันหัวหมุน
เรื่องแรกคือโปรแกรมทีมชาติว่าด้วยรายการที่ไม่ใช่ของฟีฟ่าอย่างอาเซียนคัพที่ตารางแข่งขันอยู่ในช่วงปลายเดือน พ.ย.-ธ.ค.(เต็มเดือน) ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นช่วงที่ลีกบ้านเรากำลังเข้าสู่โหมดเข้าด้ายเข้าเข็มเลยแหละ และถ้าเป็นอย่างงั้นเราจะเอายังไงกันดี? จะส่งทีมบี, ชุดยู 23 หรือต่ำกว่านั้นไป? หรือจะเซย์บายไม่ส่งทีมเข้าแข่งขัน? (อย่าลืมนะว่านี่ไม่ใช่รายการที่อยู่ในปฎิทินฟีฟ่าและแน่นอนว่าคงเป็นเรื่องยากในการขอตัวนักเตะจากต้นสังกัด)
เรื่องต่อมาคือ “เงินทองไม่เข้าใครออกใคร” การเลื่อนลีกให้ไปแข่งกันใหม่ในเดือนกันยายนนั่นเท่ากับว่าสัญญาเดิมที่แต่ละสโมสรทำกับนักเตะไว้คงต้องปรับแก้กันใหม่แบบอีรุงตุงนัง และแน่นอนว่ามาตราการ “หั่น” ค่าใช้จ่ายด้วยการขอให้นักเตะ, โค้ชและทีมงานสต๊าฟลดเงินเดือนของตัวเองเพื่อเซพสโมสรนั้นจะต้องถูกเขียนลงไปในสัญญาเป็นแน่ ที่สำคัญคือลดเท่าไหร่ถึงเหมาะสมล่ะ? และจะมีซักกี่รายที่คล้อยตาม? นี่จะเป็นที่มาของการฉีกสัญญาและจำนวนข้อพิพาทมากมายได้หรือไม่? และจะเป็นเหตุให้เกิดการโยกย้ายสังกัดครั้งใหญ่ได้หรือเปล่า? (แม้สมาคมฯจะบอกว่าลดได้ 50% และฟีฟ่าเองก็เปิดช่องให้ทั้งสองฝ่าย แต่ก็ใช่ว่าบรรทัดฐานของคำว่า “เหมาะสม” ของแต่ละคนนั้นจะเท่ากัน และการหั่นเงินเดือนถึงครึ่งนึงสำหรับนักเตะโนเนมซึ่งเดิมทีก็ไม่ได้มีเงินเดือนมากมายก็อาจเหมือนการอุดลมหายใจของเขาและครอบครัวไปเลยก็เป็นได้)
“เอาหน่า..ค่อยๆว่ากันไป” เตะเลกเดียวหน่ะไม่มีแน่ๆแต่เตะแบบปิดยังพอมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับสถานการ์ณในอนาคตว่าจะเป็นไปในทิศทางใด แต่ที่แน่ๆต่อแต่นี้เป็นต้นไปแฟนบอลชาวไทยคงต้องปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การเชียร์บอลของตัวเองเสียใหม่ จากเดิมที่จะได้เชียร์ทีมรักตั้งแต่ก่อนเข้าฤดูร้อนจนไปจบที่ก่อนเข้าฤดูหนาว เปลี่ยนเป็น “ฤดูฝนจะไร้ซึ่งบอลไทย” แบบนี้แล้วจะถูกใจท่านบ้างมั้ย? แล้วท่านผู้อ่านล่ะ..ว่าไง?
TAG ที่เกี่ยวข้อง