stadium

ทุนโอลิมปิก(ที่หายไป)ของว่ายน้ำไทย ?

14 เมษายน 2563

ในวงการกีฬาโลกยุคปัจจุบัน นอกจากฝีมือ และความทุ่มเท มุ่งมั่นตั้งใจแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เงินทองและโอกาส ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะนำพานักกีฬาคนหนึ่งไปถึงจุดหมายอย่างที่ตั้งใจ ด้วยเหตุนี้ทางคณะกรรมการโอลิมปิคสากล จึงมีการจัดตั้งกองทุนที่เรียกว่า Olympic Solidarity Scholarship ขึ้น ซึ่งทุนนี้ได้เปลี่ยนแปลงวงการกีฬาทั้งโลกไปอย่างมากมาย เช่นเดียวกับวงการว่ายน้ำไทยเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ที่ได้รับอานิสงส์จากทุนนี้แบบเต็ม ๆ เช่นกัน 

 

 

ทุนนี้คือทุนอะไร

ทุน Olympic Solidarity เป็นทุนที่คณะกรรมการโอลิมปิคสากลได้จัดตั้งขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือ และพัฒนาวงการกีฬาของประเทศสมาชิก โดยจะมีการจัดตั้งทุนขึ้นทุก ๆ 4 ปี โดยเริ่มครั้งแรกในปี 1985-1988 ด้วยทุนเริ่มต้นเพียง 28 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทุนนี้มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากกระแสความนิยมในตัวกีฬาโอลิมปิกที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  ทำให้ส่วนแบ่งจากค่าลิขสิทธิ์จากการแข่งขันรายการกีฬาต่าง ๆ ถูกระดมทุนเข้ามาอยู่ในกองทุนนี้มากขึ้นตามไปด้วย 

 

จากข้อมูลล่าสุดกองทุนนี้มีมูลค่าสูงถึง 509 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเงินจำนวนนี้จะถูกจัดสรรไปให้กับนักกีฬาทั่วโลกเพื่อใช้เตรียมตัวเข้าแข่งขันรายการในการดูแลของคณะกรรมการโอลิมปิกสากลช่วงปี 2017-2020 นั้นรวมถึง ศึกโตเกียวโอลิมปิก ในปี 2020 ที่ถูกเลื่อนออกไปในปี 2021 ด้วย

 

ทุนนี้ดีอย่างไร

ไม่มีอะไรตอบคำถามนี้ได้ดีไปกว่าผลงานในอดีตที่เกิดขึ้นแล้ว ช่วงปี 2013-2016 คณะกรรมการโอลิมปิคสากล จัดสรรงบให้กับประเทศสมาชิกทั่วโลกถึง 440 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้เตรียมตัวเข้าแข่งขันรายการที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการโอลิมปิคสากล ในช่วงระหว่างนั้น ซึ่งนั้นรวมถึงศึกโอลิมปิก ริโอ เกมส์ 2016 มีนักกีฬาได้ทุนนี้แล้วได้เข้าร่วมแข่งโอลิมปิกถึง 815 คน จากจำนวนนักกีฬา 1,547 คนทั่วโลกที่ได้รับทุนนี้ นักกีฬาทุนทั้ง 815 คนที่ได้เข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ ปี 2016 ช่วยกันทำเหรียญได้ถึง 33 เหรียญทอง 26 เหรียญเงิน และ42 เหรียญทองแดง รวมทั้งหมด 101 เหรียญ ซึ่งเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมมาก ในจำนวน 33 เหรียญทองนั้น มี 1 เหรียญทองจากว่ายน้ำรวมอยู่ด้วยจาก ดิมิทรี่ บาลันดิน นักว่ายน้ำจากประเทศ คาซัคสถาน ที่ได้รับการช่วยเหลือด้านการเงินจากทุนนี้ และสามารถสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองว่ายน้ำโอลิมปิกเหรียญแรกให้กับบ้านเกิดได้สำเร็จ ด้วยการล้ม จอช พรีน็อต ตัวเต็งจากสหรัฐอเมริกา ได้แบบ Shock คนดูทั้งสนามในวันนั้น 

 

 

ทุน Olympic Solidarity กับว่ายน้ำไทย

วงการว่ายน้ำไทยก็เป็นอีกหนึ่งวงการที่ได้รับประโยชน์จากทุนนี้เต็ม ๆ อาจารย์ ธนาวิชญ์ โถสกุล เลขาธิการสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย ได้เล่าให้เราฟังว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2535 ทางคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ได้รับทุนนี้จาก คณะกรรมการโอลิมปิคสากล เพื่อให้นักกีฬาไทยได้ใช้ฝึกซ้อม และศึกษาต่อต่างประเทศ 

 

ไม่ใช่แค่โชคดีอย่างเดียว แต่กับผลงานที่ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่สามารถพัฒนาได้ในช่วงนั้น ทำให้ 2 นักว่ายน้ำไทยดาวรุ่งในขณะนั้นอย่าง รัฐพงศ์ สิริสานนท์ และประพาฬสาย มินประพาฬ ได้รับการพิจารณาให้ไปฝึกซ้อมที่ Bolless School โรงเรียนที่มีชื่อเสียงด้านการว่ายน้ำมาก ๆ ของประเทศสหรัฐอเมริกา ปั้นนักว่ายน้ำระดับเหรียญทองโอลิมปิกมาแล้วนับไม่ถ้วน ซึ่งในครั้งนั้น คณะกรรมการโอลิมปิคสากลได้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดทั้งค่าการฝึกซ้อม และค่าการศึกษา โดยครอบครัวของ รัฐพงศ์ และประพาฬสาย ออกค่าใช้จ่ายในส่วนของ ค่าใช้จ่ายส่วนตัว เงินที่ใช้สมัครแข่งขันรายการต่าง ๆ ค่าเดินทาง และค่าเข้า Camp ในช่วงปิดภาคเรียน  

 

 

ผลดีของทุนนี้ต่อว่ายน้ำไทย

เหมือนเดิมคงไม่มีอะไรตอบได้ดีไปกว่าผลงานที่เกิดขึ้นไปแล้ว ถ้าเราแค่นับเหรียญทองซีเกมส์ของนักว่ายน้ำไทยที่เคยผ่านการได้รับทุนนี้ในอดีต ทั้งที่ได้ไปซ้อมต่างประเทศ และได้ทุนเป็นเงินเดือนซ้อมที่ประเทศไทย เอาเหรียญทองซีเกมส์ทั้งหมด ของรัฐพงศ์ สิริสานนท์, ประพาฬสาย มินประพาฬ, ชลธร วรธำรง และต่อวัย เสฏฐโสธร ที่เป็นนักว่ายน้ำระดับตำนานที่ได้ทุนนี้มารวมกันก็น่าจะได้ร่วม ๆ 50 เหรียญทองไปแล้ว ไม่นับรวมเหรียญเอเชียนเกมส์ หรือการควอลิฟายเวลาผ่านไปเข้าแข่งขันโอลิมปิกอีกต่างหาก ทุนอาจไม่ใช่ปัจจัยหลักในความสำเร็จทั้งหมด แต่จากผลงานทั้งหมดที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทุนนี้เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ดีมาก ๆ สำหรับวงการว่ายน้ำไทยในอดีตอย่างแน่นอน

 

ไม่ได้ทุนแล้วส่งผลกระทบอย่างไร 

ความจริงทุนนี้ไม่เคยได้หายไปไหนตามที่กล่าวมาในข้างต้นมันยังคงมีอยู่ตลอด แต่หลักเกณฑ์ที่จะได้รับมันยากขึ้นทำให้มันดูเหมือนว่าทุนนี้ได้ตายหายไปจากวงการว่ายไทยไปแล้ว ทุนยังคงถูกส่งผ่านมาที่คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยเหมือนเดิมทุก 4 ปี แต่เพียงคราวนี้การให้ทุนต้องให้ทาง FINA เข้ามาร่วมพิจารณาด้วย

 

นอกจากนั้นยังไม่พอ การที่จะได้รับทุนนักว่ายน้ำไทยยังต้องไปแข่งกับนักกีฬาชนิดอื่นของไทย ที่มีผลงานเป็นรูปธรรมกว่าชัดเจนในช่วงหลัง อย่าง เทควันโด, มวยสากล, ยิงปืน หรือ แบดมินตัน นั้นทำให้โอลิมปิก 2 ครั้งหลังไร้นักว่ายน้ำไทยในรายชื่อนักกีฬาที่ได้ทุนจาก Olympic Solidarity (มีนักกีฬาไทยได้ทุนนี้ 21 ทุนในโอลิมปิก 2 ครั้งหลังสุด) ทุกวันนี้การได้ทุนไปฝึกซ้อมที่ต่างประเทศแบบ 100% เหมือนฉลามหนุ่ม เงือกสาว รุ่นพี่ เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับนักว่ายน้ำรุ่นใหม่ เพราะค่าใช้จ่ายต่อปีในการฝึกซ้อมที่ต่างประเทศรวมทุกอย่างแล้วพุ่งสูงถึงเกือบ 3 ล้านบาทต่อปี 

 

ในปัจจุบัน ถึงจะอยากทำเพื่อประเทศชาติมากแค่ไหนแต่ถ้าปราศจากทุนช่วยเหลือแล้ว คงมีนักว่ายน้ำน้อยคนที่อยากเสี่ยงจ่ายเงินเฉียดหลัก 10 ล้าน เพื่อการไปฝึกซ้อมที่ไม่ได้การันตีผลลัพธ์เป็นเหรียญทองอะไรเลย แถมยังเป็นกีฬาที่ต่อยอดเป็นกีฬาอาชีพทำเงินในอนาคตไม่ได้อย่างว่ายน้ำอีกด้วย 

 

กลับมาที่ทุน Olympic Solidarity ถึงแม้การได้ทุนนี้จากคณะกรรมการโอลิมปิคสากลจะไม่ได้ทำให้มีโอกาสมากเหมือนรุ่นพี่สมัยก่อน แต่กับเงินสนับสนุนตกราวเดือนละ 13,000 บาท ก็เป็นอะไรที่นักว่ายน้ำไทยควรจะคว้ามาให้ได้ เพราะมันก็สามารถที่จะช่วยให้นักว่ายน้ำคนหนึ่งได้มีรายได้ในการดำรงชีวิต สามารถฝึกซ้อมแบบมีสมาธิกับการฝึกซ้อม และการแข่งขันมากขึ้น โดยไม่ต้องมาคอยพะวงกับการที่ต้องมาหารายได้พิเศษ เพื่อที่จะให้ตัวเองยังคงสถานะเป็นนักว่ายน้ำอยู่ได้ ส่วนนักว่ายน้ำไทยจะกลับไปได้ทุนนี้อีกครั้งเมื่อไหร่ ตอนนี้มันก็ขึ้นอยู่กับผลงานของพวกเขาแล้วว่าจะทำได้ดีต่อเนื่อง และเข้าตามากแค่ไหนในอนาคต

 


stadium

author

ฉลามหนุ่มไทยแลนด์

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose