16 กันยายน 2563
อาริอาเกะ ยิมนาสติก เซ็นเตอร์ คือหนึ่งในสนามที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่และใช้แข่งเฉพาะรายการ โอลิมปิก และ พาราลิมปิก 2020 เท่านั้น แต่สิ่งที่พิเศษสุดของศูนย์กีฬาแห่งนี้ไม่ใช่ความใหม่แต่อย่างใด หากเป็นนวัตกรรมที่ใช้แผ่นไม้ธรรมชาติจากทั่วเกาะญี่ปุ่นมาเป็นวัสดุในการสร้าง เพื่อตอบโจทย์แนวคิดความยั่งยืนของ โตเกียว 2020
นวัตกรรม 1,000 ปีของญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่อในเรื่องของนวัตกรรมมาอย่างยาวนาน ซึ่งมีสถาปัตยกรรมหนึ่งที่เรียกได้ว่าอยู่กับแดนอาทิตย์อุทัยมานับพันปี นั่นคือ “ทักษะงานประกอบไม้” (Joinery) ซึ่งสามารถย้อนกลับไปได้เกิน 1,000 ปี ทักษะดังกล่าวนั้นเป็นการประกอบไม้เข้าด้วยกันจนเป็นโครงสร้างของสถานที่หลายขนาดต่างกันไป ไล่ตั้งแต่ “บ้านน้ำชา” (Tea House), บ้านเรือนทั่วไป ไปจนถึงวัดขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่นวัด คิโยมิซุ ที่เมืองเกียวโต หรือวัด โทได-จิ ที่เมืองนาระ ก็ล้วนแต่ใช้สถาปัตยกรรมดังกล่าวแทบทั้งสิ้น ซึ่งความมหัศจรรย์ของศิลปะดังกล่าวนั่นคือ งานประกอบไม้จะนำเพียงไม้มาประกอบกันเท่านั้น โดยไม่ใช้ตะปูหรือเครื่องมือเหล็กมาช่วยเลย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
ความอบอุ่นที่มาจากธรรมชาติแท้จริง
อาริอาเกะ ยิมนาสติก เซ็นเตอร์ ตั้งอยู่ในบริเวณไม่ไกลจากหมู่บ้านนักกีฬาที่เขตฮารุมิ ด้วยความจุถึง 12,000 ที่นั่ง จึงทำให้ศูนย์กีฬาแห่งนี้เป็นหนึ่งในสนามกีฬาที่สร้างจากไม้ธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งความพิเศษของสนาม อาริอาเกะ คือการใช้ทักษะงานประกอบไม้ (Joinery) ซึ่งเป็นศิลปะโบราณมาใช้ในงานสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นนั่นเอง ทุกส่วนของสนามแห่งนี้ล้วนทำมาจากไม้ธรรมชาติแทบทั้งสิ้น โดยส่วนตกแต่งภายนอกถูกออกแบบให้ดูคล้ายกับเรือไม้ที่ล่องอยู่บนอ่าวญี่ปุ่นในสมัยโบราณซึ่งได้ใช้ไม้ซีดาร์จาก 3 จังหวัดคือ ชิซุโอกะ, อคิตะ และ มิยาซากิ ส่วนของทางเดินนั้นออกแบบให้โค้งตามแบบของ “เอนกาวะ” (ทางเดินระเบียงแบบญี่ปุ่นโบราณ) ในส่วนของการตกแต่งภายในสนามแข่งขันได้ใช้ไม้ซีดาร์จากจังหวัด มิเอะ มาทำเป็นที่นั่งให้กับผู้เข้าชม แต่ส่วนที่พิเศษที่สุดนั่นคือหลังคาโค้งของสนามแข่งขันที่ทำจากไม้ธรรมชาติล้วนๆ ซึ่งใช้ไม้สนจากจังหวัดนางาโน่และฮอกไกโดมาประกอบกัน ทำให้สนาม อาริอาเกะ มีหลังคาที่สร้างจากไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยรวมทั้งหมดแล้วสนามแห่งนี้ใช้ไม้ธรรมชาติไปขนาดทั้งหมด 2,300 คิวบิกเมตร
“เราใช้ไม้ไปเยอะมากครับ” โคอิชิ ฟุกุอิ ผู้จัดการส่วนสนามแข่งขันให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่น
“สนามแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมอันยาวนานของเรา มันเรียบง่าย สวยงาม และดูทันสมัยเสมอ แม้ว่าวิธีการนี้จะมีอายุหลายพันปีก็ตาม เราสามารถสัมผัสได้ถึงธรรมชาติภายในสนามแห่งนี้”
“ผมอยากให้ผู้เข้าแข่ง ผู้ชมที่ได้มาที่แห่งนี้รับรู้ถึงธรรมชาติและความอบอุ่นที่มาจากป่าไม้จริงๆ ของญี่ปุ่นครับ”
สนามแห่งนี้มีใช้งบประมาณการสร้างไปทั้งสิ้นราว 2 หมื่นล้านเยน คิดเป็นเงินไทยราวๆ 5 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามศูนย์กีฬาแห่งนี้เป็นเพียงแค่สนามชั่วคราวเท่านั้น โดยการแข่งขัน โตเกียว โอลิมปิก ครั้งนี้จะประกอบไปด้วย 43 สนาม มีสนามถาวรแห่งใหม่ทั้งหมด 8 สนาม, สนามเดิม 25 แห่ง, สนามชั่วคราว 10 แห่ง ซึ่งสนาม อาริอาเกะ เป็นหนึ่งในนั้นแต่ก็ไม่ได้ถูกทุบทิ้ง แต่จะกลายเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งพิพิธภัณฑ์, ศูนย์ประชุม และจัดแข่งกีฬาก็ได้เช่นกัน
ภายใต้ความสวยงามของนวัตกรรมสมัยใหม่ อาริอาเกะ ยิมนาสติก เซ็นเตอร์ จะทำให้ผู้ที่ได้เข้ามาสนามแห่งนี้รับรู้ได้ถึงกลิ่นอายของธรรมชาติ และความอบอุ่นจากไม้ป่าทั่วเกาะญี่ปุ่น ที่รังสรรค์โดยศิลปะแห่งภูมิปัญญาที่ล้ำค่าของชาวญี่ปุ่นที่มีทั้งความสวยงามและความยั่งยืนควบคู่กันไป
TAG ที่เกี่ยวข้อง