stadium

อรวรรณ พาระนัง ถ้าชีวิตไม่มีปิงปองหนูคงได้ทำงานร้านสะดวกซื้อ

13 เมษายน 2563

เมื่อกีฬาเป็นมากกว่าแค่เกมการแข่งขัน หรือการออกกำลังกาย แต่มันอาจหมายถึง ความเป็นอยู่ของทั้งครอบครัว ชีวิตของทิพย์ อรวรรณ พาระนัง นักเทเบิลเทนนิสสาวทีมชาติไทยวัย 23 ปี  คืออีกหนึ่งตัวอย่างของนักกีฬา ที่ใช้ความสามารถในเชิงกีฬา และความทุ่มเทฝึกซ้อม เพื่อยกระดับเปลี่ยนความเป็นอยู่ของครอบครัวให้ดีขึ้น

 

 

เกม 1 ลูกเด้งสาวต้นทุนต่ำ

ถ้าเปรียบชีวิตเป็นการแข่งขันเทเบิลเทนนิส เกมแรกของ ทิพย์ อรวรรณ พาระนัง คงเริ่มต้นได้ไม่สวยหรูสักเท่าไหร่ ด้วยฐานะครอบครัวที่คอนข้างยากจน ทำให้แม้แต่ไม้ปิงปองอันแรกในชีวิต ยังต้องเป็น คุณครูนิวาส สมคะเน โค้ชคนแรกในชีวิตเธอที่เป็นธุระจัดหามาให้ โดยตัวเธอเริ่มคลุกคลีกับกีฬาลูกเด้งตั้งแต่ชั้นอนุบาล 3 พอขึ้นประถม 1 ก็เริ่มหัดเดาะลูกตีจริงจัง ไปจนถึงจุดหนึ่ง ทิพย์ อรวรรณ ก็ไม่ได้มองกีฬาเทเบิลเทนนิสเป็นเพียงแค่กีฬาที่ใช้เล่นเพื่อความสนุกอีกต่อไปแล้ว และนั้นเป็นจุดเปลี่ยนแรกในการใช้กีฬาเทเบิลเทนนิส พาตัวเองเดินทางไกลเพื่อช่วยเหลือทั้งครอบครัวของเธอ

 

 

เกม 2 ลูกเด้งอีสานในเมืองกรุง

ด้วยฝีไม้ลายมือที่หาตัวจับได้ยากจริง ๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้ อรวรรณ พาระนัง คิดการใหญ่ในการพาตัวเองเข้าสู่ สังกัดโรงเรียนกีฬากรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยครอบครัวประหยัดค่าใช้จ่ายในการศึกษา แถมจะได้หาเงินจุนเจือครอบครัวจากการแข่งขันได้อีกทาง ด้วยแรงขับดันอันมหาศาล เธอก็สามารถทำได้สำเร็จดังหวังหลังมาอยู่กรุงเทพมหานครได้เพียงแค่ปีเดียว เด็กหญิงตัวเล็ก ๆ จากภาคอีสานอย่างเธอ สามารถนำเงินรางวัลจากการแข่งขันกีฬา ส่งกลับบ้านเกิดที่อุบลราชธานีได้ทุกเดือน ตั้งแต่วันนั้น มาจนถึงปัจจุบัน และโอกาสในเมืองหลวงนี่แหละ ที่พาเธอเดินทางไกลต่อไปอีกในเส้นทางสายนี้

 

 

เกม 3 บททดสอบลูกเด้งสาวดาวรุ่ง

อรวรรณ พาระนัง ไม่เพียงส่งเงินกลับบ้านได้ทุกเดือน แต่ด้วยฝีไม้ลายมือ การเล่นที่ดีวันดีคืน กวาดแชมป์รายการต่าง ๆ แบบนับไม่ถ้วน ทำให้เธอขึ้นทำเนียบลูกเด้งสาวดาวรุ่งที่น่าจับตามอง จนทำให้ประตูสู่ทีมชาติไทย เปิดอ้าแขนต้อนรับเธอในวัย 18 ปี ถึงตรงนี้เส้นทางเหมือนจะสวยหรู แต่นั้นทำให้เธอต้องพบกับอีกหนึ่งบททดสอบที่สำคัญในชีวิต การเริ่มต้นเป็นนักกีฬาเทเบิลเทนนิส ของเธอในระดับชาตินั้นไม่ง่ายเลย ถึงแม้เธอจะซ้อมหนักแค่ไหนก็ตาม แต่ผลลัพธ์ในช่วงนั้นจะออกไปทางแพ้มากกว่าชนะ จนเริ่มทำให้เธอรู้สึกท้อ ในบางครั้งเธอเคยคิดถึงขั้นอยากวางไม้ เลิกเล่นไปเลยด้วยซ้ำ แต่ก็เป็นครอบครัวนี่แหละที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวสำคัญที่ทำให้เธอผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายมาได้สำเร็จ

 

 

เกม 4 เวทีระดับชาติ และเกมของมืออาชีพ 

หลังจากผ่านมรสุมอย่างหนักในช่วงแรกที่ติดทีมชาติไทย อรวรรณ พาระนัง ก็เริ่มปรับตัวได้ และอย่างที่ใคร ๆ เขาว่ากัน หลังจากจบมรสุม ท้องฟ้ามักจะสดใสอยู่เสมอ เฉกเช่นเดียวกับชีวิตนักเทเบิลเทนนิสของ อรวรรณ พาระนัง ที่ดูสดใสขึ้นทันตา ถึงตอนนี้ในเวทีระดับทีมชาติ เธอติดทีมซีเกมส์มาแล้ว 3 สมัย โดยสามารถคว้าเหรียญมาคล้องคอได้ทุกสมัย โดยเฉพาะกับครั้งล่าสุดในปี 2019 เธอก็สามารถคว้าเหรียญทองซีเกมส์ มาครองได้สำเร็จจากประเภทหญิงคู่ บนการแข่งขันระดับมืออาชีพ เธอก็ทำผลงานได้ดีไม่น้อย สร้างประวัติศาสตร์ในรอบ 31 ปี เป็นแชมป์ทั้งหญิงเดี่ยว และทีมหญิงในรายการ “โกลเด้น แร็กเกต” ที่ประเทศเวียดนาม รองแชมป์หญิงคู่  อินโดนีเซีย และโปรตุเกส โอเพ่น ผลงานที่ดีเข้าตาทำให้เธอได้ไปเล่นอาชีพในประเทศ สเปน กับทีม Lineres แห่งแคว้น อันดาลูเซีย และสามารถทำอันดับโลกสูงสุดถึงอันดับ 87 ของโลก โดยเป็นนักเทเบิลเทนนิสหญิงคนที่ 4 ของประเทศไทยที่มีอันดับโลกอยู่ใน top 100 

 

เกม 5 ชีวิตที่ขาดเทเบิลเทนนิสไม่ได้

“นึกไม่ออกเลยจริง ๆ ถ้าไม่มีปิงปองชีวิตจะเป็นยังไง” คำตอบของ อรวรรณ พาระนัง เมื่อถูกถามถึงเส้นทางชีวิตที่ปราศจากการเล่นเทเบิลเทนนิส หนูคงเรียนไม่จบมัธยม 6 ไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย คงช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำสวน ไม่งั้นก็คงทำงานร้าน 7-11 ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องเลยกับชีวิตของเธอที่มีเทเบิลเทนนิส  ตอนนี้เธอได้เดินทางไปทั่วทั้งโลกเพื่อลงแข่งรายการต่าง ๆ เธอเรียนจบระดับมหาวิทยาลัยได้แบบไม่ต้องรบกวนเงินจากทางบ้านแม้แต่น้อย มีอาชีพการงานที่มั่นคง มีบ้านให้คุณพ่อคุณแม่อยู่ มีรถยนต์ขับ เปลี่ยนชีวิตของทั้งครอบครัวเธอให้ดีขึ้นแบบ แบ็คแฮนด์ เป็น โฟร์แฮนด์  เลย 

 

 

เกม 6 เสาหลักต้นที่ 4 แห่งทีมหญิงไทย

การคว้าแชมป์ประเทศไทยในปี 2562 ที่ผ่านมาทั้งในประเภทหญิงเดี่ยว และหญิงคู่ ทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อรวรรณ พาระนัง ในวันนี้ได้กลายเป็น 1 ในเสาหลัก 4 ต้นของวงการเทเบิลเทนนิสหญิงไทย ร่วมกับ แป๋ว นันทนา คำวงศ์ รุ่นพี่ที่เป็นขวัญใจ และเปรียบเสมือนทุกอย่างในชีวิตการเล่นเทเบิลเทนนิสของเธอ, สุธาสินี เสวตรบุตร คู่ขวัญผู้ถูกโฉลกของเธอ แชมป์หญิงคู่รายการใหญ่ ๆ ของเธอส่วนใหญ่ล้วนจับคู่กับพี่หญิงคนนี้นี่แหละ และคนสุดท้าย แตงโม ธมลวรรณ เขตต์เขื่อน เพื่อนร่วมรุ่นที่เป็นเหมือนแรงผลักดันซึ่งกันและกัน วงการเทเบิลเทนนิสหญิงไทยปัจจุบันที่มีเสาหลักครบทั้ง 4 ต้นช่วยค้ำยัน น่าจะยืนหยัดต่อสู้กับนักตบลูกเด้งในเวทีระดับนานาชาติได้อย่างมั่นคงมากขึ้น

 

เกม 7 เกมแห่งอนาคตที่ยังไม่จบ

ถ้าเราเล่นระบบ 4 ใน 7 เกม นี่อาจเป็นเกมสุดท้าย ถ้าเล่นระบบ 3 ใน 5 เกมก็คงไม่มีเกมนี้แน่ ๆ ถ้าเล่นระบบ 5 ใน 9 เกม ก็อาจจะมาไม่ถึงเกมนี้อยู่ดี เช่นเดียวกับเกมชีวิตจริง และความฝันในเส้นทางเทเบิลเทนนิส ในอนาคตข้างหน้าของ อรวรรณ พาระนัง ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะจบลงแบบไหน จะได้เข้าร่วมโอลิมปิกสักครั้ง หรือจะได้สัมผัสเหรียญโอลิมปิกที่ฝันแต่ได้มาแสนยากเหลือเกินไหม อนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จะมีเกมหน้าให้เล่นอีกไหม ไม่มีใครรู้ แต่สำหรับเธอแล้วเพื่อครอบครัว และประเทศชาติที่รัก รับรองว่าถ้ายังไม่จบเกม อรวรรณ พาระนัง พร้อมสู้สุดใจอย่างแน่นอน


stadium

author

ฉลามหนุ่มไทยแลนด์

StadiumTH Content Creator

โฆษณา