stadium

ย้อนรอย สเตฟฟี่ กราฟ กับ โกลเด้น สแลม ประวัติศาสตร์

10 กันยายน 2563

แชมป์แกรนด์สแลม คือหนึ่งในเป้าหมายสูงสุดของนักเทนนิสอาชีพ การจะคว้าแชมป์ให้ได้สัก 1 สมัย ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ และยิ่งเป็นการคว้าแชมป์ครบทั้ง 4 รายการ คือ ออสเตรเลียน โอเพ่น, เฟรนช์ โอเพ่น, วิมเบิลดัน และ ยูเอส โอเพ่น ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องยากที่น้อยคนนักจะทำได้สำเร็จ

 

ขณะเดียวกัน เหรียญทองโอลิมปิกก็คืออีกหนึ่งเป้าหมายสูงสุดของนักกีฬาทั่วโลก การพิชิตยอดของมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติที่จัดแข่งทุก ๆ 4 ปี ย่อมท้าทายมากกว่าแกรนด์สแลมที่มีแข่งทุกปี

 

ดังนั้นหากมีนักเทนนิสคนใดคว้าแชมป์แกรนด์สแลมครบทั้ง 4 รายการ บวกกับเหรียญทองโอลิมปิก หรือที่เรียกว่า โกลเด้น สแลม ได้สำเร็จ เขาหรือเธอคนนั้นย่อมได้รับการยกย่องให้เป็นที่สุดของวงการลูกสักหลาด

 

แต่มีนักเทนนิสคนหนึ่งที่ก้าวขึ้นไปเหนือกว่านั้น นั่นคือการคว้าแชมป์ทั้ง 5 รายการในปีเดียวกัน นั่นก็คือ สเตฟฟี่ กราฟ ตำนานชาวเยอรมัน และที่สำคัญเธอทำได้สำเร็จตอนที่มีอายุเพียง 19 ปี

 

โกลเด้น สแลมของกราฟยิ่งใหญ่แค่ไหน และเธอต้องผ่านอะไรก่อนจะได้รับการจารึกชื่อในประวัติศาสตร์ ติดตามได้ที่นี่

 

 

สาวน้อยมหัศจรรย์

สเตฟฟี่ กราฟ เทิร์นโปรตั้งแต่อายุเพียง 13 ปี และได้รับการจับตามองว่าจะก้าวขึ้นมารับช่วงความยิ่งใหญ่ต่อจากยุคของ คริส เอเวิร์ต และ มาร์ติน่า นาฟราติโลว่า หลังใช้เวลาไม่กี่ปีก็ก้าวขึ้นมาเป็นมือวาง 10 อันดับแรกของโลกได้สำเร็จ

 

แม้ในช่วงเริ่มต้นอาชีพ กราฟจะยังไม่ประสบความสำเร็จถึงขั้นคว้าแชมป์ แต่ก็ทำผลงานได้อย่างสม่ำเสมอ เข้ารอบลึก ๆ ได้หลายรายการ โดยเฉพาะการเข้าถึงรอบรองฯ ยูเอส โอเพ่น 2 ปีติดต่อกันช่วงปี 1985-86 ขณะที่ก่อนหน้านั้น เธอยังได้เข้าร่วมการแข่งขัน โอลิมปิก เกมส์ ที่นครลอส แองเจลิส เมื่อปี 1984 ซึ่งเทนนิสกลับมามีแข่งในโอลิมปิกอีกครั้งในสถานะกีฬาสาธิต หลังจากหลุดโผไปนานกว่า 60 ปี โดยกราฟคว้าแชมป์ในการแข่งครั้งนั้นด้วยการเอาชนะ ซาบริน่า โกเลส จาก ยูโกสลาเวีย แต่ไม่ถูกบันทึกเป็นเหรียญทองอย่างเป็นทางการ

 

ปี 1987 คือปีที่เธอฉายแสงอย่างเต็มที่ หลังจากได้สัมผัสแชมป์ 8 รายการในปีก่อนหน้านั้น บวกกับอีก 6 แชมป์ในครึ่งแรกของปี กราฟก็คว้าแชมป์แกรนด์สแลมแรกได้สำเร็จจากเข้าชิงฯ ครั้งแรกในรายการ เฟรนช์ โอเพ่น โดยเอาชนะ มาร์ติน่า นาฟราติโลว่า มือ 1 ของโลก ก่อนจะเข้ารอบชิงฯ ใน 2 รายการต่อมาคือ วิมเบิลดัน และยูเอส โอเพ่น แต่โดนนาฟราติโลว่าถอนทุนคืนทั้งหมด

 

อย่างไรก็ตามแม้จะได้แค่รองแชมป์ใน 2 รายการหลัง แต่กราฟก็แซงหน้าตำนานชาวเช็ก-อเมริกัน ขึ้นไปเป็นมือวางอันดับ 1 ของโลกด้วยวัยเพียง 18 ปี

 

ด้วยฟุตเวิร์กที่ยอดเยี่ยม, โฟร์แฮนด์ที่หนักหน่วง, แบ็กแฮนด์ที่ทรงประสิทธิภาพ รวมทั้งลูกเสิร์ฟที่ไว้ใจได้ ทำให้กราฟเป็นนักหวดที่ครบเครื่องและประสบความสำเร็จในทุกพื้นผิว และเขียนประวัติศาสตร์ได้สำเร็จในปีต่อมา

 

 

ออสเตรเลียน โอเพ่น จุดเริ่มของตำนาน

กราฟซึ่งเป็นหนึ่งในตัวเต็ง ผ่านเข้ารอบลึก ๆ ได้ตามคาด เธอเข้าถึงรอบก่อนรองฯ รายการนี้ได้เป็นครั้งแรกในอาชีพโดยเสียไปเพียง 13 เกม และไม่เสียแม้แต่เซตเดียว ก่อนจะเอาชนะ ฮาน่า มานด์ลิโคว่า แชมป์เก่าขาดลอย 6-2 และ 6-2

 

มาถึงรอบรองชนะเลิศ กราฟต้องวัดฝีมือกับ เคลาเดีย โคห์เด้อ-คิลช์ มือ 8 ของรายการ เพื่อนร่วมชาติ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา เมื่อเธอเอาชนะไป 2 เซตรวด เสียเพียง 5 เกมเท่านั้น

 

รอบชิงชนะเลิศ เป็นแมตช์ที่ทุกคนรอคอย กราฟ ต้องดวลกับ เอเวิร์ต ซึ่งเข้ารอบชิงฯ รายการนี้ทุกครั้งที่เข้าร่วมการแข่งขัน และเคยคว้าแชมป์มาแล้ว 2 สมัย

 

อย่างไรก็ตาม ตำนานชาวเยอรมันเก็บเซตแรกอย่างง่ายดาย 6-1 และแม้เซตต่อมา เอเวิร์ต จะไว้ลายอดีตมือ 1 ของโลกด้วยการยื้อไปถึงไทเบรก แต่สุดท้าย กราฟ ก็เป็นฝ่ายกำชัย พร้อมคว้าแชมป์รายการนี้เป็นสมัยแรกได้สำเร็จ

 

 

เฟรนช์ โอเพ่น ป้องกันแชมป์แบบสบายมือ

ในฐานะแชมป์เก่า กราฟลงแข่งที่ โรลองด์ การ์รอส ด้วยฟอร์มที่ดีกว่า ออสเตรเลียน โอเพ่น โดยผ่านเข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้ายแบบเสียไม่เกิน 4 เกมต่อแมตช์ ก่อนจะถล่ม เบตติน่า ฟุลโก้ 6-0, 6-1  เข้ารอบตัดเชือกไปเจอกับ กาเบรียล่า ซาบาตินี่ มือ 4 จาก อาร์เจนตินา

 

กราฟเจองานยากแต่ยังเอาชนะมาได้ 2 เซตรวด 6-3 และ 7-6 ไทเบรก 7-3 เข้ารอบชิงฯ เป็นปีที่ 2 ติดต่อกันไปเจอ นาตาชา ซเวเรว่า มือ 13 ของรายการที่พลิกล็อกเอาชนะ นาฟราติโลว่า มาได้ในรอบที่ 4 ส่วน เอเวิร์ต ตัวเต็งอีกรายก็ตกรอบ 3 จากการแพ้ อรันช่า ซานเชซ วิคาริโอ ทำให้เป็นครั้งแรกของศึก แกรนด์สแลม นับตั้งแต่เฟรนช์ โอเพ่น ปี 1981 ที่ไม่มีทั้ง นาฟราติโลว่า และ เอเวิร์ต เข้ารอบชิงฯ

 

อย่างไรก็ตาม ในรอบชิงฯ กราฟแสดงให้เห็นถึงความเหนือชั้น เมื่อเอาชนะ ซเวเรว่า ขาดลอยด้วยสกอร์ 6-0 ทั้ง 2 เซต ใช้เวลาทั้งหมดเพียง 34 นาที กลายเป็นสถิติรอบชิงฯ แกรนด์สแลมที่เร็วที่สุด และเป็นการเอาชนะเกมศูนย์เป็นครั้งแรกของรอบชิงฯ รายการใหญ่ ในยุคโอเพ่น

 

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

 

วิมเบิลดัน บันไดขั้นที่ 3

ถึงแม้จะคว้าแชมป์แกรนด์สแลม 2 รายการแรก ด้วยฟอร์มไร้เทียมทาน แต่กราฟก็ยังเป็นแค่เต็ง 2 ในศึกวิมเบิลดัน เนื่องจาก นาฟราติโลว่า คือแชมป์ 6 สมัยหลังสุด และเคยเป็นแชมป์มาแล้ว 8 สมัยพร้อมกับสถิติชนะ 100% ในรอบชิงฯ  

 

กราฟยังผ่านเข้ารอบก่อนรองฯ แบบสบายมือเช่นเคย ก่อนจะเอาชนะ ปาสกาเล่ ปาราดิส 6-3 และ 6-1 เข้ารอบรองฯ ไปเจอกับ แพม ชริเวอร์ มือ 3 ของรายการ

 

กราฟผ่านชริเวอร์โดยเสียไปเพียง 3 เกม ได้เข้าไปวัดฝีมือกับ นาฟราติโลว่า ในรอบชิงฯ แกรนด์สแลมเป็นหนที่ 4 ในอาชีพ

 

แน่นอนว่าการดวลกับนาฟราติโลว่าบนคอร์ทหญ้าเป็นบททดสอบที่หนักหนาสาหัส แม้กราฟจะขึ้นนำ 5-3 ในเซตแรก แต่ก็ถูกเอาคืน 4 เกมรวด เสียเซตไปอย่างไม่น่าเชื่อ

 

อย่างไรก็ตาม กราฟ ไม่เสียขวัญและดึงตัวเองกลับมาได้ ก่อนจะเอาชนะ 12 จาก 13 เกมต่อมา เก็บชัยชนะด้วยสกอร์ 5-7, 6-2 และ 6-1 ยุติความยิ่งใหญ่ของ นาฟราติโลว่า ที่ออลอิงแลนด์ได้สำเร็จ

 

 

ยูเอส โอเพ่น ครบชุด คาเลนดาร์ สแลม

หลังจากได้แชมป์มา 3 รายการ เมื่อถึง ยูเอส โอเพ่น ก็ยากที่จะหาใครมาหยุดความร้อนแรงของ สเตฟฟี่ กราฟ ยอดนักหวดชาวเยอรมันเข้าถึงรอบก่อนรองฯ ตามคาด ก่อนจะเอาชนะ คาเทริน่า มาลีว่า 2 เซตรวด ผ่านเข้ารอบรองฯ ไปเจอกับ คริส เอเวิร์ต แชมป์ 6 สมัย อย่างไรก็ตาม เอเวิร์ต ขอถอนตัวเนื่องจากปวดท้องทำให้กราฟผ่านเข้ารอบชิงฯ แบบไม่ต้องเสียเหงื่อ

 

อุปสรรคที่รอขัดขวางการทำคาเลนดาร์สแลม (คว้าแชมป์แกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการในปีเดียว) ของกราฟคือ กาเบรียล่า ซาบาตินี่ ซึ่งเจอกันมาในรอบรองฯ เฟรนช์ โอเพ่น

 

กราฟเหนือกว่าและเก็บเซตแรกไปครองตามคาด แต่ซาบาตินี่ไม่ยอมแพ้เอาคืนได้ในเซตต่อมาทำให้ต้องไปตัดสินในเซตที่ 3 และเป็นกราฟที่ยกระดับฟอร์มของตัวเองอีกครั้ง เอาชนะไป 6-1 คว้าแชมป์รายการนี้เป็นสมัยแรก และทำ คาเลนดาร์ สแลมได้สำเร็จเป็นคนที่ 5 ในประวัติศาสตร์ ต่อจาก ดอน บัดจ์, มัวรีน คอนนอลลี่ บริงเกอร์, ร็อด เลเวอร์ และมาร์กาเร็ต คอร์ต แต่เป็นคนแรกที่ทำได้ในคอร์ททั้ง 3 พื้นผิวคือคอร์ทหญ้า, คอร์ทดิน และฮาร์ดคอร์ด หลังจาก ยูเอส โอเพ่น เปลี่ยนมาใช้ฮาร์ดคอร์ทในปี 1978

 

 

โซล 1988 สู่ โกลเด้น สแลม ในรอบปฏิทินคนแรก และคนเดียวในประวัติศาสตร์

โอลิมปิก เกมส์ ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ คือด่านสุดท้ายที่กราฟต้องเคลียร์ให้สำเร็จ และหลังจากได้บายในรอบแรก เธอก็เอาชนะคู่แข่งใน 2 แมตช์ต่อมาแบบไม่ยากเย็นนัก

 

ในรอบก่อนรองชนะเลิศ กราฟ เอาชนะ ลาริซ่า ซาฟเชนโก้ 2-1 เซต เข้าสู่รอบรองฯ ไปเจอกับ ซิน่า การ์ริสัน มือ 8 ของรายการ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก กราฟ ชนะไปสบาย ๆ 6-2 และ 6-0

 

มาถึงรอบชิงเหรียญทอง กราฟต้องเจอกับ ซาบาตินี่ เป็นหนที่ 3 ในรอบปี และเป็นการเจอกันอีกครั้งในเวลาไม่ถึง 3 สัปดาห์ แต่คราวนี้ง่ายกว่าครั้งที่เจอกันในรอบชิงฯ ยูเอส โอเพ่น เมื่อเธอเอาชนะไป 2 เซตรวด 6-3 และ 6-3 บันทึกหน้าประวัติศาสตร์เป็นนักเทนนิสคนแรกที่ทำ โกลเด้น สแลม ในปีเดียวกันได้สำเร็จ ซึ่งยังไม่มีใครทำได้จนถึงปัจจุบัน

 

กราฟได้ไปป้องกันแชมป์โอลิมปิกในปี 1992 ที่นครบาร์เซโลน่า ก่อนจะคว้าเหรียญเงินมาครองหลังจากแพ้ เจนนิเฟอร์ คาปริอาตี้ ในรอบชิงชนะเลิศ

 

 

จากปรากฎการณ์สู่ตำนาน

ปีถัดมาหลังจากสร้างตำนาน กราฟ ป้องกันแชมป์แกรนด์สแลมได้ 3 รายการ ยกเว้น เฟรนช์ โอเพ่น ที่พลาดท่าต่อ อรันช่า ซานเชซ วิคาริโอ ในรอบชิงฯ 1-2 เซต ซึ่งก่อนที่เธอจะแขวนแร็กเก็ตในอีกราว 1 ทศวรรษหลังจากนั้น กราฟ คว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้อีก 14 รายการ ทำสถิติแชมป์สูงสุดของยุคโอเพ่นที่จำนวน 22 สมัย ก่อนที่เซเรน่าจะแซงได้สำเร็จ

 

แชมป์แกรนด์สแลมทั้งหมดที่เธอทำได้ แบ่งออกเป็น 4 แชมป์ออสเตรเลียน โอเพ่น, 6 แชมป์เฟรนช์ โอเพ่น, 7 แชมป์วิมเบิลดัน และ 5 แชมป์ยูเอส โอเพ่น ทำให้เธอเป็นนักเทนนิสคนเดียวที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมแต่ละรายการอย่างน้อย 4 สมัย  

 

รวมถึงการคว้าแชมป์ได้ 3 จาก 4 รายการในปีเดียวได้อีก 3 ครั้ง โดยแพ้ โมนิก้า เซเลส ในรอบชิงฯ ออสเตรเลียน โอเพ่น ปี 1993 และไม่ได้ลงแข่งในรายการดังกล่าวปี 1995-1996

 

วิมเบิลดันคือรายการที่กราฟประสบความสำเร็จมากที่สุดจากการคว้าแชมป์ 7 สมัยใน 9 ปี ส่วนแชมป์แกรนด์สแลมรายการสุดท้ายของเธอคือ เฟรนช์ โอเพ่น ในปี 1999 หลังห่างหายจากแชมป์รายการใหญ่ถึง 3 ปี

 

กราฟประกาศแขวนแร็กเก็ตหลังจากความพ่ายแพ้ต่อ ลินด์ซีย์ ดาเวนพอร์ต ในรอบชิงฯ วิมเบิลดันปี 1999 ได้ไม่นาน โดยให้เหตุผลว่าเธอหมดแรงกระตุ้นที่จะลงแข่งต่อไป แม้ยังอยู่ในฐานะมือวางอันดับ 3 ของโลกก็ตาม

 

ทุกวันนี้ สเตฟฟี่ กราฟ ยังคงได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักเทนนิสที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล เธอพูดอยู่เสมอว่า "ฉันไม่เคยมองย้อนกลับหลัง ฉันมองไปข้างหน้าเท่านั้น" แต่เธอก็บอกเช่นกันว่า "คุณไม่สามารถวัดความสำเร็จได้ หากคุณไม่เคยล้มเหลว พ่อบอกเธออยู่เสมอว่าหากต้องการไปให้ถึงเป้าหมาย ก็อย่าเสียเวลาไปกับการกังวลว่าตัวเองจะแพ้หรือว่าชนะ ให้สนใจไปกับการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น"

 

ความสำเร็จทุกอย่างในอาชีพแสดงให้เห็นแล้วว่า กราฟ ทำตามคำสอนของพ่อได้ดีแค่ไหน


stadium

author

ไทเกอร์ วืด

StadiumTH Content Creator