stadium

อากาศร้อนถึงชีวิต ปัญหาใหญ่ที่เจ้าภาพต้องเผชิญในโตเกียว 2020

9 กันยายน 2563

ประเทศญี่ปุ่นกำลังจะได้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมปี 2021 เมื่อพูดถึงดินแดนอาทิตย์อุทัย คนทั่วโลกย่อมมองว่าที่นี่คือประเทศที่สวยงาม อากาศดี เหมาะแก่การท่องเที่ยว แต่ขอประทานโทษ หน้าร้อนของญี่ปุ่นเรียกได้ว่าเป็นจุดที่อุณหภูมิสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และข่าวร้ายคือ โตเกียว โอลิมปิก 2020 จะจัดขึ้นในช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของประเทศญี่ปุ่น และนี่เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายจัดการแข่งขัน, เจ้าหน้าที่, นักกีฬา รวมถึงกองเชียร์นับล้านคนต้องเตรียมรับมือ

 

 

เมืองที่ร้อนที่สุดในโลก

ประเทศญี่ปุ่นนั้นอยู่ในเขตภูมิอากาศอบอุ่น (Temperate Climates) ซึ่งทำให้เกิด 4 ฤดูที่ชัดเจนนั่นคือ ฤดูร้อน, ฤดูใบไม้ผลิ, ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ความจริงแล้วเขตภูมิอากาศแบบนี้จะต้องมีอุณหภูมิเฉลี่ยไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ที่ญี่ปุ่นนั้นจะมีฤดูร้อนที่อุณหภูมิสูงแตะระดับ 40 องศาเซลเซียสบ่อยครั้ง ซึ่ง ดร.มาซาฮิเดะ คิโมโตะ ศาสตราจารย์วิชาอุตุนิยมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) ได้อธิบายถึงเหตุผลว่าเป็นเพราะประเทศญี่ปุ่นหันหน้าออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งจะได้ความชื้นจากทะเลโดยตรง ในขณะเดียวกันก็ได้รับคลื่นความร้อนจากทางใต้ ทำให้อุณหภูมิช่วงหน้าร้อนนั้นสูงเป็นพิเศษ

 

หน้าร้อนของประเทศญี่ปุ่นเริ่มต้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายน และกินเวลาเต็มที่แค่ 2 เดือนระหว่างเดือนกรกฏาคมถึงสิงหาคมเท่านั้น แต่ช่วงเวลาอันสั้นก็ร้อนประหนึ่งนั่งอยู่ในซาวน่าตลอดเวลาเลยทีเดียว (ผู้เขียนเคยไปช่วงเวลานี้มาแล้ว 2 ครั้ง) และที่สำคัญกรุงโตเกียวที่กำลังจะเป็นเจ้าภาพ โอลิมปิก ปี 2021 ก็เป็นเมืองที่อุณหภูมิแตะหลัก 41 องศาเซลเซียสมาแล้วในช่วง 2 เดือนที่กำลังจะจัดโอลิมปิก

 

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

 

ว่าที่ โอลิมปิก ที่เดือด (ร้อน) ที่สุดในประวัติศาสตร์

หลายคนคงเคยสงสัยกันแน่นอนว่าทำไมมหกรรม โอลิมปิก ที่โตเกียวเมื่อปี 1964 ถึงไปแข่งขันกันในเดือนกันยายนถึงตุลาคม ทั้งที่เราเรียกมหกรรมนี้ว่า โอลิมปิก ฤดูร้อน (Summer Olympic) นั่นเป็นเพราะว่าในยุคนั้นทางรัฐบาลญี่ปุ่นทราบดีว่าประเทศของพวกเขานั้นมีอากาศที่ร้อนขนาดอันตรายถึงชีวิต ทำให้ทางฝ่ายจัดการแข่งขันได้ขอคณะกรรมการโอลิมปิกสากลเลื่อนการแข่งไปเป็นช่วงฤดูใบไม้ร่วงของประเทศ แต่ในปัจจุบันด้วยเหตุผลทางเรื่องการถ่ายทอดสดที่ต้องอิงทางฝั่งอเมริกาเป็นหลักซึ่งการขายสิทธิ์ถ่ายทอดสดนั้นเป็นรายได้ 3 ใน 4 ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ทำให้การขยับช่วงเวลาแทบจะไม่เกิดขึ้นอีก

 

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนเกือบ 1,000 คนซึ่งอยู่ในกรุงโตเกียวกว่า 150 คน และมีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากอาการฮีทสโตรกเกิน 10,000 ราย นอกจากนี้เมื่อปี 2018 กรุงโตเกียวก็ทำลายสถิติอุณหภูมิสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศตัวเองที่ 41.6 องศาเซลเซียสที่จังหวัดไซตามะ ซึ่งเมืองนี้จะมีสนามแข่งขันกีฬาใน โอลิมปิก 2020 ด้วย หนึ่งในนั้นคือสนาม ไซตามะ สเตเดี้ยม 2002 รังเหย้าของ อูราวะ เร้ดส์ ไดมอนด์ ที่จุคนดูได้ถึง 62,000 คน แน่นอนว่าในช่วงกรกฎาคมและสิงหาคมของปี 2018 ทางสภาเมืองโตเกียวและรัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้ประกาศสภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศที่เป็นอันตรายต่อชีวิตมาแล้ว

 

ทางกรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศญี่ปุ่นหรือ JMA (Japan Meteorological Agency) ซึ่งว่ากันว่าแม่นยำที่สุดที่หนึ่งของโลก คาดว่าในช่วงการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ปี 2020 (ก่อนที่จะเลื่อนการแข่งไปเป็นปี 2021 เนื่องจากโคโรน่าไวรัส) จะมีอุณหภูมิในตอนกลางวันเฉลี่ยอยู่ที่ 32 องศาเซลเซียส นั่นทำให้สมาพันธ์ไตรกีฬานานาชาติได้ออกมาเตือนว่าสภาพอากาศดังกล่าวอยู่ในระดับที่อันตรายอย่างมากต่อนักกีฬาแม้จะเป็นนักไตรกีฬาที่ร่างกายแข็งแรงก็ตาม ซึ่งจากฝ่ายจัดการแข่งขันและคณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือ IOC ได้ทำแจ้งเรื่องนี้ให้นายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ รับทราบแล้วซึ่งทาง นายกฯ ได้กำชับให้คณะทำงานเร่งหาวิธีแก้ไขทันที

 

 

หลากหลายนวัตกรรมเพิ่มความเย็นให้โตเกียว

เป็นภารกิจอันหนักอึ้งของสภาเมืองโตเกียว, รัฐบาลญี่ปุ่นและคณะกรรมการจัดการแข่งขันที่จะแก้ปัญหาจากธรรมชาติ แต่ในฐานะชาติที่รับมือกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำได้ดีที่สุดในโลกชาติหนึ่ง พวกเขาจึงได้ค้นหาวิธีมากมายเพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดให้กับบรรดาแฟนกีฬานับล้านที่อาจจะมาเหยียบแผ่นดินญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในปีหน้า

 

หลากหลายแผนการตั้งแต่พื้นฐานไปยันสุดเพี้ยนตามสไตล์ญี่ปุ่นเกิดขึ้นพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่ผุดขึ้นมาตามหลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เบื้องต้นที่ทางการญี่ปุ่นทดลองใช้มาตั้งแต่กลางปี 2018 คือการทดลองติดตั้งระบบปล่อยไอเย็นแบบนับเวลาในสถานีรถไฟฟ้า (สถานีรถไฟใหญ่ของญี่ปุ่นตัวสถานีจะติดตั้งเครื่องปรับอากาศ แต่ตัวชานชาลานั้นจะไม่มีติดตั้ง) ล่าสุดทางการญี่ปุ่นได้แถลงว่าจะทำการติดตั้งเต็นท์ให้ความเย็นที่มีระบบปล่อยละอองไอเย็นในหลายจุดโดยเฉพาะเส้นทางระหว่างสถานีรถไฟและรถไฟใต้ดินไปยังสนามแข่งขัน ซึ่งในเต็นท์จะมีบริการเครื่องดื่มเย็น, พัดลมมือถือ และที่บังแดดที่ทำจากกระดาษกันความร้อน นอกจากนี้ทางฝ่ายจัดการแข่งขันจะอนุญาตให้นำเครื่องดื่มทุกรูปแบบเข้าสนามได้โดยได้ทำการทดลองใช้แล้วในการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพใช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมปี 2019 

 

ในทัวร์นาเมนต์ทดสอบการแข่งขันหรือ “Ready Steady Go Test Event” หลายชนิดกีฬาได้ลองแผนการรับมือสภาพอากาศร้อนไปแล้ว เช่นการแข่งขันมาราธอนที่ได้ทำการทดลองปรับพื้นถนนโดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “Perfect Cool” ซึ่งทำจากเม็ดบีดส์เซรามิคกันความร้อน ทางนักวิจัยพบว่าวัตถุดิบนี้จะช่วยลดความร้อนที่ “พื้น” ได้ประมาณ 10 องศาเซลเซียส แต่รัฐบาลก็ได้ผลวิจัยชี้ชัดว่าแม้จะลดความร้อนที่พื้นถนนได้ แต่ในระดับความสูงของนักกีฬาแล้วจะยังได้รับผลกระทบจากความร้อนแทบจะไม่ต่างจากเดิม

 

อีกวิธีง่ายๆ ที่ทางฝ่ายจัดการแข่งขันเตรียมใช้คือการโยกเอาการแข่งขันมาราธอนไปไว้ในช่วงเช้ามืดเพื่อหลีกเลี่ยงความร้อน ซึ่งแม้ตอนกลางวันอุณหภูมิจะสูงอยู่ที่เฉลี่ย 32-40 องศาเซลเซียส แต่ในตอนกลางคืนไปจนถึงเช้ามืดอุณหภูมิจะลดเหลือประมาณ 21-26 องศาเซลเซียส ซึ่งวิธีการนี้ได้มีการลองทดสอบในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลก 2019 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ที่อากาศร้อนไม่ต่างกันและก็ได้รับผลตอบรับที่ดีจากนักกีฬาที่เข้าแข่งขัน

 

อีกแนวทางที่รายการทดสอบ Ready Steady Go ได้เลือกมาใช้ก็คือการลดระยะทางแข่งขันในการแข่งไตรกีฬา ซึ่งทางฝ่ายจัดได้ลดระยะทางช่วงการวิ่งลงครึ่งหนึ่ง เพราะไตรกีฬานั้นแม้ว่าจะขยับมาเริ่มเช้ามืดแค่ไหน แต่ในส่วนของการวิ่งที่เป็นส่วนสุดท้ายของการแข่งขันก็จะเกิดขึ้นในช่วงสายไปจนถึงบ่ายอยู่ดี จึงไม่สามารถใช้วิธีเดียวกับการแข่งขันกรีฑาได้

 

และหมัดเด็ดที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทดลองใช้คือหิมะปลอม (Artificial Snow) มาทดสอบในการแข่งขันเจ็ทสกีที่สนาม Sea Forest Waterway ที่เกาะเทียมโอไดบะ เมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา วิธีการคือใช้เกล็ดน้ำแข็งบดอัดในเครื่องแรงดันซึ่งสามารถกระจายหิมะเทียมได้ในอาณาเขตประมาณ 15 ตารางเมตรต่อหนึ่งเครื่อง อย่างไรก็ตามในการทดสอบที่โอไดบะนั้นได้ผลลัพธ์ที่ยังไม่ถูกใจฝ่ายจัดการแข่งขันนัก เพราะอุณหภูมิก่อนจะทำการใช้หิมะเทียมอยู่ที่ 25.1 องศาเซลเซียสและไม่ลดลงเลยหลังจากทำการปล่อยหิมะเทียมออกไป

 

หลากหลายวิธีที่ทางการญี่ปุ่นได้ทดลองไปนั้นผลาญงบประมาณไปไม่น้อย ซึ่งเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ที่ประเทศญี่ปุ่นนำมาทดลองใช้ไม่ว่าจะเป็นเต็นท์ปล่อยละอองไอเย็น, พื้นถนนลดความเย็น หรือเครื่องทำหิมะเทียม ทำให้รัฐบาลทุ่มเม็ดเงินดูแลเรื่องสภาพอากาศไปแล้วถึง 2 พันล้านเยน หรือเป็นเงินไทยกว่า 570 ล้านบาท


stadium

author

Kapeebara

StadiumTH Content Creator

MAR 2024 KV