stadium

มาร์ค สปิตช์ ตำนานนักว่ายน้ำผู้ครองโลก

3 กันยายน 2563

หากพูดถึงตำนานนักกีฬาว่ายน้ำของโลกแล้ว แน่นอนว่าทุกคนย่อมนึกไปถึงชื่อ ไมเคิล เฟลป์ส เจ้าของสถิติ 23 เหรียญทองโอลิมปิกชาวอเมริกัน  มนุษย์คนแรกและคนเดียวที่คว้าไปถึง 8 เหรียญทองในการแข่งขันเพียง 1 สมัย

 

แต่ก่อนหน้าที่โลกจะรู้จักเฟลป์ส ยังมีตำนานนักว่ายน้ำอีกคนหนึ่งที่ครองสถิติดังกล่าวมาก่อนรุ่นน้องร่วมชาติ จากผลงาน 7 เหรียญทองในการลงแข่งที่นครมิวนิค ปี 1972

 

ชายผู้นั้นก็คือ มาร์ค สปิตซ์ เจ้าของ 9 เหรียญทองโอลิมปิกที่สร้างความฮือฮาเอาไว้เมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว

 

แม้จำนวนเหรียญรวมจะห่างจาก เฟลป์ส แบบไม่เห็นฝุ่น แต่ความจริงแล้วเขาลงแข่งโอลิมปิกเพียง 2 สมัยเท่านั้น

 

แล้ว มาร์ค สปิตซ์ เก่งกาจขนาดไหน และอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เขาตัดสินใจอำลาสระตั้งแต่อายุแค่ 22 ปี ติดตามได้ที่นี่

 

 

ชายหาดไวกีกิ, ริบบิ้นสีม่วง, แชมป์ระดับชาติ

สปิตซ์ลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ปี 1950 ที่แคลิฟอร์เนีย แต่เมื่ออายุได้ 2 ขวบ ครอบครัวของเขาก็ต้องย้ายไปที่ฮาวาย แต่กลายเป็นว่าที่นั่นกลับเป็นจุดเริ่มความหลงใหลในการว่ายน้ำของเขา สปิตซ์ลงไปว่ายน้ำที่ชายหาดไวกีกิทุกวันแบบไม่มีเบื่อ ถึงขั้นที่แม่ของเขาเคยเปิดเผยว่า เจ้าตัวชอบว่ายน้ำเอามาก ๆ ถึงขั้นวิ่งแจ้นลงทะเลเหมือนกับคนที่พยายามจะฆ่าตัวตายเลยทีเดียว  

 

4 ปีต่อมา ครอบครัวของเขาย้ายกลับมาอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย แน่นอนว่าความชื่นชอบในการว่ายน้ำของสปิตซ์ยังไม่จางหายไป และที่ยิ่งไปกว่านั้น เขาเปลี่ยนทัศนคติจากการว่ายเพื่อความบันเทิงมาเป็นการว่ายน้ำเพื่อความเป็นเลิศ

 

จุดเปลี่ยนมาจากการแข่งขันรายการแรก ๆ ของเขาตอนอายุ 9 ขวบ สปิตซ์แตะขอบสระเป็นคนที่ 5 และได้รับริบบิ้นสีม่วงเป็นเครื่องหมายแสดงผลการแข่งขัน ซึ่งให้อารมณ์ที่แตกต่างกันอย่างมากกับคนที่คว้าอันดับแรก สปิตซ์เองก็เห็นข้อแตกต่างในเรื่องนี้เช่นกัน และทำให้เขาตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวว่า จะไม่ยอมเป็นผู้แพ้อีกต่อไป  

"ผมนี่แบบ โอ้พระเจ้า หมอนั่นดูเป็นคนสำคัญมากกว่า และยังได้ยืนบนขั้นที่สูงกว่า(โพเดียม) โดยมีการระบุว่า อันดับ 1 พอเห็นแบบนั้นผมก็ถอดริบบิ้นสีม่วงออกและส่งให้แม่ทันที พร้อมบอกกับเธอว่า นับจากวันนี้แม่จะไม่มีวันได้เห็นผมใส่สีม่วงอีกต่อไป ปัจจุบันผมก็ยังรับสีนั้นไม่ได้ เพราะมันมีผลกระทบต่อจิตใจอย่างมาก"

 

นับจากวันนั้น สปิตซ์ ก็เดินหน้าไล่ล่าความสำเร็จทุกอย่างที่ขวางหน้า พออายุ 10 ขวบ เขาเป็นเจ้าของสถิติประเทศ 17 รายการ และสถิติโลกอีก 1 รายการในช่วงอายุเดียวกัน

 

 

เรียนรู้จากผู้เป็นที่สุด สู่โอลิมปิกหนแรกที่ผลงานไม่สมราคา

อีก 1 จุดเปลี่ยนที่ทำให้ สปิตซ์ พัฒนาฝีมือขึ้นไปอีกระดับคือตอนอายุ 14 ปี เมื่อต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับเด็กจากอีกสโมสรอยู่เสมอ พ่อเขาสังเกตได้ว่าพวกนั้นมาจากสโมสรเดียวกันที่อยู่เมือง ซานตา คลารา และได้รับการฝึกสอนโดยโค้ชระดับโอลิมปิก นั่นก็คือ จอร์จ เฮนส์ ดังนั้นพ่อแม่ของเขาไม่รอช้าขับรถพาสปิตซ์ไปอยู่ในความดูแลของเฮนส์ทันที และไม่ถึง 1 เดือนหลังจากนั้น สปิตซ์ก็เอาชนะเด็กพวกนั้นได้สำเร็จ

 

"หากต้องการเป็นที่สุด คุณก็ต้องเรียนรู้จากคนที่เป็นที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปหาพวกเขาหรือทำให้พวกเขาเข้ามาหาคุณก็ตาม และในฐานะผู้ปกครองคุณก็ต้องตัดสินใจว่าอยากเห็นลูกของตัวเองไปไกลแค่ไหนเช่นกัน" สปิตซ์ ย้อนความหลัง

 

เมื่อนักกีฬาเปี่ยมพรสวรรค์ อยู่ในมือยอดนักเจียระไน ผลลัพธ์ที่ได้จะมีอะไรนอกไปจากคำว่า "ความสำเร็จ" สปิตซ์ถือครองสถิติประเทศระดับไฮสคูลทุกท่า ทุกระยะ และเมื่ออายุ  16 ปี เขาก็คว้าแชมป์ระดับประเทศในรุ่นทั่วไปได้สำเร็จ ก่อนที่จะทำลายสถิติโลกจากฟรีสไตล์ 400 เมตร ในการแข่งรายการเล็ก ๆ ที่แคลิฟอร์เนียในปีต่อมา

 

ด้วยความสำเร็จมากมายจากการแข่งขันระดับนานาชาติ รวมทั้งการได้ถึง 5 เหรียญทองใน แพน อเมริกัน เกมส์ ปี 1967 พร้อมครองสถิติโลกถึง 10 รายการ ทำให้ สปิตซ์ ได้รับกาคาดหมายว่าจะคว้า 6 เหรียญทอง หรือทุกรายการที่เขาลงแข่งในโอลิมปิก เกมส์ ปี 1968 ที่ประเทศเม็กซิโก

 

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามนั้น สปิตซ์ ได้ 2 เหรียญทองก็จริงแต่มาจากการแข่งขันประเภททีม ส่วนประเภทบุคคล สปิตซ์ ทำได้เพียงคว้าเหรียญเงินจากท่าผีเสื้อ 100 เมตร และเหรียญทองแดงจากท่าฟรีสไตล์ 100 เมตรเท่านั้น

 

แน่นอนกับคนที่ยึดติดกับชัยชนะอย่างสปิตซ์แล้ว นี่คือความล้มเหลว

 

 

อ่านบทความว่ายน้ำที่เกี่ยวข้อง

 

ตั้งต้นใหม่ สู่ความความยิ่งใหญ่ในปี 1972

ความผิดหวังจากโอลิมปิกหนแรกในชีวิต ทำให้สปิตซ์มุ่งมั่นมากกว่าเดิม เขาตัดสินใจเข้าศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัยอินเดียน่า เพื่อฝึกซ้อมกับ ด็อค เคาน์ซิลแมน ตำนานโค้ชว่ายน้ำที่สร้างนักกีฬาดังมาแล้วมากมาย รวมทั้งเป็นโค้ชทีมชาติสหรัฐฯ ที่เม็กซิโกอีกด้วย ซึ่งสปิตซ์ยอมรับว่าการได้เรียนรู้จากเคาน์ซิลแมนคือประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมและมีคุณค่ามากที่สุดในชีวิตของเขา  

 

สปิตซ์ยังคงครองความยิ่งใหญ่ในระดับมหาวิทยาลัย เขาคว้าแชมป์ NCAA ประเภทบุคคล 8 รายการ ได้รางวัลนักกีฬาสมัครเล่นแห่งปีของสหรัฐฯ 1 สมัย รวมทั้งทุบสถิติโลกอีกมากมายในการคัดตัวทีมชาติสหรัฐฯ ที่ชิคาโก ในปี 1972 และในช่วงนี้เองที่เขาได้รับฉายาว่า "Mark the Shark" หรือฉลามมาร์คจากเพื่อนร่วมทีม

 

เมื่อถึงการแข่งขันที่มิวนิค สปิตซ์ ไปในฐานะตัวเต็งอีกครั้ง และนอกจากจะต้องการไปแก้มือแล้ว เขายังมีความมุ่งมั่นมากยิ่งกว่าเดิม ครั้งนี้เขามองไปที่ 7 เหรียญทอง หรือแชมป์ทุกรายการที่ลงแข่ง

 

เขาเริ่มต้นจากรายการสุดท้ายที่ลงแข่งในปี 1968 นั่นก็คือท่าผีเสื้อ 200 เมตร ซึ่งแม้ดูตื่นตระหนกในช่วงแรก แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยชัยชนะที่ง่ายดาย สปิตซ์แตะขอบสระก่อนคู่แข่งถึง 2 วินาที พร้อมกับบันทึกสถิติโลกขึ้นมาใหม่

 

หลังจากนั้น เหรียญทองก็ไหลมาเทมาพร้อมกับการทำลายสถิติโลก พอถึงวันที่ 1 กันยายน สปิตซ์ก็คว้าไปแชมป์ไปแล้ว 5 รายการ แต่เขาก็ต้องเผชิญกับรายการที่ยากที่สุดนั่นก็คือฟรีสไตล์ 100 เมตร เพราะมีคู่แข่งที่สูสีอย่าง เจอร์รี่ ไฮเดนไรช์ เพื่อนร่วมชาติ ซึ่งทำให้สปิตซ์รู้สึกกดดัน เพราะเขาต้องการแค่เหรียญทองเท่านั้น และกลัวว่าคนอื่นจะคิดว่าเขาล้มเหลวหากไม่ได้เหรียญทองทุกรายการ เรื่องนี้ทำให้เขาเกือบจะถอนตัวจากการแข่งขันเลยทีเดียว

 

แม้จะผ่อนแรงในรอบแรก แต่ในรอบชิงฯ เมื่อวันที่ 3 กันยายน สปิตซ์จ้วงเต็มสปีดตั้งแต่ช่วงออกตัว ก่อนจะขึ้นนำอย่างชัดเจนหลังจากกลับตัว และแตะขอบสระเป็นคนแรกโดยเอาชนะไฮเดนไรช์ครึ่งสโตรก พร้อมกับทำลายสถิติโลกอีก 1 รายการ

 

วันถัดมา เหรียญทองที่ 7 และเหรียญทองสุดท้ายของสปิตซ์ก็ตกมาอยู่มือของเขาตามคาด หลังเป็นส่วนหนึ่งในทีมผลัดผสม 100 เมตรของสหรัฐฯ เอาชนะ เยอรมันตะวันออก และแคนาดา พร้อมกับทำลายสถิติโลกอีกครั้ง

 

7 รายการ, 7 เหรียญทอง และ 7 สถิติโลก ทำให้สปิตซ์กลายเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จในการลงแข่งโอลิมปิกครั้งเดียวมากที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา ก่อนจะถูกทำลายโดย ไมเคิล เฟลป์ส ในปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง

 

อย่างไรก็ตาม เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะบอกว่าสปิตซ์คือหนึ่งในนักกีฬาที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล และด้วยวัยเพียง 22 ปี เขาก็ตัดสินใจอำลาวงการ หลังจากสร้างประวัติศาสตร์ได้สำเร็จ

 

 

ชีวิตหลังขึ้นจากสระ

สปิตซ์เปิดเผยในภายหลังถึงเหตุผลที่เขาอำลาวงการ ทั้งที่ยังลงแข่งโอลิมปิกได้อีกหลายสมัย และมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จอีกมากมายว่า เขาหมดความท้าทายแล้ว และชีวิตนักกีฬาสมัยนั้นไม่ได้สร้างรายได้มากมายเหมือนสมัยนี้

 

"ผมลงแข่งโอลิมปิกมาแล้ว 2 สมัย และครองสถิติโลก 35 ครั้ง มันทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองควรไปทำอย่างอื่นได้แล้ว"  

 

สปิตซ์หันไปทำธุรกิจหลายด้าน หลังปิดฉากชีวิตนักกีฬา ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว หรือตลาดหุ้น รวมทั้งยังเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจอีกด้วย

 

เขาเคยจะกลับสู่วงการอีกครั้งตอนที่มีอายุ 41 ปี เพื่อลงแข่ง โอลิมปิก ปี 1992 หลังได้รับคำท้าจาก บัด กรีนสแพน ผู้สร้างภาพยนตร์ที่เสนอเงินหลักล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากเขาผ่านการคัดตัวได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ในการคัดตัวที่มีกล้องของกรีนสแพนบันทึกภาพ สปิตซ์ ทำเวลาไม่ผ่านเกณฑ์โดยช้าไป 2 วินาที

 

 

บทแถมท้าย ตำนานหนวดงามที่เกิดจากการประชดโค้ช

สปิตซ์เป็นนักว่ายน้ำที่มีเอกลักษณ์คือการไว้หนวดเครา แตกต่างจากนักกีฬาคนอื่น ๆ ในยุคเดียวกันที่กำจัดขนบนร่างกายเพื่อลดการเสียดทานยามลงแข่ง เขาเปิดเผยสาเหตุของการเริ่มไว้หนวดว่าเป็นเพราะเขาโดนโค้ชสมัยเรียนมหาวิทยาลัยสั่งห้าม เขาจึงทำมันเพื่อต่อต้านภาพลักษณ์สะอาดสะอ้านของตัวเองสมัยนั้น

 

สปิตซ์ยอมรับว่าตอนแข่งโอลิมปิกปี 1972 เขาคิดจะโกนหนวดหลายครั้ง ก่อนจะสังเกตว่ามันทำให้เขาได้รับความสนใจมากขึ้น เขาจึงเก็บมันไว้ ซึ่งเรื่องหนวดของสปิตซ์เป็นจุดสนใจมากอย่างที่เขาบอกไม่ผิดเพี้ยน ถึงขั้นที่สปิตซ์สามารถนำไปอำโค้ชรัสเซียว่ามันทำให้เขาว่ายได้เร็วขึ้น จนอีกฝ่ายสั่งให้นักกีฬาไว้หนวดตามเขาเลยทีเดียว

 

สปิตซ์ตัดสินใจโกนหนวดของเขาในปี 1988 โดยให้เหตุผลว่า เขาไม่ได้ว่ายน้ำอีกต่อไปแล้ว รวมทั้งหนวดเริ่มจะเป็นสีเทาจากอายุที่มากขึ้น และอยากให้ภรรยารวมทั้งครอบครัวได้เห็นใบหน้าของเขาเมื่อไม่มีหนวดด้วยเช่นกัน


stadium

author

ไทเกอร์ วืด

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose