stadium

เพราะอะไรนักสนุกเกอร์ไทยรุ่นใหม่ถึงไม่ประสบความสำเร็จ

7 เมษายน 2563

จั่วหัวมาแบบนี้ เชื่อว่าแฟนสนุกเกอร์ชาวไทย คงรู้สึกหดหู่ใจยิ่งนัก ที่นักสอยคิวรุ่นใหม่จากแดนสยาม เริ่มจะไม่ประสบความสำเร็จ กับการคว้าแชมป์รายการระดับนานาชาติ ทั้งๆที่ในอดีต เราคือชาติมหาอำนาจของกีฬาชนิดนี้ นับตั้งแต่เมื่อกว่า 30 ปีก่อน ซึ่งไทยคือประเทศแรกของทวีปเอเชีย ที่มีนักสอยคิวสร้างผลงานผงาดโลก จากฝีมือของ “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” รัชพล(วัฒนา) ภู่โอบอ้อม ซึ่งเคยขึ้นไปรั้งอันดับ 3 ของโลกมาแล้ว พร้อมกับสามารถคว้าแชมป์รายการระดับเวิลด์แรงค์กิ้งได้ถึง 3 รายการ

 

และไม่ใช่แค่ “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” เท่านั้น ในอดีตที่ผ่านมา นักสอยคิวไทยคนอื่นๆจำนวนไม่น้อย ก็มีฝีมือจัดจ้าน จนอยู่ในระดับแถวหน้าของทวีปเอเชียเช่นกัน อาทิ “ต่าย พิจิตร” ชูชาติ ไตรรัตนประดิษฐ์, “หนู ดาวดึง” นพดล นภจร, “ตัวเล็ก สำโรง” ไพฑูรย์ ผลบุญ, “ขวัญ สระบุรี” สุชาครีย์ พุ่มแจ้ง, “บิ๊ก สระบุรี” อรรถสิทธิ์ มหิทธิ, “แจ๊ค สระบุรี” เดชาวัต พุ่มแจ้ง, “อิศ จันท์” อิศรา กะไชยวงศ์, “กร นครปฐม” ภาสกร สุวรรณวัฒน์, “แมน นครปฐม” ธนวัฒน์ ถิรพงศ์ไพบูลย์, “เอฟวัน” เทพไชยา อุ่นหนู, “หมู ปากน้ำ” นพพล แสงคำ และอีกหลายๆคน แม้นักสอยคิวเหล่านี้ จะไม่เคยก้าวขึ้นไปถึงจุดที่ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย เคยทำได้ก็ตาม

 

 

ไร้ความสำเร็จในเวทีนานาชาติ

นับได้ว่า ทุกยุคทุกสมัย นักสอยคิวชาวไทย มักจะมีฝืมืออยู่ในระดับหัวแถวของเอเชียอย่างไม่ขาดสาย แม้พอผ่านมายุคหนึ่ง จีนจะพัฒนานักสอยคิวสายเลือดใหม่ ขึ้นมาประดับวงการมากมาย แต่ก็มีหลายครั้ง ที่นักสอยคิวแดนมังกร ต้องอกหัก และเสียแชมป์สมัครเล่นโลก, สมัครเล่นเอเชีย, เยาวชนโลก และเยาวชนเอเชีย ให้แก่นักสอยคิวจากแดนขวานทอง

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 4-5 ปีมานี้ นักสนุกเกอร์ไทย เริ่มห่างหายจากความสำเร็จ จากรายการระดับสมัครเล่นทั้ง 4 รายการดังกล่าว โดยความสำเร็จล่าสุด คือการคว้าแชมป์สมัครเล่นเอเชียเมื่อปี 2016 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ จาก “นุ้ก สากล” กฤษณัส เลิศสัตยาทร  

 

ในขณะที่ทัวร์นาเมนต์ระดับเยาวชน ทั้งรายการเยาวชนโลกและเยาวชนเอเชีย นักสอยคิวไทย ไม่ได้แชมป์มานานกว่า 5 ปี ซึ่งความสำเร็จครั้งสุดท้าย ต้องย้อนกลับไปในตอนที่ “ไฟว์ นครนายก” บุญญฤทธิ์ เกียรติกุล คว้าแชมป์เยาวชนโลกปี 2015 ที่ประเทศโรมาเนีย และ “ซันนี่ อาร์แบค” อรรคนิธิ์ ส่งเสิรมสวัสดิ์ คว้าแชมป์เยาวชนเอเชียในปีเดียวกันที่ประเทศจีน

 

ตรงกันข้ามกับจีน ที่คว้าแชมป์เยาวชนโลก 4 ปีหลังสุด ขณะที่เยาวชนเอเชีย พวกเขาก็สามารถคว้าแชมป์ 3 ครั้งใน 4 ปีหลังสุด สิ่งนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า นักสอยคิวไทยดาวรุ่งเลือดใหม่ ไม่ได้มีฝีมืออยู่ในระดับแนวหน้าของทวีปเอเชีย เหมือนดั่งรุ่นพี่ในอดีต มิหนำซ้ำ ยังโดนนักสนุกเกอร์ดาวรุ่งจีน แซงหน้าแบบไม่เห็นฝุ่นอีกด้วย

 

 

 

พ.ร.บ.การพนัน ปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข

ไม่เพียงแต่ผลงานในการแข่งขันรายการระดับนานาชาติเท่านั้น การแข่งขันรายการภายในประเทศ ก็เป็นตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นว่า นักสอยคิวไทยสายเลือดใหม่ ไม่สามารถแจ้งเกิดได้เลย จากผลงานการแข่งขันรายการไทยแลนด์แรงค์กิ้ง ณ สนามต่างๆ ผู้ที่คว้าแชมป์ก็ยังเป็นนักสอยคิวหน้าเดิมๆ ที่อายุเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปราศจากนักสอยคิวเยาวชนคนรุ่นใหม่

 

ในอดีต แฟนสอยคิวยังมีโอกาสเห็นนักสอยคิวดาวรุ่งเมื่อวันวานอย่าง “หมู ปากน้ำ” ,“แมน นครปฐม” หรือ “ไฟว์ นครนายก” เอาชนะรุ่นพี่จนคว้าแชมป์ไทยแลนด์แรงค์กิ้งมาครอง ทว่าโมเมนต์แบบนี้ ไม่เกิดขึ้นเลยในช่วง 4-5 ปีหลังสุด

 

ด้วยเหตุนี้ หลายคนตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใด ระบบการพัฒนานักสอยคิวไทยในปัจจุบัน ถึงเคี่ยวเข็ญนักสนุกเกอร์สายเลือดใหม่ ขึ้นมาแจ้งเกิดในวงการเหมือนดั่งในอดีตไม่ได้ หนึ่งในคำตอบสำคัญ ที่ผู้คร่ำหวอดในวงการสอยคิวไทยต่างตอบเหมือนกันก็คือ การที่กีฬาสนุกเกอร์ ยังอยู่ใน พ.ร.บ.การพนัน นับเป็นอุปสรรคสำคัญไม่น้อย ต่อการพัฒนานักสอยคิวระดับเยาวชน เพราะกฎหมาย พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะไม่อนุญาตให้เด็กต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปซ้อมในสนุกเกอร์คลับได้โดยง่าย  

 

ตรงข้ามกับจีนและอีกหลายประเทศอย่างสิ้นเชิง ที่ไม่ได้มีกฎหมายห้ามแต่อย่างใด อันทำให้เยาวชนผู้รักสนุกเกอร์ในประเทศของเขา สามารถเข้าไปจับไม้คิวหัดแทงสนุกเกอร์ได้ตามใจชอบ

 

สนุ้ก 6 แดง เอกลักษณ์ที่เหนี่ยวรั้งการพัฒนา

นอกจากนี้ การที่คนในวงการสนุกเกอร์บ้านเรา มีวัฒนธรรมชอบเล่นสนุกเกอร์ 6 แดงเป็นหลัก ก็เป็นอีกปัญหาสำคัญเช่นกัน กล่าวคือการเล่นสนุกเกอร์เล่น 6 แดง เป็นเกมที่สั้น สนุก และไว ซึ่งเป็นที่นิยมเล่นกันทั่วไปตามโต๊ะตลาด จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของวงการสนุกเกอร์บ้านเรา  

 

ทว่า การที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ เล่นเกม 6 แดงบ่อยครั้งจนเคยชิน จะทำให้ไม่เกิดความชำนาญกับการเล่น 15 แดง ซึ่งเป็นกติกาสากล ที่ใช้แข่งขันกันทุกรายการบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นทัวร์นาเมนต์ระดับสมัครเล่นหรืออาชีพ จึงกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมการเล่นสนุกเกอร์ 6 แดง ตามกติกาโต๊ะตลาด เสมือนมะเร็งร้าย ที่คอยเกาะกินวงการสนุกเกอร์บ้านเรา ให้ถอยหลังลงคลองไปเรื่อยๆ

 

รายการแข่งในประเทศน้อยเกินไป

อุปสรรคสำคัญต่อมา ที่ทำให้นักสนุกเกอร์เยาวชนบ้านเรา ไม่แจ้งเกิดเหมือนในอดีตก็คือ ในแต่ละปี มีการระดับเยาวชนน้อยเกินไป ที่ผ่านมาจะมีเพียง 3 รายการเท่านั้น ประกอบด้วยศึกเยาวชนชิงแชมป์ประเทศไทย, กีฬาเยาวชนแห่งชาติ และกีฬานักเรียนนักศึกษาแห่งชาติ จึงทำให้นักสอยคิววัยกระเตาะบ้านเรา มีเวทีให้แสดงความสามารถน้อยมาก  การพัฒนาจึงไม่ต่อเนื่อง จะให้ไปแข่งขันร่วมกับระดับประชาชน ก็มักจะตกรอบแรกๆเป็นประจำ  

 

นับเป็นเรื่องดีที่ปีนี้ สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกับสนุกเกอร์คลับต่างๆ จัดการแข่งขันระดับยุวชนขึ้นมา 6 สนาม ทว่าเพิ่งแข่งขันไปเพียงสนามเดียว การแข่งขันก็ต้องหยุดชะงัก ด้วยพิษของไวรัสโควิด-19

 

เชื่อว่าสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย ร่วมไปถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาเหล่านี้ และคงพยายามอย่างเต็มที่ ในการเจียระไนนักสอยคิวรุ่นหลังอย่างเต็มที่ เพื่อให้ผงาดก้าวขึ้นมาเป็นนักสอยคิวอันดับต้นๆของเอเชียเหมือนดังเดิม

 

 


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator

MAR 2024 KV