stadium

ต่อวัย เสฏฐโสธร หนึ่งในว่ายน้ำไทยผ่านเกณฑ์ A ของโอลิมปิก

6 เมษายน 2563

ในประวัติศาสตร์วงการว่ายน้ำไทยมีนักว่ายน้ำไทยไม่น่าจะเกิน 5 คน ที่สามารถควอลิฟายเวลาผ่านเกณฑ์ A ของโอลิมปิก เกมส์ได้ และมีนักว่ายน้ำที่เป็นคู่พี่น้องกันเพียงคู่เดียวของไทย ที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก ต่อวัย เสฏฐโสธร คือนักว่ายน้ำที่ทำได้สำเร็จทั้ง 2 อย่างเป็นคนสุดท้าย และมันน่าจะใช้เวลาอีกนานทีเดียวกว่าจะมีนักว่ายน้ำไทยรุ่นน้องทำได้แบบนี้อีกครั้ง

 

คู่พี่น้องนักว่ายน้ำโอลิมปิก

เหตุผลในการว่ายน้ำของ ต่อวัย เสฏฐโสธร เกิดขึ้นจากการที่คุณพ่ออยากให้ว่ายน้ำ เพื่อที่จะช่วยเหลือตัวเอง และเอาตัวรอดเวลาจมน้ำได้ โดยอีกหนึ่งเหตุผลที่สำคัญเลยก็คือ ตามพี่ชายอย่าง ต่อลาภ เสฏฐโสธร ที่ได้เป็นนักว่ายน้ำอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งการมีพี่ชายที่เป็นนักว่ายน้ำระดับชาติเหมือนกัน ส่งผลดีอย่างมากในเรื่องกำลังใจ เพราะเจ้าตัวสามารถปรับทุกข์ กับพี่ชายในเวลาที่เหนื่อยหรือท้อมาก ๆ นั้นรวมถึงการแบ่งปันความสุขในเวลาที่ประสบความสำเร็จอีกด้วย เพราะคงไม่มีใครเข้าใจกันได้ดีไปกว่านักว่ายน้ำด้วยกันอีกแล้ว ซึ่งท้ายที่สุดทั้ง 2 คน ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในหลายรายการ ทั้งในระดับซีเกมส์, เอเชียนเกมส์ รวมถึงการเข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เกมส์ได้ทั้ง 2 คน ที่เป็นประวัติศาสตร์มาจนถึงทุกวันนี้

 

สร้างความสำเร็จในซีเกมส์

ปี 1997 ในวัยเพียง 15 ปี ต่อวัย เสฏฐโสธร ก็ติดทีมซีเกมส์ไปแข่งเป็นสมัยแรกที่ประเทศ ฟิลิปปินส์ ซึ่งเจ้าตัวก็สร้างผลลงานได้ทันทีด้วยการคว้า 1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน โดย 2 เหรียญเงินที่พลาดไปก็เป็นการพ่ายให้กับพี่ชายร่วมสายเลือดอย่าง ต่อลาภ เสฏฐโสธร เท่านั้นเอง ไม่บ่อยครั้งนักหรอกที่บนแท่นรับเหรียญรางวัล ในรายการระดับซีเกมส์จะมีพี่น้อง 2 คนขึ้นไปรับเหรียญรางวัลพร้อมกัน  ต่อวัย ยังรับใช้ชาติในซีเกมส์อีก 3 สมัยในปี 1999, 2001 และ2003  โดยซีเกมส์ปี 2001 ที่ประเทศ มาเลเซีย เป็นครั้งที่เจ้าตัวทำผลงานได้ดีที่สุดด้วยการคว้าไป 3 เหรียญทองกับ 1 เหรียญเงิน รวมซีเกมส์ 4 สมัย ต่อวัยคว้าไปทั้งหมด 5 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน และ4 เหรียญทองแดง 

 

 

ฝึกวิชาที่สหรัฐอเมริกา

จากผลงานที่ดีทำให้ ต่อวัย เสฏฐโสธร ได้รับทุน Olympic Solidarity Scholarship จากโอลิมปิกสากล  ซึ่งคุณพ่อคุปต์ เสฏฐโสธร และอาจารย์ตึก ธนาวิชญ์ โถสกุล โค้ชที่เปรียบเสมือนพ่อคนที่ 2 ก็ได้ตัดสินใจเลือก สหรัฐอเมริกา เป็นสถานที่ฝึกปรือวิชาให้กับเจ้าตัว เพราะที่สหรัฐอเมริกามีชื่อเสียงด้านการว่ายเดี่ยวผสม ซึ่งเป็นท่าถนัดของเจ้าตัวในขณะนั้น 

 

การฝึกซ้อมที่สหรัฐอเมริกา ทำให้ต่อวัย ได้รับประสบการณ์ดี ๆ มากมาย เพราะที่นั้นการฝึกซ้อมจะค่อนข้างเอาจริง เอาจัง และโหดหินสุด ๆ เจ้าตัวได้เรียนรู้ความเป็นมืออาชีพจากเพื่อนร่วมทีมระดับโลกอย่าง ทอม โดแลน, ไมเคิ่ล เฟลป์, เลนนี่ เคลย์เซลเบิร์ก หรือแอนโทนี่ เออร์วิน ซึ่งพวกนี้ดีกรีระดับเหรียญทองโอลิมปิกทั้งนั้น ถึงคอร์ดการซ้อมจะโหดหินสุด ๆ ราว 120,000 เมตร ต่อสัปดาห์ แต่ข้อดีของนักว่ายน้ำต่างชาติ ก็คือพวกเขาจะคอยเชียร์ และให้กำลังใจเวลาเพื่อนร่วมทีมเจอบททดสอบหนัก ๆ อยู่เสมอ  ซึ่งการฝึกซ้อมที่หนักหน่วงก็ผลิดอกออกผลทำให้ ต่อวัย ควอลิฟายเวลาผ่านเกณฑ์ A โอลิมปิกได้สำเร็จ ในท่าเดี่ยวผสม 400 เมตร ด้วยเวลา 4.22.61 นาที ในรายการ U.S. National Championships

 

ความกดดันของเกณฑ์ A โอลิมปิก เกมส์

การคลอลิฟายเวลาผ่านเกณฑ์ A โอลิมปิก ทำให้นักว่ายน้ำที่ใจสู้ และไม่เคยกลัวการแข่งขันอย่าง  ต่อวัย เสฏฐโสธร ต้องเจอกับประสบการณ์ที่กดดันที่สุดในชีวิตการเป็นนักว่ายน้ำ วันนั้น ต่อวัย ซึ่งทำเวลาควอลิฟาย มาได้ดีถูกจับอยู่ในฮีทที่ 6 ในรอบคัดเลือก ซึ่งเป็นฮีทสุดท้ายที่อุดมไปด้วยยอดฝีมืออย่าง ทอม โดแลน แชมป์เก่าเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ที่ท้ายที่สุดได้เป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก ท่าเดี่ยวผสม 400 เมตร ในปีนั้นอีกด้วย หรือจะเป็น อิสวาน บาทาซี่ แชมป์ทวีปยุโรปจาก ฮังการี บรรยากาศในห้องรับรายงานตัวนั้นมาคุสุด ๆ เต็มไปด้วยแรงกดดัน และความมุ่งมั่นจากนักกีฬาทั้ง 8 คน ถึงจะรู้จักกัน แต่ในช่วงเวลานั้นไม่มีใครคุยกับใคร ไม่แม้แต่กระทั่งจะสบตากันด้วยซ้ำ ต่างคนต่างมุ่งมั่นทำสมาธิของตัวเอง นั้นเป็นประสบการณ์ที่สุด ๆ แล้วสำหรับต่อวัย ในโอลิมปิก เกมส์ ในโอลิมปิกปี 2000 ครั้งนั้นต่อวัย ลงทำการแข่งขันถึง 4 รายการ ในท่าฟรีสไตล์ 400 เมตร เจ้าตัวได้อันดับที่ 24, ท่าฟรีสไตล์ 1500 เมตร คว้าอันดับที่ 28, กรรเชียง 200 เมตร ทำเวลา 2.05.62 นาที ได้อันดับที่ 35 และท่าเดี่ยวผสม 400 เมตร คว้าอันดับที่ 32

 

 

ถ้ามุ่งมั่นตั้งใจเราทำได้

เมื่อถูกถามถึงสิ่งที่อยากฝากถึงนักกีฬารุ่นใหม่ และวงการว่ายน้ำ ต่อวัย เสฏฐโสธร อยากให้โค้ช นักกีฬา และผู้ปกครอง ที่อยากประสบความสำเร็จนั้นร่วมมือกัน โค้ชต้องมีการวางแผนที่ดี ทำงานอย่างมีระบบ มีความรู้ใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาประยุกต์ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ต้องมีความเข้าใจ สนับสนุนโค้ช และตัวนักกีฬา ท้ายที่สุด คือตัวนักกีฬาเอง ต้องมีความตั้งใจฝึกซ้อมเต็มที่ ทั้ง 3 ฝ่ายต้องร่วมมือกันเชื่อใจกันถึงจะประสบความสำเร็จได้ 

 

“ผมยังเชื่อมั่นในศักยภาพคนไทย  ถ้าสิงคโปร์ทำเหรียญทองโอลิมปิกได้ เราก็ต้องทำได้” ประโยคทิ้งท้ายจากเจ้าตัวที่ยังแสดงความเชื่อมั่นต่อ นักว่ายน้ำรุ่นใหม่ และวงการว่ายน้ำไทย ถ้าเราทำกันเป็นระบบจริงจังวันหนึ่งเราจะทำมันได้สำเร็จ

 


stadium

author

ฉลามหนุ่มไทยแลนด์

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose