stadium

ฟุตบอลหลังสงครามโควิด-19

31 มีนาคม 2563

ฟุตบอลหลังสงครามโควิด-19

#คุยเฟื่องเรื่องบอลไทย

 

“โควิด-19” ชื่อคุ้นหูที่ในตอนนี้กำลังยึดพื้นที่สื่อทุกประเภททั้งแบบสิ่งพิมพ์, จอตู้, วิทยุและสื่อออนไลน์ไซเบอร์ โดยถือวิสาสะเป็นเจ้าของพื้นที่สื่อชนิด “เหมาคนเดียว” แถมยังเสนอหน้าถี่กว่ามื้ออาหารสามเวลาและครอบคลุมยิ่งกว่าเครือข่าย 4G เสียด้วยซ้ำ (เพราะพื้นที่สื่อทั่วโลกต่างประเคนกรอบใหญ่แบบเฮดไลน์ให้มันทุกสำนัก)  

 

และในตอนนี้ก็ยังไม่มีใครสามารถตอบได้ว่า “เมื่อไหร่สงครามระหว่างมนุษย์กับเชื้อโรคตัวนี้จะจบลง? และความสูญเสียมันจะหยุดอยู่ที่ตัวเลขเท่าไหร่?” เพราะในหลายประเทศก็ยังตกอยู่ในสถานการ์ณที่กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม และก็มีจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถประกาศตนว่าเป็น “ผู้ชนะ” ได้สำเร็จ  

 

ที่สำคัญผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสงครามระหว่างมนุษย์กับโรคอุบัติใหม่ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบแค่ในวงการสาธารณสุขเท่านั้น หากแต่ในโลกของฟุตบอล หลายทัวร์นาเม้นต์, หลายลีกและหลายสโมสรก็กำลังตกอยู่ในสภาวะ “ชัดดาวน์ชั่วขณะ” แถมยังต่อท้ายด้วยอาการ “โคม่า” อีกต่างหาก

 

สโมสรกว่าครึ่งในลีก เอิง กำลังเสี่ยงต่อสภาวะล้มละลาย ในขณะที่หลายสโมสรในสเปน, อิตาลี และอังกฤษกำลังอยู่ระหว่างการเจรจา “คัทออฟกับเลย์ออฟ” ค่าจ้างและจำนวนทีมงานสต๊าฟ แม้แต่ทีมในย่านอาเซียนอย่างเอ็มลีกและอินโดนีเซีย ลีกา1 หลายสโมสรก็กำลังทำในแบบเดียวกัน  

 

ภาวะโคม่าที่เกิดขึ้นพร้อมๆกันทั่วโลกสร้างความวิตกกังวลไม่น้อยต่อองค์กรแม่อย่างฟีฟ่า จนเร็วๆนี้เองแม้แต่นายใหญ่อย่าง จานนี่ อินฟานติโน่ ก็ยังต้องออกมาให้สัมภาษณ์ว่าบางทีการแข่งขันฟุตบอลในระดับนานาชาติอาจจำเป็นต้องถูก “รีฟอร์ม” กันใหม่หลังสงครามโควิด-19 นี้ผ่านไป โดย “รีฟอร์ม” ของประธานฟีฟ่าในที่นี้ได้มีการขยายความเพิ่มเติมว่าบางทีเราทุกคนอาจต้องทำฟุตบอลให้สโคปมันเล็กลงและ “สเต็ปแบ็ค” กลับไปให้เหมือนตอนที่ฟุตบอลพึ่งจะถือกำเนิดมาได้ไม่นาน

 

ลดจำนวนทัวร์นาเม้นต์ลงให้เหลือแต่รายการสำคัญๆจริงๆเท่านั้น, ปรับโครงสร้างการแข่งขันในรอบต่างๆเพื่อให้จำนวนแมตช์มันลดลง ในขณะที่ฟุตบอลลีกของแต่ละประเทศ(หากเป็นไปได้)ก็อาจมาในรูปแบบของการลดจำนวนทีมลงในแต่ละลีก(ตั้งแต่ลีกสูงสุดจนถึงลีกล่างๆ) และให้ยกเลิกระบบการเล่นเพลย์ออฟเลื่อนชั้น-ตกชั้น และเปลี่ยนการเล่นระบบเหย้า-เยือนในบอลถ้วยให้เหลือเพียงเกมนัดเดียวในสนามกลาง

 

“ช็อคไหมล่ะครับ!” กับไอเดียของนายใหญ่ฟีฟ่าที่เมื่อไม่กี่ปีมานี้พึ่งลงนามรับรองขยายทีมในรายการใหญ่อย่างเวิล์ดคัพจาก 32 เป็น 48 ทีมไปหยกๆ แถมเจ้าตัวยังเคยออกสื่อเห็นด้วยกับแนวทางเนชั่นลีกที่กำลังใช้กันในหลายทวีป

 

ผมคิดว่าการที่เจ้าตัวออกมาเสนอแนวคิด “สเต็ปแบ็ค” สืบเนื่องมาจากระยะเวลาที่มีให้ในแต่ละทัวร์นาเม้นต์ที่เหลืออยู่มันค่อนข้างจะจำกัด ซึ่งถ้าว่ากันตามจริงมันก็สุ่มเสี่ยงอย่างมากที่บางรายการจะมีทีมที่อาจสับรางกันไม่ทัน  

 

ดูอย่างโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวสิ นี่ก็เป็นรายการใหญ่ที่ต้องถูกเลื่อนออกไปแล้วล่าสุด แถมรายการชิงแชมป์ทวีปอย่างโคปา อเมริกาและคัดบอลโลกในบางโซนก็ทั้งเลื่อนไปปลายปีและยกไปปีหน้าทำให้ตารางการแข่งขันในปีหน้าดูจะแน่นเปรี๊ยะชนิดกระดิกตัวไปไหนไม่ได้ เผลอๆดีไม่ดีรายการใหญ่ๆในช่วงนั้นหลายทีมในที่นี้ก็อาจต้องส่งทีมที่ไม่ใช่ทีมที่ดีที่สุดลงเล่น (ส่งยู23 ไปบางรายการในนามชุดใหญ่ ส่งยูต่ำลงไปในรายการที่มีไม่ค่อยสำคัญ หรืออาจต้องตัดใจงดส่งทีมเข้าร่วมในบางรายการ)

 

เพราะทัวร์นาเม้นต์สำคัญๆ ต่างมีคิวรอจ่อจะเตะกันใหม่ในปลายปีนี้และปีหน้าทั้งหมด แถมยังมีรายการในระดับสโมสรแบบชิงแชมป์นานาชาติอย่างแชมเปี้ยนลีก และ คลับเวิร์ลคัพ รออยู่อีกด้วย ยังไม่นับรายการเล็กๆประเภทพรีซีซั่นของแต่ละภูมิภาคอย่างไอซีซี, พรีเมียร์ลีก เอเชีย โทรฟี่, ออดี้คัพ, ฟลอริด้าคัพ และแม่โขงคัพ แล้วแบบนี้จะไม่ให้ฟุตบอลหลังสงครามโควิด-19 จะต้องถูก “รีฟอร์ม” กันใหม่ได้อย่างไรกันล่ะ? (จะให้ตะบี้ตะบันเตะๆกันไปแบบเร่งให้จบแล้วปล่อยให้คนดูเลือกว่าจะยอมเสียตังค์ดูรายการไหน หรือจะหักดิบยกเลิกบางรายการเลยมันก็ดูใจร้ายเกินไปต่อเจ้าภาพและโต้โผรายการนั้นๆ)

 

ผมว่าจุดที่น่าสนใจและถือเป็นโจทย์ข้อใหญ่หากจะทำให้แนวคิดนี้เกิดขึ้นได้จริงก็คือเรื่องของเงินๆทองๆอยู่ดีนั่นแหละ อย่าลืมว่าแมตช์แข่งขันนำมาซึ่งรายได้เข้าสมาคมฯและสโมสร ซึ่งถ้าหากลีกและบอลถ้วยเตะกันน้อยแมตช์ นั่นย่อมหมายถึงการลดลงของรายได้อย่างแน่นอน (เว้นแต่องค์กรแม่อย่างฟีฟ่าจะออกมาตรการณ์เยี่ยวยาเพิ่มเติมออกมา หรือเพิ่มเงินรางวัลในทัวร์นาเม้นต์สำคัญๆในสัดส่วนที่จะได้กันถ้วนหน้า)

 

“เข้าใจอินฟานติโน่นะว่าเขากำลังจะสื่อถึงอะไร” เพราะในมุมของคนดูหากรู้ว่าทีมที่ลงเล่นเป็นทีมบี หรือยู23 ไม่มีทั้งดาวดังและตัวคุ้นหู มันก็คงหมดอรรถรสและไม่ชวนให้อยากดู ในขณะที่ในมุมของฝ่ายจัดการแข่งขันและนักบอลด้วยกัน(หากรู้ว่ามีแต่ทีมเฉพาะกิจลงเล่น) มันก็คงเป็นทัวร์นาเม้นต์ที่ไร้ซึ่งเสน่ห์มนต์ขลัง และความจริงจังก็คงจะไม่100% สู้ลดรายการไม่สำคัญออกไปแล้วเหลือไว้แต่รายการใหญ่ๆเท่านั้นจะดีกว่า

 

ฟุตบอลหลังสงครามโควิด-19 ยังคงอยู่ในหมอกควันของความไม่ชัดเจน แต่ที่ชัดเจนแล้วแน่ๆ คือ หากสงครามครั้งนี้ยังคงยืดเยื้อต่อไป “สเต็ปแบ็ค” ในวงการฟุตบอลจะเกิดขึ้นแน่ๆ แต่ไม่ใช่เพราะอุดมการณ์ของประธานฟีฟ่าหรอกนะ หากแต่มันคือผลผลิตจาก “กฎลูกโซ่” แบบในวิชาแคลคูลัสที่ในบางลีกจะมีการลดจำนวนทีมลงเพราะบางสโมสรอาจพักทีม, ยุบทีม หรือหยุดทำกลางคันเพราะเขาเหล่านั้นอาจทนพิษบาดแผลไม่ไหวต่างหาก


stadium

author

“akinson149” พงศ์รัตน์ วินัยวัฒนวงศ์

Moderator เพจ thailandsusu (Section: บทความ-แปลข่าวบอลไทย) และคอลัมนิสต์ฟุตบอลไทย

La Vie en Rose