stadium

ตำนานทีมชาติไทยยุค 80 : วรวรรณ ชิตะวณิช

29 มีนาคม 2563

ตำนานทีมชาติไทยยุค 80 : วรวรรณ ชิตะวณิช

#ChangsuekDiscovery

 

หากเอ่ยถึงนักเตะไทยที่ได้รับการยอมรับว่าคือรุ่นบุกเบิกคนหนึ่งที่ออกไปสร้างชื่อเสียงในต่างแดนทั้งในฐานะนักเตะและโค้ช จะต้องมีชื่อของ “วรวรรณ ชิตะวณิช” กองกลางชั้นนำทีมชาติไทยในยุค 80

 

นี่คือนักเตะรุ่นแรกๆ ที่ออกไปค้าแข้งที่ญี่ปุ่นเมื่อ 30 ปีก่อน และไปตะลุยค้าแข้งอาชีพที่เดนมาร์ก ก่อนจะมาเป็นโค้ชและคว้ารางวัลโค้ชยอดเยี่ยมฟุตบอลลีกสิงคโปร์ 2 ปีซ้อน วันนี้สารานุกรมฟุตบอลไทยจะพาไปย้อนชมเกียรติประวัติของนักเตะไทยที่มีเพียงไม่กี่คนที่จะประสบความสำเร็จในต่างประเทศได้ขนาดนี้

 

“วรวรรณ ชิตะวณิช” เกิดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2504 เติบโตขึ้นมาในรั้วของสโมสราชประชา ในยุคนั้น “ทีมตราชฎา” ถือว่าเป็นทีมชั้นนำทีมหนึ่งของเมืองไทยและมีการสร้างแคมป์เก็บตัวฝึกซ้อมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เด็กชายป้ำชื่อเล่นของเขา มีคุณแม่เป็นแม่ครัวทำอาหารแต่ละมื้อให้กับนักเตะในสโมสราชประชา  

 

ทุกๆเย็นเด็กชายป้ำจะมีหน้าที่เป็นเด็กเก็บบอลให้กับสโมสร และนั่งดูการเล่นของพี่ๆ  แน่นอนว่าเพียงแค่วัยไม่กี่ขวบ วรวรรณก็มีโอกาสได้สัมผัสกับนักเตะชั้นนำระดับทีมชาติไทยในยุคนั้น หนึ่งในนั้นกืคือนักเตะดังอย่าง “วิทยา เลาหกุล” ซึ่งเป็นทั้งรุ่นพี่และคนที่สอนเบสิคการเล่นให้กับเจ้าตัวอยู่ทุกวัน

 

หลังจากที่วิทยา เลาหกุล ออกไปค้าแข้งที่ญี่ปุ่นและเยอรมัน วรวรรณก็กลายเป็นตัวหลักของราชประชา เขาเริ่มติดทีมชาติชุดเยาวชน ก่อนจะมาติดทีมชาติชุดใหญ่ครั้งแรกในวัยเพียง 18 ปี ในรายการเมอร์เดกา คัพ ที่ประเทศมาเลเซีย และเจ้าตัวก็แจ้งเกิดโดยได้รับการชื่นชมจากสื่อว่าเล่นได้ดีเกินอายุ ทั้งที่เป็นการติดทีมชาติไทยครั้งแรก

 

จากนั้นมาไม่มีอะไรจะหยุดนักเตะลูกหม้อจากราชประชา เขาพาทีมตราชฎาคว้าแชมป์ถ้วยพระราชทาน ก. 2 สมัย ในปี พ.ศ.2523 และ 2525 ขณะที่เส้นทางทีมชาติไทยก็กลายเป็นกองกลางตัวหลัก

 

ปี 2528 สโมสรแทจิน มัตซึยาม่า จากญี่ปุ่น คว้าตัววรวรรณและพิชัย คงศรี สองสตาร์ทีมชาติไทยในยุคนั้นบินไปค้าแข้งในแดนซามูไร ซึ่งเหมือนเป็นใบเบิกทางเช่นเดียวกับที่วิทยา เลาหกุล ได้ทำไว้ เพราะสองปีต่อมา Frederikshavn fi ทีมจากเดนมาร์กที่มีโอกาสได้เห็นฟอร์มของเจ้าตัว ก็บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาเซ็นสัญญาไปร่วมทีม  

 

นักเตะจากไทยโชว์ฟอร์มได้ประทับใจจนไปเข้าตาทีมใหญ่ และเพียงปีต่อมา ในปี 2531 ก็ได้ไปร่วมทีมดังอย่างวีบอร์ก โดยค้าแข้งอยู่กับวีบอร์กถึง 3 ปี

 

หลังกลับจากเดนมาร์ก ปี 2534 เจ้าตัวกลับมาซบอู่ข่าวอู่น้ำกับราชประชาอีกครั้ง และเขาเกือบพาราชประชาได้แชมป์ไทยแลนด์เซมิโปรลีก แต่พลาดได้เพียงรองแชมป์ ถึงอย่างไรก็ตามประสบการณ์จากญี่ปุ่นและยุโรปก็ทำให้เจ้าตัวโชว์ฟอร์มได้เด่นกว่าใคร และผงาดคว้านักเตะยอดเยี่ยมปีนั้นไปครอง

 

เมื่อแขวนสตั๊ด เจ้าตัวหันไปเอาดีอบรมโค้ช โดยสร้างชื่อเสียงสำคัญให้กับวงการฟุตบอลไทยด้วยการคุมทีมในสิงคโปร์กว่า 10 ปี พาแทมปิเนส โรเวอร์ส คว้าแชมป์ลีกสูงสุดถึง 2 สมัย รวมทั้งฟุตบอลถ้วย พร้อมกับคว้ารางวัลโค้ชยอดเยี่ยม 2 ปีซ้อนในปี 2004 และ 2005

 

ส่วนเกียรติประวัติที่สำคัญกับทีมชาติไทย เขาคือหนึ่งในนักเตะที่คว้าแชมป์คิงส์คัพได้มากที่สุดถึง 6 สมัย (พ.ศ. 2522, 2524, 2525, 2526, 2532, 2535) และแชมป์ซีเกมส์อีก 3 สมัย รวมทั้งอยู่ในทีมชาติไทยยุคที่ผ่านเข้าถึงรอบ 10 ทีมคัดเลือกฟุตบอลปรีโอลิมปิก 1984 ซึ่งนับเป็นยุคทองของทีมชาติไทยยุคหนึ่งแม้จะไม่สามารถผ่านไปรอบสุดท้ายได้ แต่ก็สร้างผลงานในรอบคัดเลือกได้อย่างน่าประทับใจทั้งการชนะเกาหลีใต้ 2-1 ชนะจีน 1-0 และชนะญี่ปุ่น 5-2

 

==================

 

ติดตามเรื่องราวของสถิติฟุตบอลไทยและเกร็ดข้อมูลในอดีตที่น่าสนใจได้ที่ แฟนเพจ #สารานุกรมฟุตบอลไทย  Facebook/thaifootballcyclopedia


stadium

author

เอ สารานุกรมฟุตบอลไทย

Changsuek Content Creator

La Vie en Rose