stadium

จอห์น ฮิกกินส์ เป็นคนที่ 11 แล้วใครกันที่ทำได้ก่อนหน้านี้ ?

7 สิงหาคม 2563

การทำ “แม็กซิมัมเบรก” หรือ การกดไม้เดียว 147 คะแนนนับเป็นเรื่องที่ยากสำหรับสนุกเกอร์ เพราะเป็นการกวาดคนเดียวทั้งโต๊ะ ด้วยคะแนนเต็มสูงสุด ที่นอกจากต้องอาศัยฝีมือของตัวเองแล้ว โชคก็ถือเป็นอีกตัวแปรที่สำคัญ และในการแข่งขันรายการต่างๆมักมีการแจกเงินรางวัลพิเศษให้กับการทำ แม็กซิมัมเบรกได้ เช่นเดียวกับการถูกจารึกชื่อและสถิติ

 

ขณะเดียวกันการแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลก ถือเป็นหนึ่งในรายการทริปเปิลคราวน์ (ประกอบด้วย เวิลด์สนุกเกอร์แชมเปียนชิป,ยูเคแชมเปียนชิป,มาสเตอร์ การแข่งขันสนุกเกอร์ที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ของโลก) ที่เป็นการรวมตัวกันของสุดยอดนักสนุกเกอร์จากทั่วทุกมุมโลกที่มีผลงานในช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้น การจะมีโอกาสทำแม็กซิมัมเบรกในรายการนี้ จึงเป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

 

ล่าสุด จอห์น ฮิกกินส์ อดีตแชมป์ 4 สมัยชาวสกอตแลนด์ ในวัย 45 ปี สร้างแม็กซิมัมเบรกในรายการดังกล่าวเป็นครั้งที่ 11 ได้สำเร็จ แม้จะกระเด็นตกรอบอย่างพลิกล็อคต่อ เคิร์ต มาฟลิน จากนอร์เวย์ 11-13 เฟรม

 

ก่อนจะไปดูรายชื่อนักสนุกเกอร์ต่างๆ ที่เคยทำแม็กซิมัมเบรกได้ ย้อนทบทวนพื้นฐานกันเล็กน้อยว่า แม็กซิมัมเบรก คืออะไร ต้องทำอย่างไรถึงจะทำได้ กันก่อนนะครับ (หรือถ้าใครเข้าใจแม่นเป๊ะแล้ว ก็เลื่อนผ่านไปหัวข้อต่อไปเลย)

 

อ่านเรื่อง : 5 ตัวเต็งคว้าแชมป์สนุกเกอร์ชิงแชมป์โลก 2020 คลิกเลย

อะไรคือ แม็กซิมัมเบรก … และทำไมนักสนุกเกอร์ทุกคนจึงอยากทำได้

 

หากคุณต้องการทำ แม็กซิมัมเบรกได้ นั่นหมายถึงการที่คุณสามารถเก็บลูกแดงบนโต๊ะเองทั้งหมด 15 ลูก (ลูกละ 1 คะแนน = 15 คะแนน) และสลับกับการเล่นลูกสีดำทั้ง 15 ครั้ง (15 x 7 = 105 คะแนน)

 

นั่นทำให้คุณจะมีคะแนนสะสมในเฟรมนั้นแล้ว 120 คะแนน

 

จากนั้นก็ต้องไล่เก็บลูกสีทั้งหมดบนโต๊ะ ซึ่งมีคะแนนรวมอีก 27 คะแนน จึงรวมเป็นการทำทั้งหมด 147 คะแนน

 

แน่นอนว่าคุณต้องทำมันทั้งหมดให้ได้ในไม้เดียวด้วย นั่นจึงเป็นเรื่องที่ยาก และ ยิ่งเป็นการแข่งขันระดับอาชีพในรายการใหญ่ๆ เมื่อมีเรื่องของความกดดัน และ การไม่กล้าเสี่ยงเล่นลูกยากจนเกินไป ยิ่งทำให้โอกาสที่จะเกิดขึ้นสำเร็จนั้น ยากเข้าไปอีก

 

การทำ แม็กซิมัมเบรก จึงถือเป็นเกียรติประวัติที่นักสนุกเกอร์ทุกคนอยากที่จะจารึกชื่อตัวเองว่าทำได้ และยิ่งได้จำนวนครั้งที่มาก ก็ยิ่งสื่อถึงฝีมืออันฉกาจฉกรรจ์ เพราะหากทำได้เพียงครั้งเดียวอาจถูกมองว่าฟลุ๊คหรือเป็นเรื่องบังเอิญ และ อีกเหตุผลหนึ่งคือเรื่องของเงินรางวัลก้อนโตจากการทำ แม็กซิมัมเบรก

 

ตัวอย่างเช่น จอห์น ฮิกกินส์ ที่เพิ่งทำสำเร็จในรายการชิงแชมป์โลก 2020 ก็เตรียมรับเงินรางวัลสำหรับการทำแม็กซิมัมเบรคจำนวน 40,000 ปอนด์ (ราว 1.6 ล้านบาท) รวมถึงรางวัลเบรคสูงสุด 15,000 ปอนด์ (6 แสนบาท) แต่หากมีนักสอยคิวรายอื่นทำได้ 147 แต้มอีก เงินรางวัลดังกล่าวจะถูกหารทันที

 

หรือสรุปได้ว่า ในการทำแม็กซิมัมเบรก นอกจากได้เกียรติยศแล้ว ยังนำมาสู่ลาภก้อนโตอีกด้วย

 

อ่านเรื่อง : 5 นักสอยคิวไทยในครูซิเบิล เธียร์เตอร์ คลิกเลย

ฮิกกินส์ คือ ครั้งที่ 11 … แล้ว 10 ครั้ง ใน ครูซิเบิ้ล เทียร์เตอร์ ก่อนหน้านี้หละ ?

 

จอห์น ฮิกกินส์ จารึกตัวเองเป็น 1 ใน 7 นักสนุกเกอร์ ที่สามารถทำ แม็กซิมัมเบรก ได้ในการแข่งขันชิงแชมป์โลก โดย 6 คนก่อนหน้า คือนักสอยคิวระดับตำนาน ไล่ตั้งแต่ คลิฟฟ์ ทอร์เบิร์น, จิมมี่ ไวท์, สตีเฟ่น เฮนดรี้, รอนนี่ โอ ซุลลิแวน, มาร์ค วิลเลี่ยมส์ และ อาลี คาร์เตอร์ ซึ่งทั้ง 6 นักสอยคิวเหล่านี้ต่างกดแม็กซิมัมเบรกมาแล้วรวมกันทั้งสิ้น 10 ครั้ง … เกิดขึ้นเมื่อไหร่ และ มีความสำคัญอะไรแฝงบ้าง มาไล่ดูกันเลย

 

1. คลิฟฟ์ ทอร์เบิร์น การแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลกเมื่อปี 1983 ทำได้ในการแข่งขันเฟรมที่ 4 ของรอบ 2ระหว่างการดวลกับ เทอร์รี กริฟฟิธส์ ส่งผลให้เขากลายเป็นคนแรกที่ทำ แมกซิมัมเบรกในรายการนี้ได้สำเร็จ

 

2. จิมมี่ ไวท์ การแข่งขันสุนกเกอร์ชิงแชมป์โลกเมื่อปี 1992 โดยสามารถกดแมกซิมัมได้ในเฟรมที่ 13 ของการแข่งขันรอบแรก ในการเจอกับ โทนี่ ดราโก้

3. สตีเฟ่น เฮนดรี้ การแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลกเมื่อปี 1995 ซึ่งมัจจุราชผมทอง ทำสำเร็จในเฟรมที่ 12 ของรอบรองชนะเลิศ และคู่แข่งของเขาในตอนนั้นคือ จิมมี่ ไวท์

 

4. รอนนี่ โอซุลลิแวน การแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลกเมื่อปี 1997 โดย เดอะ ร็อคเก็ตส์ ทำได้ในเฟรมที่ 14 ของการแข่งขันรอบแรก ระหว่างพบกับ มิค ไพรซ์

 

5. รอนนี่ โอซุลลิแวน (ครั้งที่ 2) การแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลกเมื่อปี 2003 เขาทำได้อีกครั้งในเฟรมที่ 7 ของการแข่งขันรอบแรกกับ มาร์โก ฟู

 

6. มาร์ค วิลเลี่ยมส์ การแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลกเมื่อปี 2005 โดยทำได้ในเฟรมที่ 11 ของรอบแรกในการเจออกับ โรเบิร์ท มิลกินส์

 

7. รอนนี่ โอซุลลิแวน (ครั้งที่ 3) การแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลก ปี 2008 สามารถทำได้ในเฟรมที่ 20 ของการแข่งขันรอบที่ 2 ซึ่งพบกับ มาร์ค วิลเลี่ยมส์

8. อาลี คาร์เตอร์ การแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลกปี 2008 โดยกดแม็กซิมัมเบรกในเฟรมที่ 15 ของรอบก่อนรองชนะเลิศ ที่เจอกับ ปีเตอร์ เอ็บด้อน

 

9. สตีเฟ่น เฮนดรี้ การแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลกปี 2009 ทำได้สำเร็จในเฟรมที่ 7 ของรอบก่อนรองชนะเลิศโดยเกมนั้นพบกับ ฌอน เมอร์ฟี

 

10. สตีเฟ่น เฮนดรี้ การแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลกปี 2012 โดยกดแม็กซิมัมในเฟรมที่ 7 ของการแข่งขันรอบแรก ที่พบกับ สจ๊วร์ต บิงแฮม

 

นั่นคือความสุดยอดในการกด แมกซิมัมเบรก ระหว่างการแข่งขันชิงแชมป์โลก และ เฮนดรี้ กับ ซุลลิแวน คือ 22 คน ที่ทำได้มากกว่า 1 ครั้ง โดยทั้งคู่ต่างทำสำเร็จไปถึง 3 หน ด้วยกัน

 

แต่ถ้านับรวมการแข่งขันสนุกเกอร์อย่างเป็นทางการนั้น ปรากฏการณ์แม็กซิมัมเบรก เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งสิ้น 157 ครั้ง โดยคนแรกที่ทำได้คือ สตีฟ เดวิส ในการแข่งขันรายการ Lada Classic ปี 1982

 

แล้วนักสนุกเกอร์ไทย เคยทำ แมกซิมัมเบรก ได้หรือไม่ ?

 

ถ้านับรวมทุกรายการจากสถิติ 157 ครั้ง ปรากฏว่านักสอยจากประเทศไทย เคยทำ แม็กซิมัมเบรก ได้รวมกันทั้งสิ้น 8 ครั้ง จากนักกีฬาทั้งหมด 5 คน เป็นใครบ้าง เราได้สรุปมาให้แล้ว

  1. ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ทำได้ 3 ครั้ง คือ ในศึก เวิลด์ มาสเตอร์ ปี 1991, การแข่งขัน บริติช โอเพ่น ปี 1992 และ ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล ชาลเลนจ์ ปี 1997
  2. เอฟ นครนายก ทำได้ 2 ครั้ง คือ ในศึก พอล ฮันเตอร์ คลาสสิค ปี 2016 และ อิงลิช โอเพ่น ปี 2018
  3. แมน นครปฐม ทำได้ 1 ครั้ง ในศึก Rüsselsheim Open ปี 2010 ซึ่งสร้างสถิติเป็นนักสนุกเกอร์ อายุน้อยที่สุด ที่ทำแมกซิมัมเบรกได้ ด้วยอายุเพียง 16 ปี กับ 312 วัน
  4. แจ็ค สระบุรี ทำได้ 1 ครั้ง ในศึก เยอรมัน มาสเตอร์ ปี 2013
  5. หมู ปากน้ำ ทำได้ 1 ครั้ง ในศึก เวลช์ โอเพ่น ปี 2019

ซึ่งเราก็หวังว่าจะได้เห็นนักสนุกเกอร์ไทยเพิ่มทั้งสถิติแมกซิมัมเบรก และ การคว้าแชมป์รายการต่างๆเพิ่มขึ้นอีก อย่าลืมส่งแรงใจเชียร์นักสอยคิวไทย หลังจากแข่งขันเริ่มทยอยกลับมาแข่งกันอีกครั้งด้วย 

 

ถ้าคุณสนใจกีฬาสนุกเกอร์ เบนซ์ ขอแนะนำอีก 3 บทบาท

 

อ่านเรื่อง เพราะอะไรนักสนุกเกอร์ไทยรุ่นใหม่ถึงไม่ประสบความสำเร็จ

 

อ่านเรื่อง ซันนี่ สายล่อฟ้า แกะดำสนุ้กไทยที่ รอนนี่ โอซุลลิแวน ให้การยอมรับ

 

อ่านเรื่อง โอกาสที่สนุกเกอร์จะถูกบรรจุในโอลิมปิก 2024


stadium

author

นวพล เกียรติไพศาล

StadiumTH Content Creator