stadium

"หลักโภชนาการ - วิทยาศาสตร์การกีฬา" กุญแจสำคัญพัฒนาทีมชาติไทย

27 มีนาคม 2563

"หลักโภชนาการ - วิทยาศาสตร์การกีฬา" กุญแจสำคัญพัฒนาทีมชาติไทย

#EKKONOTheSeries

 

เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะเคยเห็นข่าวที่ว่า สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ร่วมมือกับ เอคโคโน่ ในการเชิญ มร.กาเบรียล มาร์ติน นักโภชนาการชาวโปรตุเกสจาก ลา ลีก้า มาจัดอบรมให้ความรู้กับแข้งทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี ระหว่างการเก็บตัวที่ประเทศสเปน

 

ท่ามกลางข้อสงสัยจากแฟนบอลบางส่วนว่า “หลักโภชนาการ” กับ “วิทยาศาสตร์การกีฬา” นั้นมันเกี่ยวข้องกับ “ฟุตบอล” และมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน… วันนี้เราคงพูดได้เต็มปากว่า ทั้งสองสิ่งนี้คือฟันเฟืองเล็กๆ แต่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความสามารถ และฝีเท้าของนักฟุตบอลเลยแม้แต่น้อย

 

เพราะนี่คือสิ่งที่สะท้อนถึงการบริหารจัดการว่า หากเราสามารถพิชิตรายละเอียดที่ส่งผลต่อสภาพร่างกาย และจิตใจของนักเตะได้ โอกาสที่เราจะพัฒนานักเตะกลุ่มนั้นๆ ให้มีศักยภาพตามที่เราต้องการให้ขับเคลื่อนตามโปรเจคต่างๆ ของสมาคมฯ และเอคโคโน่ โอกาสที่เราจะก้าวไปถึงเป้าหมายก็มีความเป็นไปได้มากขึ้น

 

เราจึงมีความจำเป็นที่ต้องโฟกัส “หลักโภชนาการ” กับ “วิทยาศาสตร์การกีฬา” ให้กับนักเตะตั้งแต่ระดับเยาวชน

 

เพราะในการพัฒนาวงการฟุตบอลให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง แน่นอน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ คุณต้องมีขุมกำลังนักเตะในระดับเยาวชนที่แข็งแกร่งซะก่อน

 

เราเคยได้ยิน หรือเห็นว่า นักฟุตบอลอาชีพบ้านเรายังรักที่จะทานอาหารแบบตามใจปาก เน้นความสะดวก ง่ายๆ ตามสไตล์ไทยแลนด์ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านั้น “ผิดหลัก” อย่างสิ้นเชิง

 

เพราะอาหารจำพวกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ของทอด น้ำตาล ฯลฯ ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสรีระของนักฟุตบอลบ้านเรา โดยเฉพาะนักเตะในระดับเยาวชน ที่จำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนอย่างต่อเนื่อง

 

ทางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และเอคโคโน่ ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ เพราะเรามองว่า หากทีมชาติไทยจะก้าวไกลไปถึงการเป็นทีมระดับแถวหน้าของเอเชีย เราเองต้องใส่ใจในทุกๆ ดีเทล ตั้งแต่ทีมเยาวชน และเราจะไม่ยอมให้เรื่องเล็กๆ ที่เราสามารถควบคุมได้ มาเป็นอุปสรรคต่อการไปถึงเป้าหมายในระยะยาวได้อย่าง “อาหารการกิน”

 

อ.ดร. อลิสา นานา อาจารย์ประจำวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา ม.มหิดล (วิชาชีพ accredited sports dietitian) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่อง “หลักโภชนาการ” กับ “วิทยาศาสตร์การกีฬา” คือหนึ่งในบุคคลที่ให้คำนิยามถึง “หลักโภชนาการ” แบบเข้าใจง่ายๆ ว่าเปรียบเสมือน “เสาเข็มของบ้าน” เพราะหากเรามีเสาเข็มของบ้านที่แข็งแรง และมั่นคงนั้นจะทำให้บ้านนั้นปลอดภัย ตั้งสง่า ทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ และอยู่กับเราไปนานๆโดยที่ไม่ต้องซ่อมบ่อยๆ

 

“You are what you eat ถ้าเราเปรียบเทียบคนทั่วไปเป็นรถเก๋งยี่ห้อญี่ปุ่น และนักกีฬาเปรียบเสมือนรถ Ferrari คุณคิดว่านักกีฬาควรเติมน้ำมันชนิดไหน แบบประหยัดหรือแบบพรีเมี่ยม ?” อ.ดร. อลิสา เริ่มอินโทร

 

“โภชนาการเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญต่อความสำเร็จทางด้านกีฬา และเป็นพื้นฐานวิทยาศาสตร์การกีฬาที่นักกีฬาทุกคนต้องมี (ร่วมกับวิทยาศาสตร์การกีฬาด้านอื่นๆ ด้วย) การรับประทานอาหารที่เหมาะสม และการมีภาวะโภชนาการที่ดีนั้น ทำให้นักกีฬามีพลังงานเพียงพอเพื่อสามารถซ้อมกีฬาได้อย่างมีคุณภาพตามเป้าหมายการซ้อมที่วางไว้ และเมื่อเราซ้อมได้ตามเป้าหมายนั้น ร่างกายก็จะเกิดการปรับตัวและมีการตอบสนองทางด้านสมรรถภาพทางกีฬาที่ดีขึ้น

 

“ถ้านักกีฬาฟื้นตัวจากการซ้อมได้เร็วก็จะสามารถซ้อมในครั้งต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อนักกีฬาแข่ง ถ้าเราเติมพลังงาน และน้ำได้อย่างเพียงพอก่อนและระหว่างแข่งขัน ก็สามารถลดอาการล้า และหมดแรงได้ ทั้งหมดนี้ผลพลอยได้ที่ดีที่สุดคือการประสบความสำเร็จทางด้านกีฬา”

 

ส่วนคำถามที่ว่า "หลักโภชนาการ" และวิทยาศาสตร์การกีฬา นั้นควรจะเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงอายุเท่าไหร่ของนักกีฬา ? อ.ดร. อลิสา มองในมุมวิทยาศาสตร์ว่า “ต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนนักกีฬาคนนั้นๆ จะลืมตาขึ้นมาดูโลก” ด้วยซ้ำ

 

“ถ้าเอาหลักวิทยาศาสตร์มาพูดเลย ก็คือเริ่มตั้งแต่ก่อนที่คุณแม่ของนักกีฬานั้นตั้งครรภ์อีกด้วยซ้ำ เพราะมีงานวิจัยที่บอกชัดเจนเลยว่าภาวะโภชนาการของแม่ที่ตั้งครรภ์ส่งผลต่อสุขภาพของลูกในอนาคต เพราะฉะนั้นจริงแล้วๆ ยิ่งให้ความใส่ใจเรื่องโภชนาการยิ่งเร็วยิ่งดี มันไม่มีคำว่าสายเกินไป เพราะทุกๆช่วงอายุมันเกี่ยวพันเป็นจิ๊คซอว์ฟันเฟืองกันหมด ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ดื่มนมแม่ (แรกเกิด), กินอาหารบดมื้อแรก (6 เดือน) กินอาหารเอง (1 ขวบ+), ซื้ออาหารเอง (ประถม), ทำอาหารเอง(มัธยม-ผู้ใหญ่) มันเชื่อมกันหมด ถ้าเริ่มได้ดีตั้งแต่เล็กๆ เด็กก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จด้านโภชนาการมากขึ้น เพราะทุกอย่างถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ต้น”

 

พูดง่ายๆ คือ เข้าไปอยู่ใน DNA และอุปนิสัย หากจะมาเปลี่ยนตอนโต ก็คงเหมือนไม้แก่ดัดยาก

 

อ.ดร. อลิสา ยังให้ความเห็นว่า “หลักโภชนาการ” นั้นไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด หากคุณมีความรู้ความเข้าใจ และสามารถเริ่มต้นได้จากผู้ปกครอง หรือที่บ้าน

 

“อย่างที่กล่าวข้างต้น เริ่มได้ตั้งแต่ก่อนเค้าเกิด อย่าลืมว่าเด็กเห็นพฤติกรรมพ่อแม่ และคนในบ้านตั้งแต่เกิด ถึงแม้เค้าพูดไม่ได้ เค้าสังเกตเห็นทุกอย่างที่เราทำ เค้ามองวิธีเรานั่งกินอาหารบนโต๊ะ ตักอาหารชนิดไหนเข้าปาก บรรยากาศบนโต๊ะอาหาร เราดื่มเครื่องดื่มชนิดไหน ในครัวมีอาหารแบบไหน ใครทำอาหารให้เค้ากิน เค้าเคยช่วยเตรียมอาหารไหม เวลาเราไปตลาดหรือซุปเปอร์เราเลือกอะไรเข้ารถเข็น เด็กเค้าซึมซับทุกสิ่งเหมือนฟองน้ำ บางทีแบบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำเพราะคุ้นชิ้น ถ้าเราอยากให้ลูกเรามีโภชนาการที่ดี เราก็ต้องสร้าง standard ที่ดีให้ลูก ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีเองเลย คือทำกันทั้งบ้าน ส่วนใหญ่ต้องเริ่มหรือเปลี่ยนที่ตัวพ่อแม่และที่บ้านก่อนเลย”

 

เมื่อมีการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ที่สำคัญที่สุดในสังคมได้ดีอย่าง “ครอบครัว” คำว่า “หลักโภชนาการ” และ “วิทยาศาสตร์การกีฬา” ก็จะสามารถขับเคลื่อน และต่อยอดจนช่วยให้การพัฒนานักกีฬาในระดับเยาวชนนั้นดีขึ้น นั่นคือความสำคัญที่มีผลกระทบต่อกันเป็นห่วงโซ่ ฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และเอคโคโน่ จึงไม่สามารถปล่อยปะละเลยได้ นั่นจึงเป็นที่มาของการหยิบคำว่า “หลักโภชนาการ” และ “วิทยาศาสตร์การกีฬา” เข้าสู่การเรียนรู้ ลงมือ และปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่ออนาคตของวงการฟุตบอลไทย

 

ข้อมูลจากการได้พูดคุยกับทีมงาน เอคโคโน่ ถึงแตกต่างระหว่างนักเตะเยาวชนในยุโรป กับเด็กไทยก็คือ อาหารการกิน เราไม่ได้บอกว่ามื้ออาหารมื้อนั้นต้องเลิศหรู แต่เราต้องเลือกทานแต่ของที่มีประโยชน์ต่างหาก เด็กไทยยังติดทานหวาน หรือน้ำตาลมากจนเกินไป ไอศครีมเอย น้ำอัดลม หรือซอสต่างๆ ดีเทลเล็กๆ เหล่านี้แหละ คือความแตกต่างที่เราปลูกฝังหรือเริ่มต้นได้จากผู้ปกครอง หรือคนในครอบครัวด้วยการให้ความรู้พวกเขาเรื่องหลักโภชนาการ

 

สิ่งที่ เอคโคโน่ พยายามลงมือทำให้เป็นรูปธรรมก็คือ การให้ความรู้ ปลูกฝัง ปรับเปลี่ยนทัศนคติผู้ปกครองเกี่ยวกับเรื่องของอาหารการกิน ช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ว่าอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่อเด็กๆ นั้นเป็นอย่างไร เป็นแบบไหน เมื่อทานเข้าไปแล้วจะส่งผลต่อพัฒนาการทั้งร่างกาย อารมณ์ และความคิดของเด็กเหล่านั้นอย่างไร เหตุผลสำคัญที่เราเลือกที่จะคุยกับกลุ่มผู้ปกครองของนักเตะก่อนนั้นเป็นเพราะพวกเขาคือคนที่ใกล้ชิด และใช้เวลาด้วยกันมากที่สุด พฤติกรรมการรับประทานของผู้ปกครองย่อมก่อให้เกิดความเคยชิน และการเลียนแบบจากเด็ก ดังนั้นครอบครัวจึงมีความสำคัญมากๆ ในขั้นตอนของการพัฒนานักเตะเยาวชน

 

เราก็มีโอกาสที่จะได้นักเตะที่มีความพร้อมของร่างกาย และจิตใจ หากทุกๆ คนเข้าใจ และเรียนรู้สิ่งง่ายๆ ที่เรียกว่า หลักโภชนาการ ไปพร้อมๆ กันทั้งโค้ช ผู้ปกครอง และเด็ก มันคือทีมเวิร์คที่ทุกฝ่ายต้องร่วมจับมือกัน คล้ายๆ ดั่งแพที่ต้องลอยไปพร้อมๆ กัน เพื่อขับเคลื่อนไปข้างหน้า เหมือนกับมุมมองของ อ.ดร. อลิสา ที่เห็นพ้องต้องกันว่า เราต้องลงมือทำตั้งแต่ “วันนี้” เนื่องจากผลลัพธ์ที่ดี จำเป็นต้องใช้เวลา คล้ายๆ กับการหว่านเมล็ดพันธุ์ พร้อมกับรดน้ำพรวนดินบำรุง เพื่อให้ผลิดอกออกผลที่งดงาม

 

“เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในอนาคต ถ้าเราอยากได้ผลลัพธ์ที่ดีก็ต้องลงทุน ซึ่งกว่าจะบ่มเพาะออกมาเห็นผลลัพธ์ใช้เวลาหลายปีแน่นอน แต่มันทำได้เพราะเราเห็นตัวอย่างจากประเทศอื่นๆ แล้ว เราต้องมี Input ที่เหมาะสมค่ะ ถ้าลงทุนทั้งระบบ มันสามารถให้ผลลัพธ์ที่ดี และยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่น เราต้องมีโรงงานที่ได้มาตรฐานและเครื่องมือที่ดี (โค้ช, สนามฝึกสอน, การแข่งขัน, การคัดเลือก), พนักงานโรงงานที่มีคุณภาพ (โค้ช, นักวิทยาศาสตร์กีฬา และบุคลากรต่างๆ), วัตถุดิบ (นักกีฬา) ผลลัพธ์ที่ได้ออกมา (Output) สามารถนำมาปรับแต่งได้ง่ายขึ้น และจะสร้างความสำเร็จง่ายขึ้น”

 

“จริงๆ เราสามารถวางระบบเรื่องโภชนาการตั้งแต่ระบบเยาวชนได้ เราก็ปลูกฝังเรื่องโภชนาการให้สอดคล้องต่อพัฒนาการทางกีฬาของเค้า เช่น เยาวชนเราเน้นเรื่องกินดีอยู่ดีนอนดีซ้อมดี เน้นอาหารทั่วไปให้เพียงพอ และครบถ้วน พอนักกีฬาขึ้นเป็นระดับจังหวัด อาจจะเพิ่มเนื้อหาเรื่องการกินก่อนระหว่างหลังซ้อมเพื่อฟื้นตัว และเมื่อขึ้นระดับลีก หรือชาติ จะสามารถเน้นเรื่องรูปร่าง และอาหารเสริมได้ ในความเป็นจริงในปัจจุบันคือนักกีฬาบางคนเล่นทีมชาติ แต่ยังไม่รู้หลักโภชนาการที่ถูกต้อง ไม่เคยรู้จักอาหารทางกีฬา พอจะไปปรับเค้าก็ทำได้ยากเพราะเค้ามี Mind-set ที่ชัดเจนแล้ว” อ.ดร. อลิสา ทิ้งท้าย ท่ามกลางการตอกย้ำว่า "หลักโภชนาการ - วิทยาศาสตร์การกีฬา" คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยพัฒนาทีมชาติไทยให้มุ่งไปถึงความสำเร็จในอนาคตได้อย่างแน่นอน

 

เรียนรู้อย่างเข้าใจ

ลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรม

จริงกับกับทุกกระบวนการ

 

นี่คือบทพิสูจน์ของการทำงานแบบมืออาชีพของ เอคโคโน่ ที่ไม่ยอมมองข้ามเรื่องเล็กๆ อย่างหลักโภชนาการรวมถึงใส่ใจในเรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อให้ทีมชาติไทย และระบบการพัฒนานักเตะในระดับเยาวชนของบ้านเราพร้อมที่สุด เพราะเป้าหมายของพวกเราทุกคนนั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าที่จะละเลยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ไปได้ !!!


stadium

author

เก้น นิติพงษ์ ยวนตระกูล

ผู้จัดการสื่อสารการตลาด & มีเดีย หนุ่มไฟแรง : ผู้บรรยายฟุตบอล - ฟุตซอล ที่คลั่งไคล้มนต์เสน่ห์ลูกหนัง

MAR 2024 KV