stadium

เคล็ดลับที่ทำให้ กมลวรรณ จันทร์ยิ้ม แจ้งเกิดในวงการเรือใบ

26 มีนาคม 2563

ความฝันของนักกีฬาทุกคนคืออยากติดทีมชาติ แน่นอนเพราะว่าสิ่งที่ได้รับนอกจากชื่อเสียงเงินทองที่จะตามมาจากผลงานของเรา ทุกๆครั้งที่ประสบความสำเร็จมันคือความภาคภูมิใจที่ได้ทำเพื่อประเทศของตัวเอง

 

แต่ว่ามีสาวน้อยอยู่คนหนึ่ง เริ่มเล่นกีฬาเรือใบและอยากติดทีมชาติด้วยเหตุผลที่ว่าอยากใส่ชุดเบลเซอร์สวยๆเท่านั้นเอง สาวน้อยคนนั้นก็คือ “แบม” กมลวรรณ จันทร์ยิ้ม นักกีฬาเรือใบหญิงทีมชาติไทย 

 

 

กางใบเรือ

“ทะเลเป็นที่ที่เราอยู่แล้วรู้สึกมีความสุข รู้ผ่อนคลาย เวลาเราเล่นเรือใบโดยที่เราไม่ได้แข่งกับใคร แบม เล่นเรือใบตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เล่นกับพี่ชาย ตอนนั้นเรายังเด็กและกลัวการเล่นเรือใบมาก ใช้เวลาถึง 3 วันกว่าจะบังคับทิศทางเรือได้ ซึ่งมากกว่าเด็กคนอื่นๆ ใช้เวลาแค่วันเดียว” นักแล่นใบสาว เริ่มเปิดใจถึงจุดเริ่มต้น

 

หลังจากเริ่มเล่นเรือใบได้ไม่นาน เธอเริ่มมีความฝันเหมือนนักกีฬาทั่วๆไป คือการเป็นตัวแทนทีมชาติไทย และด้วยความเพียรพยายามทำให้เธอหมั่นฝึกซ้อมอย่างหนัก โดยมี พ.จ.อ. จุลพงษ์ จันทร์ยิ้ม คุณพ่อซึ่งเป็นอดีตทีมชาติคอยดูและการฝึกซ้อมให้ หลังจากนั้นไม่นานเธอก็ก้าวขึ้นไปติดเยาวชนทีมชาติ และมีโอกาสคัดโอลิมปิกตั้งแต่อายุเพียงแค่ 16 ปี เท่านั้น

 

“จริง ๆตอนแรกเลย แบม อยากติดทีมชาติเพราะว่าอยากใส่ชุดเบลเซอร์ ที่เป็นชุดสูทของนักกีฬา เพราะชุดสวยใส่แล้วดูเท่ ก็เลยเล่นมาเรื่อยๆโดยมีคุณพ่อคอยดูแลตลอด ซึ่งคุณพ่อให้หนูซ้อมแบบจริงจังมาก ตอนนั้นเราก็งงว่าทำไมต้องให้ซ้อมหนักด้วย เพราะหนูชอบเล่นกับเพื่อนแบบไม่แข่งกับใครมากกว่า แต่หลังจากนั้น 3 ปี พอหนูอายุได้ 11 ขวบ ก็ติดเยาวชนทีมชาติ ก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าคงเป็นเพราะเรามีแววในด้านกีฬา”

 

 

ครูพักลักจำ ก่อนการเดินทางครั้งใหญ่

เมื่อเริ่มรู้แล้วว่าตัวเองมีความสามารถด้านกีฬา แบม จึงเริ่มเอาจริงเอาจังมากขึ้น จากที่อยากติดทีมชาติเพราะอยากใส่ชุดเบลเซอร์ วิธีคิดเริ่มเปลี่ยนไป เธออยากคว้าแชมป์ให้มากขึ้น เพื่อความภาคภูมิใจในชีวิต 

 

แบม ก็เริ่มประสบความสำเร็จมากขึ้น ตอนอายุ 15 ได้เหรียญเงินซีเกมส์แล้ว หลังจากนั้นแค่ปีเดียว แบม ก็มีชื่อไปแข่งคัดโอลิมปิก 2012 แต่เนื่องจากประสบการณ์ยังน้อยจึงทำได้เพียงแค่เฉียดไปเท่านั้น เธอเก็บความผิดหวังนั้นกลับมาพัฒนาตนเอง

 

ทุกครั้งเวลา แบม ไปแข่งต่างประเทศ จะได้เจอกับนักกีฬาเก่งๆอยู่เป็นประจำ ช่วงเวลานี้เธอจะได้เรียนรู้ความเป็นมืออาชีพจากนักกีฬาระดับโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อหาหนทางพาตัวไปเองอยู่จุดเดียวกันให้ได้

 

เพื่อพาตัวเองไปให้ถึงเป้าหมาย เธอตัดสินใจเดินเข้าหาผู้สนับสนุนด้วยตัวเอง ขอให้ช่วยผลักดันไปแข่งต่างประเทศ เพื่อพัฒนาฝีมือและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ แต่ทุกอย่างไม่สวยงามอย่างใจคิด ปีที่มีผู้สนับสนุน “แบม” กลับทำผลงานได้ไม่ดี ผิดหวังกับตัวเองจนคิดที่จะไม่ออกเรืออีกครั้ง

 

แต่เส้นทางตลอดมาไม่เคยง่ายอยู่แล้ว ล้มกี่ครั้งก็ลุกสู้ใหม่ หนนี้ก็เช่นกัน เธอเชื่อมั่นในตัวเอง ผู้สนับสนุนก็เช่นกัน ทำให้เธอมีแรงใจที่จะมุ่งมั่นฝึกซ้อมอีกครั้ง

 

“กว่าที่ แบม จะได้เป็นนักกีฬาทีมชาติ ก็ต้องผิดหวังอยู่หลายครั้งเหมือนกัน เพราะว่าตอนเด็กๆก็ยังไงก็ไม่ติด แพ้บ่อยมาก แต่ก็ไม่ยอมแพ้สู้มาเรื่อยๆ สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่เลิกพยายาม”

 

 

โอลิมปิก ฮับแห่งการเรียนรู้

ความสำเร็จมีไว้ให้คนที่ไม่ยอมแพ้เท่านั้น เช่นเดียวกันกับแบม เธอมีเหรียญรางวัลจากรายการนานาชาติได้ตลอด โดยเฉพาะแชมป์เอเชียนแชมป์เปี้ยนชิพที่ทำให้เธอได้ตั๋วโอลิมปิกเกมส์ 2016 ซึ่งเป็นการเติมเต็มชีวิตนักกีฬาของเธอแล้ว หลังจากผิดหวังเมื่อ 4 ปีก่อน

 

“รอบควอลิฟายโอลิมปิก ที่ลอนดอน ตอนนั้นหนูพลาดไปประมาณ 3 อันดับ ตอนที่พลาดก็คิดว่าเพราะเราอายุน้อย ก็เลยรู้สึกว่าเราพลาดไปแต่นิดเดียว ก็เลยลุยต่อ มันก็เหมือนว่าเรามีเวลาเตรียมตัวถึง 4 ปี ตอนนั้นก็พยายามดูว่าต่างชาติเขาทำยังไง แล้วเราก็เริ่มทำแบบเขา อย่างเช่น ไปหาสปอนเซอร์เพื่อที่จะได้ไปแข่งหลายๆรายการ แต่ว่าตอนที่มีสปอนเซอร์แล้ว แบม คิดว่าทุกอย่างมันจะเป็นไปได้สวย แต่ปรากฏว่าปีที่ได้สปอนเซอร์ไม่มีอะไรที่ตรงตามเป้าหมายเลยค่ะ ผลงานคือเรียกได้ว่าแย่ทุกรายการเลย แต่สุดท้ายมันเหมือนว่า ตอนนั้นก็อยากเลิกเล่นเรือใบค่ะ แต่คนที่เค้าสนับสนุนเรา เค้ายังเชื่อมั่นในตัวเรา แบม ก็เลยเชื่อมั่นในตัวเอง แล้วก็ลุยต่อค่ะ”

 

“ประสบการณ์โอลิมปิกครั้งแรกที่บราซิล เป็นอะไรที่เรียกว่าล้ำค่ามาก ๆ  แค่ได้เข้าไปอยู่ในหมู่บ้านนักกีฬา ก็ได้เห็นแล้วว่าพวกนักกีฬาต่างชาติ มืออาชีพเขาทำอะไรกันบ้าง เห็นแล้วรู้เลยว่าเรายังตามเขาไม่ทันจริงๆ ทุกคนเตรียมตัวมาเต็มที่ยิ่งกว่าเดิมอีก ก็เลยนำตรงนั้นมาพัฒนาตัวเราได้ต่อไปค่ะ”

 

โตเกียวเกมส์ โอลิมปิกครั้งสุดท้ายในความทรงจำ

“โอลิมปิกครั้งนี้ยากกว่าเดิมค่ะ แต่ว่าโชคดีที่ทางสมาคมได้ส่งไปซ้อมกับโค้ชต่างชาติที่ฝรั่งเศสเป็นเวลา 40 วัน ก่อนที่แบมจะไปแข่งชิงแชมป์โลก เป็นสนามที่แบมควอลิฟายผ่านค่ะ มันเลยเหมือนว่าเรามีประสบการณ์จากครั้งที่แล้วแล้ว บวกกับฝีมือที่ดีขึ้น มันก็เลยได้ควอลิฟายผ่านเร็วกว่ารอบแรก โอลิมปิกครั้งนี้ก็คาดหวังว่าจะดีกว่าเดิมค่ะ แล้วก็เป้าหมายสูงกว่าเดิม”

 

 

ย้อนกลับไปโอลิมปิก 2016 แบม เข้าเส้นชัยอันดับที่ 32 จากทั้งหมด 37 คนที่เข้าร่วม เป็นผลงานที่โอเคเลยสำหรับดาวรุ่งอายุ 20 ปี ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวประสบการณ์ แต่โอลิมปิก 2020 ของเธอแตกต่างออกไป เพราะมันเป็นโอลิมปิกครั้งสุดท้าย

 

“โอลิมปิกครั้งนี้มันมีความหมายกับหนูมากๆ เพราะมันคงเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ก็เลยอยากทำให้ดีกว่าเดิม เป้าหมายของหนูคือติด 1 ใน 20 ให้ได้ เพราะมันจะอยู่ในความทรงจำของหนูไปตลอดชีวิตค่ะ”

 

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator

โฆษณา