16 กรกฎาคม 2563
แม้ช่วงเวลาส่วนใหญ่ในอาชีพจะตกอยู่ภายใต้ร่มเงา เซเรน่า น้องสาวของตัวเองมาโดยตลอด แต่คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วีนัส วิลเลี่ยมส์ ก็คือหนึ่งในนักเทนนิสหญิงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในปัจจุบัน โดยเฉพาะหากนับแค่ผลงานในโอลิมปิกแล้ว วีนัส คือนักเทนนิสที่ประสบความสำเร็จที่สุดในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ
เมื่อตอนที่เธอคว้าเหรียญทองครั้งแรกเมื่อปี 2000 คงไม่มีใครคิดว่า 20 ปีผ่านมา วีนัส จะยังคงลงแข่งในระดับสูงสุดของเทนนิสอาชีพด้วยวัย 40 ปี
จุดเริ่มสู่ความยิ่งใหญ่
ขณะที่ เซเรน่า ประสบความสำเร็จคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้เป็นคนแรกของพี่น้องตระกูลวิลเลี่ยมส์ ในรายการ ยูเอส โอเพ่น เมื่อปี 1999 ปีถัดมาวีนัสก็ทำให้มันกลายเป็นปีทองของตัวเอง ด้วยการคว้าแชมป์ วิมเบิลดัน, ยูเอส โอเพ่น และเหรียญทองโอลิมปิก ที่นครซิดนี่ย์ ภายในช่วงเวลาไม่ถึง 3 เดือน พร้อมสถิติชนะ 32 แมตช์ติดต่อกัน ขณะที่มีอายุ 20 ปี
นอกจากนั้น เธอยังจับคู่กับน้องสาวคว้าเหรียญทองจากประเภทหญิงคู่ ทำให้ วีนัส กลายเป็นนักเทนนิสคนแรกที่คว้า 2 เหรียญทอง นับตั้งแต่กีฬาชนิดนี้กลับมาบรรจุแข่งในโอลิมปิกอีกครั้งเมื่อปี 1988 ที่กรุงโซล
20 ปีถัดมา หลังจากประกาศศักดาที่ซิดนีย์ ชื่อของ วีนัส วิลเลี่ยมส์ ยังคงทำให้นักเทนนิสคนอื่น ๆ หวั่นเกรงเมื่อเผชิญหน้ากันในคอร์ต
ขึ้นชั้นสู่ตำนาน
สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าคำว่าตำนานของวงการเทนนิส แน่นอนว่า เซเรน่า ยังคงสร้างสถิติและเขียนประวัติศาสตร์ของตัวเองต่อไป แต่ วีนัส ก็ไม่น้อยหน้า หลังจากป้องกันแชมป์ได้ทั้ง วิมเบิลดัน และ ยูเอส โอเพ่น เธอก็ได้แชมป์แกรนด์สแลมคอร์ตหญ้าอีก 3 สมัย แชมป์แกรนด์สแลมหญิงคู่อีก 14 สมัย และคู่ผสม 2 สมัย
นอกจากนั้น วีนัส ยังได้เหรียญทองโอลิมปิกอีก 2 สมัยและเหรียญเงิน 1 สมัย ทำให้เธอคว้าไปได้ทั้งหมด 5 เหรียญ กลายเป็นนักเทนนิสที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโอลิมปิก ซึ่งนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในความสำเร็จของเธอเท่านั้น
มุ่งสู่โตเกียว
ตลอดหลายปีหลัง วีนัส เติบโตขึ้นจนเป็นมากกว่าแค่นักกีฬา เธอกลายเป็นต้นแบบทางวัฒนธรรม, แฟชันดีไซเนอร์, นักเรียกร้องสิทธิสตรี และกระบอกเสียงของนักกีฬาผิวสี วีนัสผ่านอะไรมามากมายนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นการเป็นนักเทนนิสของเธอที่คอร์ตในเมืองคอมป์ตัน รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อกว่า 35 ปีที่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับเธอเหมือนเดิมก็คือการลงแข่งในโอลิมปิก
"หากฉันได้รับโอกาสให้ลงแข่งอีกครั้งคงเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยม ซึ่งมันคงสมบูรณ์แบบหากเรา (วีนัสและเซเรน่า) ไปที่นั่นด้วยกัน เราประสบความสำเร็จอย่างมากในประเภทคู่ และฉันคิดว่ามันคือช่วงสำคัญในอาชีพเลยทีเดียว"
ราชินีเทนนิสโอลิมปิก
แม้จะมีภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนการแข่งขันเทนนิสต้องหยุดชะงัก และโอลิมปิก เกมส์ ต้องถูกเลื่อนออกไปอีกปี แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความหวังของเธอเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามแม้วีนัสได้ไปที่กรุงโตเกียวแต่เธอน่าจะลงแข่งในประเภทหญิงคู่มากกว่า รวมทั้งอาจลงแข่งประเภทคู่ผสมด้วยเช่นกัน
วีนัส และ เซเรน่า จับคู่กันคว้า 3 เหรียญทองที่ซิดนีย์ในปี 2000, ปักกิ่งในปี 2008 และกรุงลอนดอนในปี 2012 ซึ่งในการคว้าแชมป์ 3 ครั้ง พวกเธอเสียเพียงรวมแค่ 4 เซตเท่านั้น นอกจากนั้นยังทำสถิติคว้าชัย 6 แมตช์รวดแบบไม่เสียเซตในปี 2012 อีกด้วย
ส่วนใน ริโอ เกมส์ ปี 2016 เธอและเซเรน่าพลาดทำสถิติคว้าเหรียญทองหญิงคู่ 3 สมัยติด หลังตกรอบแรกจากการแพ้ ลูซี่ ซาฟาโรว่า และ บาร์โบร่า สตรายโคว่า คู่จากเช็กที่ได้เหรียญทองแดง แต่วีนัสยังจับคู่กับ ราจีฟ แรม เข้าถึงรอบชิงฯ ในประเภทคู่ผสมได้สำเร็จ ก่อนแพ้ เบตทานี่ มัตเท็ก-แซนด์ส และ แจ็ค ซ็อก จากชาติเดียวกัน ทำให้ได้เหรียญเงินไปครอง
รวมแล้ว วีนัส คว้า 1 เหรียญทองจากประเภทเดี่ยว 3 เหรียญทองจากหญิงคู่ และ 1 เหรียญเงินจากคู่ผสม
เป้าหมายในอนาคต...โอลิมปิก ฤดูหนาว?
วีนัส วิลเลี่ยมส์ จะกลายเป็นนักเทนนิสชาวอเมริกันคนแรกที่ลงแข่ง โอลิมปิก เกมส์ 6 สมัย หากเธอติดทีมไปแข่งที่กรุงโตเกียว โดยจะมีการประกาศรายชื่อในช่วงต้นเดือนมิถุนายนปี 2021
แต่นักกีฬาที่ตกหลุมรักโอลิมปิกแบบโงหัวไม่ขึ้นอย่างเธอจะหยุดแค่นั้นเหรอ?
"ฉันจะไปอยู่ในทีมบ็อบสเลด(เลื่อนน้ำแข็ง) เพื่อลงแข่ง โอลิมปิก ฤดูหนาว ปี 2022 เพราะฉันรักที่จะลงแข่งโอลิมปิก" วีนัสตอบติดตลกเมื่อถูกถามถึงกีฬาฤดูหนาว เมื่อปี 2019
แม้จะอยู่ในวัย 40 ปี ไม่ได้แชมป์รายการใด ๆ มาตั้งแต่ปี 2016 และได้แชมป์แกรนด์สแลมครั้งสุดท้ายคือ วิมเบิลดัน เมื่อปี 2008 แต่ วีนัส ก็ยังไม่มีความคิดที่จะแขวนแร็กเก็ตในอนาคตอันใกล้นี้ อย่างไรตาม อดีตมือหนึ่งของโลกเปิดเผยว่า เธอเริ่มคิดถึงชีวิตตอนรีไทร์มากขึ้น หลังจากได้เห็นน้องสาวมีครอบครัว และตัวเองได้เป็นป้าของหนูน้อย อเล็กซิส โอลิมเปีย
"ฉันทำงานหนักมาตลอดชีวิต ดังนั้นหนึ่งในเป้าหมายส่วนตัวหลังจากจบบทบาทนักเทนนิสอาชีพไปแล้วคือการใช้ชีวิตแบบคนปกติธรรมดา เพราะฉันทำงานและเดินทางอยู่ตลอด มันจึงกลายเป็นเป้าหมายในการใช้ชีวิตให้ช้าลงสักวันหนึ่ง"
TAG ที่เกี่ยวข้อง