stadium

พุทธรักษา นีกรี : เคล็ดลับการยืนหยัดในวงการเรือพายมากกว่า 20 ปี

25 มีนาคม 2563

“อายุเป็นเพียงตัวเลข” คงไม่มีคำไหนอธิบายตัวตนของ ครูแพท พุทธรักษา นีกรี ได้ดีไปกว่าประโยคนี้ ในวัย 46 ปี ที่ผ่านร้อน ผ่านหนาวกว่า 20 ปีในวงการเรือพายไทย เธอยังคงมีไฟ เหมือนสาวน้อยวัย 20 ปีต้น ๆ ในวันแรกที่เริ่มเล่นกีฬาชนิดนี้ และยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างตำนานต่อไปแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

 

 

นักกีฬายุคบุกเบิก

ในปี พ.ศ.  2539 “สมาคมเรือยาวสมัครเล่นแห่งประเทศไทย” ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็น “สมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย” เพื่อดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับกีฬาเรือพายทุกชนิด ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี ทางสหพันธ์เรือกรรเชียงนานาชาติก็เพิ่งส่งมอบเรือกรรเชียงเพื่อมาให้สมาคมใช้ฝึกซ้อม ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้นเอง นิสิตสาวจากมหาวิทยาลัย แม่โจ้ ผู้มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่จังหวัด แม่ฮ่องสอน อย่าง พุทธรักษา นีกรี ก็ได้ถูกชักนำเข้าสู่วงการเรือกรรเชียง เรียกได้ว่าเธอเป็นนักกีฬารุ่นบุกเบิกของ สมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย ยุคใหม่ เลยก็ว่าได้  แต่ใครเลยจะรู้ว่า นักศึกษาหญิงตัวเล็ก ๆ ในวันนั้น จะอยู่ยาวสร้างตำนานให้วงการเรือพายไทย มาจนถึงทุกวันนี้

 

เรือพายสาวผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาเซียน

แพท พุทธรักษา นีกรี ติดทีมชาติครั้งแรกในซีเกมส์ ปี พ.ศ. 2540 ที่ประเทศอินโดนีเซีย เป็นเจ้าภาพ เมื่อ 23 ปีที่แล้ว ในวัย 23 ปี นั้นเป็นจุดเริ่มต้นแรกในการรับใช้ชาติในซีเกมส์ของเธอ ซึ่งหลังจากนั้น เธอก็พาเรือกรรเชียงคู่ใจ ตะลุยประกาศศักดา ไปทั่วทั้งน่านน้ำอาเซียน รวมกว่า 20 ปี เธอคว้าไปได้ถึง 16 เหรียญทองซีเกมส์ ซึ่งซีเกมส์ครั้งที่ดีที่สุดเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2550 ที่จังหวัดนครราชสีมา ที่ซึ่งกีฬาทางน้ำมาจัดแข่งกันที่ จังหวัด ชลบุรี เจ้าตัวกวาดคนเดียวถึง 3 เหรียญทองจากประเภท เรือกรรเชียง 1 คน พายคู่ , เรือกรรเชียง 2 คนพายคู่ และเรือกรรเชียง 2 คน พายคู่ รุ่น ไลท์เวท

 

 

สร้างประวัติศาสตร์ระดับเอเชีย

ชื่อเสียงฝีไม้ลายมือในการดึงไม้พายของ แพท พุทธรักษา นีกรี ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ระดับอาเซียน แต่ขจรไปไกลถึงระดับเอเชีย เธอลงแข่งในเอเชี่ยนเกมส์ถึง 5 สมัย  คว้าไปได้ถึง 2 เหรียญเงิน และ6 เหรียญทองแดง ซึ่งเธอถือว่าเป็นนักกีฬาเรือพายเอเชีย ที่คว้าเหรียญรวม ในเอเชี่ยนเกมส์มากที่สุดอีกด้วย โดยเธอประเดิมเอเชี่ยนเกมส์ หนแรก ที่ประเทศไทยและคว้าได้ 1 เหรียญทองแดงในประเภท เรือกรรเชียง 1 คน พายคู่ รุ่นไลท์เวท แต่จุดสูงสุดในอาชีพฝีพายของเธอเกิดขึ้นในเอเชี่ยนเกมส์  ที่ปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ในอีก 4 ปีถัดมาที่เธอทำได้ 2 เหรียญเงินจาก เรือกรรเชียง 1 คน พายคู่ รุ่นไลท์เวท และเรือกรรเชียง 2 คน พายคู่ รุ่นไลท์เวท โดยการเข้าแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ 5 สมัย เธอคว้าเหรียญติดมือได้ทุกสมัย

 

 

ตำนานโอลิมปิก 4 สมัย เบื้องหลังที่ไม่มีใครรู้ กับประสบการณ์ที่หาซื้อไม่ได้

พุทธรักษา นีกรี เล่าให้ฟังว่าการจะได้เข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องมีการฝึกซ้อมอย่างหนักราว 30-40 กิโลเมตรต่อวันอย่างต่อเนื่อง โดยโอลิมปิกทั้ง 4 ครั้ง ตัวเธอไปด้วยท่าเรือกรรเชียง 1 คน พายคู่ตลอด ทำให้ต้องแบกน้ำหนักลงรุ่น open เพราะในโอลิมปิก พิกัดไลท์เวท น้ำหนักไม่เกิน 59 กิโลกรัมที่เป็นท่าถนัด มีแต่รายการประเภทคู่ ซึ่งเธอยังไม่เจอคู่หูที่จะไปโอลิมปิกด้วยกันสักที ทำให้เสียเปรียบมาก ๆ  โดยโอลิมปิกแต่ละครั้ง พุทธรักษา นีกรี ได้เจอประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป 

 

หลังจากได้สิทธิ์ จากการคว้าเหรียญเงินใน ศึกเรือกรรเชียงชิงแชมป์เอเชีย ทำให้พุทธรักษา นีกรี ได้ชื่อว่าเป็นนักกีฬาเรือกรรเชียงคนไทยคนแรกที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬา โอลิมปิก เกมส์ โดยเธอเข้าร่วมโอลิมปิก เกมส์สมัยแรกที่ เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ที่ซึ่งเธอได้พบเจอผู้คน และการต้อนรับแบบอบอุ่นสุด ๆ ซึ่งในการแข่งขันครั้งนั้นเธอพาเรือกรรเชียงคู่ใจจบในอันดับที่ 18 ในประเภท เรือกรรเชียง 1 คน พายคู่ ในรุ่น open ไม่จำกัดน้ำหนัก หลังจากโอลิมปิกครั้งแรก พุทธรักษา นีกรี ยังเข้าร่วมโอลิมปิก เกมส์อีก 3 สมัย ซึ่งแต่ละที่ให้ประสบการณ์ที่ต่างกันออกไป ที่ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ปี 2004 อากาศร้อนแต่บ้านเมืองสวยงามมาก มีมนต์ขลังตามแบบฉบับต้นตำรับโอลิมปิก, ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ปี 2012 เธอได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แถมยังเป็นปีที่เธอทำผลงานได้ดีที่สุดอีกด้วย และครั้งล่าสุดที่กรุง ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ในปี 2016 เธอเจอกับคลื่นที่แรงมากทำให้พายได้ยากลำบากที่สุดตั้งแต่เข้าแข่งขันมา

 

 

เคล็ดลับในการยืนหยัดในวงการเกิน 20 ปี

อีกสิ่งหนึ่งที่น่ายกย่องของ พุทธรักษา นีกรี นอกจากเหรียญรางวัลต่าง ๆ มากมายที่เธอคว้ามาได้แล้ว ต้องเป็นเรื่องระเบียบวินัย และการดูแลตัวเองของเธอ พุทธรักษา นีกรี ในช่วงวัยเลย 40 ปี เธอสามารถทำเวลาได้ดีกว่าช่วงแรก ที่เธอเริ่มเป็นนักกีฬาในช่วงอายุ 20 ปีต้น ๆ เสียอีก ซึ่งมันเป็นเรื่องที่น่าทึ่งเป็นอย่างมากเพราะมันเกิดขึ้นกับกีฬาเรือพาย ที่ต้องใช้พละกำลังมหาศาลในการลงแข่งขัน การที่คนอายุกว่า 40 ปี อย่างเธอยังยืนหยัดอยู่ได้แบบสบาย ๆ ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย ซึ่ง พุทธรักษา นีกรี เผยเคล็ดลับในเรื่องนี้ว่า เกิดจากการทำกิจกรรมด้านอื่น ๆ ของเธอในช่วงวันที่ไม่มีการฝึกซ้อม อาทิเช่น การปั่นจักรยาน, วิ่ง, ว่ายน้ำ, นั่งสมาธิ หรือแม้กระทั่งเล่นโยคะ ซึ่งนอกจากจะทำให้รักษาสภาพร่างกายที่ดีได้แล้ว ยังเป็นการผ่อนคลาย และเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้หลีกเลี่ยงจากอาการบาดเจ็บได้อีกด้วย อีกอย่างที่เธอเน้นสุด ๆ คือเรื่องอาหารการกินที่ต้องมีประโยชน์ต่อร่างกาย และการพักผ่อนต้องเพียงพอเสมอ ด้านพลังใจในเวลาที่ท้อ ต้องการพลังใจในการเอาชนะตัวเองในเวลาที่เหนื่อยสุด ๆ เธอจะนึกถึงความลำบากที่พ่อ แม่ของเธอต้องพบเจอ ซึ่งทำให้เธอฮึด และสู้ไม่ถอยทุกครั้ง

 

 

ชีวิตนี้เพื่อกีฬาเรือพาย

ในช่วงหลัง พุทธรักษา นีกรี มีการต่อยอดบุกเบิกไปสู่กีฬาอื่น ที่ใกล้เคียงกันอย่าง กรรเชียงบก (indoor Rowing) ที่เจ้าตัวทำได้ดี เคยคว้าถึง 3 เหรียญทองในศึกชิงแชมป์เอเชีย และยังไปคว้าได้ถึงเหรียญทองแดง ในท่ากรรเชียงบก 2,000 เมตรรุ่นไลท์เวท ในศึกใหญ่อย่าง World Game 2017 (มหกรรมสำหรับกีฬาที่รอ บรรจุเข้าแข่งขันในศึกโอลิมปิก เกมส์) เส้นทางการฝ่าฟัน อดทนฝึกซ้อมของแพท พุทธรักษา นีกรี เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ๆ กับนักกีฬาเรือพายรุ่นใหม่  ในวัย 46 ปี ที่กว่าครึ่งชีวิตของเธอเหมือนถูกฟ้ากำหนดให้มาโลดแล่นอยู่ในกีฬาเรือพาย ที่ซึ่งมอบโอกาสดี ๆ มากมายให้กับชีวิตเธอทั้งความมั่นคงในชีวิต และอาชีพทหารเรือ ไม่ว่าสถานะเธอจะเปลี่ยนจาก ยศนาวาตรี เป็นนาวาโท จากนักกีฬา เป็นครูแพท จากน้องแพท เป็นแม่แพท หรือป้าแพท แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลยก็คือ ไฟนักกีฬาในตัวเธอที่ยังคงลุกโชนพร้อมลุยศึกทุกรายการเหมือนเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว  ซึ่งขณะนี้เธอกำลังมุ่งมั่นเก็บตัวอยู่ที่ ประเทศเยอรมัน เพื่อรอสถานการณ์เรื่องโรคระบาดให้คลี่คลาย เพื่อกลับมาลุ้นตั๋วไป โอลิมปิกปี 2020 ที่โตเกียว ที่จะเป็นโอลิมปิกสมัยที่ 5 ในชีวิตเธอ

 

 


stadium

author

ฉลามหนุ่มไทยแลนด์

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose