stadium

ชินคันเซ็น จาก โตเกียว 1964 สู่ โตเกียว 2020

15 กรกฎาคม 2563

เช้าวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม ปี 1964 คงเป็นเช้าที่ไม่ได้พิเศษอะไรสำหรับคนทั่วโลก แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นเช้าวันนั้นที่กรุงโตเกียวและนครโอซาก้าคือรุ่งอรุณที่กำลังจะเปลี่ยนแดนอาทิตย์อุทัยสู่การเป็นมหาอำนาจของโลก แม้จะไม่ใช่ใน 10 โมงเช้าวันนั้น แต่พวกเขาได้สร้างต้นแบบแห่งการเดินทางด้วยระบบรถไฟ และรถไฟคันนี้ในชื่อ “ฮิคาริ ซูเปอร์เอ็กซ์เพรสสาย โทไคโด-ซันโย” ก็กำลังจะนำประเทศญี่ปุ่นให้คนทั่วโลกรู้จักในมหกรรม โอลิมปิก 1964 ที่กรุงโตเกียวในอีก 10 วันหลังจากนั้น

 

 

ความฝันของชาวญี่ปุ่น

ในต้นปี 1930 ยุคนั้นทั่วโลกต่างเรียกดินแดนแห่งนี้ว่าจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งกำลังเรืองอำนาจอย่างยิ่งในด้านกำลังทหารและต่างรุกรานไปทั่วทวีปเอเชีย น่าเสียดายที่หลังพ่ายแพ้สงครามในปีค.ศ. 1945 ปัญหาที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญคือสภาพแพ้สงคราม และต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมและการปกครองโดยสหรัฐอเมริกาที่ล้มระบบ “ไซบัทสึ” ที่เคยเป็น 1 ใน 3 ขาที่เคยพยุงการปกครองของประเทศ และผลักดันชนชั้นแรงงานมากขึ้น

 

บุคคลสำคัญที่พาญี่ปุ่นสู่จุดที่เคยเป็นคือนายกรัฐมนตรี ชิเงรุ โยชิดะ ที่ชูนโยบายผูกมิตรกับสหรัฐอเมริกาและการมุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ชาวญี่ปุ่นหลังยุคสงครามมีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศด้วยการทำงานอย่างหนัก ด้วยวินัยและระเบียบที่เข้มแข็ง ในขณะที่การผูกมิตรกับตะวันตกทำให้ชาติที่แพ้สงครามอย่างญี่ปุ่นกลับมามีสัมพันธ์ที่ดีกับนานาชาติ จนกระทั่งวันที่ 26 พฤษภาคม 1959 ญี่ปุ่นก้าวสู่การเป็นจุดเด่นบนเวทีนานาชาติเมื่อได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปี 1964 ซึ่งจะเปลี่ยนประเทศนี้ไปตลอดกาล

 

 

ก่อนจะมาเป็น ชินคันเซ็น

การเดินทางด้วยระบบรางของญี่ปุ่นเริ่มต้นใช้ครั้งแรกในปีค.ศ. 1870 ซึ่งเดินทางจากสถานีชินบาชิใจกลางกรุงโตเกียวลงไปทางใต้ของเมืองสู่สถานีโยโกฮาม่าของจังหวัดคานางาวะ (รถไฟของญี่ปุ่นเริ่มต้นก่อนประเทศไทย 20 ปี) โดยกลุ่มวิศวกรชาวอังกฤษที่นำองค์ความรู้เข้ามาที่จักรวรรดิญี่ปุ่น

 

การเดินทางด้วยระบบรางของญี่ปุ่นในช่วงแรกนั้นถูกนำมาใช้ในด้านการลำเลียงกำลังพลและยุทโธปกรณ์ซะมากกว่าจะคำนึงถึงการใช้เชิงพาณิชย์ จนกระทั่งปี 1939 ก็เกิดโปรเจ็กต์ที่จะสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่สามารถใช้ความเร็วได้ถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งก็เพื่อแค่เพิ่มสมรรถนะในด้านกำลังทหารเท่านั้นและเริ่มดำเนินการสร้างรางและขุดอุโมงค์ในปี 1941 แต่ทุกอย่างก็หยุดลงในปี 1943 เมื่อนายพล ฮิเดกิ โทโจ พาจักรวรรดิญี่ปุ่นกระโดดเข้าสู่สงครามโลกอย่างเต็มตัว

 

ระเบิดปรมาณู 2 ลูกใน 3 วันที่เมืองฮิโรชิม่า และนางาซากิ ในปี 1945 ทำให้ญี่ปุ่นต้องศิโรราบต่อสหรัฐอเมริกา กรุงโตเกียวก็เกลื่อนด้วยซากปรักหักพังไม่ต่างกัน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนารถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นที่ต้องหยุดไปนาน จนกระทั่งปี 1949 รัฐบาลญี่ปุ่นของนายกฯ โยชิดะ ได้ก่อตั้งการรถไฟแห่งญี่ปุ่น (Japanese National Railways) ซึ่งรู้จักกันในชื่อ JR ในปัจจุบัน เพื่อดูแลและพัฒนาระบบขนส่งแบบรางของประเทศญี่ปุ่นทั้งระบบภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคม และได้แต่งตั้ง ชินจิ โซโงะ เป็นประธานคนแรกของการรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่น

 

ในปี 1958 กระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นได้ร่างโครงการรถไฟความเร็วสูงในชื่อ “ชินคันเซ็น” นำเสนอต่อสภาในเดือนเมษายนและชูจุดเด่นของรถไฟหัวกระสุนคันนี้ว่าสามารถเดินทางจากกรุงโตเกียวสู่นครโอซาก้าในภูมิภาคคันไซทางตะวันตกด้วยเวลาเพียง 3 ชั่วโมงผ่านเส้นทางสาย โทไคโด ซึ่งเป็นทางสายโบราณยาวตั้งแต่กรุงเกียวโตมาที่กรุงโตเกียวในยุคเอโดะ ในช่วงแรกนั้นโครงการโดนทัดทานจากสภาซึ่งมองว่าการเดินทางสมัยใหม่ควรเปลี่ยนเป็นเครื่องบินพาณิชย์และถนนไฮเวย์มากกว่าแต่ประธาน โซโงะ ยืนกรานอย่างหนักแน่นว่ารถไฟขบวนนี้จะพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมญี่ปุ่นได้อย่างแน่นอน โดยรัฐสภาได้ผ่านร่างโปรเจ็กต์ “ชินคันเซ็น” ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน แต่ก่อนหน้านั้น 1 เดือนการรถไฟแห่งญี่ปุ่นก็ได้เริ่มเปิดการเดินรถไฟเส้นทาง โตเกียว-โอซาก้า แบบ 2 เที่ยวต่อวันในชื่อ “โคดามะ ลิมิเต็ด เอ็กซ์เพรส” ซึ่งใช้เวลาเดินทางอยู่ที่ประมาณ 6 ชั่วโมง 50 นาที (ปัจจุบันรถด่วน โคดามะ เป็นหนึ่งในรถไฟชินคันเซ็นร่วมกับรถด่วน ฮิคาริ, โนโซมิ และ มิซุโฮ)

 

กระทรวงคมนาคมญี่ปุ่นไม่รอช้า พวกเขาเริ่มดำเนินการก่อสร้างสถานีและเส้นทางในวันที่ 20 เมษายนปี 1959 ก่อนที่อีก 1 เดือนหลังจากนั้นชาวญี่ปุ่นได้รับข่าวใหญ่ที่สุดตั้งแต่วันที่พวกเขาแพ้สงคราม เมื่อคณะกรรมการโอลิมปิกสากลประกาศให้กรุงโตเกียวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 1964 แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้การก่อสร้างเส้นทางชินคันเซ็นสาย โทไคโด-ซันโย ต้องดำเนินการให้เสร็จเร็วกว่าเดิม

 

 

9 วันก่อน โตเกียว 1964

ข่าวการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ทำให้รัฐบาลเร่งโครงการ “ชินคันเซ็น” ให้เป็นโครงการเตรียมจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกควบคู่กับการก่อสร้างสนามและปรับปรุงระบบการขนส่งอื่นในกรุงโตเกียวและเมืองใกล้เคียงเช่นสนามยูโด นิปปอน บูโดคัง (Nippon Budokan), ยิมเนเซี่ยมแห่งชาติ โยโยงิ (Yoyogi National Gymnasium) สนามฟุตบอล นากาอิ สเตเดี้ยม ที่นครโอซาก้า (Nagai Stadium) เช่นเดียวกับสนามบินนานาชาติฮาเนดะที่ได้รับการปรับปรุงขนานใหญ่เพื่อรองรับนักกีฬาทั่วโลกกว่า 5 พันคน

 

ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการวางระบบรางแบบใหม่ขนาดกว้าง 1,435 มิลลิเมตรตั้งแต่สถานีโตเกียวจนถึงปลายทางโอซาก้า ซึ่งมีความยาวถึง 515 กิโลเมตร (นับจากสถานีโตเกียวถึงสถานี ชิน-โอซาก้า) นั่นทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณสูงถึง 2 แสนล้านเยนเพื่อดำเนินการให้เส้นทางสายโทไคโด ระหว่างโตเกียว-โอซาก้า เสร็จก่อนที่ โอลิมปิก 1964 จะมาถึง ส่วนสาย ซันโย ระหว่างนครโอซาก้าถึงเมืองฟุกุโอกะนั้นให้ความสำคัญเป็นอันดับรอง

 

ปี 1962 อีก 2 ปีก่อนโอลิมปิก การรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่นได้ทดสอบระบบรถไฟชินคันเซ็นเป็นครั้งแรกที่จังหวัดคานางาวะ ที่สถานีโยโกฮาม่า ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางผ่านสู่ภาคตะวันตก ซึ่งเมืองโยโกฮาม่าก็เป็นอีกหนึ่งเมืองที่ใช้เป็นสังเวียนแข่งขันกีฬาในโอลิมปิก ซึ่งมีสนามฟุตบอล มิตซึซาวะ สเตเดี้ยม (Mitsuzawa Football Field) ที่ปัจจุบันเป็นสนามเหย้าของ โยโกฮาม่า เอฟซี และ โยโกฮาม่า เอฟ มารินอส และหอวัฒนธรรมและยิมเนเซี่ยม โยโกฮาม่า (Yokohama Cultural Gymnasium) เป็นความภูมิใจของจังหวัดคานางาวะ

 

และวันที่คนญี่ปุ่นรอคอยก็มาถึง รุ่งเช้าของวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม 1964 เพียง 10 วันก่อนพิธีเปิดโอลิมปิก 1964 จักรพรรดิฮิโรฮิโตะเสด็จมาที่สถานีรถไฟโตเกียวเพื่อทรงเปิดขบวนรถไฟชินคันเซ็นคันแรกระหว่างกรุงโตเกียวสู่นครโอซาก้า ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่ชาวญี่ปุ่นได้เห็นและฟังเสียงของพระองค์ทางวิทยุนับตั้งแต่แถลงการณ์ประกาศยอมแพ้สงครามผ่านวิทยุกระจายเสียงในวันที่ 15 สิงหาคม 1945 รถไฟขบวนประวัติศาสตร์นี้เดินทางออกจากสถานีโตเกียวสู่สถานีชินโอซาก้าด้วยเวลาไม่ถึง 4 ชั่วโมง เชื่อม 3 เมืองใหญ่ของญี่ปุ่นคือ โตเกียว, นาโงย่า และ โอซาก้า

 

 

โอลิมปิก เปลี่ยนโลก

ไม่ต้องสงสัยว่ารถไฟชินคันเซ็นสาย โทไคโด-ซันโย คือสัญลักษณ์ของญี่ปุ่นยุคสมัยใหม่ควบคู่กับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ญี่ปุ่นกลับมาสู่เวทีที่นานาชาติจับตามองอีกครั้ง แต่ไม่ใช่ในฐานะวายร้ายที่เป็นภัยคุกคาม แต่กลายเป็นชาติที่เป็นมิตรกับทั่วโลก ญี่ปุ่นที่ไม่ได้เป็นจักรวรรดิญี่ปุ่นอีกต่อไป เพียง 20 ปีหลังวันที่พวกเขาต้องจำนนและยอมแพ้ พวกเขาเปลี่ยนประเทศและได้ประกาศตนต่อเวทีโลกอีกครั้งด้วยมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ นกพิราบในพิธีเปิดการแข่งขันที่สนามกีฬาแห่งชาติ โคคุริทซึ คือสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ ผู้เชิญคบเพลิง โยชิโนริ ซากาอิ คือชายจากเมืองฮิโรชิมะ ซึ่งเกิดในวันที่ 6 สิงหาคม 1945 วันเดียวกับที่สหรัฐฯปล่อย “เจ้าหนุ่มน้อย” คร่าชีวิตผู้คนที่เมืองฮิโรชิมะกว่า 200,000 คน เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าญี่ปุ่นไม่เคยลืมการสูญเสียครั้งนั้น และพิธีเปิดวันที่ 10 ตุลาคมก็กลายเป็นวันสำคัญของชาติญี่ปุ่นที่ต่อมารัฐบาลได้ประกาศให้กลายเป็นวันชาติญี่ปุ่น

 

โตเกียว 1964 ได้ทำให้ทั้งนักกีฬาและคนทั้งโลกได้เปิดประสบการณ์ใหม่ เพราะนี่คือครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันไปทั่วโลก กล้องถ่ายทอดสดรวมถึงกล้องดิจิทัลต้นแบบได้เผยโฉมต่อสาธารณชนในระดับนานาชาติ เป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทำสารคดีการแข่งขัน เป็นครั้งแรกที่นำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยเก็บข้อมูลสถิติ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการนับคะแนนและการจับเวลา

 

ในด้านวัฒนธรรม รถไฟชินคันเซ็น คือผู้ที่พาผู้คนกว่าหลายแสนคนจากเมืองใกล้เคียงสู่กรุงโตเกียว และทำให้ต่างชาติได้เห็นภาพสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นอย่าง ภูเขาไฟฟูจิ บนหน้าต่างของขบวนรถไฟ และทำให้ทั้งสองสิ่งกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งญี่ปุ่นยุคใหม่ พานักท่องเที่ยวสู่เมืองใหญ่ทั้ง โอซาก้า และ นาโงย่า ขยายการท่องเที่ยวสู่ภูมิภาคตะวันตกของญี่ปุ่นได้อย่างสง่าผ่าเผย

 

 

34 สถานี 18 เมืองสู่ โตเกียว 2020

จากรถไฟสาย โทไคโด เส้นทาง โตเกียว-โอซาก้า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมปี 1964 สู่กว่า 300 ขบวนต่อวัน ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการรถไฟสายโทไคโด-ซันโย กว่า 200 ล้านคนต่อปี และมีรถออกจากสถานีโตเกียวและชิน-โอซาก้า แทบจะทุก 3 นาทีและได้ร่นระยะเวลาจาก 4 ชั่วโมงในวันแรกที่เปิดใช้เหลือเพียง 2 ชั่วโมง 25 นาทีในปัจจุบัน เจ้ารถไฟหัวกระสุนยาว 16 ตอนสีขาวฟ้าพาคนจากทั้งประเทศเข้าสู่เมืองโตเกียว โดยรถไฟเส้นโทไคโดจาก โตเกียว ถึง โอซาก้า มีบริการถึง 16 สถานีใน 11 เมือง ส่วนสายซันโยจาก โอซาก้า ถึง ฟุกุโอกะ มีบริการถึง 18 สถานีใน 7 เมือง ยังไม่นับรวมอีก 5 สายทั่วประเทศที่มีบริการเกือบ 60 สถานีในอีกกว่า 20 เมืองทั่วประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เหนือสุดที่เกาะฮอกไกโดจนถึงใต้สุดที่เกาะคิวชู

 

และในเดือนกรกฏาคมปี 2021 ที่กรุงโตเกียวจะได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ และเป็นชาติแรกของเอเชียที่ได้จัดโอลิมปิกถึง 2 ครั้ง รถไฟ ชินคันเซ็น จะเป็นบทบาทสำคัญที่พาคนญี่ปุ่นกว่า10 ล้านคนจากเหนือสุดและใต้สุดสู่สนามกีฬาแห่งชาติที่กรุงโตเกียว ในขณะเดียวกันก็จะพานักท่องเที่ยวอีกนับล้านคนสู่พื้นที่ภูมิภาคของประเทศญี่ปุ่นด้วยความสะดวกสะบายและรวดเร็ว ไม่ต่างจากขบวนแรกที่ออกจากสถานีโตเกียวตอน 6 โมงเช้าเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว


stadium

author

Kapeebara

StadiumTH Content Creator