stadium

เวสต์ฟิลด์ มาทิลดาส์ ก้าวไม่เล็กของความเสมอภาคในโลกกีฬา

2 กุมภาพันธ์ 2563

หากพูดถึงความเสมอภาคในวงการกีฬา แน่นอนว่าเรื่องหนึ่งที่ขัดกับคำนั้นอย่างชัดเจนที่สุดคือรายได้ระหว่างเพศชายและเพศหญิงที่ไม่เท่าเทียม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีการโต้แย้งมาช้านาน ถึงแม้การวิจัยโดย บีบีซี สื่อดังในอังกฤษจะเปิดเผยว่า 83 เปอร์เซ็นต์ในวงการกีฬาปัจจุบันให้รางวัลกับทั้งสองเพศเท่าเทียมกันก็ตาม แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าช่องว่างของรายได้นั้นจะลดน้อยลงหรือหายไป เห็นได้ชัดจากการจัดอันดับ 100 นักกีฬาที่มีรายได้สูงสุดประจำปี 2019 โดย ฟอร์บส์ ปรากฏว่ามีเพียง เซเรน่า วิลเลี่ยมส์ ยอดนักเทนนิสหญิงชาวอเมริกันคนเดียวเท่านั้นที่ติดอยู่ในโผดังกล่าว และอยู่ในอันดับที่ 63 ขณะที่ปี 2018 ไม่มีชื่อนักกีฬาหญิงแม้แต่คนเดียว

 

ขณะที่การเป็นนักกีฬาทีมชาติก็ต้องเจอกับเรื่องดังกล่าวไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในกีฬาฟุตบอล นักฟุตบอลหญิงจะได้รับเงินอัดฉีดน้อยกว่านักฟุตบอลชายในทัวร์นาเมนต์ระดับเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ทีมฟุตบอลหญิงสหรัฐฯ เจ้าของแชมป์โลก 4 สมัย และแชมป์โอลิมปิก 4 สมัย ยื่นเรื่องฟ้องร้องสมาคมฟุตบอลของตัวเอง เพราะในเมื่อเหนื่อยเท่ากัน แล้วพวกเธอประสบความสำเร็จมากกว่า แต่ทำไมต้องได้ค่าจ้างน้อยกว่าด้วย


อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของเรื่องนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในออสเตรเลีย เมื่อ สหพันธ์ฟุตบอลออสเตรเลีย หรือ เอฟเอฟเอ และ สหภาพนักฟุตบอลอาชีพออสเตรเลีย หรือ พีเอฟเอ ได้ลงนามข้อตกลงร่วมกันเป็นระยะเวลา 4 ปี เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

 

 

ข้อตกลงครั้งสำคัญ

การบรรลุข้อตกลงครั้งนี้ นับเป็นย่างก้าวที่ยิ่งใหญ่ของวงการฟุตบอลออสเตรเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดูจาก 5 ปีก่อนที่ เวสต์ฟิลด์ มาทิลดาส์ (ชื่อเล่นของทีมฟุุตบอลหญิงออสเตรเลีย) ยกเลิกการทัวร์สหรัฐฯ ทั้งที่จำหน่ายตั๋วเข้าชมหมดเกลี้ยง เนื่องจากไม่พอใจค่าจ้างที่ได้รับจากเอฟเอฟเอ ซึ่งนักเตะบางรายเปิดเผยว่ามันน้อยเกินไปจนเข้าขั้นผิดกฎหมายเลยทีเดียว


ในข้อตกลงครั้งใหม่นี้ เวสต์ฟิลด์ มาทิลดาส์ และ ทีมฟุตบอลชาย หรือ คาลเท็กซ์ ซอคเกอร์รูส์ จะได้รับส่วนแบ่งรายได้เชิงพาณิชย์ที่เท่าเทียมกัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทีมชายได้ส่วนแบ่งมากกว่า รวมทั้งได้ค่าเหนื่อยจากการลงเล่นแต่ครั้งมากกว่าอีกด้วย


นอกจากนั้น ทีมหญิงยังได้รับการอนุมัติให้เดินทางด้วยเครื่องบินชั้นบิสซิเนส คลาสสำหรับการไปแข่งขันต่างประเทศเหมือนอย่างทีมชาย ขณะที่การโค้ชชิ่ง และการช่วยเหลือในเชิงปฏิบัติการอื่นๆ ก็จะถูกยกระดับให้เป็นมาตรฐานเดียวกับทีมชายเช่นกัน


"ฟุตบอลเป็นเกมกีฬาสำหรับทุกคน และข้อตกลงครั้งใหม่นี้เป็นอีกก้าวที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างสังคมที่เห็นคุณค่าของความเท่าเทียม" คริส นิคู ประธานเอฟเอฟเอ เปิดเผยในแถลงการณ์ 


"นี่เป็นข้อตกลงที่เป็นเอกลักษณ์อย่างแท้จริง ทีมชาติทุกระดับทั้งทีมชายและทีมหญิงเรื่อยไปจนถึงชุดเยาวชน เช่นเดียวกับทีมผู้พิการต่างได้รับการพิจารณาในข้อตกลงครั้งใหม่นี้ทั้งหมด"

 

 

รายละเอียดสัญญาครั้งประวัติศาสตร์

ภายใต้ข้อตกลงครั้งใหม่นี้ มาทิลดาส์ และ ซอคเกอร์รูส์ จะได้รับส่วนแบ่ง 24 เปอร์เซ็นต์จากยอดรวมรายได้ของทีมชาติในปี 2019-20 โดยเพิ่มขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละปี ซึ่ง 5 เปอร์เซ็นต์จากในนั้นจะถูกนำไปลงทุนกับทีมชาติระดับเยาวชน 


ขณะเดียวกัน มาทิลดาส์ ยังมีระบบสัญญาส่วนกลางแบบใหม่ที่แบ่งเป็น 3 ระดับ ซึ่งจะการันตีว่า นักฟุตบอลหญิงชั้นนำของประเทศจะมีรายได้เท่ากับดาวดังของทีมชายเช่นกัน นอกจากนั้น ทีมฟุตบอลหญิงของออสเตรเลีย ยังจะได้รับส่วนแบ่งจากเงินรางวัลในการผ่านเข้ารอบสุดท้ายของฟุตบอลโลกเพิ่มมากขึ้น จากเดิม 30 เปอร์เซ็นต์ เป็น 40 เปอร์เซ็นต์ และจะเพิ่มเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ หากพวกเธอผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์ได้สำเร็จ


อย่างไรก็ตาม ทีมชายยังมีโอกาสได้รับเงินรางวัลรวมจากทัวร์นาเมนต์เดียวกันมากกว่าอยู่ดี เพราะเงินรางวัลจากฟุตบอลโลกของทีมชายนั้นสูงกว่า อย่างเช่นเงินรางวัลรวมในฟุตบอลโลกปี 2018 นั้นอยู่ที่ 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่เงินรางวัลรวมของฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกปี 2019 ที่ฝรั่งเศสนั้น มีตัวเลขเพียง 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น


ในสัญญาดังกล่าว นอกจากจะให้ความสำคัญเรื่องรายได้ที่เท่าเทียมแล้ว ยังรวมถึงการพิจารณานโยบายเรื่องการลาคลอดของเอฟเอฟเอ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าแข้งสาวทีมชาติจะได้รับการช่วยเหลือระหว่างการตั้งครรภ์และการฟื้นฟูร่างกายเพื่อกลับคืนสู่สนามอีกด้วย


เอลิเซ่ เคลลอนด์-ไนท์ กองกลางทีมมาทิลดาส์ กล่าวในงานแถลงข่าวว่า "ในฐานะนักฟุตบอลหญิงแล้ว นี่คือสิ่งที่พวกเราฝันถึงมาตลอด ทุกคนต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม การบรรลุข้อตกลงครั้งใหม่นี้แสดงให้เห็นถึงสัญญาณแห่งความเคารพซึ่งกันและกัน ทุกฝ่ายรวมเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสมบูรณ์ การได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกเฉกเช่นเดียวกับทีมชายจะเป็นตัวจุดประกายให้พวกเราประสบความสำเร็จ"


ถึงแม้จะดูเป็นก้าวเล็กๆ หากมองถึงภาพรวมของความเสมอภาคในวงการกีฬา แต่กับนักกีฬาหญิงทั่วโลกแล้ว เชื่อว่าออสเตรเลียจะเป็นต้นแบบให้พวกเธอออกมาต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตัวเองสมควรได้รับ เพราะคนทุกคนบนโลกใบนี้ต่างเกิดมาด้วยสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน การสู้เพื่อรักษาสิทธิของตัวเองนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่คนที่ควรจะรู้สึกผิดคือคนที่กดขี่และริดรอนสิทธิของผู้อื่นต่างหาก


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

ไทเกอร์ วืด

StadiumTH Content Creator

Thank You Paralympics