stadium

5 มังงะกีฬาสร้างแรงบันดาลใจของชาวญี่ปุ่น

8 กรกฎาคม 2563

การ์ตูนญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันทั่วโลกว่า มังงะ (漫画) นับว่าเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่มีรากฐานมั่นคงที่สุดของญี่ปุ่น และฝังรากลึกในประวัติศาสตร์ของแดนอาทิตย์อุทัยมาอย่างยาวนาน ย้อนกลับไปได้ถึงต้นยุคศตวรรษที่ 12 จึงไม่น่าแปลกใจว่าการ์ตูนนั้นมีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงในหลายสาขาของประเทศญี่ปุ่น และโดยเฉพาะวงการกีฬาที่การ์ตูนบางเรื่องสร้างแรงขับเคลื่อน ความฝันให้กับเด็กชาวญี่ปุ่นหลายคน และที่สำคัญมังงะบางเรื่องก็ได้เปลี่ยนประวัติศาสตร์ให้กับวงการกีฬาของญี่ปุ่นไปตลอดกาลเช่นเดียวกัน

 

มังงะ หรือ การ์ตูนญี่ปุ่นนั้นมีหลายรูปแบบและหลายประเภท แต่หากนับประเภทหลักๆ จะแบ่งตามกลุ่มอายุและเพศได้ 5 ประเภท โดยมังงะกีฬาส่วนใหญ่จะอยู่ในประเภท โชเนน มังงะ (Shonen Manga) หรือเรียกกันว่ามังงะที่เจาะตลาดวัยรุ่นชายอายุระหว่าง 12-18 ปี (แม้ว่าความจริงจะอ่านได้ทุกเพศทุกวัยก็ตาม) ทำให้มังงะกีฬาแต่งขึ้นมาโดยเน้นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กวัยรุ่นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งหากสังเกตดีๆ จะพบว่าการ์ตูนเด็กผู้ชายจะเป็นเรื่องราวของตัวเอกที่ไม่ได้มีความสามารถเก่งกาจมาตั้งแต่แรก แต่ต้องพยายามและฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อจะได้เป็นคนที่แข็งแกร่งในอนาคต และนี่คือ 5 มังงะกีฬาที่มีชื่อเสียงและสร้างแรงบันดาลใจด้านกีฬารวมทั้งการใช้ชีวิตให้กับชาวญี่ปุ่น

 

 

1. “ก้าวแรกสู่สังเวียน” (Hajime no Ippo) รู้ตัวและไม่หยุดพัฒนา กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ

มังงะกีฬามวยสุดคลาสสิคของอาจารย์ จอร์จ โมริคาวะ เรื่องราวของเด็กหนุ่ม มาคุโนอุจิ อิปโป เด็กหนุ่มขี้อายลูกชาวประมงที่ชีวิตประจำวันในวัยเรียนโดนรังแก จนกระทั่งวันหนึ่งได้รับการช่วยเหลือจาก ทาคามูระ มาโมรุ และมองเห็นแววความสามารถในทางหมัดมวยของ อิปโป จึงได้ชักชวนเด็กหนุ่มสู่ผืนผ้าใบ

 

Hajime no Ippo โดยสำนักพิมพ์ โคดันฉะ ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร โชเนน รายสัปดาห์มาตั้งแต่ปี 1989 จนมาถึงปัจจุบัน จำนวนตอนเกินกว่า 1,200 ตอนเข้าไปแล้ว นอกจากนี้ “ก้าวแรกสู่สังเวียน” ยังเป็นการ์ตูนเพียงเรื่องเดียวของอ. โมริคาวะ ด้วย

 

การ์ตูนเรื่อง “ก้าวแรกสู่สังเวียน” ได้รับความนิยมด้วยพล็อตที่ตัวเอกของเรื่องอย่าง อิปโป นั้นเป็นเด็กที่ขี้อายและมักโดนรังแกโดยคนที่แข็งแรงกว่าเป็นประจำ ที่สำคัญการที่ตัว อิปโป นั้นไม่มีแรงบันดาลใจและไม่มีความฝันอื่นๆ นอกจากช่วยครอบครัวที่ทำอาชีพประมง จนกระทั่งได้มาพบเจอกับชายที่เข้ามาช่วยเหลือและสร้างเป้าหมายในการใช้ชีวิต เป็นเรื่องราวที่เข้าถึงเด็กหนุ่มในวัยประถมและมัธยมต้นได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันวิธีการดำเนินเรื่องของอ.โมริคาวะ ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของเด็กหนุ่มในเรื่องการตั้งเป้าหมายของชีวิต ไม่ทระนงตนและไม่หยุดพัฒนาตัวเอง เหมือนกับหนึ่งในคำพูดสุดคลาสสิคในเรื่องที่ว่า

 

“ไม่ใช่ทุกคนที่พยายามจะประสบความสำเร็จ แต่คนประสบความสำเร็จทุกคนทำงานอย่างหนัก”

 

 

2. “Touch” มังงะล้ำค่าที่ “โคชิเอ็ง” นำเอาไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์

เบสบอล กีฬายอดนิยมอันดับต้นๆ ของชาวญี่ปุ่น อยู่คู่กับวัฒนธรรมของแดนอาทิตย์อุทัยเป็นเวลานับ 100 ปี และที่ประเทศญี่ปุ่นก็มีสนามเบสบอลที่ชื่อว่า โคชิเอ็ง ที่นอกจากจะเป็นรังเหย้าของทีม “เสือร้ายแห่งคันไซ” ฮันชิน ไทเกอร์ แล้ว ที่นี่ยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเบสบอลมัธยมปลายอีกด้วย ซึ่งมังงะเบสบอลที่ใช้ “เมกกะแห่งเบสบอลญี่ปุ่น” ได้อย่างคลาสสิคที่สุดคงไม่พ้นการ์ตูนเรื่อง “Touch” หรือในชื่อไทย “ทัช ยอดรักนักกีฬา” ของอาจารย์ มิซึรุ อาดาจิ

 

“ทัช” เป็นเรื่องราวของ ทัตซึยะ และ คาซุยะ อุเอซุงิ ฝาแฝดที่มีความสามารถกีฬาทั้งพี่ทั้งน้อง ทั้งสองชอบผู้หญิงชื่อ มินามิ อาซากุระ สาวข้างบ้านเหมือนกัน อย่างไรก็ตามด้วยอุบัติเหตุที่พรากชีวิตของ คาซุยะ แฝดผู้น้องไป ทำให้พี่ชายอย่าง ทัตซึยะ ที่มีนิสัยเฉื่อยชาและไร้ความพยายาม ต้องฮึดขึ้นสู้เพื่อสานต่อฝันในการไปลงแข่งขันที่ โคชิเอ็ง ของน้องชายให้สำเร็จ

 

มังงะเบสบอลเริ่มเข้ามามีบทบาทในวัฒนธรรมเบสบอลม.ปลายในช่วงทศวรรษที่ 1970 แต่ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของ โชเนน มังงะ เบสบอล นั่นก็คือเรื่อง ทัช โดยสำนักพิมพ์ โชกะคุคัง ตีพิมพ์ในนิตยสาร โชเนน ซันเดย์ รายสัปดาห์ในช่วงระหว่างปี  1981 ถึงปี 1986 ซึ่งพล็อตเรื่องเกี่ยวกับการทำตามฝัน และเรื่องราวความรักแบบหนุ่มสาวของวัยมัธยมปลายทำให้การ์ตูนเรื่อง ทัช กลายเป็นหนึ่งในการ์ตูนที่ขายดีที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยมียอดขายเกิน 100 ล้านฉบับ นอกจากนี้ ทัช ยังเป็นการ์ตูนเบสบอลที่ได้รับเกียรติให้นำเข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของสนาม โคชิเอ็ง อีกด้วย ซึ่งผู้มาเข้าชมสามารถเดินชมความเป็นมาของวัฒนธรรมกีฬาเบสบอลและการ์ตูนที่อยู่คู่กันมาช้านาน ในทางเดินจะมีมุมของการ์ตูนเรื่อง ทัช และลายเซ็นของอ. อาดาจิ ที่เซ็นไว้ในกรอบรูปวาด มินามิ อาซากุระ หญิงสาวที่เป็นทั้งคนรักและแรงบันดาลใจที่นำพา ทัตซึยะ ตัวเอกของเรื่องมาถึงสนาม โคชิเอ็ง ได้ตามคำสัญญา

 

 

3. “Haikyuu” มังงะวอลเลย์บอล ที่สร้างนักกีฬารุ่นใหม่นับหมื่นคน

วอลเลย์บอล กีฬาที่ไม่เหมาะกับสรีระชาวญี่ปุ่นสักเท่าไร แต่พวกเขาคือชาติแรก ๆ จากทวีปเอเชียที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิก แต่มังงะที่เกี่ยวกับกีฬาวอลเลย์บอลนั้นไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไรนักโดยเฉพาะวอลเลย์บอลชาย จนกระทั่งในปี 2012 ที่โชเนน มังงะ ในชื่อ Haikyuu ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรก

 

“Haikyuu” หรือ “คู่ตบฟ้าประทาน” เป็นมังงะที่พูดถึง โชโย ฮินาตะ เด็กหนุ่มที่หลงเสน่ห์กีฬาตบลูกยางในรายการชิงแชมป์มัธยมปลาย และต้องการเจริญรอยตามผู้เล่นของทีมโรงเรียนม. ปลาย คาราสึโนะที่มีฉายาว่า “สมอลไจแอนท์” จนเข้าสู่เรื่องราวหลักของ ฮินาตะ ที่ได้เข้ารร. คาราสึโนะ และเดินหน้าพาโรงเรียนสู่ความสำเร็จในระดับมัธยมปลาย

 

สาเหตุหลักที่ทำให้การ์ตูนเรื่อง “ไฮคิว” ฮิตติดลมบนภายในเวลาไม่นาน นอกจากจะเป็นเรื่องลายเส้นที่สวยงามของอาจารย์ ฮารุอิชิ ฟุรุดาเตะ แล้ว อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากคือความสมจริงของชีวิตการเป็นนักวอลเลย์บอล รวมถึงสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับวงการลูกยางญี่ปุ่นในชีวิตจริงไม่ว่าจะเป็นยิมเนเซี่ยมแห่งกรุงโตเกียว (Tokyo Metropolitan Gymnasium) ที่เขต ชิบุย่า ซึ่งเป็นสนามแข่งวอลเลย์บอลสำคัญของประเทศญี่ปุ่น ที่ใช้จัดการแข่งขันชิงแชมป์แห่งชาติระดับม.ปลายและเป็นสนามหลักของการแข่งขันโอลิมปิกปี 2021 ด้วย รวมไปถึงศูนย์กีฬาชื่อดังอย่าง ศูนย์พัฒนากีฬาวอลเลย์บอลแห่งชาติ อายิโนะโมโตะ ที่มีสมาคมวอลเลย์บอลญี่ปุ่นเป็นเจ้าของก็ปรากฏในการ์ตูนเรื่องนี้เช่นเดียวกัน 

 

“ไฮคิว” นอกจากจะให้ความสนุกตื่นเต้นตามแบบฉบับการ์ตูนในนิตยสาร โชเนน จั๊มป์ แล้ว ยังให้ความรู้ที่ถูกต้องของกีฬาวอลเลย์บอลรวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่ได้อย่างมหาศาล ซึ่งในปี 2016 ทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ NHK ได้ทำผลวิจัยเกี่ยวกับความชื่นชอบกีฬาตบลูกยาง ปรากฏผลที่น่าทึ่งคือ ตั้งแต่ปี 2012 ที่การ์ตูนเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์แบบรายสัปดาห์ จนมาถึงปี 2016 มีนักกีฬาวอลเลย์บอลหน้าใหม่เฉพาะนักเรียนชายในระดับมัธยมต้นเพิ่มจากจำนวน 36,000 คน ไปเป็น 47,000 คนภายในเวลาแค่ 4 ปีเท่านั้น นั่นทำให้มังงะเรื่อง “คู่ตบสะท้านฟ้า” ถูกยกให้เป็นการ์ตูนที่เปลี่ยนแปลงวงการวอลเลย์บอลระดับมัธยมไปสู่ยุคสมัยใหม่เลยทีเดียว

 

 

4. “Slam Dunk” มังงะกีฬาที่ดีที่สุดตลอดกาลของประเทศญี่ปุ่น

หากพูดถึงการ์ตูนบาสเก็ตบอล ไม่มีเรื่องใดที่จะมาเทียบเคียงกับ “Slam Dunk” ได้อีกแล้ว นี่คือมังงะกีฬาที่บรรดาผู้เกี่ยวข้องในวงการการ์ตูนและวงการกีฬายกให้เป็นหนึ่งใน โชเนน มังงะ ที่ดีที่สุดตลอดกาลของญี่ปุ่น ที่สำคัญ “สแลมดังค์” ถึงขนาดได้รับการยอมรับจากสมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศญี่ปุ่นว่านี่คือมังงะที่สร้างกระแสความนิยมกีฬาของชาวมะกันให้เกิดขึ้นในแผ่นดินแห่งโพ้นทะเลตะวันออก

 

เรื่องราวของ ฮานามิจิ ซากุรางิ หนุ่มสุดเห่ยที่ไม่มีเสน่ห์เอาซะเลยสำหรับสาวๆ ในโรงเรียน จับพลัดจับพลูมาเข้าชมรมบาสเก็ตบอลของรร.มัธยมปลาย โชโฮคุ ได้เพียงเพราะ ฮารูโกะ อาคางิ ผู้หญิงในฝันที่ไม่รังเกียจ ซากุรางิ แถมยังเห็นแววการเป็นนักกีฬาของเจ้าตัวอีกด้วย เรื่องราวในชมรมบาสเก็ตบอลของเขากับเส้นทางในการเป็นชายสุดเท่ก็ได้เริ่มต้นขึ้นพร้อมกับเพื่อน(?) ร่วมชมรมที่มีเอกลักษณ์ในแบบเฉพาะตัว

 

ในช่วงก่อนปี 1990 นั้นดินแดนอาทิตย์อุทัยกับวงการยัดห่วงแทบจะเป็นเหมือนคนไม่รู้จักกัน จนกระทั่งอาจารย์ ทาเกฮิโกะ อิโนะอุเอะ ได้วาดการ์ตูนเรื่อง “สแลมดังค์” ขึ้นมา มังงะเรื่องนี้คือจุดเปลี่ยนที่แท้จริงของวงการบาสเก็ตบอลในประเทศญี่ปุ่น วัยรุ่นในต้นปี 90 ต่างได้รับอิทธิพลจากมังงะเรื่องนี้แทบทั้งสิ้น และทำให้เกิดนักกีฬาหน้าใหม่หลายคนก้าวเข้าสู่วงการยัดห่วง

 

เมื่อเทียบกับประเทศจีนที่มีนักบาสอย่าง เหยา หมิง เป็นไอดอล ประเทศที่มีสนามบาสเก็ตบอลเพียง 30 แห่งอย่างญี่ปุ่นกลับสามารถสร้างนักบาสไปเล่น NBA ในสหรัฐอเมริกาได้ไม่แพ้ประเทศจีน จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “สแลมดังค์” ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับวัยรุ่นในยุคหลังอย่างมากมาย แม้มังงะเรื่องนี้จะจบไปแล้วตั้งแต่ปี 1996 แต่ชื่อเสียงในระดับที่เป็นมังงะกีฬาที่ดีที่สุดตลอดกาล ทำให้บาสเก็ตบอลเป็นหนึ่งในชมรมกีฬาที่ได้รับความนิยมที่สุดของรร.มัธยม และที่สำคัญยังได้รับความนิยมในหมู่นักเรียนหญิงเช่นกัน ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เราได้เห็นซีนที่ มิตซึฮะ มิยามิซึ นางเอกจากอนิเมชั่นยอดนิยม Your Name ของผู้กำกับ มาโคโตะ ชินไค เล่นบาสเก็ตบอลในชมรมที่รร., ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ ยิมเนเซี่ยมแห่งชาติ โยโยงิ สนามของ โอลิมปิก 2021 จะมีความจุเต็ม 17,000 คนในการแข่งบาสมัธยมปลายทั้งประเภทชายและหญิง และไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ญี่ปุ่นจะมีนักบาสระดับดราฟต์อันดับ 9 ของ เอ็นบีเอ ที่ชื่อ รุย ฮาชิมูระ

 

 

5. “Captain Tsubasa” มังงะที่เปลี่ยนวงการลูกหนังญี่ปุ่นไปตลอดกาล

ถ้า “สแลมดังค์” คือกีฬาที่จุดกระแสบาสเก็ตบอลในประเทศญี่ปุ่น มังงะที่เปลี่ยนแปลงวงการฟุตบอลในประเทศญี่ปุ่นก็ไม่สามารถเป็นเรื่องใดไปได้นอกจาก “เจ้าหนูสิงห์นักเตะ” หรือ “กัปตันซึบาสะ” นั่นเอง

 

มังงะระดับตำนานของอาจารย์ โยอิชิ ทากาฮาชิ ได้รับการยกย่องให้เป็นการ์ตูนที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนญี่ปุ่นได้มากที่สุดเรื่องหนึ่ง อ.โยอิชิ เขียนการ์ตูนเรื่องนี้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1981 โดยได้แรงบันดาลใจจากฟุตบอลโลก ปี 1978 ที่ประเทศอาร์เจนติน่าเป็นเจ้าภาพ ซึ่งในเวลานั้นทีมชาติญี่ปุ่นยังไม่ได้อยู่บนแผนที่ของฟุตบอลโลกด้วยซ้ำ ที่สำคัญบนแผ่นดินญี่ปุ่นก็ยังไม่มีแม้แต่ลีกฟุตบอลอาชีพ แต่ด้วยความโด่งดังของมังงะเรื่องนี้ก็ได้สร้างให้เกิดแข้งเยาวชนหน้าใหม่ที่กล้าฝันจะเป็นนักฟุตบอลที่เก่งกาจเหมือน โอซาระ ซึบาสะ ซึ่งเด็กคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงอย่างมากและเล่นตำแหน่งเดียวกันกับตัวการ์ตูนชื่อดังนั่นก็คือ ฮิเดโตชิ นากาตะ 

 

“กัปตันซึบาสะ” เข้ามามีส่วนร่วมในวงการลูกหนังแดนปลาดิบอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญที่เกี่ยวข้องกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศญี่ปุ่น ทั้งเสื้อแข่งทีมชาติญี่ปุ่นสกรีนเบอร์ 10 ของ โอโซระ ซึบาสะ รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆ ที่มีร่วมกับ เจ ลีก หรือแม้กระทั่งการที่ ซึบาสะ และ มิซากิ ไปปรากฏในวิดีโอโปรโมท โอลิมปิก โตเกียว 2020 ทุกอย่างล้วนสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กรุ่นใหม่อย่างมหาศาล นอกจากนี้นักฟุตบอลระดับโลกหลายคนต่างก็เป็นแฟนการ์ตูนเรื่องนี้ทั้ง ลูคัส โพดอลสกี้ ศูนย์หน้าทีมชาติเยอรมัน, อันเดรส อิเนียสต้า, เฟร์นันโด ตอร์เรส เองก็เคยให้สัมภาษณ์กับสื่ออังกกฤษว่าที่เขาเลือกเล่นฟุตบอลนั้นเป็นเพราะเขาชอบ ซึบาสะ แม้กระทั่งราชาลูกหนังคนปัจจุบันอย่าง ลิโอเนล เมสซี่ ก็ได้รับแรงบันดาลใจในการเล่นฟุตบอลจาก ซึบาสะ เช่นเดียวกัน

 

กว่า 30 ปีที่การ์ตูนเรื่อง “กัปตันซึบาสะ” อาจเป็นมังงะเพ้อฝันสำหรับเราหรือคนในชาติอื่นๆ แต่ในฐานะญี่ปุ่นที่มีการ์ตูนเป็นขาพยุงชาติเอาไว้ ในวันนี้ที่อ. โยอิชิ เคยอยากให้นักเตะญี่ปุ่นโลดแล่นในยุโรปแบบ เกนโซ วากาบายาชิ กับ ฮัมบวร์ก, โคจิโร่ เฮียวงะ กับ ยูเวนตุส ปัจจุบันทีมชาติญี่ปุ่นมีนักฟุตบอลค้าแข้งอยู่ในยุโรปเกิน 35 คน พวกเขามีนักเตะจากนอกทวีปอยู่เกือบทุกชุดตั้งแต่ชุดใหญ่ จนถึงชุด U-19 นักเตะอย่าง ชินจิ คางาวะ เคยค้าแข้งกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เคซึเกะ ฮอนดะ เคยสวมเสื้อเบอร์ 10 ให้กับ เอซี มิลาน และวันนี้ญี่ปุ่นมีโคตรดาวรุ่งที่อยู่กับ “ราชันชุดขาว” เรอัล มาดริด ถึง 2 คนคือ ทาเคฟุซะ คุโบะ ในวัย 18 ปี และ ทาคุฮิโระ นาคาอิ ในวัยเพียง 15 ปี รวมถึง ฮิโรกิ อาเบะ ที่กำลังเจริญรอยตาม โอซาระ ซึบาสะ ที่ บาร์เซโลน่า เบ วันหนึ่งความฝันในการเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกของทีมชาติญี่ปุ่นแบบในมังงะอาจจะเกิดขึ้นจริงก็ได้

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง


stadium

author

Kapeebara

StadiumTH Content Creator