24 มีนาคม 2563
“สัญญา” กับ “สปิริต” อย่างไหนสำคัญกว่า กับโลกลูกหนังในภาวะโควิด-19?
#คุยเฟื่องเรื่องบอลไทย
กลายเป็นประเด็นร้อนที่ต้องถกกันเพราะเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีข่าวออกมาจากหลายสำนักซึ่งพูดถึงเอฟเฟ็กต์ของโควิด-19 ที่มีต่อวงการค้าแข้งอาชีพทั่วโลก เพราะจากผลพวกของการเลื่อนการแข่งขันทุกรายการภายในประเทศพร้อมๆกันทั่วโลกนั้น หลายสโมสรต่างกำลังประสบปัญหาการแบกรับค่าใช้จ่ายจากการขาดรายได้ (ไม่มีเงินได้จากการขายตั๋วเข้าสนาม ในขณะที่เงินเดือนพนักงานก็ยังต้องจ่ายอยู่เท่าเดิมอย่างงั้น)
ผลกระทบที่ว่าเกิดขึ้นไปแล้วทั่วทุกมุมโลก โดยมีรายงานว่าแม้แต่ลีกใหญ่อย่างลีก เอิง สโมสรจำนวนกว่าครึ่งนึงก็กำลังเตรียมเผชิญหน้ากับสภาวะการขาดสภาพคล่อง และมีบางทีมที่กำลังประสบปัญหาเสี่ยงต่อการล้มละลายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
และดูเหมือนว่าหลายสโมสรทั่วโลกต่างเผชิญหน้ากับปัญหาเดียวกันนี้ และพวกเขาก็เริ่มเดินหน้าจัดการปัญหาด้วยการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป โดยบางทีมก็ได้เริ่มคุยกับนักเตะ, โค้ชและทีมงานในฐานะ “นายจ้างกับลูกจ้าง” และในฐานะ “คนในครอบครัวเดียวกัน”
ตัวอย่างมีให้เห็นอย่างในลีกแดนวิสกี้ เมื่อสโมสรฮาร์ทส์ สโมสรในระดับพรีเมียร์ชิพ ของสกอตแลนด์ จัดแจงคุยกับนักเตะ, โค้ช และทีมงานสต๊าฟถึงความเป็นไปได้ในการขอลดเงินเดือนลง 50% เพื่อพยุงสถานะทางการเงินของสโมสรให้สามารถผ่านพ้นสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้ โดยเปิดออฟชั่นเรื่องการยกเลิกสัญญาไว้สำหรับในรายที่ไม่พอใจ
ในขณะที่เอฟซี ซิยง ทีมดังในลีกสวิสเซอร์แลนด์ ประกาศยกเลิกสัญญานักเตะถึง 9 คน ภายหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ แม้แต่ลีกในย่านอาเซียนอย่างลีกของมาเลเซียหรือ “เอ็มลีก” สโมสรกลันตัน เอฟซี ก็กำลังเดินหน้าเจรจากับนักเตะในสังกัดเพื่อขอลดค่าจ้างลง 25% เป็นการชั่วคราวจนกว่าลีกจะกลับมาแข่งกันใหม่
รูปแบบของการลดค่าใช้จ่ายมีการดีไซน์ออกมาหลากหลาย ซึ่งทุกดีไซน์ล้วนแต่มุ่งเรื่องควบคุมรายจ่ายและรักษาสภาพขององค์กรไว้ อย่างสิ่งที่เกิดขึ้นในสโมสรโบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค ทีมดังในบุนเดสลีก้าที่ทำข้อตกลงกับนักเตะโดยสมัครใจเรื่องลดค่าเหนื่อยเพื่อนำเงินส่วนนี้ไปจ่ายให้พนักงานที่ว่างงานในช่วงลีกปิด เช่นเดียวกับอาเมียง สโมสรในลีกเอิงที่ใช้มาตรการคล้ายๆกัน
แม้แต่ยักษ์ใหญ่แดนมักกะโรนีอย่างโรม่า นักเตะและโค้ชในทีมชุดใหญ่รวมไปถึงเหล่าสต๊าฟประจำทีมต่างพร้อมใจกันสละรายได้ส่วนนึงจากเงินเดือนของพวกเขาเพื่อให้สโมสรนำเงินส่วนนี้ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และนำเงินเหล่านั้นบริจาคให้โรงพยาบาลในอิตาลีเพื่อใช้ต่อสู้กับโควิด-19
มีคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า “องค์กรก็เหมือนต้นไม้ใหญ่ และความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างก็เหมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าซึ่งแน่นอนว่าหากองค์กรอยู่ไม่ได้ ไหนเลยที่ลูกจ้างจะอยู่สุขสบาย”
สโมสรหลายแห่งอาจมองว่านี่เป็นสถานการ์ณที่ยากลำบากที่ทุกคนต่างต้องเสียสละร่วมกัน และคำว่า “สปิริต” นั้นอาจมีราคามากกว่าตัวอักษรในหนังสือสัญญา
ในขณะที่นักเตะและทีมงาน(บางคน) ก็อาจเห็นต่างว่ามันคือเรื่องของ “คอมมิทเม้น”(หรือคำมั่นสัญญา) ที่ต่างต้องยึดมั่น เพราะในเมื่อพวกเขายังคงมาตอกบัตรเข้างานอยู่ทุกวันตามตารางงาน พวกเขาก็ย่อมต้องได้รับค่าจ้างตามตัวอักษรในสัญญานั้น
“เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก” เพราะบนโลกใบนี้คงไม่ได้มีนักเตะทุกคนที่จะจงรักภักดีแบบแฟนตัวยงของสโมสรที่ตนค้าแข้ง และมองว่าเรื่องของสปิริตจะมีความหมายมากกว่าจำนวนเงินที่พวกเขาจะได้ทุกสิ้นเดือน
และสำหรับบ้านเรา แม้จะยังไม่มีรายงานเรื่องการขอลดค่าเหนื่อย แต่ท่ามกลางสถานการณ์ที่มันมีแนวโน้มว่าลีกเราอาจต้องกลับมาแข่งกันใหม่แบบสนามปิด ซึ่งแน่นอนว่าสโมสรเล็กๆที่ไม่ได้มีเงินถุงเงินถังหรือสโมสรระดับกลางๆที่น่าจะได้รับผลกระทบอยู่บ้าง สโมสรเหล่านั้นก็อาจประสบปัญหาแบบเดียวกันอย่างที่เกิดขึ้นที่ฝรั่งเศส, เยอรมัน, สวิสเซอร์แลนด์, สกอตแลนด์ และมาเลเซีย
และหากซ้ำร้ายไปกว่านั้นหากลีกของไทยจะต้องมีการขยายวันปิดลีกออกไปก็อาจทำให้เรื่องของสัญญากลายเป็นปัญหาใหญ่ โดยมีคำว่า “สปิริต” เป็นเรื่องที่ต้องชั่งใจ (หากวันนั้นมาถึงก็อาจมีนักเตะ, โค้ช และทีมงานบางคนเลือกที่จะเดินจากไปโดยมองว่านั่นไม่ใช่ปัญหาของตนเพราะจ็อบของเขามันจบไปแล้วตามตัวหนังสือในสัญญาก็เป็นได้)
ในเวลาแบบนี้โควิด-19 ไม่เพียงแต่เป็นตัวอย่างของสงครามระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ, เป็นต้นเหตุของการสูญเสียครั้งใหญ่ และกำลังก่อปัญหามากมายพร้อมๆกันทั่วโลก แต่มันยังมอบบททดสอบที่หนักหน่วงให้แก่เราทุกคนในเวลาเดียวกัน
บททดสอบที่ว่าเราจะสามารถรับมือกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ได้ดีแค่ไหน? เราใส่ใจและรับผิดชอบมากพอมั้ยกับตัวเอง, สังคม และคนรอบข้าง? และที่สำคัญท่ามกลางการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดนั้น เราทุกคนกำหนดขอบเขตนิยามของคำว่า “เสียสละ” สำหรับตัวเองและคนอื่นไว้ยังไงบ้างล่ะ?
“น่าคิดอยู่นะ” เพราะท่ามกลางสภาวะกึ่งล็อคดาวน์ในเมืองหลวงซึ่งทำให้หลายคนต้องเสี่ยงถูกพักงานหรือตกงาน หลายคนกำลังเผชิญหน้ากับความไม่มั่นคง และหลายคนก็กำลังวิตกกังวลกับสวัสดิภาพและความปลอดภัยของตัวเองและครอบครัวจากการแย่งกันกักตุนอาหาร
เรื่องการลดเงินเดือนที่เกิดขึ้นในวงการฟุตบอลเป็นตัวอย่างที่ดีในการหาคำตอบของคำถามในพารากราฟด้านบน เพราะในวันที่เลวร้ายแบบนี้นี่แหละที่ความสามัคคีจะมีบทบาทใหญ่ และความเสียสละของทุกฝ่ายจะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้เราสามารถผ่านสงครามนี้ไปได้ด้วยกัน
TAG ที่เกี่ยวข้อง