stadium

เศวต เศรษฐาภรณ์ อดีตนักบินสู่นักแม่นปืน

24 มีนาคม 2563

“ชีวิตมันต้องเดินตามหาความฝัน หกล้มคลุกคลานเท่าไหร่ มันจะไปจบที่ตรงไหน แต่จะยังไงก็ต้องไปให้ถึง” ส่วนหนึ่งของเพลง ความเชื่อ ของ บอดี้แสลม ศิลปินวงร็อคชั้นนำของเมืองไทย 

 

ผมนั่งเขียนบทความชิ้นนี้โดยเปิดเพลงความเชื่อของพี่ตูนฟังไปด้วย ฮุคเพลงข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า คนเรามีชีวิตอยู่ได้เพราะมีความฝันนั้นคอยหล่อเลี้ยงจิตใจ มีจุดหมายปลายทางให้ไขว่คว้าอยู่ตลอด ซึ่งความฝันไม่ได้จำกัดแค่ว่าจะต้องเป็นเด็กหนุ่มวัยรุ่นเท่านั้นที่มีได้ แต่กับชายวัย 56 ปี ท่าทางสุขุม ใจเย็น มีน้ำเสียงนุ่มลึกน่าฟัง อย่าง เศวต เศรษฐาภรณ์ นักกีฬายิงเป้าบินทีมชาติไทย แม้ว่าจะเริ่มต้นชีวิตการเป็นนักกีฬาช้ากว่าคนอื่นๆ แต่เขาก็ไม่เคยหยุดฝันที่ได้ไปโอลิมปิกเกมส์เลยสักครั้ง

 

 

จากนักบินสู่นักยิงปืน

เศวต หรือ แซม เริ่มต้นเป็นนักกีฬายิงเป้าบิน ตอนอายุ 41 ปี ซึ่งถือว่าช้ามากๆหากเทียบกับนักกีฬาคนอื่นๆ เพราะเป็นช่วงอายุที่นักกีฬาบางคนนั้นเลิกเล่นไปแล้วด้วยซ้ำ 

 

“ผมเริ่มต้นจากการเป็นนักบินมาก่อน มันให้อิสระผมมากๆ แต่ว่ามันอันตราย ผมเคยมีเพื่อนบินประสบอุบัติเหตุ ทำให้ที่บ้านเป็นห่วงคุณแม่เลยขอให้เลิก ช่วงนั้นก็ลำบากใจมากๆ ก็คิดหนักเพราะเราอยู่กับตรงนี้มาตลอดชีวิต” แซม เผยถึงจุดเริ่มต้นในชีวิต

 

อย่างไรก็ตามในที่สุด แซม ก็ตัดสินใจเลิกเป็นนักบินตามคำขอของคุณแม่ แต่หลังจากนั้นเขาถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าจะหันไปทำอะไรดีเพื่อให้ชีวิตดูมีความท้าทายตัวเองอีกครั้ง จนกระทั่งมีคนแนะนำให้ลองมาเล่นกีฬายิงเป้าบิน

 

“เป้าบินมี 2 ประเภท คือแทร็บ และสกีต ที่ชอบคือแทร็บ ตอนเริ่มต้นมันก็ยาก แต่พอลองศึกษาดูก็รู้สึกว่าทำได้ ก็ใช้เวลาอยู่ประมาณ 1 ปี ก็ติดทีมชาติ ”

 

ติดทีมชาติครั้งแรกตอนอายุ 42 ปี

หลังจากฝึกซ้อมอยู่สักพัก แซม ก็คัดตัวติดทีมชาติ ผ่านประสบการณ์ ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ อยู่ตลอด แม้ว่าจะเริ่มต้นช้าแต่ก็ไม่ได้ทำให้ความภูมิใจที่ได้เป็นนักกีฬารับใช้ชาติน้อยกว่าคนอื่นๆ

 

“พอเราใส่เสื้อทีมชาติไทย มีธงชาติไทยเล็กๆติดอยู่ที่หน้าอก รู้สึกว่าประหม่ามาก ทั้งๆที่เป็นแมตช์ไม่ใหญ่ที่สมาคมยิงเป้าบินส่งเราออกไปแข่ง เพื่อหาประสบการณ์ นั่นเป็นความรู้สึกแรก มันต่างกันโดยสิ้นเชิงกับการฝึกซ้อมในประเทศ มันไม่เหมือนกับการคัดตัวในประเทศ ซึ่งเราต้องเจอคู่แข่งต่างชาติในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย เราก็เพิ่งรู้ เวลาเรามาแข่งต่างชาติครั้งแรกมันเป็นยังไง”

 

อดทนกับความพ่ายแพ้มาตลอด 15 ปี 

“ฉันท้อแท้สักกี่ทียังมีหวัง แม้พลาดพลั้งสักกี่ครั้งยังฝันไกล แม้ฉันล้มฉันก็คงไม่ตาย ฉันยังไม่ตายฉันยังคงหายใจ” เสียงพี่ตูนส่งเสียงร้องต่อไปจนมาถึงท่อนนี้ ซึ่งน่าจะเป็นท่อนที่ตรงที่สุดในชีวิตของ แซม เลยทีเดียว

 

ตลอดระยะเวลาการเป็นนักกีฬา เขาไม่เคยคว้าเหรียญรางวัลมาครองได้เลย ต้องทนอยู่กับความพ่ายแพ้มาตลอด 15 ปี แต่เขาก็ไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองในทุกวันๆ เมื่อได้เริ่มตะเวนแข่งขัน เขาได้เรียนรู้แล้วว่า ต่อให้ประสบการณ์ชีวิตมากกว่านักกีฬาคนอื่นๆ ก็ไม่ได้แปลว่าประสบการณ์ในเกมกีฬาจะมีมากกว่า

 

“15 ปี ก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดครับ แต่ว่าหลังจากออกไปแข่ง ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ และเวิลด์คัพ เป็นบางครั้งนะครับ พอไปแข่งเราก็รู้ว่า ข้อด้อยของเราคืออะไร แล้วกีฬายิงเป้าบินมันเริ่มมาจากที่ยุโรป ทางนู้นเค้ามีอุปกรณ์ดีกว่า และสรีระเค้าก็ดีกว่า มีคนสอนทักษะ มีคนที่เป็นนักยิงปืน เป็นแชมป์มาก่อน ทางนั้นเค้าจะไปเร็วกว่าเรา ในขณะที่ทางเราต้องใช้เวลาหลายปี”

 

“ผมมีเพื่อนๆที่ยิงปืนเป็นแชมป์ทั่วโลก เป็นนักยิงปืนอาชีพยิงแบบ full time แต่ผมยิงแค่ เสาร์ อาทิตย์ และวันหยุด เพราะฉะนั้นเวลาเราเจอกันทุกคนก็ให้คำแนะนำที่ดี เพราะเขารู้ว่าเราไม่ใช่คู่แข่งเค้า มีอะไรเค้าก็จะบอก ทุกประเทศที่ไปก็จะรู้จักกัน แล้วเขาก็ให้ข้อแนะนำ กีฬาประเภทนี้ต้องยอมรับว่าทุกท่านที่ออกไปแข่งเวิลด์คัพหรือรายการอื่นๆ ผมเป็นคนที่อายุเยอะที่สุด เขาก็บอกให้ฝึกทำสรีระ และสุขภาพให้พร้อมนะครับ”

 

 

ความฝันไม่มีวันหมดอายุ

ไปแข่งทีไรก็แพ้กลับมาตลอดจนเห็นเป็นเรื่องปกติในสายตาคนอื่นๆ แต่สำหรับตัวเขาเองกลับไม่คิดแบบนั้น ด้วยอายุที่มากขึ้น แซม ยิ่งพยายามเรียนรู้ข้อผิดพลาดและแก้ไขมันอยู่ตลอด จนในที่สุดฝันของเขาก็เป็นจริงในวัย 56 ปี

 

แซม จบอันดับ 2 ในการแข่งขันยิงเป้าบินเวิลด์คัพ 2019 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นเหรียญรางวัลแรกในชีวิต พร้อมกับได้โควตาไปโอลิมปิก 2020 ความสำเร็จทั้ง 2 อย่างนี้เป็นรางวัลตอบแทนการทำงานหนัก และไม่เคยคิดที่จะยอมแพ้ตลอด 15 ปี ของชายที่ชื่อ เศวต

 

“เวลาจะทำอะไรผมจะตั้งเป้าหมายไว้เสมอ ตั้งแต่เป็นนักบิน พอมาเป็นนักกีฬายิงเป้าบิน จุดสูงสุดคือการไปโอลิมปิก ลึกๆแอบวางแผนไว้ว่าก่อนที่จะเลิกเล่น เราก็ควรจะไปโอลิมปิกให้ได้สักครั้ง ในขณะที่คนอื่นเค้าจะมองว่าคงเป็นไปไม่ได้ เป็นความฝันที่ไม่น่าจะทำได้ เพราะอายุเยอะ”

 

ตั้งแต่ครั้งแรกที่ออกไปแข่งที่มาเลเซียนะครับ จนถึงปัจจุบัน เราก็ได้เรียนรู้อยู่ตลอดว่าถ้าเกิดว่าเราเตรียมตัวไปให้พร้อม มีการฝึกฝนที่ดี เอาใจใส่ และตั้งเป้าหมายไว้ ไม่มีอะไรที่เราจะทำไม่สำเร็จ” 

 

ส่งต่อข้อคิดดีๆจาก เศวตร ถึงนักกีฬารุ่นใหม่

หลังจากได้ตั๋วโอลิมปิกมาแล้ว แซมรู้ดีว่าเขาเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หลงระเริงไปกับแสงสีเสียงแต่อย่างใด ในทางกลับกันเขายิ่งโฟกัสให้กับการฝึกซ้อมมาขึ้นเพื่อต่อยอดความสำเร็จนี้ให้มากที่สุด ผลงาน 1 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดงในซีเกมส์ 2019 สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ

 

แซม เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับนักกีฬาทุกคน โดยเฉพาะนักกีฬารุ่นใหม่ที่อยากจะประสบความสำเร็จในเส้นทางของตัวเอง

 

“ไม่ใช่ทุกครั้งที่เราออกไปแข่งแล้วเราจะชนะ เราต้องมีความพร้อมให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโอลิมปิกหรือซีเกม สิ่งสำคัญข้อแรกคือความรับผิดชอบที่เราต้องทำเพื่อประเทศของเรา เมื่อทำสำเร็จ เราจะภาคภูมิใจในการต่อยอดเตรียมงานในอนาคตนะครับ และเมื่อทำสำเร็จแล้ว ก็อย่าไปอยู่กับมันนาน เพราะว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นมันก็เป็นอดีต เราเอ็นจอยกับมันแค่ให้สั้นที่สุด แล้วก็เตรียมงานสำหรับอนาคต แต่ถ้าเฟลนะครับ คือว่าแข่งแล้วไม่ได้ ก็ไม่ต้องเสียใจเยอะ เราก็ศึกษาข้อผิดพลาด แล้วก็ฝึกต่อไป แล้วก็ไม่ยอมแพ้ Never Give up”

 

“ที่สุดถ้ามันจะไม่คุ้ม แต่มันก็ดีที่อย่างน้อยได้จดจำว่าครั้งนึงเคยก้าวไป แค่คนที่เชื่อในความฝัน จะเหน็ดจะเหนื่อยก็ยังต้องเดินต่อไป“

 

เสียงเพลงของพี่ตูน บอดี้แสลม วนกลับมาที่ท่อนนี้อีกครั้ง เป็นท่อนที่สะท้อนการไม่ยอมแพ้อย่างแต่จริง อันที่จริงแล้วต่อให้ความฝันของคนเราไม่เกิดขึ้นจริง แต่มันคงจะดีกว่าถ้าเราหากเรากล้าที่จะลงมือทำ อย่างน้อยก็ไม่ต้องมานั่งเสียดายทีหลัง


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator

โฆษณา