stadium

ความมุ่งมั่นของชายร่างท้วม ที่ เควิน ดูแรนท์ ยังต้องชื่นชม

7 กรกฎาคม 2563

หลังการประกาศรางวัล ESPY AWARDS 2020 หนึ่งในช่วงเวลาที่ทำให้เกิดความงุนงงและสงสัย คือ ชื่อของเจ้าหนุ่มร่างท้วม โธมัส “สแน็ก” ลี ที่ถูกประกาศให้รับรางวัลสาขา Can't-Stop-Watching Moment หรือเรียกเป็นไทยง่ายๆว่า “จังหวะหรือช่วงเวลาที่ละสายตาไม่ได้”

 

ซึ่งทั้งหุ่นและความสามารถที่เขาน่าจะมีจากข้อจำกัดทางร่างกาย (แอบตัดสินคนจากภายนอกไปก่อน)    ทำให้ผมคิดว่าเขาไม่น่าจะสร้างไฮไลท์ระหว่างเกมการแข่งขัน หรือ สุดยอดโมเม้นต์แห่งปีได้ ทำให้ผมเองเริ่มเกิดข้อสงสัยแล้วต้องเซิร์ชดูหน่อยว่า เจ้าหนุ่มคนนี้คือใคร และได้ทำอะไรระหว่างเกมการแข่งขันบาสเกตบอลระดับมหาวิทยาลัยของประเทศสหรัฐฯ

 

หลังเสียเวลาอ่านและดูเรื่องราวทั้งหมด ประมาณ 1 ชั่วโมงกว่า มันทำให้ผมนึกถึงตัวละครหนึ่งจากการ์ตูนเรื่อง SlamDunk นั่นคือ โคงุเระ คิมิโนบุ หรือ “นายแว่น” … และถึงแม้ว่า 2 ผู้เล่นนี้จะอยู่กันคนละโลกระหว่างโลกความเป็นจริงกับโลกของการ์ตูน รวมถึงมีหุ่น บุคลิก และ หน้าตา ที่แตกต่างกัน แต่โดยส่วนตัว พวกเขากำลังเล่าเรื่องเดียวกันให้ผมฟัง

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและคุณอาจสนใจ

 

ใครคือ โธมัส ลี ? และ ทำไมหมอนี่ถึงสร้าง “โมเม้นต์ที่ละสายตาไม่ได้” ?

อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ …. โธมัส ลี คือผู้จัดการทีมแจ็คสัน สเตท ไทเกอร์ส ทีมบาสเกตบอลระดับมหาวิทยาลัยของประเทศสหรัฐอเมริกา และด้วยร่างอ้วนท้วมของเขา ทำให้เขาได้เล่นบาสบ้างแต่สำหรับการแข่งขันอย่างเป็นทางการนั้น เขาเป็นแค่คนนึงที่ได้ทำทุกสิ่งอย่างจากข้างสนามเท่านั้น

 

กระทั่งช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ลี มีโอกาสลงสนามในฐานะผู้เล่นช่วงท้ายเกมส์ ซึ่งแต้มขาดลอยแล้ว แน่นอนว่าด้วยการที่มีคาแรคเตอร์เป็นคนสนุกสนาน ทุ่มเทในหน้าที่เพื่อทีมมาโดยตลอด เขาจึงเป็นที่รักของทั้งเพื่อนร่วมทีมและกองเชียร์ซึ่งเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย รวมถึงเป็นขวัญใจของผู้เล่นในระดับ NBA อย่าง เควิน ดูแรนท์ ซึ่งเจ้าตัวยกให้เป็นไอดอลแห่งวงการบาส

 

การลงสนามของ ลี นำมาสู่เสียงเชียร์กระหึ่ม และ ทุกสายตาต่างจับจ้องว่าผู้จัดการทีมร่างท้วมรายนี้ จะทำอะไรในช่วงเวลาที่เหลือของเกมส์ได้บ้าง … แน่นอนจังหวะที่ทำเอาเสียงเชียร์ดังกว่าเดิมเกิดขึ้น เมื่อเขารับบอลเหนือเส้นสามคะแนนขึ้นมาประมาณ 3 ก้าว ซึ่งที่อเมริกาเรียกว่า “3 แต้มของเคอร์รี่” ก่อนจะจัดการปล่อยบอลออกจากมือและส่งลูกลงห่วงไปอย่างงดงาม … ซึ่ง 3 คะแนนดังกล่าว ได้กลายเป็น Meme ที่มีคนจัดทำ รวมถึง คลิปสั้นๆ แชร์กระจายออกไปเป็นวงกว้าง จนนำมาสู่ยอดคนดูกว่า 389,000 วิว รีทวีตกัน 1,900 ครั้ง และ 10,100 ไลค์ ขณะเดียวกันยอดผู้ติดตามของ ลี ในทวิตเตอร์เพิ่มขึ้นอีก 4,500 คน ในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที 

 

ก่อนที่เช้าวันถัดมา ABC สำนักข่าวชื่อดังจะนำวิดีโอดังกล่าวออกอากาศช่วง " Good Morning America " และยกให้เป็น "Play of the Day" และหลังจากผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ ก็ปรากฏ MEME ขึ้นบนโลก Social Media มากมาย … แล้วเหตุใด การที่ชายร่างอ้วนคนหนึ่งชู้ตลูกลงห่วงจึงกลายเป็นกระแสได้

หนุ่มร่างท้วม ที่ทำให้ เควิน ดูแรนท์ และ คนนับล้าน ต้องยอมรับในความตั้งใจ

หนึ่งในรีทวิตที่สำคัญคงหนีไม่พ้น การที่ เควิน ดูแรนท์ นักบาสขวัญใจของเจ้าตัว ได้ใส่ข้อความเกี่ยวกับสิ่งที่ โธมัส ลี ทำว่า “I see u snipe....🖤” หรือ หมายถึง ฉันเห็นสิ่งที่นายทำ เจ้าสไนเปอร์ (ในภาษาบาสหมายถึงมือปืนที่มีความแม่นจากระยะไกล)

 

กระแสของ ลี ไม่เบาลงเลย ท่ามกลางดราม่าเกี่ยวกับโควิด รวมถึงข่าวการเมือง ณ ช่วงเวลานั้น การได้มาซึ่ง 7 ล้านกว่าวิว ยิ่งตอกย้ำว่า คลิปสั้นดังกล่าวไม่ใช่ปราฏการณ์เห่อเพียงข้ามคืนแล้ว

 

“มันไม่สำคัญเลยว่าคุณจะดู (รูปร่าง หน้าตา บุคลิก) เป็นอย่างไร เพราะตัวคุณสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตัวเองตั้งได้ ….  ผมอยากมอบรางวัลที่ได้รับนี้ ส่งต่อไปยังกลุ่มคนที่ไม่มั่นใจ หรือ คนที่ชอบดูถูกตัวเอง เห็นมั้ยว่ามันมีวิธีการมากมายที่คุณสร้างความสำเร็จให้กับชีวิตได้”

 

คำกล่าวของ โธมัส ภายใต้ความคาดหวังว่าสิ่งที่เขาทำ จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆในสังคม ซึ่งเป็นตัวไขคำตอบแล้วว่า ทำไมสิ่งที่เขาทำมันถึงได้โดนใจและเข้าถึงคนหมู่มาก ด้วยแบ็คกราวน์ที่รักบาส แต่ไม่มีความสามารถหรือโอกาสติดทีมในฐานะผู้เล่น แต่เขายังคงอยู่ตรงนั้นอยู่เป็นกำลังใจ อยู่เป็นเสียงเชียร์ อยู่เป็นเด็กเสิร์ฟน้ำ อยู่เป็นคนวางโปรแกรมซ้อม กระทั่งวินาทีนั้นมาถึงวินาทีที่ลูกชู้ต 3 คะแนน ลูกเดียวของเขาถูกนำเสนอผ่านคลิปวิดีโอความยาวไม่ถึง 3 นาที

 

“แต่มันกลับเล่าเรื่องราวเป็นร้อยเป็นพัน พร้อมไปกับการสร้างแรงบันดาลใจให้คนนับล้านในแผ่นดินอเมริกา” 

 

โธมัส ลี และ โคงุเระ คิมิโนบุ … โลกอีกใบที่สะท้อนเรื่องราวไม่ต่างกัน

ถ้า ลี คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง อีกคนที่ผมนึกถึงคือ โคงุเระ คิมิโนบุ หรือ นายแว่น จากการ์ตูนเรื่อง SlamDunk ซึ่งถ้าใครเป็นแฟนการ์ตูนเรื่องนี้ จะจำได้ว่ามันมีอยู่ตอนนึงที่ นายแว่น จับลูกได้และต้องชู้ต 3 คะแนนเพื่อทำให้ทีมมีโอกาสชนะ แต่พอปล่อยลูกออกจากมือเท่านั้นแหละ เนื้อเรื่องเล่าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้น และ กินเนื้อหาไปเกือบหมดเล่ม 5555

 

ผมว่า โคงุเระ ไม่ได้แตกต่างจาก โธมัส ลี เลย เพียงแต่เขาทั้งสองคนอยู่โลกคนละใบกันเท่านั้น พวกเขามีหน้าตาและบุคลิกที่ดูแล้วชีวิตคงผ่านคำสบประหม่ามาไม่มากก็น้อย … ใช้เวลาอยู่บนม้านั่งสำรองเยอะกว่าโอกาสได้ลงไปสัมผัสเกมส์การแข่งขัน … แต่อดทนดูเพื่อนร่วมทีมต่อสู้ในสนามแบบอดทนเพราะตนเองไม่สามารถลงไปช่วยเหลืออะไรได้ และสิ่งสุดท้ายที่เหมือนกันคือ พวกเขาทั้งคู่เลือกอยู่กับสิ่งที่รักแบบไม่มีข้อแม้ และเลือกทำบทบาทที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ซึ่งต่างก็เป็นที่รักของเพื่อนร่วมทีม และผมมั่นใจว่า โคงุเระ คือหนึ่งในตัวละครที่สะท้อนเรื่องราวคนเล่นบาสจริงๆ ได้ดีที่สุดคนหนึ่ง 

 

การไม่ได้เป็นตัวหลัก หรือ ตัวจริง และทำได้เป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ อาจดูเป็นเรื่องน่าน้อยใจ แต่ทั้งสองคนกลับไม่โทษโชคตะชา หรือ พรสวรรค์ที่มีมาติดตัวน้อยกว่าคนอื่น พวกเขามองหาหนทางที่จะสร้างประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญพวกเขาไม่เคยแสดงให้เห็นถึงการเสียดายเวลาที่อยู่กีฬาบาส

เราได้เรียนรู้อะไรจาก นายอ้วน และ นายแว่น ???

การใช้ชีวิตของคนเราก็เช่นกัน บางครั้งจังหวะ โอกาส หรือ ความสามารถของเราวันนี้อาจยังมาไม่ถึงแต่การทำต่อไปเรื่อยๆ สิ่งที่เราพยายามทำด้วยใจจะเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างประโยชน์ได้อย่างแน่นอน

 

และถึงแม้ว่าเราจะไม่มีทางประสบความสำเร็จด้วยบนจุดโดดเด่นที่สุด หรือ ด้วยวิธีการที่ตรงกับใจแต่ภายใต้ความพยายาม จะทำให้ค้นพบเส้นทางหรือวิธีการอื่นๆ ที่สร้างความสำเร็จที่ใกล้เคียงได้ โดยยังอยู่ภายใต้สิ่งที่รัก เหมือนกับที่ลี บอกว่า “ความสำเร็จเกิดขึ้นได้จากหลายวิธีและหลายเส้นทาง”

 

รวมถึงบทบาทในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเรียน การเล่นกีฬา การอยู่ในสังคม ฯลฯ คุณอาจเป็นเพียงตัวประกอบเล็กๆ ภายใต้คนเก่งหรือคนที่เหนือกว่าคุณ ขอเพียงแต่ลองมองกลับไปที่ 2 นายนี้ แล้วจะเข้าใจว่า “ไม่มีจุดเด่น อย่าเป็นจุดด้อย” แค่นั้นชีวิตทุกคนก็มีคุณค่าไม่แตกต่างกัน 


stadium

author

นวพล เกียรติไพศาล

ชอบกินข้าวมันไก่แต่กลัวอ้วน รักแมวแต่โดนแมวข่วน ดูกีฬาแต่ไม่ชอบตามผลสกอร์