stadium

ภัยร้ายต่อกีฬาที่อาจสายเกินแก้

2 กรกฎาคม 2563

ในช่วงต้นปีถึงกลางปี 2020 โลกกีฬาได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ทุกทัวร์นาเมนต์ต้องเลื่อนการแข่งขันหรือยกเลิก นักกีฬาบางคนติดเชื้อไวรัส ขณะเดียวกันฝ่ายจัดการแข่งขันต้องหาวิธีสร้างรายได้เพื่อพยุงสถานะทางการเงิน

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีภัยอีกอย่างหนึ่งที่คุกคามโลกกีฬามาก่อนไวรัสโคโรน่า และมันยิ่งทวีความร้ายกาจขึ้นเรื่อย ๆ นั่นก็คือ ภาวะโลกร้อน

 

the Rapid Transition Alliance หน่วยงานที่ทำการศึกษาและรณรงค์เรื่องภาวะโลกร้อนในสหราชอาณาจักร ได้เปิดเผยผลการวิจัยที่ระบุว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทุกชนิดกีฬา นับตังแต่คริกเก็ตถึงอเมริกันฟุตบอล, เทนนิสถึงกรีฑา, กระดานโต้คลื่นถึงกอล์ฟ จะต้องเจอปัญหาจากภัยธรรมชาติที่มีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อนทั้งสิ้น ซึ่งผลลัพธ์ที่คาดการณ์ออกมา ทำให้เราควรตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง

 

แล้วภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อน รวมทั้งผลกระทบต่อวงการกีฬามีอะไรบ้างนั้น ติดตามได้ที่นี่

 

 

อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น

อย่างแรกที่เป็นผลโดยตรงคือการที่อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเรื่องนี้กีฬาฤดูหนาวได้รับผลกระทบแบบเต็ม ๆ เพราะมันทำให้มีหิมะน้อยลงและละลายเร็วขึ้น กรณีเปรียบเทียบในโอลิมปิก ฤดูหนาว ปี 2010 ที่แวนคูเวอร์ แคนาดา และปี 2014 ที่โซชิ รัสเซีย ทำให้เห็นความแตกต่างชัดเจน

 

ในปี 2014 มีนักกีฬาแข่งจบอีเวนต์ลดลงจากปี 2010 ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากสภาพสนามไม่เอื้ออำนวย จากการที่ปริมาณหิมะไม่เพียงพอ ขณะที่จำนวนนักกีฬาบาดเจ็บเพิ่มขึ้นถึง 9 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งวอเตอร์ลู ยังระบุว่า เมืองโซชิไม่สามารถจัดการแข่งโอลิมปิกฤดูหนาวได้อีกแล้วในอนาคต เช่นเดียวกับหลาย ๆ เมืองที่เคยทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพมาก่อนเนื่องด้วยภาวะโลกร้อน โดยจากทั้งหมด 19 แห่ง มีเพียง 10 แห่งเท่านั้นที่ยังสามารถจัดการแข่งขันได้ในปี 2050 และจะลดเเหลือเพียง 6 แห่งในปี 2080

 

 

คลื่นความร้อน

คลื่นความร้อนคืออีกหนึ่งผลกระทบที่มาจากภาวะโลกร้อน และเป็นภัยต่อสุขภาพรวมทั้งศักยภาพของนักกีฬา เพราะเมื่ออุณหภูมิสูงถึง 33-35 องศาก็นับเป็นข่าวร้ายของผู้ที่ออกกำลังกายแล้ว ยกตัวอย่างเช่นในเทนนิส ออสเตรเลียน โอเพ่น ปี 2014 ซึ่งต้องแข่งกลางสภาพอากาศร้อนจัด อุณหภูมิสูงถึง 41 องศา มีนักเทนนิสถึง 9 รายที่ต้องขอถอนตัวในรอบแรก และมีแฟนเทนนิสมากกว่าพันคนที่ต้องได้รับการรักษาจากภาวะอ่อนเพลียเพราะความร้อน  

 

ขณะเดียวกัน ใน ยูเอส โอเพ่น ปี 2018 สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายมากขึ้น อุณหภูมิในคอร์ตถูกวัดได้ถึง 49 องศา ฝ่ายจัดต้องใช้มาตรการรับมือโดยให้นักกีฬาได้พักเบรกระหว่างแข่งมากขึ้นและยาวนานกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม มีนักหวด 5 รายที่ต้องถอนตัวจากเหตุดังกล่าว

 

 

ภัยแล้ง

เมื่ออากาศร้อนมากขึ้นย่อมทำให้ฝนตกน้อยลง และส่งผลให้เกิดภัยแล้งหลายแห่งทั่วโลก คริกเก็ตคือหนึ่งในกีฬาที่โดนผลกระทบจากเรื่องนี้มากที่สุด อย่างเช่นในปี 2016 โปรแกรมแข่งขัน อินเดียน พรีเมียร์ ลีก (IPL) ในรัฐมหาราษฏระ จำนวน 13 เกมต้องเปลี่ยนสถานที่แข่ง หลังประสบภัยแล้งหนักที่สุดในรอบ 100 ปี หรือในปี 2018 สนามกีฬาทั้งระดับอาชีพและสมัครเล่นในเมือง เคป ทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ ต้องถูกจำกัดการใช้น้ำอย่างเข้มงวด

 

ขณะเดียวกัน รายงานระบุว่า ภัยแล้งยังส่งผลต่อความเชี่ยวของแม่น้ำ โดยระดับน้ำที่ต่ำกว่าจะมีผลกับกีฬาทางน้ำหลายชนิด อย่างเช่น กีฬาเรือพาย ทั้งในแง่ของผลการแข่งขันและความสะอาดของน้ำ

 

 

ไฟป่าและมลพิษทางอากาศ

ในสภาพแวดล้อมหลาย ๆ แห่ง อย่างเช่นในออสเตรเลีย จำเป็นต้องมีการเผาป่าเป็นระยะ เพื่อจัดการกับซากไม้ ทำให้เมล็ดพันธุ์งอกเงยและคืนสารอาหารลงสู่ดิน อย่างไรก็ตามระบบนิเวศแบบนี้กำลังกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจควบคุมได้ หากเกิดขึ้นในช่วงที่มีภัยแล้งยาวนาน หรือฤดูร้อนที่ร้อนกว่าและมีระยะเวลานานกว่าเดิม รวมทั้งขนาดของพื้นที่และพัฒนาการที่ไม่เหมาะสมของมนุษย์ ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาไฟป่าเริ่มมีผลกระทบกับโลกกีฬาแล้ว  

 

ใน ออสเตรเลียน โอเพ่น ปี 2020 นักเทนนิสต้องลงแข่งในคุณภาพอากาศที่เลวร้าย ซึ่งทำให้หายใจลำบากบางคนมีอาการไออย่างรุนแรงจนต้องถอนตัวจากการแข่งขัน ขณะเดียวกันจากมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายถึงขีดสุดในเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อปี 2017 ทำให้นักคริกเก็ตในเกมระหว่าง อินเดีย-ศรีลังกา ถึงกับอาเจียนออกมาบนสนาม ต้องหยุดพักการแข่งขัน และมีการติดตั้งถังอ็อกซิเจนในห้องแต่งตัว

 

นอกจากนั้นการที่อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ยังนำไปสู่การเพิ่มระดับโอโซนบนพื้นดินซึ่งก่อให้เกิดปัญหากับการทำงานของปอด โดยนักวิจัยมลพิษทางอากาศพบว่า การลงเล่นในภาวะดังกล่าวทำให้ความสามารถของนักฟุตบอล และคุณภาพในการตัดสินของกรรมการเบสบอลลดน้อยลง

 

 

พายุฝน

สภาพอากาศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ไม่ได้มีเพียงอากาศร้อนและความแห้งแล้งเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาพบว่า การเกิดเฮอริเคนและพายุเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการเพิ่มระดับความรุนแรงโดยเฉลี่ย ในขณะที่หลาย ๆ ส่วนของโลกเจอกับภาวะลูกเห็บตกที่เพิ่มสูงขึ้น ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ และฝนที่ไม่ตกต้องตามฤดู  

 

ในปี 2019 ไต้ฝุ่นฮากิบิส ขึ้นฝั่งที่ประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับพายุฝนและกระแสลมที่รุนแรง ทำให้ศึกรักบี้ชิงแชมป์โลกต้องยกเลิกการแข่ง 3 เกม ขณะที่พายุฝนเซียร่าในปี 2020 ทำให้เกมฟุตบอลหลายลีกต้องเลื่อนการแข่งขัน ขณะที่ย้อนไป 4 ฤดูกาลก่อนหน้านั้น ฟุตบอลลีกอังกฤษมากกว่า 20 นัด ต้องยกเลิกการแข่งขัน นี่ยังไม่รวมถึงรายการระดับสมัครเล่น หรือรากหญ้าซึ่งสถานที่ไม่ได้พร้อมรับพายุฝนเหมือนกับลีกอาชีพ

 

 

ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น, ดินทรุด และน้ำท่วม

ชายหาดคือหนึ่งในสนามแข่งทางธรรมชาติที่สำคัญที่สุด ดังนั้นการที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นจนก่อให้เกิดภาวะดินทรุดย่อมส่งผลต่อทั้งกีฬาอาชีพและการเล่นเพื่อสันทนาการ หนึ่งในผลงานวิจัยล่าสุดคาดการณ์ว่าปี 2050 ชายหาดในแคลิฟอร์เนียจะสูญหายไปกว่า 18 เปอร์เซ็นต์ และ 2 ใน 3 ของชายหาดทั้งหมดทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนียจะสูญหายไปช่วงปลายศตวรรษที่ 23

 

สนามกอล์ฟริมทะเลเจอผลกระทบจากเรื่องนี้มาตลอดช่วงที่ผ่านมา สนามหลายแห่งต้องมีการปรับปรุงเพื่อรับมือสถานการณ์ในอนาคต และบางสนามได้รับการคาดการณ์ว่าน่าจะอยู่ไม่พ้นศตวรรษนี้ ขณะที่สนามกีฬาหลายแห่งมีโอกาสประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี 2050 ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอล, อเมริกันฟุตบอล หรือบาสเกตบอล

 

ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ที่เกิดขึ้นกับวงการกีฬาไปแล้ว และสิ่งที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังระบุว่า โลกกีฬายังใส่ใจกับเรื่องดังกล่าวไม่มากพอ ทั้งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงรวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว โดยนักวิจัยเปิดเผยว่าวงการกีฬาก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเทียบเท่ากับขนาดของประเทศแองโกลาเป็นอย่างน้อยเลยทีเดียว

 

ความจริงแล้ว หากวงการกีฬาหันมาเอาใจใส่ แก้ปัญหา และรณรงค์ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง พวกเขาจะเป็นอาวุธสำคัญไม่น้อย เนื่องจากสามารถสร้างการรับรู้ได้ดีกว่าคนธรรมดาทั่วไป ในฐานะต้นแบบผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ทั่วโลก และหากเริ่มลงมือตั้งแต่ตอนนี้ ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะรักษากีฬาและรักษาโลกเอาไว้ให้ลูกหลานในอนาคต


stadium

author

ไทเกอร์ วืด

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose