20 มีนาคม 2563
#คุยเฟื่องเรื่องบอลไทย
101 ปีจากจุดเล็กๆในสนามสู่โศกนาฎกรรมระดับโลก: ถอดบทเรียนจาก Spanish Flu สู่ Covid-19
ท่ามกลางความโกลาหลจากภาวะความตื่นตระหนก, ความกังวลและความกลัวอันมีตัวการมาจากเจ้าโควิด-19 เริ่มมีคำถามที่หลายคนกำลังสนใจ คือ “สงครามระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติหนนี้จะจบลงแบบไหน? เมื่อไหร่? และความเสียหายที่เหลือไว้จะมีมากน้อยแค่ไหน?” เพราะจนถึงตอนนี้(ที่ท่านกำลังนั่งอ่านบทความชิ้นนี้อยู่) ยังไม่มีทีท่าว่ามนุษย์จะมีอาวุธเด็ดไม้ตายเอาไว้งัดกับเจ้าโรคร้ายตัวนี้ได้เลยซักกะไม้ แถมนายโควิด-19 ดูจะย่ามใจและกำลังประกาศศักดาไปทั่วโลกแบบไม่มีทีท่าว่าจะเบามือลงเลยซักนิด(อาศัยคุณสมบัติพิเศษของตัวเองที่ “ติดกันง่าย, ไม่แสดงอาการ และเป็นโรคอุบัติใหม่” เป็นอาวุธหนักจู่โจมมวลมนุษยชาติ)
ผมเชื่อว่าความเสียหายที่นายโควิด-19 ได้ทำลงไปได้สร้างความ “วิบัติ” ไปแล้วทั่วโลกและทั่วทุกวงการ เห็นได้จากงานอีเว้นท์ต่างๆจากทั่วทุกมุมโลกที่มีอันต้องแคนเซิล, ตลาดหุ้นทั่วโลกขึ้นตัวแดงติดต่อกันหลายวันจนต้องพักการซื้อ-ขาย, ภาพของความแออัดในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ผู้คนแย่งกันซื้อของเพื่อกักตุน, ภาพของการพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก รวมไปถึงสภาวะความถดถอยทางสังคมกับคำว่า “ชนชั้นและสิทธิ์ทางสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน”(เมื่อค่าตรวจวินิจฉัยมีราคามากกว่าครึ่งนึงของเงินเดือนขั้นต่ำ และเมื่ออุปกรณ์ทางการแพทย์,จำนวนรพ., ยาต้านไวรัส หรือแม้แต่เรื่องเล็กๆใกล้ตัวอย่างหน้ากากอนามัยดูจะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ)
วิเคราะห์ให้แคบลงให้เหลือแต่เรื่องราวในโลกของฟุตบอลเท่านั้น ผมเชื่อว่าหลายท่านในที่นี้ก็คงจะได้เห็นปรากฎการณ์ต่างๆเกิดขึ้นมากมายจากพิษสงครามครั้งนี้ในวงการนี้แล้วนั่นแหละ เพราะทั้งบอลลีก, บอลถ้วย หรือแม้แต่รายการเล็กๆอย่างฟุตบอลประเพณีหรือกีฬาสีภายในรั้วโรงเรียน ทุกอย่างถูกชัตดาวน์ทั้งหมด
คำถามใกล้ตัวสำหรับคนไทย คือเราจะได้เห็นบอลลีกของเรากลับมาเตะกันใหม่ตามแพลนที่ไทยลีกวางไว้มั้ยภายใต้สภาวะแบบนี้ที่ยังไม่มีทีท่าว่ามันจะจบลงง่ายๆ?
คำตอบของผม คือ “เป็นไปได้ครับแต่ยาก!” เพราะถ้าว่ากันจริงๆ(จากสถิติเก่าที่เราเคยสู้กับบรรดาญาติๆของนายโควิด-19) โรคซาร์สใช้เวลาตั้งเกือบ 3 ปีกว่าจะไม่พบผู้ติดเชื้อ ในขณะที่เมอร์สก็ใช้เวลากว่า 9 เดือนเศษกว่าจะจำกัดขอบเขตการระบาดได้สำเร็จ
ในขณะที่ทั้งแพทย์และองค์กรสาธารณสุขสากลเองก็ต่างลงความเห็นไปในทางสอดคล้องกันว่าสงครามระหว่างมนุษย์กับโควิด-19 หนนี้มันพึ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น และในหลายประเทศก็ยังตกอยู่ในสถานการ์ณ “ตรึงกำลังเพื่อรอสู้กันต่อในเฟส 3” มันจึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่ 18 เม.ย.นี้ (หรือราว 1 เดือนข้างหน้า) ลีกไทยอาจหมดสิทธิ์กลับมาเดินกันใหม่แบบปกติ (เพราะอาจต้องเลื่อนกันอีก หากสถานการ์ณเกิดเดินไปถึงจุดสุกงอมกว่านี้ และดีไม่ดีบางทีอาจต้องรันลีกแบบสนามปิด)
มีคนบอกว่าฟุตบอลเปรียบเสมือนงานเอ็นเตอร์เทนงานนึงที่การจะให้ได้อรรถรสแบบดื่มด่ำกันเต็มที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมระหว่างทีมและผู้ชมในสนาม ซึ่งหากแต่ละทีมจะต้องส่งผู้เล่น 11 คนลงสนามท่ามกลางความว่างเปล่าบนอัฒจรรย์ มันคงเป็นอะไรที่แย่แบบสุดๆ
ไม่มีรายได้จากการขายบัตร, ขาดรายได้จากการขายของที่ระลึก แถมยังหมดสิทธิ์เก็บค่าเช่าจากเหล่าร้านค้ารอบๆสนาม แถมในด้านบรรยากาศการมีอารมณ์ร่วมระหว่างผู้ชมกับทีมบอลซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่เต็มที่ถ้าหากเตะกันแบบปิด แล้วแบบนี้ฟุตบอลจะยังเอ็นเตอร์เทนอยู่มั้ย? หรือเราต้องทนรันมันไปแบบไร้ซึ่งอรรถรสและรายได้?
จริงๆผลกระทบในวงการฟุตบอลจากสงครามระหว่างมนุษย์กับกองทัพเชื้อโรคอุบัติใหม่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นครั้งแรก เพราะในปี 1918 มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วในชื่อ “Spanish Flu” (หรือไข้หวัดใหญ่สเปน) หนนั้นมีการระบาดหนักถึง 500 ล้านคนทั่วโลกและมีอัตราการเสียชีวิตที่ 20% โดยคิดเป็นตัวเลขกลมๆคร่าวๆถึงกว่า 100 ล้านคน
ลีกทั่วโลกได้รับผลกระทบทั้งหมด เริ่มจากฟุตบอลในสเปนซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของโรคที่ในยุคนั้นแม้จะยังไม่มีลาลีกาเพราะยังไม่ได้ถูกก่อตั้ง(จดทะเบียนในปี 1929) แต่ในแมตช์รอบชิงฯฟุตบอลโกปา เดอ เรย์ ระหว่างเรอัล ยูนิโอนกับมาดริด เอฟซี(หรือเรอัล มาดริดในปัจจุบัน) ซึ่งมีผู้ชมเข้ามาเต็มกัมโปเดโอโดเนล สนามในกรุงมาดริดที่มีความจุราว 5 พันที่นั่งก็มีรายงานข่าวออกมาภายหลังว่าเกิดการติดเชื้อหลังแมตช์นั้นหลักหลายร้อยคน
ผลกระทบในวงการฟุตบอลไม่เพียงแต่เกิดขึ้นที่สเปนและในทวีปยุโรป หากแต่ยังข้ามมาที่ทวีปอเมริกาใต้ในดินแดนที่ถือเป็นจุดกำเนิดกีฬาฟุตบอลอย่างบราซิล ที่นั่นก็พบจำนวนผู้ติดเชื้อมากเป็นประวัติการ์ณ โดยมีรายงานจากงานวิจัยในหนังสือที่มีชื่อว่า “The Spanish Influenza Pandemic of 1918-1919” (โดย María-Isabel Porras-Gallo และ Ryan A. Davis) พบว่าไข้หวัดใหญ่สเปนได้คร่าชีวิตผู้คนในริโอ เดอ จาเนโรไปมากถึง 14,000 คน โดยหนึ่งในนั้นก็มีประธานาธิบดี Francisco de Paula Rodrigues Alves แถมต้นกำเนิดของโศกนาฎกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจากการแพร่เชื้อกันเองในแมตช์การแข่งขันที่เซาเปาโลแมตช์นั้น
และด้วยความที่ว่าคนในสมัยนั้นยังขาดความเข้าใจในไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และระบบสาธารณสุขยังไม่ได้ทันสมัยมากเท่าทุกวันนี้ นั่นจึงทำให้การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นจากจุดเล็กๆเพียงแค่ในสนามฟุตบอลเท่านั้นได้ขยายกลายเป็นวงกว้างและระบาดหนักไปทั้งทวีปทั่วโลก
ในตอนนี้ดูเหมือนว่าโควิด-19ได้เข้ามาแทนที่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์มรณะอย่าง Spanish Flu แล้ว และดูเหมือนว่ามนุษย์จะเรียนรู้บทเรียนจากประสบการ์ณเก่าๆที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 100 ปีเศษ (เห็นได้จากการออกเอ็กชั่นในมาตราการต่างๆทั้งในแบบระยะสั้นและระยะยาวที่มีกันอยู่ทั่วโลก)
เราอาจสูญเสียรายได้กันทุกฝ่าย, เราอาจต้อง “ทำใจ” กับการเลื่อนลีกหรือปิดสนาม แต่หากสิ่งที่ว่าสามารถให้ “ความปลอดภัย” และเป็นส่วนหนึ่งของ “ชัยชนะ” มันก็คุ้มอยู่ใช่มั้ยล่ะ?
อย่าลืมว่ามาตราการต่างๆที่ออกมาไม่ว่าจะเลื่อน, เตะแบบปิดหรืออาจจำเป็นถึงขนาดต้องยกเลิกบางรายการ มันก็แค่สถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้นเพื่อให้เราได้ชะลอหายนะและซื้อเวลาเพื่อให้มีแรงมากพอในการต่อกรกับข้าศึกที่กำลังได้ใจ
“ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ” แล้วทุกอย่างจะค่อยๆกลับมาเป็นปกติ แล้วเมื่อถึงเวลาที่สงครามสงบและมนุษย์ได้ชัยชนะ ฟุตบอลก็จะกลับมามอบรอยยิ้มและความสุขให้แก่ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกอีกครั้งอย่างแน่นอน.
TAG ที่เกี่ยวข้อง