21 มีนาคม 2563
โลกทุกวันนี้หมุนไปเร็วมาก ถ้าอยากประสบความสำเร็จในชีวิต ต้องลงมือทำอย่างจริงจังตั้งแต่เด็กๆ เหมือนอย่าง “กัปตัน” อิสรานุอุดม ภูริหิรัญพัชร์ นักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย ในวัยเพียง 15 ปี เขาควอลิฟายผ่านเข้าไปโอลิมปิก 2020 รอบสุดท้าย เป็นคนที่ 5 ของทัพนักกีฬาไทย เด็กคนนี้เป็นใคร ก้าวขึ้นมาติดทีมชาติไทยได้อย่างไร ไปทำความรู้จักกัน
ใครคือ “กัปตัน”
กัปตัน เด็กหนุ่มจากจังหวัดนครราชสีมา เกิดวันที่ 26 มิถุนายน 2547 ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้น ม.3 ที่โรงเรียนปลูกปัญญา จ.นครราชสีมา กัปตัน เป็นเด็กที่รักในการเล่นกีฬาอยู่แล้วเป็นชีวิตใจ หัดเล่นมาแล้วหลายชนิดกีฬา ว่ายน้ำ แบดมินตัน กอล์ฟ สำหรับตัวเขาแล้วรู้สึกว่ามันยังไม่ตรงกับตัวตน
เมื่อ กัปตัน อายุได้ 8 ขวบ คุณแม่ พรพักตร์ ภูริหิรัญพัชร์ เห็นแล้วว่า กัปตัน ดูไม่มีความสุขกับการเล่นกีฬาข้างต้น จึงได้พยายามหากีฬาชนิดอื่นๆให้ลูกเล่นแทน ซึ่งก็นึกย้อนไปได้ว่าตอนที่ กัปตัน ตัวเล็กๆชอบเล่นปืนพลาสติก จึงลองให้เล่นกีฬายิงปืน ซึ่งดูแล้วมีแววถูกจริตก็เลยเล่นมาจนถึงทุกวันนี้โดยมีคุณแม่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด
“ช่วงที่ให้เริ่มเล่นกีฬาอื่นๆ ก็รู้สึกว่าลูกเราทำได้ดีนะ แต่ทำไมดูเหมือนฝืนๆไม่ใช่ตัวเขา เลยลองให้หัดเล่นยิงปืน เพราะตอนอายุประมาณ 2 ขวบ เราก็มีของเล่นให้ลุกเยอะแยกเลย แต่ลุกชอบเล่นแต่ปืนพลาสติก ก็เลยติดว่าเขาน่าจะชอบ” พรพักตร์ คุณแม่ของกัปตัน ย้อนความหลังจุดเริ่มต้นของลูกชาย
กัปตัน เริ่มต้นจากปื้นสั้นอัดลม ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเล่นกีฬาชนิดนี้ ที่ทุกคนไม่เว้นแม้กระทั่งไอดอลของเขาอย่าง ราฟ ชูมาน ตำนาน 3 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน ในโอลิมปิก ชาวเยอรมัน หลังจากหัดเล่นได้ 2-3 เดือน กัปตัน ก็เริ่มฉายแววคุณแม่เลยจับไปคัดเป็นนักกีฬาของจังหวัดนครราชสีมา
อายุ 14 ปี ติดทีมชาติครั้งแรก
ผ่านไป 4 ปี หลังจากเริ่มจับปืนอัดลม กัปตันโตขึ้น ร่างกายเริ่มแข็งแรงพอที่จะรับแรงกระแทกจากการเหนี่ยวไกปืนจริงได้แล้ว จึงเริ่มยิงปืนจริง โดยเลือกที่จะเล่นปืนสั้นยิงช้า มีชื่อติดทีมชาติตั้งแต่อายุ 14 เขาทำผลงานเข้ามาเป็นอันดับที่ 1 ในการคัดเลือกของสมาคมกีฬายิงปืนแห่งประเทศไทย เอาชนะรุ่นพี่ทีมชาติอย่าง พรชัย สุคนธ์พานิช , เอกคฑา อัตตนนท์ และได้ไปแข่งเอเชียนเกมส์ 2018 ที่อินโดนีเซีย ทำผลงานจบที่ 15 โดยมีอยู่ชุดหนึ่งเขายิงได้ถึง 100 คะแนนเต็ม
ผลงานในประเทศได้แชมป์รายการใหญ่สุดในชีวิตคือกีฬาแห่งชาติเท่านั้น ขณะที่ระดับนานาชาติ ได้ 4 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง ในรายการ SEASAShooting Championship ซึ่งเป็นผลงานที่ดีที่สุดในระดับนานาชาติ
คิดเร็วทำเร็ว ตัวตนที่บ่งบอกความเป็น กัปตัน
สิ่งที่ทำให้ กัปตัน เล่นกีฬาชนิดนี้ได้นานกว่ากีฬาอื่นๆ เป็นเพราะว่าการยิงปืนต้องใช้สมาธิสูง กดดัน แข่งขันกับเวลา และท้าทาย โดยเฉพาะปืนสั้นยิงเร็ว ที่ต้องคิดเร็วทำเร็ว ตรงกับตัวตนที่ชอบทำอะไรแบบรวดเดียวจบ ไม่ชอบทำอะไรช้าๆ
“ปืนสั้นยิงเร็ว มันเป็นปืนที่ต้องใช้สมาธิสูงมาก 5 นัด 8 วินาที , 5 นัด 6 วินาที , 5 นัด 4 วินาที เวลาจะสำคัญมาก ยิงเอาทันอย่างเดียว มันเร็วดี สนุกมีความท้าทาย แต่ปืนสั้นยิงช้ากับปืนสั้นอัดลม เหมาะกับคนใจเย็นถึงจะยิงได้ ถามว่าใจร้อน ยิงได้ไหม ก็ยิงได้ครับ แต่ว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ซึ่งความใจร้อนของเราคือมุ่งมั่นที่จะจบ ทำให้มันรู้ไปเลยว่าเราทำได้” กัปตัน เผย
โอลิมปิกครั้งแรกอายุ 15 ปี
กัปตัน ใช้เวลาเพียง 1 ปีในการเป็นนักกีฬาทีมชาติ แม้ว่าจะไม่เคยประสบความสำเร็จในระดับเหรียญทอง แต่เขาได้ทำให้สิ่งที่นักยิงปืนไทยคนอื่นๆทำไม่ได้ นั่นก็คือการไปโอลิมปิกตั้งแต่อายุ 15
นับตั้งแต่ติดทีมชาติชุดเอเชียนเกมส์ ปี 2018 กัปตัน มีโอกาสได้แข่งรายการใหญ่ อย่าง เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ 2 สนาม ที่เกาหลีใต้และอินเดีย รวมไปถึง รายการเวิลด์คัพ อีก 2 สนาม ที่จีนและเยอรมัน เป็น 4 แมตช์ใหญ่ที่ช่วยเปิดประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตเขา
จากนั้น กัปตัน ยังคงมีชื่อติดทีมไปแข่งยิงปืนชิงแชมป์เอเชีย ครั้งที่ 14 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ รายการควอลิฟายโอลิมปิก 2020 รายการสุดท้ายของเอเชีย ในเดือนพฤศจิกายน 2019 รายการนี้ให้โควตาโอลิมปิกแค่ 4 ที่นั่งเท่านั้น ซึ่งคู่แข่งเกือบทั้งหมดเขาเคยเจอมาแล้วในเอเชียนเกมส์ปีก่อนที่อินโดนีเซีย
ในวันนั้นไม่มีคาดคิดหรือตั้งเป้าเอาไว้เลยว่าเขาจะทำได้ โควตาโอลิมปิกก่อนแข่งรายการนี้ จีน นั้นได้ 2 โควตาครบแล้ว ขณะที่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และปากีสถาน 3 ตัวเต็ง มีโควตาอยู่ในมือแล้วชาติละ 1 ที่นั่ง เต็มที่คือจะได้เพิ่มอีกคนละ 1 โควตา หากผลเป็นไปตามนั้น เท่ากับจะเหลือโควตาสุดท้ายโดยมี ไทย เวียดนาม และ อินเดีย ที่ต้องแย่งชิงกัน ซึ่งในเอเชียนเกมส์ ทั้งเวียดนามและอินเดีย มีนักกีฬาที่ทำผลงานได้ดีกว่า กัปตัน รวมกัน 4 คน จึงเป็นไม่มีใครตั้งความหวังไว้กับเด็กหนุ่มคนนี้
แต่ว่าในวันแข่งจริงปรากฏว่า กัปตัน จบอันดับที่ 10 ไม่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ คือหมดสิทธิ์ได้ตั๋วโอลิมปิก แต่ว่าคู่แข่งที่จบ 9 อันดับแรก ประกอบด้วย จีน 3 คน เกาหลีใต้ 3 คน ญี่ปุ่น 1 คน และปากีสถาน 2 คน ทำให้เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และปากีสถาน ได้โควตาไปชาติละ 1 ที่นั่งตามคาด
ทำให้ตั๋วโอลิมปิกเกมส์ใบสุดท้ายในรายการนี้จึงตกมาเป็นของ กัปตัน ไปแบบเซอร์ไพรส์ และเป็นนักกีฬายิงปืนไทยคนแรก จาก 5 โควตาโอลิมปิกที่ได้จากรายการนี้
"ตอนแรกไม่คิดว่าจะได้ไปโอลิมปิก จนมาดูผลการแข่งขันและเห็นรายชื่อส่วนใหญ่ได้โควตากันแล้ว หรือบางประเทศก็ได้ไปแล้ว 1 ที่นั่ง จนตั๋วใบสุดท้ายตกเป็นของผมไทย ก็ดีใจมากๆครับ เพราะเป็นโอลิมปิกครั้งแรก'' กัปตันกล่าว
ครอบครัวเบื้องหลังความที่สำเร็จ
ครอบครัว ถือเป็นส่วนสำคัญนอกเหนือจากการฝึกซ้อม ที่ทำให้นักกีฬาคนหนึ่งก้าวขึ้นไปประสบความสำเร็จ ครอบครัว ภูริหิรัญพัตร์ เป็นตัวอย่างที่ดีครอบครัวหนึ่ง คอยให้การสนับสนุนและดูแลเอาใจใส่ กัปตัน มาโดยตลอด ไม่ว่าจะทั้งการหากระสุน สถานที่ และการวางแผนซ้อมให้อย่างพอดี คอยเป็นที่ปรึกษา และกล้าลงทุนเพื่อให้ได้ไปแข่งในต่างประเทศเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์
“ยิงปืนเป็นกีฬาที่ใช้งบประมาณเยอะมาก แต่เมื่อลูกของเรานั้นมีความสุข มีแววไปได้ไกลและเป็นสิ่งที่เขา งบสนับสนุนที่ได้จากสมาคมฯมันไม่เพียงพอ พี่นันก็ต้องยอมลงทุนเพื่อให้เขาไปได้ไกลที่สุด เพื่อให้เขาได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เรียนรู้และมีเพื่อนนักกีฬาคอยแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งวันนี้เห็นผลแล้ว พี่นันภูมิใจในตัวลูกมาก” พรพักตร์ แม่ของกัปตัน กล่าวถึงเบื้องหลังที่ความสำเร็จ
ความท้าทายในโอลิมปิกครั้งแรก
ในฐานะนักกีฬาการได้เข้าร่วมโอลิมปิกถือเป็นความฝันอันยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกันกับเด็กร่างท้วมคนนี้ ซึ่งเขายอมรับว่าโอลิมปิกเป็นความฝัน ซึ่งโอลิมปิกครั้งแรกในชีวิตเขาวางเป้าหมายถึงการคว้าเหรียญรางวัลเลยด้วยซ้ำ
“โอลิมปิกมันเป็นความใฝ่ฝันสูงสุดของนักกีฬาทุกคน มากกว่านั้นก็คือการคว้าเหรียญ ผมเองก็คาดหวังไว้ว่าจะได้เหรียญเลย เพราะผมเคยซ้อมได้คะแนนเท่ากับพวกระดับโลกมาแล้ว” กัปตัน กล่าวทิ้งท้าย ด้วยน้ำเสียงและแววตาที่มุ่งมั่น
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
TAG ที่เกี่ยวข้อง