stadium

ไขข้อสงสัยทำไมสถิติของฉลามณุกและต่อลาภถึงอยู่นานเกิน 20 ปี

20 มีนาคม 2563

ในโลกของเกมกีฬาคลื่นลูกใหม่ย่อมไล่กลบคลื่นลูกเก่าเสมอ เพราะด้วยเทคโนโลยี เทคนิค ความรู้ และวิทยาศาสตร์การกีฬาสมัยใหม่นั้นพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ทำให้นักกีฬาโดยเฉพาะในกีฬาที่วัดกันด้วยสถิติ มักมีนักกีฬารุ่นใหม่ ๆ ก้าวขึ้นมาทำลายสถิติของรุ่นพี่อยู่เสมอ ๆ แต่กับวงการว่ายน้ำชายของประเทศไทย ยังมีอยู่อีก 4 สถิติของนักว่ายน้ำผู้ชายที่อยู่มานานเกินกว่า 20 ปีโดยไร้วี่แววนักว่ายน้ำรุ่นน้องมาทำลาย

 

 

สถิติอะไร ยอดเยี่ยมแค่ไหน

4 สถิติที่ว่าคือ สถิติท่าฟรีไตล์ 400, 800 และ1,500 เมตรของ ต่อลาภ เสฏฐโสธร ซึ่ง 3 ท่านี้เป็นสถิติประเทศไทยเข้าปีที่ 22 แล้วในปีนี้ และอีกหนึ่งท่าเป็นสถิติท่าเดี่ยวผสม 400 เมตรของ “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ ที่ยังไร้คนมาทำลายเข้าปีที่ 26 แล้ว ถามว่า 4 สถิตินี้ยอดเยี่ยมแค่ไหนต้องบอกว่าในยุค 20 กว่าปีที่แล้วเวลาแบบนี้คือ สถิติระดับเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 

 

ถ้าเอาไปวัดในระดับโลกก็คือ สถิติระดับเกณฑ์ A โอลิมปิก หรือระดับ Top 16 ของโลก โดยเฉพาะสถิติท่าเดี่ยวผสม 400 เมตร ที่ฉลามณุกว่ายได้เหรียญทองตอนเอเชียนเกมส์ ที่ฮิโรชิม่า ในปี 1994 เวลานั้นดีพอที่จะเข้ารอบชิงชนะเลิศ ในโอลิมปิกปี 1996 ที่แอตแลนต้าได้ด้วยซ้ำไป เพียงแต่ช่วงเวลานั้น ฉลามณุก เรียนหนักและไม่ได้อยู่ในช่วงพีคเหมือนตอนเอเชียน เกมส์ 2 ปีที่แล้ว ไม่งั้นประเทศไทยคงมีนักว่ายน้ำเข้ารอบชิงชนะเลิศในกีฬาโอลิมปิกไปแล้ว

 

 

หลากหลายเหตุผลที่ทำลายไม่ได้

มันมีหลายเหตุผลเหลือเกิน ที่นักว่ายน้ำรุ่นน้อง ยังทำลายสถิติประเทศไทยของ 2 ฉลามหนุ่มรุ่นพี่ไม่ได้สักที จากการค้นคว้าและสอบถามข้อมูลทั้งจากตัวนักกีฬา และโค้ชที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการและคลุกคลีกับนักกีฬาทั้ง รัฐพงศ์ สิริสานนท์ , ต่อลาภ เสฏฐโสธร และนักว่ายน้ำรุ่นใหม่นั้น 

 

เราได้สรุปเหตุผลทั้งหมดได้ดังนี้ 1. ขาดพื้นฐานการฝึกในระบบแอโรบิคที่ดี  2. ขาดการสนับสนุน 3. ครอบครัวผู้ปกครอง 4. ความท้าทาย การตั้งเป้าหมายร่วมระหว่างโค้ช และนักกีฬา สิ่งเหล่านี้คือ ปัจจัยหลักที่นักว่ายน้ำรุ่นน้อง ยังก้าวข้าม 2 ฉลามหนุ่มรุ่นพี่ไม่ได้

 

ขาดพื้นฐานการฝึกในระบบแอโรบิคที่ดี

4 สถิติประเทศไทยที่ยังไม่มีคนทำลายได้นั้น ล้วนเป็นสถิติในระยะกลางไปจนถึงไกลทั้งสิ้น ซึ่งการจะว่ายในระยะแบบนี้ให้ดีได้นั้น อาจารย์ธนาวิชญ์ โถสกุล และอาจารย์ศักดิ์ชัย สุริยะวงศ์ 2 อดีตผู้ฝึกสอนระดับทีมชาติไทย กล่าวตรงกันแบบไม่ต้องนัดหมายว่า นักว่ายน้ำจำเป็นต้องมีพื้นฐานการฝึกในระบบแอโรบิคที่ดี ซึ่งต้องเริ่มสร้างในเด็กที่มีอายุระหว่าง 11 – 14 ปี ซึ่งการฝึกซ้อมในระบบปัจจุบัน การวางพื้นฐานระบบแอโรบิคให้กับนักกีฬาในวัยนี้มีน้อยมาก ๆ ซึ่งทำให้นักกีฬาไม่สามารถที่จะมีความทนทานในการว่ายระยะไกลได้ ทั้ง ๆ ที่เด็กรุ่นใหม่สมัยนี้มีเทคนิค การว่ายที่ดีกว่ามาก และสามารถว่ายระยะสั้น ๆ ได้เร็วกว่า 2 ฉลามหนุ่มรุ่นพี่ด้วยซ้ำไป  

 

 

ขาดการสนับสนุน

นอกจากพื้นฐานที่ได้รับการวางรากฐานเอาไว้ดีมาก ๆ ของ 2 ฉลามหนุ่มรุ่นพี่แล้ว ทั้งรัฐพงศ์ สิริสานนท์ และต่อลาภ เสฏฐโสธร ยังมีโอกาสที่ดีมาก ๆ ในการไปร่วมฝึกซ้อม ที่ต่างประเทศร่วมกับนักว่ายน้ำระดับโลก โดย “ฉลามณุก” รัฐพงศ์ สิริสานนท์ ได้ทุนไปฝึกซ้อมที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยไปฝึกซ้อมและเรียนอยู่ที่ Bolles School (โรงเรียนที่มีชื่อเสียงด้านว่ายน้ำมาก ๆ ของสหรัฐอเมริกา ) และอยู่ยาวจนจบระดับปริญญาเลย ส่วนต่อลาภ เสฏฐโสธร นั้นก็ได้ไปฝึกซ้อมที่ประเทศออสเตรเลียเป็นเวลาถึง 2 ปี ซึ่งจากพื้นฐานที่ดีอยู่แล้วบวกกับได้รับการสนับสนุนที่ดี ยิ่งทำให้ 2 ฉลามหนุ่ม ต่อยอดความสำเร็จไปได้ไกล ซึ่งต่างจากฉลามหนุ่มและเงือกสาวสมัยนี้ของไทย ที่แทบไม่มีโอกาสไปฝึกซ้อมที่ต่างประเทศเลย

 

 

ครอบครัว และผู้ปกครอง

นักกีฬาระดับโลกที่ประสบความสำเร็จของประเทศไทย ไม่ใช่แค่เฉพาะกีฬาว่ายน้ำ ล้วนมีครอบครัว ผู้ปกครอง สนับสนุน เอาใจใส่ อยู่เบื้องเสมอ ทั้งรัฐพงศ์ สิริสานนท์ และต่อลาภ เสฏฐโสธร เองก็ไม่ต่างกัน ทั้ง 2 ฉลามหนุ่ม มีผู้ปกครองดูแลใกล้ชิด เอาใจใส่ทุกย่างก้าวทั้งใน และนอกสนาม เหมือนมีนักวิทยาศาสตร์การกีฬาและผู้จัดการส่วนตัวเลยก็ว่าได้ ดูแลอาหารกินครบ 5 หมู่ กินนมแทนน้ำ ฝึกความแข็งแกร่งเพิ่มเติม เช่น ปั่นจักรยานหรือวิ่งขึ้นอัฒจันทร์ที่นั่งคนดูที่คนสมัยนั้นเรียกว่า “ขนมชั้น” ที่สระวิสุทธารมณ์ ของกรมพละ นั้นทำให้ทั้ง 2 ฉลามหนุ่มมีรูปร่างที่ดี แข็งแกร่งทนทานต่อการว่ายระยะไกล 

 

 

ความท้าทาย การตั้งเป้าหมาย ระหว่างโค้ช ผู้ปกครองและนักกีฬา

นักว่ายน้ำสมัยนี้ กับ 2 ฉลามหนุ่มรุ่นพี่ แทบไม่ได้มีความแตกต่างกันเลยในสายตาของ อดีตผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย และเลขาธิการสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย อย่าง อาจารย์ธนาวิชญ์ โถสกุล เพียงแต่โค้ชต้องมีวิธีหรือกลยุทธ์ในการตั้งเป้าหมาย และสร้างความท้าทายให้กับนักกีฬา เพราะเด็ก ๆ โดยเฉพาะนักกีฬาล้วนชอบความท้าทายอยู่แล้ว อยู่ที่โค้ช นักกีฬา หรือพ่อแม่ ที่จะต้องช่วยกันวางเป้าหมาย สร้างความท้าทาย เพื่อให้นักกีฬาเกิดความมุ่งมั่น เพื่อที่จะเดินไปให้ถึงจุดหมายให้จงได้ เมื่อนักกีฬามีทัศนคติที่ดี มีความกระหาย มีความมุ่งมั่นมากพอ วันนั้นมันก็จะสำเร็จได้ เหมือนที่ 2 ฉลามหนุ่มรุ่นพี่อย่าง รัฐพงศ์ สิริสานนท์ และต่อลาภ เสฏฐโสธร ได้เคยทำไว้ให้เห็นมาแล้วในอดีต


stadium

author

ฉลามหนุ่มไทยแลนด์

StadiumTH Content Creator

โฆษณา